CEO Challenge : GCH: Gross Community Happiness

หมู่ นี้ได้รับฟังความเห็นจากนักเศรษฐศาตร์และกูรูด้านเศรษฐกิจหลายท่าน ที่ออกอาการวิตกกังวลกับตัวเลข GDP (Gross Domestic Product) ของไทยว่ามีโอกาสติดลบ จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก ด้วยระบบเศรษฐกิจไทยนั้นพึ่งพิงอิงแอบอยู่กับตลาดส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ในตลาดหลักทั่วโลกตกต่ำผันผวน จึงพลอยส่งผลให้เศรษฐกิจเราย่ำแย่ไปด้วย แถมยังมีโบนัสติดปลายนวมกับสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘ทำตัวเอง’ ทั้งการเมืองและสังคมที่คอยฉุดรั้ง หากไม่รีบปลุกสติให้กลับมาทำงานโดยไว มีหวังได้เห็นหน้าเห็นหลังกันถ้วนหน้า

แต่สังคมไทยมีทุนสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งไม่มีชนชาติใดในโลกเสมอเหมือน นั่นคือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลายคนอาจได้ยินแล้วก็รู้สึกเฉยๆ เพราะได้รับรู้กันมานานหลายสิบปี แต่ก็ไม่เคยสนใจ คิดว่าไม่ใช่เรื่องของตนเอง เป็นเรื่องไกลตัว เป็นทฤษฏีที่นำมาปฏิบัติได้ยาก แต่จากสภาพเศรษฐกิจรุนแรงที่กำลังกระหน่ำโลกทั้งใบอยู่ตอนนี้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) คือ ทางรอดของโลกที่จะหลุดพ้นจากวิบากกรรมทางเศรษฐกิจได้ และกำลังได้รับความสนใจจากเวทีโลกมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้อภิปรายในการประชุม World Economic Forum 2009 ที่เมืองดาวอส เมื่อไม่นานมานี้ว่า

“…นับเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่มี ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ยังไม่มีความพร้อมและไม่ได้รับประโยชน์จากระบบ ทุน ระบบการตลาด ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีความพอเพียงด้านอาหาร…”

ดังนั้น ถึงแม้ว่าการวัดตัวเลขเศรษฐกิจแบบตะวันตกที่ยึด GDP อาจจะไม่สวยหรูนักสำหรับประเทศไทย แต่ไม่ต้องวิตกกังวลกันเกินเหตุ เพราะบุคคลผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดระดับโลก อาทิ Professor Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์และนักปรัชญาชาวอินเดีย ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 1998 ก็ได้กล่าวว่า “การประเมินการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจนั้น ไม่สามารถพิจารณาเฉพาะการเติบโตของ GDP เท่านั้น เราต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและศักยภาพของประชาชนด้วย…”

เช่นเดียวกับ Professor Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2001 ก็ได้กล่าวว่า “การกระจายความเติบโตทางเศรษฐกิจควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม การเติบโตของ GDP อาจหมายถึงช่องว่างที่ขยายกว้างขึ้นระหว่างคนรวยและคนจน…”

วันก่อน ผมมีโอกาสรับฟัง ดร. สุมิท แช่มประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานชุมชนพอเพียง ที่จะวัดผลโครงการชุมชนพอเพียงจากความสุขมวลรวมชุมชน Gross Community Happiness หรือ GCH จากความพออยู่ พอกิน พอใช้ โดยดูจากบัญชีรายรับรายจ่ายชุมชนว่ามีความสมดุลเพียงใด ต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอย่างไร ทั้งนี้ หากชุมชน 82,000 ชุมชนทั่วประเทศมีความสุข ความพอเพียง ก็สามารถวัดผลิตภัณฑ์มวลรวมชุมชน Gross Community Product หรือ GCP ได้ด้วย

ผมสนับสนุนแนวคิดเรื่องนี้ เพราะความสำเร็จของเราไม่จำเป็นต้องเอามาตรฐานของฝรั่งมาใช้ตลอดเวลา ด้วยความแตกต่างทั้งทางสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ความเป็นอยู่และค่าครองชีพ การวัดความสำเร็จโดยยึดจาก GDP ไม่สามารถนับรวมมูลค่าของกิจกรรมเศรษฐกิจในชุมชน ในครัวเรือน และกิจกรรมต่างๆ ที่ทำนอกระบบและเป็นเงินสดได้ ดังนั้นการที่เราสามารถทำให้ชุมชนทั่วประเทศซึ่งมีประชากรมากกว่า 30 ล้านคน พึ่งพาตนเอง แข็งแกร่งและแบ่งปัน ประเทศไทยจะมีความเข้มแข็งพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจ โลกได้ ไม่ว่าจะเป็นการว่างงาน ตลาดส่งออกหาย นักท่องเที่ยวลด ค่าเงินผันผวน หรืออะไรก็ตาม

โครงการชุมชนพอเพียง เป็นหนึ่งในโครงการรัฐบาลที่มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจระดับชุมชน โดยจัดสรรงบประมาณโดยตรงไปยังชุมชนทั่วประเทศ มุ่งให้ทุกภาคส่วนร่วมกันบริหารจัดการ และพัฒนาศักยภาพตนเองให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ลดต้นทุน และเพิ่มปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ตลอดจนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ เอาภูมิปัญญาของชาวบ้านมาผสมกับเงินทุนจากรัฐบาล เพื่อสร้างโครงการที่มีความยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน จะเริ่มดีเดย์กันในวันที่ 19 มีนาคมนี้ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เปิดตัวโครงการ ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และเครือข่ายต่างๆ

ท่านใดที่มีจิตอาสาหรือสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเข้าไปที่ www.chumchon.go.th

++++++++++++++++++++++

ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ซีอีโอผู้นำพุทธวิถีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานอย่างลงตัว จนเกิดกระแส การตลาดสีขาว White Ocean Strategy สร้างพลังและแรงบันดาลใจให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและ เอกชนให้หันมาสนใจในเรื่องพลังของสมองซีกขวา คุณธรรมและจริยธรรม ล่าสุดได้นำเสนอแนวคิด DQ (Dharma Quotient) ปัญญาที่เห็นธรรมชาติตามความเป็นจริง แก่นแท้ของการใช้ชีวิตและการบริหารงาน อย่างมีความสุข

อ่านข้อมูลย้อนหลังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับCEOที่ http://newsroom.bangkokbiznews.com/danai

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552

http://www.bangkokbiznews.com/2009/03/11/news_28356606.php?news_id=28356606