นิตยสาร สารคดี : ฉบับที่ ๓๐๐ :: กุมภาพันธ์ ๕๓ ปีที่ ๒๕
คอลัมน์รับอรุณ : ไม่หลงความคิด ไม่ติดความเห็น
พระไพศาล วิสาโล
บิดา ของ“วิทยา ”เป็นคนสูบบุหรี่จัดจนเป็นมะเร็งปอด ระหว่างที่พ่อเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เขาขอร้องให้พ่อเลิกสูบบุหรี่ตามคำแนะนำของหมอ พ่ออิดออดแต่ก็ยอมตามในที่สุด เมื่อรักษาครบกำหนด พ่อกลับมาพักฟื้นที่อพาร์ทเมนท์ที่ลูกเช่าให้ แต่อาการก็ทรุดลงตามลำดับ วันหนึ่งขณะที่มาเยี่ยมพ่อ เขาเห็นก้นบุหรี่หลายอันตกอยู่บนระเบียง จึงต่อว่าพ่อ แต่พ่อปฏิเสธ เขาโมโหมากที่พ่อปากแข็ง จึงใช้คำรุนแรงกับพ่อ หลังจากนั้นไม่นานพ่อได้เสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อน เมื่อจัดงานศพเสร็จ เขามาเก็บข้าวของของพ่อที่อพาร์เมนท์ เขาแปลกใจที่พบว่ายังมีก้นบุหรี่ที่เพิ่งทิ้งใหม่ ๆ ตกอยู่ที่ระเบียง ในที่สุดเขาจึงรู้ว่าก้นบุหรี่ที่เห็นในวันนั้นไม่ใช่ของพ่อ แต่เป็นของห้องข้างบนที่โยนลงมาและคงโดนลมพัดปลิวมาตกที่ระเบียงห้องของพ่อ เขารู้สึกผิดมากที่ไม่เชื่อพ่อแถมกล่าวหาพ่อว่าดื้อดึงและปากแข็ง แต่สายไปแล้วที่จะไปขอขมาท่าน

วิทยา ไม่เชื่อพ่อเพราะมั่นใจใน ความคิดของตนเอง เมื่อเห็นก้นบุหรี่ที่ระเบียงห้องของพ่อ เขาก็สรุปทันทีว่าพ่อไม่ยอมเลิกบุหรี่ เขาไม่ยอมมองมุมอื่น ทั้ง ๆ ที่พ่อยืนกรานว่าไม่ได้สูบบุหรี่ ความเชื่อมั่นในความคิดของตนนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่มึนตึงกับพ่อ จนกลายเป็นตราบาปในใจเขา รูปการน่าจะเป็นอย่างที่วิทยาคิด แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ หากวิทยาไม่ด่วนสรุป หรือเผื่อใจไว้บ้างว่า ความจริงอาจไม่เป็นอย่างที่เขาคิด เขาคงไม่กล่าวหาและใช้คำรุนแรงกับพ่อเช่นนั้น นี้คือบทเรียนราคาแพงของเขา

เมื่อ เห็นหรือได้ยินอะไรก็ตาม เรามิได้รับรู้เฉย ๆ แต่มักจะมีความคิดหรือข้อสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้นตามมาด้วย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ยิ่งเป็นเรื่องที่เราถือว่าสำคัญ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องตีความหรือคิดต่อจากสิ่งที่เห็นและได้ยิน นี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ปัญหามักเกิดขึ้นเมื่อเราเชื่อมั่นในความคิดหรือข้อสรุปนั้น จนบางครั้งเผลอทึกทักว่าเป็นความจริง

ความ เข้าใจผิดมักเกิดจากการด่วน สรุปและติดยึดในความคิดจนไม่สามารถยอมรับความจริง(หรือความเห็น)ที่สวนทาง กับความคิดนั้น คู่รักมักกล่าวหาอีกฝ่ายว่านอกใจเพียงเพราะเห็นเขา(หรือเธอ)หัวร่อต่อกระซิก กับเพศตรงข้ามในร้านอาหาร เพียงแค่ทักเพื่อนแล้วเขาไม่ทักตอบแถมมีสีหน้ามึนตึง ก็สรุปแล้วว่าเขาไม่พอใจเรา เราก็เลยมึนตึงกับเขาเป็นการตอบโต้

ความ คิดกับความจริงนั้นไม่ใช่ สิ่งเดียวกัน แม้ความคิดสามารถนำเราไปสู่ความจริง เช่นเดียวกับแผนที่ที่พาเราไปถึงจุดหมายปลายทาง แต่เราก็พบบ่อยมิใช่หรือว่าแผนที่(โดยเฉพาะที่ทำอย่างหยาบ ๆ และโดยคนที่ไม่รู้จริง)สามารถพาเราไปผิดทิศผิดทางได้ ในทำนองเดียวกันความคิดบางอย่างก็กลับพาเราเหินห่างจากความจริง ดังนั้นจึงไม่ควรหลงเชื่อความคิดเสียทีเดียวนัก ควรหัดทักท้วงความคิดบ้าง อย่าลืมว่าแผนที่ที่ดีที่สุดไม่สามารถเป็นตัวแทนของความจริงได้ครบร้อย เปอร์เซ็นต์ ถึงอย่างไรก็ยังมีข้อมูลหรือรายละเอียดสำคัญที่ขาดหายไป

อย่า ว่าแต่ความคิดเลย แม้แต่ภาพที่ปรากฏแก่สายตาของเรา ก็ยังเชื่อไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็นความจริง หรือไม่สามารถยืนยันได้ว่าตรงกับความเป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์

ริ ชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษ เล่าว่า คราวหนึ่งเขาถูกชวนให้ดูคลิปวีดีโอความยาว ๒๕ วินาที เป็นภาพหนุ่มสาว ๖ คนใส่เสื้อขาวและดำยืนเป็นวงกลม ต่างผลัดกันโยนลูกบอลให้แก่กันและกัน ระหว่างนั้นแต่ละคนจะสลับตำแหน่ง รวมทั้งเดินเข้าและออกจากวงตลอดเวลา ก่อนฉายคลิปดังกล่าว ผู้จัดได้บอกเขาและเพื่อน ๆ ว่า ต้องการทดสอบความสามารถในการสังเกตของทุกคน จึงขอให้นับดูว่ามีการโยนลูกบอลให้กันรวมทั้งหมดกี่ครั้ง เมื่อดูจบทุกคนก็เขียนคำตอบลงบนกระดาษ

หลังจากผู้จัดเก็บผลการนับของแต่ละคนแล้ว ก็ถามขึ้นมาประโยคหนึ่งซึ่งดอว์กินส์งงงันมาก นั่นคือ “มีกี่คนที่เห็นกอริลลา?” เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ที่ได้ดูคลิปวีดีโอ ดอว์กินส์ตอบว่าไม่เห็นกอริลลาเลยสักตัว ผู้จัดจึงฉายวีดีโอคลิปอีกครั้ง พร้อมกับแนะให้ทุกคนดูอย่างสบาย ๆ ไม่ต้องนับอะไรทั้งสิ้น ทุกคนประหลาดใจมากเพราะได้เห็นคนสวมชุดกอริลลาเดินฝ่าวงที่กำลังโยนลูกบอล แถมยังหันหน้ามาที่กล้อง พร้อมกับตีอก ราวกับจะเย้ยหยันคนดู แล้วก็เดินออกไป ทั้งหมดใช้เวลานานถึง ๙ วินาที แต่ปรากฏว่าคนดูส่วนใหญ่มองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้เลย

การทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า แม้แต่สิ่งที่ปรากฏต่อหน้าต่อตาเรา ก็ยังหลุดลอดสายตาของเราหรือเลือนหายไปจากการรับรู้ของเราได้ โดยเฉพาะเวลาเราจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งอื่นก็อาจถูกปัดออกไปจากสายตาของเราโดยไม่รู้ตัว

มีการทดลองคล้าย ๆ กันซึ่งทำโดย ดาเนียล ไซมอนส์ (Daniel J.Simons) คนเดียวกับที่ทำคลิปวีดีโอดังกล่าว ผู้ทดลองทำทีเข้าไปสอบถามทางกับชายคนหนึ่งที่กำลังเดินอยู่บนทางเท้า ระหว่างที่กำลังคุยกันอยู่ ก็มีชายสองคนขนประตูหรือวัตถุขนาดใหญ่เดินผ่ากลางอย่างไร้มารยาท จังหวะนั้นเองผู้ทดลองก็สลับบทบาทกับหนึ่งในสองคนนั้น คือขนประตูแทน และให้อีกคนมายืนคุยกับชายผู้นั้น ผลการทดลองปรากฏว่าร้อยละ ๕๐ ของฝ่ายหลังไม่เฉลียวใจเลยว่าตนกำลังคุยกับอีกคนหนึ่ง

การรับรู้ของเราแม้เห็นด้วยตาแท้ ๆ ก็ยังมีข้อจำกัด เรารับรู้เพียงบางสิ่ง และตัดทอนอีกหลายสิ่งออกไปโดยไม่รู้ตัว นี้คือเหตุผลที่ครึ่งหนึ่งของคนเดินเท้าในการทดลองข้างต้นคิดว่าตนกำลัง คุยอยู่กับคนเดียวกันกับที่มาถามทางตอนต้น ถ้ามีใครมาบอกเขาว่าความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เขาคงยืนยันหัวชนฝาว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาเชื่อสายตาของเขา

เช่นเดียวกับภาพที่ปรากฏแก่สายตาของเรา ความทรงจำก็เชื่อไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่าว่าแต่ความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่นานเป็นปีเลย แม้แต่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อชั่วครู่ที่แล้ว ความจำของเราก็อาจคลาดเคลื่อนได้

ขณะที่อาจารย์ผู้หนึ่งกำลังบรรยายวิชาอาชญาวิทยา จู่ ๆ ชายพร้อมอาวุธก็บุกเข้ามาในห้องบรรยาย พร้อมกับฉกชิงกระเป๋าเอกสารของอาจารย์ไป หลังจากที่โจรวิ่งออกไปแล้ว อาจารย์ซึ่งมีสีหน้าเรียบเฉย ถามนักศึกษาซึ่งตกตะลึงทั้งชั้น ว่าโจรผู้นั้นมีลักษณะอย่างไร

ปรากฏว่าคำตอบที่ได้แตกต่างกันไปคนละทิศละทาง โจรมีทั้งรูปร่างผอมและอ้วน ทั้งใส่และไม่ใส่แว่นตา มีทั้งผมดำและผมบลอนด์ มีทั้งสูง ๕ ฟุตครึ่งไปจนถึง ๖ ฟุตครึ่ง มีทั้งใส่เสื้อ
เชิร์ตกางเกงยีนส์และสวมเสื้อหนังและกางเกงสีน้ำตาล

เฟรด อินเบา (Fred Inbau) คืออาจารย์ผู้นี้ เขาต้องการชี้ให้เห็นว่าคำให้การของประจักษ์พยานนั้นไม่สามารถเชื่อถือได้ ทั้งหมด ส่วนหนึ่งก็เพราะเราเห็นความจริงแต่บางแง่ ส่วนที่เหลือหากไม่มองข้ามไปก็เติมแต่งเอาเอง

ความทรงจำในสมองของเราจึงมีทั้งความจริงและความคิดปรุงแต่งปะปนกัน ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ยิ่งไปกว่านั้นความทรงจำของเราแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา และง่ายที่คนอื่นจะมาต่อเติมหรือแทรกแซงได้ด้วย ในการทดลองคราวหนึ่ง มีหลายคนเห็นอุบัติเหตุเกิดขึ้นตรงสี่แยกขณะที่สัญญาณจราจรเป็นสีแดง หลังจากนั้นครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ได้รับการบอกเล่าว่าสัญญาณจราจรเป็นสี เขียว เมื่อมีการสอบถามคนกลุ่มนี้ในเวลาต่อมาว่าสัญญาณเป็นสีอะไร คนที่ได้รับการบอกเล่ามาก่อนมีแนวโน้มจะตอบว่าสัญญาณเป็นสีเขียว

ทั้งหมดนี้ชี้ว่า “ความจริง”ในสายตาหรือการรับรู้ของเรานั้น มักจะมีความคิดเจือปนหรือปรุงแต่งไม่มากก็น้อย ดังนั้นจึงมักจะไม่ตรงกับความเป็นจริง ที่ควรตั้งเป็นข้อสังเกตก็คือตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นเหตุการณ์กลาง ๆ ที่ไม่เกี่ยวพันกับอคติของผู้สังเกต หากเป็นเรื่องที่ผู้สังเกตมีอคติหรือความคิดล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว ก็จะเห็นความจริงคลาดเคลื่อนยิ่งไปกว่านี้ เช่นถ้าชอบใคร(ฉันทาคติ)ก็เห็นเขาดีไปหมด มองไม่เห็นด้านร้ายของเขาเลย หรือถ้าโกรธใคร (โทสาคติ)ก็เห็นแต่ด้านร้ายของเขา มองไม่เห็นความดีของเขาเลย

ด้วยเหตุที่เรามีข้อจำกัดในการรับรู้ จึงไม่ควรยึดติดถือมั่นว่าการรับรู้ของเราถูกต้อง ส่วนของคนอื่นนั้นผิด ในทำนองเดียวกันความคิดหรือข้อสรุปใด ๆ ก็ไม่ควรด่วนสรุปหรือมั่นใจว่าถูกต้อง ควรเผื่อใจไว้เสมอว่าเรายังเห็นความจริงไม่ครบถ้วนและสิ่งที่เราคิดนั้นอาจ ผิดก็ได้ จริงอยู่เราคงทำอะไรไม่ได้เลยหากไม่มีข้อสรุปบางอย่างหรือเชื่อว่าบางสิ่ง บางอย่างเป็นความจริง แต่ระหว่างที่เราทำไปตามความคิดหรือความเชื่อนั้น ก็ควรเปิดใจรับรู้สิ่งที่แตกต่างไปจากความคิดและความเชื่อนั้นบ้าง

ใน พุทธศาสนามีหลักธรรมข้อหนึ่ง ที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาปัญญา ได้แก่ “สัจจานุรักษ์” คือการพร้อมรับฟังความคิดความเห็นของผู้อื่นด้วยใจเป็นกลาง ไม่ด่วนตัดสินว่าเป็นเท็จ และไม่ยึดติดหรือยืนกรานว่าสิ่งที่ตนรู้หรือคิดเห็นเท่านั้นถูกต้องเป็นจริง

สัจ จานุรักษ์หากใช้คู่กับกาลาม สูตรก็จะช่วยให้เราไม่ตกเป็นทาสของความคิด พร้อมเปิดใจกว้างเพื่อเข้าถึงความจริงให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะข้อที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ…เพราะการอนุมาน….เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่ พินิจแล้ว…เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ รวมทั้งอย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล”

ถ้า เราไม่ด่วนสรุปหรือหลงเชื่อ ความคิดของตน แม้จะดูมีเหตุผลเพียงใด เราจะทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายกันน้อยลง แม้กระทั่งกับคนที่เรารักหรือรักเรา