เสวนา “ความสำคัญของการอ่านกับปัญหาการศึกษาไทย” โดย อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์
ระหว่างวันที่ 5-6 พฤษภาคม 2552 ณ บ้านลูกท้อรีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม

ห้องสมุดเยาวชนหนองควายได้จัดเสวนาหัวข้อนี้ขึ้น ในงานประชุม-เสวนาห้องสมุดเยาวชนหนองควาย โดยมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนดังนี้ ห้องสมุดเยาวชนหนองควาย มูลนิธิรักษ์เด็ก อันไดการละคร CIA-Creative Idea of Art ภาคีคนฮักเจียงใหม่ มะขามป้อม Rabbithood และนักเขียนอิสระ

จากการเสวนาผมใคร่ขอตัดเอาเฉพาะบางส่วนในการเสวนา คือในช่วงที่ท่าน อ.นิธิ ได้บรรยายไว้ ดังนี้นะครับ

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ : “ความสำคัญของการอ่านกับการศึกษา” ขอ สรุปว่า รู้กันดีอยู่แล้วทุกคน ว่าระบบการศึกษาของไทยนั้นไม่ค่อยได้สนใจและไม่ได้มีการส่งเสริมเรื่องการ อ่านเท่าใดนัก ทีนี้ปัญหาไม่อยู่ตรงที่ว่า เราต้องไปส่งเสริมการอ่านให้อยู่ในการศึกษา หรือการผลักดันการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติอะไรก็แล้วแต่เหมือนที่ทำกันอยู่ ในเวลานี้แล้วมันจะแก้ปัญหาได้ โดยส่วนตัวผมออกจะสงสัยว่า ปัญหาเรื่องการอ่านในการศึกษานี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราอ่านหรือไม่อ่าน หรืออ่านมากอ่านน้อย แต่มันอยู่ที่ว่าตัวกระบวนการเรียนรู้ในระบบการศึกษาของไทยนี้ มันขัดขวางการอ่าน มันไม่ส่งเสริมให้อ่านโดยตัวมันเอง เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเราจะไปทำการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่ามันยากมากๆ เลย เรากำลังอยู่ในงานที่ผมคิดว่ามันยาก หรือจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมก็ได้ แต่วัฒนธรรมก็กว้างมาก

ผมอยากจะพูดถึงเฉพาะลงลึกไปเลยว่าตัวกระบวนการเรียนรู้นี้มันมีอุปสรรค ยังไง กับการอ่าน ทีนี้เพื่อที่จะให้เข้าใจเรื่องนี้ ผมอยากจะเริ่มต้นก่อนว่า จริง ๆ แล้วการอ่านมันเป็นสื่อชนิดหนึ่งในการศึกษาหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ การอ่านนี่ เป็นสื่ออย่างหนึ่ง การเล่าก็เป็นสื่ออีกอย่างหนึ่ง การสนทนา ก็เป็นสื่ออีกอย่างหนึ่ง ทีวี ดูหนัง ดูละคร ก็ล้วนแต่เป็นสื่อ ซึ่งสามารถเอามาใช้กับการศึกษาได้ทั้งนั้น การอ่านก็เป็นสื่ออีกชนิดหนึ่ง แต่บังเอิญว่าการอ่านมันเป็นสื่อที่มีลักษณะพิเศษ ที่ไม่เหมือนการเล่า การสนทนา ทีวี ละคร เพลง แต่ละอย่างก็มีคุณลักษณะของมันแตกต่างกันไปและแต่ละอย่างล้วนมีข้อจำกัดและ ข้อดีของตัวเอง ซึ่งไม่สามารถเอาสื่อชนิดหนึ่งมาแทนอีกชนิดหนึ่งได้

ทีนี้ การอ่านมันคืออะไร ขอเริ่มต้นด้วยเรื่องที่ว่าการอ่านมันคืออะไรมันค่อนข้างจะยุ่งยากอยู่ซัก หน่อย มันเริ่มต้นจากนักภาษาศาสตร์คนหนึ่งชาวสวิตเซอร์แลนด์ เขามีความเห็นอย่างนี้เวลาที่เราเรียนภาษาทั้งหลาย เรามักนึกว่าภาษามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ภาษาคือเราตั้งชื่อ เช่นเป็นต้นว่า เราตั้งชื่อไอ้ตัวที่มันงอกขึ้นมาจากดินแล้วมีใบเขียว ๆ นี้ว่า “ต้นไม้” แล้วเราทุกคนก็ตกลงร่วมกันว่าเราจะเรียกไอ้ที่งอกจากดิน ใบเขียว ๆ นี้เรียกมันว่า “ต้นไม้”

เพราะฉะนั้นภาษาก็จะเต็มไปด้วยชื่อสมมุติที่แต่ละเผ่าพันธุ์ตั้งขึ้นมา แล้วเราก็สามารถสื่อความกันได้ ตั้งชื่อของกิริยา ตั้งชื่อของสิ่งของ ตั้งชื่อของความรู้สึก ตั้งชื่อของสิ่งต่าง ๆ นานา นี่ก็เป็นทฤษฎีภาษาซึ่งมีมานานแล้ว ทีนี้นักภาษาศาสตร์คนที่พูดถึงนี้ เขาบอกว่าความจริงแล้วมันไม่ใช่ ไอ้ชื่อทั้งหลายที่เราตั้งขึ้นนี้ จริง ๆ แล้วเราอาจจะแบ่งออกได้เป็นอย่างนี้คือ “สิ่งที่ถูกหมายถึงว่า” สิ่งนั้น เช่น ต้นไม้นี่คือสิ่งที่ถูกหมายถึง แล้วก็มีเสียง ๆ หนึ่งที่เป็นผู้หมายว่าไอ้นี่คือไอ้นั้น แล้วเค้าบอกว่าไอ้ทั้งสองอย่างนี้มันไม่ได้สัมพันธ์กันอย่างที่นัก ภาษาศาสตร์รุ่นก่อนพูดว่า ต้นไม้หมายถึงไอ้นี่

เราจะเข้าใจความหมายของสิ่งที่ถูกหมายถึงนั้น เกิดจากการที่แต่ละคนเป็นคนคิดขึ้นมาเอง เช่น พอพูดว่าต้นไม้ทุกคนคิดถึงอะไรที่ไม่เหมือนกันเลย บางคนคิดถึงต้นไม้ใหญ่ บางคนคิดถึงแค่ต้นหญ้า ตรงความหมายที่เราหมายถึง ต่างคนต่างสร้างต่างคนต่างคิดขึ้นมาจากประสบการณ์ จากอคติ จากอะไรก็แล้วแต่ทั้งหมด

ฉะนั้น ในการอ่าน หรือการใช้ภาษาในการเล่า การฟังหรืออะไรก็แล้วแต่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านเราแต่ละคนจึงสร้างความหมายให้แก่สิ่งที่เราอ่าน เอง ถามว่าทฤษฎีนี้เอาไปใช้กับการเล่า กับทีวีได้ไหม ได้แต่ไม่มีอะไรเกินการอ่านเพราะมันเงียบ ในการสนทนากัน พอบอกว่าต้นไม้แล้วผมก็ชี้ไปที่ต้นไม้ ต้นหนึ่ง โอกาสที่คุณจะไปนึกถึงความหมายอื่นนอกจากต้นไม้ที่ผมชี้มันก็นึกลำบาก แต่ในการอ่านไม่มีใครเป็นคนชี้ เราเป็นคนนึกขึ้นมาเอง ไม่ทราบว่าเคยได้ยินคำว่า “นักเขียนตายแล้ว” หรือเปล่า

นักเขียนตายแล้ว ในความหมายที่ผมพูดถึงหมายถึง การที่คุณอ่านงานเขียนของใครก็แล้วแต่ เช่นงานเขียนของคุณ ‘รงค์ วงศ์สวรรค์ แล้วคิดว่าคุณ’รงค์ เก่งจริง ๆ เลยที่เขียนสิ่งเหล่านี้มาให้คุณ ท่านเป็นที่มีความคิดสร้างสรรค์เหลือเกิน เปล่าเขาบอกไม่ใช่ ตรงที่คุณคิดว่าสร้างสรรค์ ที่คุณคิดว่าดีเหลือเกินนั้น มันเกิดจากการที่คุณคิดเองทั้งนั้น มันจะตรงกับที่คุณ ?รงค์ คิดหรือเปล่านั้นก็ไม่สำคัญ และที่สำคัญเราก็ไม่มีทางรู้ว่าคุณ ‘รงค์ คิดอะไร

คุณ ต้องเป็นคนสร้างมันขึ้นมาเอง สิ่งนี้ไม่ว่าจะเป็นการสนทนา การเล่านิทานเมื่อไหร่ที่เราใช้ภาษา เราไม่สามารถจะเอาความหมายของเรายัดเข้าไปใส่หู ในหัวของคนอื่นได้ เราได้แต่ให้อะไรที่กว้าง ๆ ลอย ๆ เบลอ ๆ แล้วคนรับสารเป็นคนสร้างความหมายขึ้นมาเอง มันใช้ได้กับทุกเรื่องกับสื่อทุกชนิดถ้าต้องผ่านภาษา จริง ๆ เวลานี้นักวิชาการพูดเลยจากภาษาไปถึงภาพ ทุกอย่างหมดไปถึงบรรยากาศ ถึงทุกอย่างหมด เราเข้ามาในรีสอร์ทมันมีความหมายที่สื่อให้เราโดยไม่ได้ผ่านภาษามากเลย แต่ละคนก็รับภาษาและสร้างความหมายขึ้นมาเอง เช่น ดอกไม้ที่เห็น แต่ละคนก็จะให้ความหมายกับสิ่งนี้ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเขาจึงบอกว่านักเขียนมันตายแล้ว

และในบรรดาการใช้ภาษาทั้งหมดนี่ ไม่มีอะไรเกินการอ่านที่คุณจะต้องเป็นผู้สร้างความหมายเอง มากยิ่งกว่าสื่อทุกชนิดที่ใช้ในการศึกษา

นี่คือประการที่หนึ่งในการอ่าน คือ คุณต้องสร้างความหมายเองและในการสร้างความหมายเองนั้น จริง ๆ แล้วนั้นคุณสร้างตรรกะเองด้วย หนังสือทั้งเล่ม หนังสือทั้งบทความ หนังสือทั้งหน้า มันสัมพันธ์กันอย่างไรระหว่างบรรทัดที่หนึ่งและบรรทัดสุดท้าย ผู้เขียนก็มีตรรกะของตัวเองอย่างหนึ่ง เราผู้อ่านก็มีตรรกะของตัวเองอีกอย่างหนึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกัน แล้วก็ทำให้เราได้ความหมายของสิ่งนั้นแตกต่างกันออกไป

ผมคิดว่า พวกคุณก็เคยเจอประสบการณ์อย่างนี้อยู่บ่อย ๆ หมายความว่า คุณกำลังพูดถึงสิ่งหนึ่งออกมา อาจจะเป็นสีดำ แล้วผู้ฟังบอกว่าเห็นด้วยหมดทุกอย่างเลย แล้วก็พูดเสริมมา แต่ความจริงสิ่งที่เขาพูดนั้นมันมันคือสีขาว เพราะเขาเข้าใจสิ่งที่เราพูดจากตรรกะคนละอย่างกัน

ผมจะขอเล่าเรื่องส่วนตัวก็ได้ ผมไปแสดงปาฐกถาเรื่องเกี่ยวกับเรื่องของสุนทรภู่ ซึ่งผมก็พยายามจะวิจารณ์ว่าความจริงแล้วท่านก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นหลอก ต่าง ๆ นานา ก็มีผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งนั่งฟังอยู่ตลอด ตั้งแต่ต้นจนจบ พอผมลงมาจากเวทีแกก็เข้ามาแสดงความยินดี ว่าดีมากเลยที่ผมอุตส่าห์พูดถึงเรื่องสุนทรภู่เพราะสุนทรภู่นั้นเป็นกวีที่ ยิ่งใหญ่ มโหฬาร อะไรต่าง ๆ นานา แล้วคนก็ไม่ค่อยพูดถึงสุนทรภู่แล้วในสมัยนี้ คือแกก็ฟังในสิ่งที่เราพูด แต่ความเข้าใจของแกเกี่ยวกับสุนทรภู่ที่เราเสนอโดยอาศัยตรรกะของเรานั้น มันไม่ได้ทะลุเข้าไปในหูของแก แกก็ยังอาศัยตรรกะอันเก่าของแกนั่นแหละที่มาเข้าใจสุนทรภู่อย่างเก่า แล้วก็มานึกว่าเรามานั่งสรรเสริญสุนทรภู่เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง แล้วแกก็รู้สึกดีใจเพราะแกรักสุนทรภู่แล้วแกก็อยากให้ทุกคนมีความรักสุนทร ภู่เหมือนกับแก อะไรอย่างนี้เป็นต้น

การสร้างตรรกะให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนี่เป็นหัวใจของการศึกษา เลยก็ว่าได้ สิ่งนั้นก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่สามารถทำให้ผ่านมาได้โดยสื่อชนิดใดทั้งสิ้น แต่เป็นสิ่งที่เราต้องเป็นผู้สร้างให้กับตัวเองแล้วจริง ๆ แล้ว ต่างคนต่างสร้างที่ไม่ค่อยจะตรงกันเท่าไหร่นักด้วย สร้างตรรกะเอง สร้างความหมายเอง สร้างความเข้าใจเอาเองด้วย
โดยสรุปก็คือว่า ถ้าเราเริ่มจากการสร้างความหมายเอง สร้างตรรกะเอง สร้างความเข้าใจเอง ซึ่งผมคิดว่าสื่อในการศึกษาอะไรก็ตาม ก็ไม่สำคัญที่จะสร้างสามอย่างนี้ได้ ดีเท่ากับการอ่าน ก็คือเรามีความสามารถในการสร้างความรู้เอง

คือเราเรียนอะไรก็แล้วแต่ เพราะเรามีเหตุที่แตกต่างจากผู้สอน เพราะเรามีตรรกะไม่เหมือนกับผู้สอน เพราะเรามีความหมายซึ่งแตกต่างจากผู้สอน มันก่อให้โอกาสขึ้นอันหนึ่งในการที่จะทำให้เราพบว่าตรงนี้ยังไม่มีความรู้ นี่หว่า ตรงนี้เป็นความรู้ที่ผิดนี่หว่า ทำให้เราสามารถสร้างความรู้ขึ้นใหม่เองได้ และผมคิดว่าการศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับอนุบาลขึ้นไปจนถึงมหาวิทยาลัย หัวใจสำคัญทั้งหมดมันอยู่ที่สามสี่อย่างที่พูดไปแล้ว ไม่ใช่อยู่ที่การรู้ข้อมูล ข้อมูลไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่ข้อมูลเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดถึงกันได้ง่าย แต่ข้อมูลเฉย ๆ มันไม่มีความหมาย

คุณต้องเอาข้อมูลมันมาสัมพันธ์กันมาบวกกัน จนกระทั้งทำให้พบว่ามันมีผลลัพธ์เป็นอีกอย่างหนึ่งต่างหาก ไอ้นั้นคือตัวความรู้ ฉะนั้นความรู้นี่คือ มันจึงเกิดจากการที่คุณสามารถสร้างความหมายเองจากข้อมูลอันเดียวกันได้ สามารถสร้างตรรกะได้เอง สามารถสร้างความเข้าใจได้เอง จึงจะสามารถสร้างความรู้ใหม่ได้ โดยสรุปก็คือว่า ผมคิดว่ามันไม่มีการรับสื่ออะไรที่เหมือนกับการอ่าน มันเป็นสื่อของมันโดนเฉพาะที่ให้ความสามารถสามสี่อย่างที่ว่านี่ มากกว่าสื่ออื่น ๆ จริง ๆ สื่ออื่น ๆก็ให้เหมือนกันแต่ให้ไม่มากเท่ากับการอ่าน เพราะในการอ่านนั้นคุณต้องกระทำกับตัวเองคนเดียว มันไม่มีการโต้ตอบ มันไม่มีการดึงความสนใจ มันยากมากในการจะดึงคุณออกไปสู่การยอมจำนนต่อสิ่งที่เขาทำมาให้แก่คุณ เพราะมันต้องการสิ่งแวดล้อมเฉพาะชนิดหนึ่งถึงจะอ่านได้ มันไม่เหมือนกับการเอาทีวีมาฉายให้ดู เอาหนังมาฉายให้ดู ในห้องเรียนเลยมันไม่เหมือนกัน

เหตุดังนั้น เพราะการอ่านมันน่ากลัวอย่างนี้ คือมันทำให้คนกบฏ มันทำให้คนคิดเองได้ มันทำให้คนแตกต่างจากสิ่งที่ถูกสอนได้ การอ่านจึงเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจในการศึกษาไทย ผมคิดว่าที่เขาให้อ่านน้อยนั้น ผมพบว่าการเรียนการสอนในประเทศไทยจนถึงจบมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการอ่าน น้อยมาก คือเมื่อเปรียบเทียบกับที่ไหนในโลกก็แล้วแต่

การอ่านเป็นเรื่องที่ใหญ่ แต่ในการศึกษาไทยให้อ่านน้อยมาก และด้วยเหตุดังนั้น ผมคิดว่ามันไม่ใช่เพราะ ว่าเราไม่ศรัทธาต่อการอ่าน แต่ผมสงสัยว่าลึก ๆ ลงไปแล้ว เราระแวงการอ่าน เรากลัวการอ่าน ถ้านักเรียนอ่านมาก ๆ นักเรียนจะคิดอะไรที่ไม่เหมือนกันกับครูและนี่คือเหตุผลที่ทำไมข้อสอบใน ประเทศไทย พอหลังจากที่นำข้อสอบปรนัยมามันถึงได้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว เพราะข้อสอบปรนัยเท่านั้นที่ทำให้นักเรียนไม่สามารถคิดเองได้ คือมันมีให้เลือกสี่ถึงห้าข้อและมีถูกข้อเดียว และถ้าคุณเห็นว่าข้อที่มันผิด ถูก คุณติ๊กผิดที่ คุณก็ไม่รู้จะไปอธิบายที่ไหน ว่าทำไมคุณถึงติ๊กตรงนี้ ซึ่งมันอาจจะผิดก็ได้ แต่ตรรกะมันดีกว่ามันเป็นความเข้าใจใหม่ ซึ่งน่าจะได้ A+ ยิ่งกว่าคนที่ติ๊กถูกอีกก็ได้ เพราะว่าคุณสามารถคิดอะไรบางอย่างที่มันแหกออกไปได้ ฉะนั้น ในการศึกษาของไทยนั้นที่บอกว่าให้เด็กคิดเป็นทำเป็นนั้น ไอ้คิดเป็นนั้นมันคิดยากมาก เพราะว่าเริ่มต้นก็คือว่า ไม่ว่าคุณจะใช้เวลาในการจดบันทึก ใช้เวลาสอนซักกี่ชั่วโมงต่อปีก็ตามแต่ ยังไง ๆ ข้อมูลที่ให้แก่นักเรียนมันก็น้อยกว่าการอ่านอยู่นั่งเอง มันไม่มีทางเทียบกัน สิ่งที่เขาสอน ๆกันอยู่ในมหาวิทยาลัย จริง ๆ แล้วประกอบด้วยหนังสือไม่เกินเล่มนึง อาจจะประมาณร้อยหน้าด้วยซ้ำไป

จริง ๆ ความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นประกอบด้วยข้อมูลมากกว่านั้นไม่รู้กี่เท่าตัว แต่เมื่อคุณไม่อ่าน คุณก็ได้เฉพาะข้อมูลที่ครูบอกให้คุณรู้เอาไว้ หรืออ่านหนังสือประกอบหนึ่งเล่มที่ครูสั่งเอาไว้ ซึ่งผลก็คือข้อมูลคุณน้อยเกินกว่าคุณจะคิดอะไรเองได้เอง ที่บอกว่าคิดเป็นทำเป็น มันเป็นไปไม่ได้หลอกถ้าข้อมูลที่มีในมือเรามีน้อยขนาดนี้ เพราะเวลาที่ครูสอนเขาไม่ได้ให้ข้อมูลเฉย ๆ เขาให้ข้อมูลพร้อมทั้งข้อสรุปบางอย่างไปแล้ว ฉะนั้น ถ้าเราไม่มีข้อมูลมากกว่านั้นคุณจะสรุปแตกต่างจากนั้นก็ย่อมไม่ได้ อยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว จึงคิดเองยังทำไม่ได้ตราบที่เรามีข้อมูลน้อย แล้วผมคิดว่าไม่มีการให้ข้อมูลอะไรที่ทำได้มากในเวลาอันสั้นยิ่งไปกว่าการ อ่าน นอกจากนั้นแล้ว เมื่อข้อมูลน้อยอ่านน้อยเช่นนี้ คุณก็แตกแขนงความคิดไม่ได้ ก็อย่างที่บอกว่าคุณไม่สามารถสรุปให้แตกต่างจากนั้นได้ ความรู้ที่ได้มาก็แตกแขนงไม่ได้ ความคิดริเริ่มในการศึกษาไทยเป็นสิ่งที่เกือบจะไม่ค่อยมีเลยก็ว่าได้ เราเรียนหนังสือมาขนาดไหนก็แล้วแต่เราคิดอะไรที่นอกครูไปไม่ได้ เราคิดริเริ่มให้แตกต่างไม่ได้เพราะว่าข้อมูลเราน้อยเกินไป

เพราะฉะนั้น การคิดเองทำเองนั้นมันจึงยาก เพราะว่าเราไม่ได้ให้โอกาสแก่เด็ก ในการที่จะสะสมข้อมูลมากขึ้น ให้ความหมายแก่ข้อมูลด้วยตนเองและอื่น ๆ ร้อยแปด ทั้งหมดเหล่านี้ ผมคิดว่ามันฝังอยู่ในตัวระบบการศึกษาของไทย ไอ้การรังเกียจการอ่านไม่ใช่เป็นแต่เพียงเพราะว่าเราไม่มีนิสัยรักการ อ่านอย่างเดียว เพราะถ้าตราบเท่าที่เรายังดำเนินการศึกษาในลักษณะแบบนี้ การอ่านเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและอาจจะน่ากลัวด้วยที่จะปล่อยให้เด็กอ่าน หนังสือมาก ๆ ด้วย

ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงเรื่องของการส่งเสริมการอ่าน ผมออกจะสงสัยว่าเราจะสามารถผลักดันส่งเสริมการอ่านเข้าไปในโรงเรียนได้มาก น้อยแค่ไหน เพราะว่าถ้าเด็กอ่านมากนัก แล้วเด็กเริ่มถามปัญหาที่ครูรู้สึกอึดอัด เด็กคนนั้นก็จะถูกลงทัณฑ์ เริ่มเป็นที่รังเกียจของครู จนทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองด้อยในห้องเรียน ในความสัมพันธ์กับครู ก็เลยทำให้เขาหมดกำลังใจที่จะอ่านหนังสือในอะไรร้อยแปด เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าต้องคิดถึงกิจกรรมอะไรที่มัน มันไม่ผูกกับโรงเรียนมากเกินไป ในการส่งเสริมการอ่านให้มากขึ้นผมคิดไม่ออกหลอก คิดในรูปนี้มากขึ้นในการสร้างกิจกรรมให้มากขึ้น ที่จะทำให้เด็กได้อ่านมากขึ้น แทนที่จะพยายามไปผูกมัดกับโรงเรียน แต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่ได้ปฏิเสธนะครับถ้าคุณสามารถทำให้ครูในโรงเรียนเห็น คุณค่าของการอ่าน แล้วสามารถผูกกิจกรรมการอ่านเข้ากับโรงเรียนได้มันก็ดี แต่ผมรู้สึกมันค่อนข้างยาก.

by : ห้องสมุดเยาวชนหนองควาย

 

ที่มา : http://www.thaingo.org