เขียนโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

14 พฤษภาคม 2552

ในช่วงปีที่ผ่านมา คนไทยแทบทุกคนคงเจอกับความรู้สึกของคำว่า “วิกฤต” มาด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตด้านเศรษฐกิจ วิกฤตการเงิน ข้าวของขึ้นราคา วิกฤตในเรื่องของพลังงาน ที่น้ำมันถีบตัวสูงขึ้นอยู่พักใหญ่ จนถึงวิกฤตสังคมการเมือง

…ทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการใช้ชีวิตซึ่งกระทบไปยังทุกส่วนตั้งแต่คนระดับชาวบ้านรากหญ้า จนถึงชนชั้นสูง

และหากกล่าวถึง “อาหาร” คงเป็นเรื่องตลกหากจะบอกว่ามันกำลังเข้าขั้นวิกฤตเช่นกัน แต่สำหรับ กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กลับไม่มองเช่นนั้นโดยให้คำอธิบายว่า คนไทยไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าอาหารเกิดภาวะวิกฤตขึ้น เพราะปกติเมื่อพูดถึงเรื่องของอาหารการกินหลายคนจะนึกไม่ออกว่า อะไรที่เรียกว่าเป็นวิกฤต?…

“อาหาร” กับวิกฤตที่คาดไม่ถึง

“ก็ในเมื่อเมืองไทยเป็นเมืองที่ไม่เคยขาดแคลนอาหาร มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่เคยประสบกับปัญหาผู้คนอดอยาก หิวโหย อาหารมีการแบ่งปันกันอย่างเพียงพอ เมื่อมองในภาพนี้เรื่องของความขาดแคลนจึงเป็นประเด็นที่ไม่มีใครคาดคิด แต่ทุกวันนี้เราคงต้องตอบคำถามกับตัวเองด้วยว่าในเมื่อมีของกินอย่างอุดม สมบูรณ์ แต่เรามีสิทธิเลือกกินของดีๆ ที่มีคุณภาพได้จริงๆ หรือไม่?…ประเด็นนี้ต่างหากที่ถือเป็นวิกฤต” กิ่งกร เปิดประเด็น

ด้วย การเห็นความสำคัญในสิทธิการเลือกกินอาหารของผู้บริโภค “โครงการกินเปลี่ยนโลก” จึงถือกำเนิดขึ้น โดยความร่วมมือกันของมูลนิธิชีววิถี, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, ชุมชนคนรักป่า, และสถาบันต้นกล้า
ไก่ที่ปัจจุบันรสชาติแทบไม่ต่างอะไรกับทิชชู่
กิ่ง กร เอง ซึ่งรับหน้าที่ในการเป็นผู้ประสานงานโครงการ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของการถูกลิดรอนสิทธิในการเลือกกินของคนไทย คือ การกินไก่ โดย ที่ผลการวิจัยบ่งบอกชัดว่า คนไทยกินไก่ 13 กิโลกรัม/คน/ปี ซึ่งถือเป็นปริมาณที่มาก ขณะที่ไก่มีล้นตลาด ราคาถูก แต่รสชาติที่ได้รับบอกได้เลยว่าเหมือนกิน “กระดาษทิชชู” ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเลี้ยงห่างจากความเป็นธรรมชาติ คนไทยกำลังเผชิญอยู่กับอาหาร 2 ระบบ คือ

  1. อาหารที่ผู้ผลิตใช้ธรรมชาติ นั่นหมายถึงผู้ผลิตรายย่อย
  2. ผู้ผลิตที่ดัดแปลงธรรมชาติ ใช้สารเคมี ใช้ยาเร่งการเจริญเติบโต คือ การผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรม

ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังเผชิญ ส่งผลให้ผู้ผลิตรายย่อย เริ่มล้มหายตายจากไป การผลิตอาหารที่มีความหลากหลายหมดไป ผู้บริโภคเองจึงต้องยอมรับสิ่งที่ถูกยัดเยียดให้กินเสมอมา

“ผู้ผลิตรายย่อยมีเงื่อนไขการผลิตที่หลากหลาย พึ่งธรรมชาติ ขั้นตอนไม่ซับซ้อน ผ่านกระบวนการของเครื่องจักรน้อย แต่เป็นระบบที่ง่อนแง่นเต็มทน เข้าขั้นวิกฤตได้เลย ผิดกับระบบอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เน้นจำนวนการผลิต หยอดอาหาร ยา สารเคมีเพื่อเร่งฮอร์โมน ให้มีขนาดใหญ่ เนื้อเยอะ มุ่งหวังเม็ดเงินมหาศาล ส่งผลให้รสชาติไม่มีความเป็นธรรมชาติ”

“นอก จากนี้ การผลิตในระบบอุตสาหกรรมยังเบียดเบียนอาหารตามฤดูกาลอีกด้วย เช่น ผลไม้บางชนิดที่อดีตจะมีให้กินเฉพาะฤดูกาลเท่านั้น แต่ปัจจุบันหลายๆ ชนิดมีให้กินแทบทั้งปี อย่างมะม่วง ลำไย ทุเรียน โดยความแตกต่างในเรื่องรสชาติจะชัดเจนที่สุดเพราะหากเป็นของที่เกิดขึ้นตาม ฤดูกาลจะหวาน อร่อยกว่าของที่ต้องบ่ม เร่งให้สุก ทั้งนี้การที่เรามีผลไม้ให้กินทั้งปีอย่างน่าแปลกใจ ฟังดูเหมือนชีวิตจะดีขึ้น จนลืมนึกไปด้วยว่าระบบการผลิตอย่างนี้ทำให้เราเกิดความเคยชิน ไม่รู้ว่ากำลังกินของที่ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ” กิ่งกร ฉายภาพ

คิดก่อนกิน แนวทาง “กินเปลี่ยนโลก”

กิ่งกร บอกต่อไปด้วยว่า การถูกทำให้เชื่อว่ามีแต่ของเพียงอย่างเดียว เจ้าเดียวเท่านั้นที่ต้องเลือกกิน ก็กลายเป็นวิกฤตอาหารอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ผู้บริโภคเองเกิดความเคยชินเมื่อนึกอยากจะกินก็เพียงเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หยิบอาหารมาเป็นกล่อง เป็นแพ็ค ถึงบ้านก็เอาใส่ไมโครเวฟ กินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว นี่คือ ทางออกของนักบริโภคในปัจจุบัน โดยที่ทางเลือกในการกินอาหาร ต้องตกอยู่ในการควบคุมของผู้ผลิตรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ต้องกินในสิ่งที่เขานำมาป้อนสู้ตลาดเพียงอย่างเดียวไม่มีทางเลือกอื่น

ผักพื้นบ้านที่กำลังถูกมองข้ามการเกษตรตามชนบทยังคงไว้ซึ่งความเป็นธรรมชาติอยู่มาก

แต่ ความจริงแล้วก็ยังมีผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยที่หลงเหลืออยู่เช่นกัน ถึงแม้จะไม่มากก็ตาม เพราะของพื้นบ้านโดยผู้ผลิตรายย่อยนั้นผู้บริโภคสามารถรู้ถึงที่มาของการ ผลิต ผิดกับระบบอุตสาหกรรม ที่ผลิตอย่างลับหูลับตา ไม่สามารถรู้ถึงที่มาของอาหารได้เลย ต่อไปจะทำให้ทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภคไม่รู้จักกัน อาหารที่กินก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเครื่องจักรเท่านั้น

“สิ่งที่โครงการกินเปลี่ยนโลกพยายามทำให้เกิดขึ้นคือ การออกมารณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกกินอย่างถูกต้อง ปรับวิธีการกิน เริ่มต้นคิดสักนิดก่อนจะกิน ตั้งคำถามถึงที่มาของอาหาร เพราะเรารู้สึกว่าหากผู้บริโภคช่วยกันตั้งคำถามมากๆ อะไรๆ ก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การเอ่ยปากถามแม่ค้าในตลาด หรือในซูเปอร์มาร์เก็ตว่า มีของชนิดอื่นให้กินอีกมั้ย? ผักที่ขายปลอดสารพิษหรือไม่? นอกจากไก่ชนิดนี้แล้วมีไก่บ้านขายหรือเปล่า? เป็นต้น หากคำถามเช่นนี้ถูกถามถึงบ่อยๆ แล้วคนขายจะไม่พยายามสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคเลยหรืออย่างไร เราต้องปฏิบัติการอย่างจริงจัง”

ซื้อของตลาดสดอาจช่วยลดวิกฤตอาหาร?

“ที่ผ่านมา เราส่งเสริมให้ชาวบ้านต่างจังหวัด ช่วยกันรักษาพันธุกรรมพื้นบ้าน พันธุ์ผัก ผลไม้ หมู ไก่พื้นบ้าน แต่ก็เป็นเพียงผลผลิตที่มีกินแค่ในหมู่บ้านเท่านั้น เนื่องจากผลิตออกมาแล้วไม่มีตลาดรองรับ เพราะตลาดส่วนใหญ่ตั้งขึ้นเพื่อรับการผลิตระบบอุตสาหกรรมเท่านั้น ชาวบ้าน ผู้ผลิตรายย่อย จึงต้องหันไปเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผัก ผลไม้แบบอุตสาหกรรมถึงจะได้ขาย ผู้ผลิตรายย่อยจึงถูกกลืนหายไป ส่วนผู้ที่รับผลนี้ไปเต็มๆ คือคนเมืองหลวง คนรุ่นใหม่ นี่เองที่อาการหนักสุด เพราะไม่มีโอกาสได้เข้าถึงของดีๆ มีประโยชน์เลย” ผู้ประสานงานโครงการสะท้อน

จู้จี้เรื่องกินสักนิด พาพ้นวิกฤตอาหาร

สำหรับ ความคาดหวังต่อโครงการกินเปลี่ยนโลกนั้น กิ่งกรบอกว่า ตอนนี้มีคนเริ่มตระหนักมากขึ้น โดยคนที่เริ่มหันมาสนใจเรื่องนี้ส่วนใหญ่คือผู้ที่ห่วงใยสุขภาพ ทำให้มีความรู้ในการพยายามเสาะแสวงหาของกินดีๆ มีประโยชน์ แต่ก็ยังติดข้อจำกัดอยู่ที่เรื่องของตลาด เพราะอาหารเพื่อสุขภาพจริงๆ จะหากินยากและจัดอยู่ในตลาดของคนที่พอมีฐานะ สิ่งที่อยากเห็นคือของดีๆ ไม่จำเป็นต้องมีไว้เฉพาะคนมีเงินเท่านั้น คนที่เดินดิน กินข้าวแกงก็ควรมีโอกาสได้กินอาหารเพื่อสุขภาพด้วยเช่นกัน