Equality for Disability สำรวจแต่ละประเทศให้สิทธิผู้พิการกันอย่างไร.ฝนก็ตก รถก็ติด ขึ้นรถไฟฟ้าแต่ละทีคนก็มากมาย ขนาดเรา…

โพสต์โดย The MATTER บน 7 กรกฎาคม 2017

Equality for Disability สำรวจแต่ละประเทศให้สิทธิผู้พิการกันอย่างไร

ฝนก็ตก รถก็ติด ขึ้นรถไฟฟ้าแต่ละทีคนก็มากมาย ขนาดเราเดินทางไปไหนกันก็ยังลำบาก แล้วผู้พิการเค้าต้องเจออะไรมากกว่าเราแค่ไหน ไม่ว่าจะพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ เบรลล์บล็อกก็มีบ้างไม่มีบ้าง อาคาร รถไฟฟ้าบางที่ก็ไม่มีลิฟต์อีก
เพราะผู้พิการก็มีความเท่าเทียมเหมือนกับเรา จะดีแค่ไหนถ้าเขาสามารถเดินทางไปไหนได้อย่างง่ายดาย ได้รับการอำนวยความสะดวกสบาย การสนับสนุนทางการศึกษา ทั้งการอบรมให้คำปรึกษาด้านการงานอาชีพด้วย

Young MATTER จะพาไปดูว่าแต่ละประเทศเขาให้สิทธิ ให้ความเท่าเทียมแก่ผู้พิการในการใช้ชีวิตกันอย่างไร

สหรัฐอเมริกา ใช้ชีวิตด้วยกัน อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ
.
มาเริ่มกันที่ดินแดนเสรีภาพอย่างประเทศอเมริกา ถึงล่าสุดจะมีข่าวแว่วๆมาว่ารัฐบาลจะมีการตัดงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับคนพิการบ้างส่วน แต่นอกจากสวัสดิการรัฐแล้วเรามาดูกันว่าที่ประเทศอเมริกามีการจัดพื้นที่ให้ผู้พิการมีส่วนร่วมแบบไหนบ้าง
.
อาคารส่วนใหญ่ในอเมริกาถูกออกแบบ Universal design เพื่อรองรับการใช้งานที่แตกต่าง มีทางลาดสำหรับรถเข็น มีศูนย์อำนวยความสะดวกให้ผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้พิการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชมการแข่งขันกีฬา ที่นั่งสำหรับการดูละครเวที สวนสาธารณะที่พื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับผู้คนทั่วไป และนอกเหนือจากมีพื้นที่ให้กับผู้พิการแล้วที่อเมริกาก็ยังมีพิพิธภัณฑ์คนพิการโดยจุดประสงค์เพื่อให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าใจผู้พิการมากขึ้น และยังเพื่อให้ทุกคนรู้สึกเท่าเทียมกัน สามารถใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันอย่างเข้าใจ
.

ออสเตรเลีย พัฒนาศักยภาพ เข้าสู่ตลาดแรงงาน
.
ที่ประเทศออสเตรเลียรัฐบาลมีการส่งเสริมเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมของประชากรในประเทศ รัฐบาลจึงมีกฎหมายห้ามกีดกันการจ้างงาน เพื่อเป็นการผลักดันและสร้างความเท่าเทียมให้ผู้พิการที่ต้องการมีอาชีพสามารถออกมาทำงานได้ จัดให้มีองค์กรที่ให้ความรู้และช่วยเหลือจัดหางานที่เหมาะสม ออสเตรเลียมีผู้พิการจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน มากกว่าหนึ่งในสามสามารถพัฒนาให้เป็นพนักงานระดับมืออาชีพ ทำหน้าที่ได้อย่างมีศักยภาพและมีทักษะในการทำงานและความสามารถที่หลากหลายไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้
.
แถมรัฐบาลออสเตรเลียยังช่วยเหลือเงินค่าใช้จ่ายบ้างส่วนให้กับผู้พิการที่ออกมาทำงาน เช่น ค่าเดินทางในประจำวัน และเพื่อกระตุ้นการจ้างงานผู้พิการ รัฐมีนโยบายให้เงินสนับสนุนค่าจ้าง เพื่อลดต้นทุนด้านค่าจ้างของนายจ้างที่จ้างแรงงานผู้พิการอีกด้วย
.

อังกฤษ ส่งเสริมการศึกษา สร้างคุณภาพชีวิต
.
ประเทศอังกฤษให้ความสำคัญและสนับสนุนด้านการศึกษาของผู้พิการอย่างเต็มที่เพื่อที่จะให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
อย่างในระดับมหาวิทยาลัย ผู้พิการสามารถขอทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโดยตรงและจากรัฐบาลได้ โดยแต่ละมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยจะมีการจัดการที่หลากหลายสำหรับผู้พิการ มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในอังกฤษจะมีศูนย์สำหรับนักศึกษาพิการที่ให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ คำแนะนำเรื่องค่าใช้จ่าย การใช้ชีวิตในหอพัก การเรียน สุขภาพ แนะแนวอาชีพและการจ้างงาน ทั้งมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยยังได้พัฒนาการสอนแบบรวมกลยุทธ์การเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นเพื่อสามารถเอื้อประโยชน์และเข้าถึงผู้พิการได้

ญี่ปุ่น รองรับทุกการใช้งาน จะไปไหนมาไหนก็สะดวก
.
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับผู้พิการมากๆ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การเดินทางในชีวิตประจำวันที่มีความสะดวก เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นเชื่อว่าการให้ความสำคัญกับผู้พิการนั้นไม่ใช่เพียงแค่ช่วยเหลือแต่ต้องให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันได้อย่างปกติและพึ่งพาตัวเองได้นั่นเอง
.
การอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันให้แก่ผู้พิการ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นปรับปรุงอาคารสถานที่ต่างๆและการขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการใช้งานที่แตกต่างกันของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหลายๆ แหล่งมีลิฟต์หรือทางลาดสำหรับผู้ที่ต้องใช้รถเข็น ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้าอย่างเดียวนะ แต่รถสาธารณะอย่างรถเมล์ก็ยังมีสายพิเศษโดยเฉพาะอย่าง รถเมล์ non-step bus ที่มีทางลาดขึ้นลงให้ผู้ที่ใช้รถเข็นสามารถใช้บริการร่วมกันได้
.
นอกจากนี้ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็นเส้นสีเหลืองเบรลล์บล็อกเพื่อผู้พิการทางสายตา ห้องน้ำสาธารณะที่รองรับผู้ใช้ทุกรูปแบบ อักษรเบรลล์ตามสถานที่ต่างๆ ทำให้สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัยขึ้นด้วย
.

สิงคโปร์ เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นอีก
.
ที่สิงคโปร์ถึงจะไม่มีกฎหมายสำหรับคนพิการโดยเฉพาะแต่ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติโดยความช่วยเหลือจากรัฐและเอกชน
.
สิงคโปร์มีการเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาช่วยเหลือผู้พิการให้มีความสะดวกในการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อช่วยขจัดอุปสรรคสำหรับคนพิการในการทำงาน โดยมีศูนย์ Tech Able Centre อยู่ในความดูแลของ SG Enable และ SPD ซึ่งศูนย์นี้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมปีที่แล้วเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการผ่านบริการให้คำปรึกษาและประเมินผลตลอดจนจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการฝึกอบรม
.
แต่เรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีกับผู้พิการทุกคนอาจจะยังมีช่องว่างอยู่ ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนของสิงคโปร์พยายามจะอุดช่องว่างนี้เพื่อให้ผู้พิการทุกคนได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่สามารถช่วยการทำงานในชีวิตประจำวันให้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ไทย กระตุ้นและผลักดันแต่ยังไม่พอนะจ๊ะ
.
และประเทศสุดท้ายคือประเทศไทยของเรานั่นเอง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลายองค์กรเอกชนและภาครัฐให้ความสำคัญกับการผลักดันสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้พิการแล้วเหมือนกัน
.
ในบ้านเรามีสถานที่ปรับปรุงและพัฒนาแล้วหลายแห่ง อย่างเช่น โครงการนำร่องซอยประชาบดี จังหวัดนนทบุรี ที่มีการคิดค้นและสร้างถนน ให้ผู้พิการสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ด้วยเลนถนนสำหรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ และเลนสำหรับผู้พิการทางสายตาโดยมีอักษรเบรลล์บนพื้น ทั้งยังมีสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ที่เริ่มปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันให้เป็นรูปแบบ Friendly Design อารยสถาปัตย์ ที่ทำให้คนปกติและคนพิการสามารถใช้สัญจรได้อย่างเท่าเทียมด้วย
.
แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งอำนวยความสะดวกและสภาพแวดล้อมในบ้านเราก็ถือว่ายังไม่พอต่อการกระตุ้นให้ผู้พิการออกมาข้างนอกมากนัก แต่ถ้าหากมีสภาพแวดล้อมที่ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสม รวมถึงการสนับสนุนเต็มที่จากภาครัฐ ผู้พิการในไทยคงได้รับสิทธิความเท่าเทียมที่ทำให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างปกติและปลอดภัยในสังคมมากขึ้น
.
ที่มา
https://www.thematter.co/pulse/equality-disability/28643
https://www.facebook.com/thematterco/posts/1907315776150482