ทุก เช้าและเย็นป้าไพจะออกไปจ่ายตลาดและทำ กับข้าวให้ลูกหลาน ตอนกลางวันก็ทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ วันหนึ่งป้าไพไม่สบาย ลูกแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด หลังจากตรวจร่างกายหมอก็วินิจฉัยว่าป้าไพเป็นโรคหัวใจ

นับแต่วันนั้นป้าไพก็เปลี่ยนไป รู้สึกอ่อนเพลียไร้เรี่ยวแรง ไปจ่ายตลาดกลับมาก็รู้สึกเหนื่อยมาก ในที่สุดก็เลิกไปตลาด จะทำอะไรก็รู้สึกเหนื่อยแม้แต่ขึ้นบันได ในที่สุดจึงลงมานอนข้างล่าง และเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่กล้าไปไหน จึงกลายเป็นคนหงอยเหงา ได้แต่นั่งเจ่าจุกอยู่ผู้เดียว

วันหนึ่งนายแพทย์ใหญ่ผู้หนึ่งกลับมาเยี่ยม บ้าน สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของป้าไพซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ จึงสอบถามสาเหตุ เมื่อได้คำตอบ แพทย์ใหญ่ก็ตรวจดูร่างกายและถามอาการของป้าไพ แต่ไม่พบอาการของโรคหัวใจ จึงบอกป้าไพว่าร่างกายไม่ได้เป็นอะไรมาก อาจมีอาการอ่อนเพลียบ้างตามวัย

พอรู้ว่าไม่เป็นโรคหัวใจ ป้าไพก็รู้สึกกระชุ่มกระชวยทันที เรี่ยวแรงกลับมา สามารถไปตลาดและทำกิจวัตรต่าง ๆ ได้เหมือนเดิม

ป้าไพไม่ได้เป็นอะไร แต่เพียงได้ยินหมอบอกว่าเป็นโรคหัวใจ ก็กลายเป็นคนป่วยทันที และเมื่อป่วยแล้ว แม้ไม่ได้กินยา ก็หายป่วยฉับพลันเมื่อรู้ว่าความจริงตนไม่ได้เป็นโรคหัวใจอย่างที่คิด

ความเชื่อหรือความรู้สึกนั้นมีผลต่อร่างกายมาก แม้เจ็บป่วยไม่มาก แต่หากมีความเครียด วิตกกังวล เพราะคิดว่าเป็นโรคร้าย หรือเพราะกลุ้มใจเรื่องครอบครัว ร่างกายก็ทรุดลงได้ง่าย ๆ นับประสาอะไรกับคนที่ตรวจพบโรคร้ายจริง ๆ หากวางใจไม่เป็น ก็อาจมีอันเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

หญิงสูงวัยผู้หนึ่งป่วยกระเสาะกระแสะ เข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลอยู่หลายครั้ง วันหนึ่งหมอบอกเธอว่า “ ป้าเป็นมะเร็งตับนะ อยู่ได้ไม่เกินสามเดือน” เธอตกใจมาก หลังจากกลับบ้าน เธออยู่ได้แค่ ๑๒ วันก็เสียชีวิต

ก้อนมะเร็งนั้นใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะคร่าชีวิตคน แต่ความตื่นตระหนก ความกังวลและความเครียดนั้นสามารถปลิดชีวิตเราได้เร็วกว่านั้นมาก

เมื่อล้มป่วย เราไม่ได้ป่วยกายเท่านั้น แต่มักป่วยใจด้วย ความป่วยใจสามารถทำให้ความป่วยกายหรือความเจ็บปวดทบทวีหรือเป็นตรีคูณได้ ในทางตรงข้ามหากทำใจให้ผ่อนคลาย เบาสบาย ความเจ็บป่วยหรือความเจ็บปวดก็อาจลดลงเหลือแค่ครึ่งหนึ่งหรือหนึ่งในสาม

ผู้ป่วยที่มีศรัทธาในหมอ มักจะมีอาการดีขึ้นไม่มากก็น้อยทันทีที่ได้พบหมอ นายแพทย์วิลเลียม เฮนรี เวลช์ ซึ่งเป็นผู้วางรากฐานการแพทย์แผนใหม่ในอเมริกา พูดถึงบิดาของตนซึ่งเป็นหมอเหมือนกันว่า “ทันทีที่ท่านเข้าห้องผู้ป่วย ผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้นทันที บ่อยครั้งมิใช่เพราะการรักษาของท่าน แต่เป็นเพราะการปรากฏตัวของท่านต่างหากที่รักษาผู้ป่วยให้หายได้”

จริงอยู่โรคภัยไข้เจ็บอาจจะไม่หาย แต่ถ้าจิตใจผ่อนคลาย ก็อาจอยู่ได้อย่างปกติสุข ห่างไกลจากความทุกข์ หลายคนแม้มีก้อนมะเร็งอยู่ในร่างกาย แต่ก็สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เพราะเขาไม่มัวกังวลกับโรคภัย แทนที่จะกลุ้มใจกับเหตุร้ายในอนาคต เขากลับใส่ใจกับการทำชีวิตแต่ละวันให้มีความสุข

ความเจ็บป่วยนั้นบั่นทอนร่างกายเราได้ก็จริง แต่เหตุใดเราจึงปล่อยให้มันทำร้ายจิตใจเราด้วย ป่วยกายแล้วไม่จำเป็นว่าจะต้องป่วยใจด้วย พระพุทธองค์เคยตรัสแนะอุบาสกผู้หนึ่งซึ่งป่วยหนักว่า ให้พิจารณาเสมอว่า “ถึงกายของเราจะมีโรครุมเร้า แต่ใจของเราจักไม่มีโรครุมเร้าเลย”

ถึงกายจะป่วยแต่เราก็มีสิทธิเป็นสุขได้เสมอ ขอเพียงแต่เปิดใจรับความสุขที่มีอยู่รอบตัว กนกวรรณ ศิลป์สุข ป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่เกิด ร่างกายอ่อนแอมาก และอาจมีอายุไม่ยืน แต่เธอก็มีความสุขทุกวัน เธอให้เหตุผลว่า “เลือดเราอาจจะจาง จะแย่หน่อย แต่เราก็ยังมีตาเอาไว้มองสิ่งที่สวย ๆ มีจมูกไว้ดมกลิ่นหอม ๆ มีปากไว้กินอาหารอร่อย ๆ แล้วก็มีร่างกายที่ยังพอทำอะไรได้อีกหลายอย่าง แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่เราจะมีความสุข”

จะมีความสุขอย่างนั้น อย่างแรกที่จำเป็นต้องทำก็คือ ยอมรับความจริงว่าความเจ็บป่วยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อใจยอมรับความจริง ก็จะหยุดดิ้นรนผลักไสความเจ็บป่วย ทำให้ใจสงบ ในทางตรงข้ามหากเราปฏิเสธความจริง มัวตีโพยตีพายหรือก่นด่าชะตากรรมว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน ?” เราจะยิ่งทุกข์มากขึ้น จิตใจจะเร่าร้อน หาความสงบมิได้เลย

การยอมรับความจริงมิได้แปลว่ายอมจำนน เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องหาทางเยียวยารักษา แต่การเยียวยารักษานั้นจะต้องทำที่ใจด้วย มิใช่ทำที่กายเท่านั้น เยียวยาใจเรานั้นไม่มีใครทำได้ดีเท่าตัวเราเอง เมื่อเยียวยาใจให้หายกังวลกลัดกลุ้ม การเยียวยารักษากายก็จะเริ่มต้นทันทีแม้ยังไม่ได้รับยาจากหมอด้วยซ้ำ
ที่มา: http://www.visalo.org/article/Image255306.htm