ที่ว่าเด็กรุ่นใหม่เอาแต่เดินห้าง ช็อปปิ้ง ไม่สนใจเรื่องสังคม คนพูดตัดสินจากเด็กรุ่นใหม่กลุ่มนั้นกลุ่มเดียว ?
อยากทำงานแบบนี้ แต่ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะเราไม่ได้เรียนจบด้านสังคม…
ครอบครัวจะยอมรับหรือเปล่า ?…

หลายความเห็นถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าสู่ กันฟังในวงเสวนา “มุมมองผ่านภาพประทับใจ; อุดมการณ์อาสาสมัครหยั่งรากลึกอย่างไรในใจคน” ณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เมื่อ “ผู้ใหญ่” ที่เคยผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เดือนตุลา เดือนพฤษภา ฯลฯ มองว่า “เด็ก” สมัยนี้ บ้าเทคโนโลยี ทำตัวไร้สาระ ล่องลอยตามกระแสไปวันๆ

วันนี้ หน่ออ่อนแห่งความหวังกลุ่มหนึ่ง ได้มารวมตัวกัน และยืนยันว่ายังมีที่ทางให้อุดมการณ์ให้หยั่งรากลึกในใจคนรุ่นใหม่ โดยถ่ายทอดผ่านภาพประทับใจ 4 ภาพจาก 4 คนรุ่นใหม่ 4 มุมมอง

นักรณรงค์ กฎหมายภาคประชาชน

“เลือกภาพคนกลุ่มหนึ่งลงไปในพื้นที่ ชุมชนแออัด คิดว่าเป็นการจัดการที่ควรทำ เป็นการเรียนรู้ที่ลงไปเห็น ไปสัมผัสกับปัญหาจริงๆ ไม่ใช่แค่การมานั่งอบรม สอนวิธีคิด หรือให้ความรู้อย่างเดียว”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือ เป๋า เนติบัณฑิตวัย 24 ปี ผู้มีงานอดิเรกเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งของช่อง ทีวีสาธารณะ และมีงานประจำเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ในโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ให้เหตุผลด้วยน้ำเสียงสบายๆ หากแฝงความจริงจัง

เขา เรียนตามคาดหวังจากครอบครัวนัก กฎหมาย (พ่อของเป๋าเป็นทนายความ ส่วนแม่เป็นผู้พิพากษา) แต่ไม่ได้ชอบกรอบความคิดในระบบการศึกษา ทำให้เขาเลือกเดินเข้าสู่เส้นทาง “อาสาสมัคร” เพราะอยากทำงานที่ทำแล้วได้มากกว่าเงิน และยังเชื่อว่าคนทุกรุ่นมีจิตสำนึกไม่ต่างกัน แต่สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้คนสมัยนี้ออกมาทำอะไรดีๆ น้อยกว่าคนสมัยก่อน น่าจะมาจากสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้เติบโตมา

“คนแต่ละคนมีเป้าหมายแตกต่างกัน ส่วนใหญ่เป้าหมายก็เกิดจากครอบครัว ถ้าถามคนรุ่นใหม่ไม่มีจิตสำนึกอาสาสมัคร ก็ต้องถามว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่สอนมายังไง ถ้าสอนให้เราจะต้องประสบความสำเร็จ ต้องเติบโตไปมีเงินใช้ ซื้อบ้านซื้อรถ ทำอะไรใหญ่โต เราจะไปถามหาอุดมการณ์เพื่อสังคมจากไหน”

——————————————————————————-
ครูพัช ณ โฮมสกูลดอยผาส้ม

พิชชาภรณ์ สุภาวะหา หรือ พัช อดีตบัณฑิตสาวจากคณะบริหารธุรกิจ มรภ.ธนบุรี ที่ผันตัวจากพนักงานบริษัท ไปเป็นบัณฑิตอาสา ก่อนจะมาเป็นอาสาสมัครครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก รุ่นที่ 1 ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ณ บ้านเรียน (โฮมสคูล) วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เล่าเรื่องราวที่เป็นจุดเปลี่ยนของเส้นทางชีวิต ว่าอยาก “ค้นหา” ทางเลือกที่มากกว่า ตื่นไปทำงาน เย็นกลับบ้านนอน ทำให้เธอสมัครเรียนบัณฑิตอาสา ก่อนเข้าเป็นอาสาสมัครครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือกต่ออีก 1 ปี

จากช่วงเวลาสิบเดือนของการเป็นครู อาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก ทำให้เธอเชื่อมั่นว่าเธอกำลังเดินทามาถูกทางแล้ว และเธอยังหวังต่อไปด้วยว่า อยากให้คนรุ่นเดียวกัน หรือน้องๆ ที่กำลังจะจบการศึกษา ได้รู้ว่า ชีวิตยังมีทางเลือกทางนี้อยู่

“อยากให้มีการกระจายข่าวถึงคนรุ่นใหม่ อาจจะผ่านทางมหาวิทยาลัย หรือสื่อสารที่เข้าถึงพวกเด็กได้จริง เช่น ไฮไฟว์ เฟซบุ๊ค ให้เขารู้ว่าสังคมยังมีเส้นทางแบบนี้ ยังมีคนที่ทำงานอาสาสมัครแบบนี้ เพราะมันมีข้อมูลให้เข้าถึงน้อยมาก อาจจะพอรู้ว่ามี แต่ไม่รู้ว่ามันเป็นยังไง ทำอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง บางคนก็สนใจ แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง” เธอเผยถึงความต้องการ

——————————————————————————-
นัก สิทธิชุมชนที่ชื่อแอม

“ภาพที่เลือกเป็นภาพพี่ๆ อดีตอาสาสมัครกำลังหอบข้าวขึ้นไปภูเขา เห็นภาพแล้วคิดถึงงานอาสาพัฒนา คิดว่าการช่วยเหลือกันและกันเรื่องที่ดี โดยเฉพาะกับกลุ่มที่มีความต้องการ”

โสธิดา นุราช หรือ แอม บัณฑิตคณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเปิดที่ใหญ่ที่สุดของ ประเทศ วัย 22 ปี บอกเล่าเสียงใสถึงเหตุผลในการเลือกภาพประทับใจ

สาวใต้ตาคมผู้เติบโตจากครอบครัวข้า ราชการ เริ่มต้นชีวิตหลังรั้วสถาบันการศึกษาด้วยการเป็นอาสาสมัครนัก กฎหมายสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุผลว่า อยากใช้ความรู้ที่เรียนมาเพื่อทำอะไรก็ได้ที่เป็นการ ช่วยเหลือสังคม ก่อนที่จะออกไปเผชิญชีวิตจริงหลังหมดวาระ

“ตอนแรกคิดว่าคำว่าอาสาน่าจะ ออกเป็นการจัดทำค่ายอาสา แต่พอมาทำจริงๆ มันไม่ใช่ การเป็นอาสาสมัครที่ทำงานกับพื้นที่ เราต้องทุ่มทั้งตัว ทั้งใจ ทั้งชีวิตเลยช่วง 3-4 เดือนแรกของการทำงาน พี่เขาให้เข้าไปศึกษาชุมชน เก็บข้อมูล และต้องเรียนรู้ในเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับชุมชน ทำให้รู้ปัญหา เห็นชีวิตจริงของคนที่มีปัญหา”

9 เดือนที่ผ่านมา โสธิดาบอกว่า สิ่งที่ได้คือได้ประสบการณ์ดีๆ ทั้งจากคนและจากงาน โดยเฉพาะการเรียนรู้คนและชุมชนที่ทำงานด้วย วิธีคิด และการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหา แม้ว่าจะมีบางอย่างที่ไม่ใช่ และขัดแย้งกับตัวเอง

กับ คำกล่าวที่ว่า “คนรุ่นใหม่ไม่สนใจสังคม” หญิงสาวบอกว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากความคาดหวังของครอบครัว รวมถึงกระแสสังคมที่ชี้วัดความมั่นคงของชีวิตจากอาชีพที่ยอดนิยม ต่างๆ ซึ่งโดยส่วนตัวเธอเชื่อว่า มีคนรุ่นเดียวกันอีกไม่น้อย ที่สนใจงานพัฒนาสังคม แต่ยังไม่มีความมั่นใจเพียงพอที่จะก้าวออกมาจาก เส้นทางหลักที่คนทั่วไปเลือกเดิน
——————————————————————————-
เสียงคนเล็กๆ จากโรงเรียนเกาะปอ

“เลือกภาพรวมกลุ่มเพื่อน ของรุ่นพี่ เข้าใจว่าพี่ๆ กำลังจะหมดวาระ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นการเริ่มต้นที่พี่ๆ ต้องออกไปทำงาน และไปรับผิดชอบหน้าที่ที่มีต่อสังคมต่อไป ทำให้เราอยากไปให้ถึงจุดนั้น จุดที่อุดมคติมาเจอกับชีวิตจริง” พิเชษฐ์ เบญจมาศ หรือ เชษฐ์ บอกเหตุผลของการเลือกภาพประทับใจ

หนุ่มสุรินทร์วัย 25 ปี เกิดและเติบโตจากครอบครัวชาวนา หลงใหลและใช้ชีวิตตลอดสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัยในชมรมวรรณกรรม ตัดสินใจที่จะเป็นครูทันทีที่เรียนจบ เพื่อพบว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง มีหลายอย่างที่ทำไม่ได้อย่างใจหวัง

“การเรียนไม่ควรจะเรียนแค่ในหนังสือ ไม่ควรแยกส่วนวิชาต่างๆ ออกจากกัน แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้วิชาต่างๆ เหล่านั้นสามารถที่จะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันได้ ให้เด็กเข้าใจและสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตจริงได้”

การเลือกทางเดินที่ไม่เหมือนคน ทั่วไป ทำให้ชายหนุ่มจากสุรินทร์ถูกมองว่าเป็นพวก “กินอุดมการณ์” รวมถึงคำกล่าวเชิงห่วงใยแกมประชดประชันที่ว่า “อุดมการณ์ไม่ช่วยทำให้ท้องอิ่ม” ซึ่งทำให้เขาตั้งคำถามย้อนกลับมาว่า

“มันเป็นการตอบสนองระบบทุนเกินไป หรือเปล่า ผมคิดว่าคนเราอยู่ได้เพราะมีความเชื่อมากว่า แต่จะทำอย่างไรให้เราสามารถเดินไปถึงอุดมการณ์ได้ ซึ่งมันเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าที่เราจะมีมันไว้แต่ไม่ทำอะไร

อยากบอกคนที่ยังมีความเชื่อแบบ นี้ว่า เขาไม่ได้โดดเดี่ยว อยากให้เขาเดินต่อไป เชื่อตัวเอง เชื่อในสิ่งที่มันดี แต่อย่าใช้กรอบความเชื่อของตัวเองไปตัดสินทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องค่อยเรียนรู้ต่อไป” เชษฐ์กล่าวทิ้งท้ายด้วยประกายตามุ่งมั่น

ที่มา: http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…