ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

เสียง ลมภูเขาพัดต้องกิ่งสนหวีดหวิววังเวงยามค่ำ เงาทะมึนกิ่งก้านขยับแกว่งลึกลับน่ากลัว ทว่าแสงไฟที่สาดส่องกระทบพระมณฑปพระธาตุฯ ขับความมืดดูสว่างอบอุ่นดุจพระธรรม ศิษย์ตถาคตเริ่มสวดมนต์แล้ว ศาสนิกชนเปี่ยมศรัทธามากันล้นศาลาแต่ดูไปแล้วเหมือนเพิงไม้ที่สร้างแบบง่ายๆ หลังหนึ่งมากกว่า คำขานรับบาลีสอดแทรกเสียงลมหนักแน่นกังวานผ่านขุนเขาแมกไม้สงบและขรึมขลัง

หลาย ปีแล้วที่ไม่ได้เห็นบรรยากาศแบบนี้ นอกจากวันเทศกาลสำคัญทางพุทธศาสนาเราจึงเห็นผู้คนเฮเข้าวัดกันทีหนึ่ง บ้านเมืองแบบสมัยใหม่ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ หลังยุคพระพุทธเจ้าหลวง วัดกับชาวบ้านดูห่างเหินกันเรื่อยมาและยิ่งไม่ต้องกล่าวนับถึงชุมชนเมืองที่ วัดอาจเป็นเพียงสัญลักษณ์สักอย่างทางพิธีกรรมเท่านั้น ความห่างเหินดังกล่าวเหตุผลประการหนึ่งอาจเพราะบรรดาบุตรหลานที่เคยได้ร่ำ เรียนสรรพวิชาจากสถาบันสงฆ์ในอดีตต่างพากันเปลี่ยนเส้นทางตามโลกสมัยใหม่ที่ ศูนย์กลางการเรียนรู้จำกัดอยู่ที่ ‘โรงเรียน’ และ ‘มหาวิทยาลัย’ เท่านั้น

ปัจจุบันค่านิยมของการศึกษายิ่งไม่ได้อยู่ที่ ‘ความรู้’ หรือ ‘การใช้ประโยชน์’ แต่ เป็นเรื่องของภาพลักษณ์เสียส่วนใหญ่ โรงเรียนที่โด่งดังมีชื่อเสียงยิ่งเป็นที่นิยม ระดับคุณค่าของความเป็นมนุษย์เริ่มชี้วัดกันด้วยระดับดีกรีปริญญาและชื่อ เสียงของสถาบันการศึกษา ในขณะที่ปากของผู้คนพร่ำบ่นเรียกหาสังคมคุณธรรม ความสัมพันธ์ของคนกับวัดกลับถูกทอดทิ้งเหลือเพียงความรู้สึกจางๆจากอดีตไว้เบื้องหลัง

เสียงพระธรรมก้องกังวาน ‘วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม’ แห่ง นี้ จึงทำให้ได้กลับไปสัมผัสถึงบรรยากาศความศรัทธาในพระศาสนาที่ผิดแผกแตกต่าง ออกไปจากความคุ้นเคย แม้พุทธาสถานจะสถิตย์บนภูสูงตามชื่ออารามก็ตาม แต่กลับยังเป็นศูนย์กลางชุมชนที่รายรอบได้คล้ายดังอดีตกาลย้อนคืน

อีกประการหนึ่ง วัดนี้คล้ายกำลังปฏิรูประบบการศึกษาจึงสร้าง Home School ขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนแบบใหม่สำหรับเด็กในชุมชนที่กำลังเติบโตขึ้นในโลกอันทัน สมัยนี้ น่าสนใจที่ว่าบางทีอาจเป็นคำตอบสำหรับแนวการศึกษาภาคชนบทอย่างแท้จริงได้ใน อนาคต

Home School ดอยผาส้ม

 

“โตขึ้นอยากเป็นเกษตรกร เพราะถ้าเราไม่ทำใครจะทำต่อจากพ่อแม่” ปณิธาน ตาสม เด็กชายตัวน้อยกล่าวขึ้นอย่างมีปณิธานตามชื่อทั้งที่ทุกวันนี้เกษตรกรใน อำเภอสะเมิงรวมทั้งพ่อและแม่มีหนี้สินติดตัวจากการทำไร่สตรอเบอร์รี่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความผูกพันกับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายที่พบเห็นได้ทุก วันทำให้เขามีความสุขที่จะเป็นแบบพ่อและแม่

ปณิธาน เลือกที่จะไม่เรียนต่อในเมือง แต่เลือกเข้าเรียนต่อมัธยม 1 ที่ Home School วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม ที่ ‘พระอาจารย์สรยุทธ ชยปัญโญ’ เริ่มไว้เมื่อปีกลาย สิ่งที่เขาชอบมากคือการมีส่วนเสนอหลักสูตรการเรียนได้เอง ตอนนี้ปณิธานอยากเรียนเรื่องระบบนิเวศน์และการทำปุ๋ยชีวภาพ ส่วนก่อนหน้านี้การได้ออกไปดูงานนอกพื้นที่บวกกับการเป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์ จึงเลี้ยงแพะเป็นโครงการส่งครูด้วย

ปณิธาน ให้ดูสมุดเรียนในย่าม มีหน้าหนึ่งที่ครูให้วาดภาพสิ่งที่ประทับใจกับสิ่งที่สะเทือนใจ เขาวาดภาพผลสตรอเบอรี่เป็นลายเส้นปากกาง่ายๆแต่เก็บรายละเอียดสวยงาม ส่วน อีกภาพหนึ่งเป็นสตรอเบอรี่ช้ำๆ ถูกแมลงกัดแทะ ภาพวาดนี้ในสมุดสะท้อนปณิธานในหัวใจเด็กชายคนหนึ่งออกมาอย่างลึกซึ้ง เป็นภาพของความรักความผูกพันกับวิถีชีวิตและสอดคล้องกับความฝันของตัวเอง เป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบัน ใน Home School มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาต้น 5 คน และมัธยมปลาย 2 คน มีกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบพี่สอนน้องและเรียนไปด้วยกันโดยแบ่งการเรียนรู้เป็น 3 ช่วงใหญ่ คือ เปิดทางฝันซึ่ง จะนำเด็กๆไปดูงานที่ต่างๆเพื่อค้นหาตัวเอง เช่น ที่โครงการพิเศษสวนเกษตรเมืองงาย ดูการเพาะเห็ด ทำปุ๋ย เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสานรวมไปถึงการแปรรูป หรือการเข้าอบรมการเลี้ยงแพะ หมูหลุม ไบโอแก๊ส การทำเกษตรปลอดสารพิษที่คณะเกษตรศาสตร์ โรงเรียนชาวนาจังหวัดเชียงราย เป็นต้น

จากนั้นช่วงที่ 2 เป็นการก่อร่างสร้างฐาน คือการนำความสนใจจากความรู้ต่างๆ มาหลอมรวมกับจินตนาการ สู่การปฏิบัติการทดลองด้วยตนเอง ปัจจุบันที่ศูนย์การเรียนรู้ Home School มีทั้งแปลงพืชอินทรีย์เล็กๆ และเลี้ยงหมูหลุม 3-4 ตัว ส่วนช่วงสุดท้ายคือเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้เข้ากับสิ่งรอบตัว ส่วนนี้เป็นเรื่องของการประยุกต์ใช้

บาง คนอาจสงสัยเรื่องมาตรฐานทางความรู้ ปณิธาน บอกว่า จะต้องไปสอบวัดระดับความรู้ที่เขตการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่เป็นระยะๆ นอกจากนี้ในตารางเรียนรอบสัปดาห์จะมีสองวันเรียนวิชาสามัญเหมือนนักเรียนใน หลักสูตรปกติ ส่วนอีกสองวันเรียนเกษตรกับเข้าฐานปฏิบัติงาน และจะต้องมีวันหนึ่งเรียนกับพระอาจารย์ สำหรับสถานที่เรียนนอกจากเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนที่แม่เพ็ญบริจาค ที่นามาให้แล้ว บางครั้งก็ไปเรียนตามร่มไม้และแม่น้ำ

แม่เพ็ญเป็นแม่ของฟลุ้ค เพื่อนรุ่นพี่ของปณิธานใน Home School ก่อนนี้ฟลุ้คไปเรียนในตัวเมือง แต่ด้วยความห่างไกลของโรงเรียนกับบ้านทำให้ฟลุ้คเกือบจะหลุดวงโคจรไปสู่ด้านมืดเหมือนกัน

“เหมือนได้ลูกกลับคืนมา” แม่เพ็ญกล่าวถึงการเรียนใน Home School

แม่ ว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาฟลุ้คเปลี่ยนแปลงไปมาก มีความรับผิดชอบ และหันมาเอาใจใส่ครอบครัวมากขึ้น ในขณะที่เด็กในวัยเดียวกันเริ่มดื่มเหล้าสังสรรค์กันตามงานเทศกาลต่างๆแล้ว แต่ฟลุ้คหนักแน่นขึ้น แม้จะขอไปเที่ยวกับเพื่อนในงานเหล่านี้บ้างแต่ไม่เคยคิดยุ่งกับเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์

ก่อน หน้านี้ฟลุ้คต้องออกไปเรียนที่อำเภอซึ่งไกลบ้านและไกลตาครอบครัวทำให้ติด เพื่อน หนีโรงเรียน รวมทั้งมีปัญหาชู้สาวจนครูต้องเรียกผู้ปกครองไปพบ ทางโรงเรียนเสนอทางออกให้คนใดคนหนึ่งลาออก แม่จึงนำฟลุ้คกลับมาเข้า ม. 4 ใหม่ที่ Home School ทั้งที่ความจริงต้องเรียน ม.5 แล้ว แม่เพ็ญบอกว่าแม้จะเรียนช้าหน่อย แต่ครอบครัวก็ใกล้ชิดกันมากขึ้น

 

‘ครูติ’ สาวบันฑิตอาสานักแสวงหา

นอกจากนักเรียน บางทีครูเองก็กำลังเรียนรู้ไปด้วยกันพร้อมเด็กๆใน Home School ด้วย เราพบครูติ บัณฑิตอาสาที่มาเป็นครูHome School บนดอยผาส้ม เธอสอนมาได้ 6 เดือน แล้ว อีกเดือนเดียวก็ครบกำหนดกลับ ถึงตอนนี้เธอยังไม่ตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไป แต่เธอบอกว่าที่นี่ทำให้เห็นสังคมที่เป็นจริงมากขึ้น

ครู ติเล่าว่าเป็นคนจังหวัดนครปฐมและโตมาในครอบครัวทั่วๆไปที่อยากให้ลูกเรียน สูงๆ จบมามีอาชีพมั่นคง แต่ตอนมัธยมปลายที่บ้านเริ่มให้อิสระมากขึ้น จึงได้ออกไปเที่ยวป่าและออกค่ายของมหาวิทยาลัยบ้าง ต่อมาเธอเรียนต่อมหาวิทยาลัยจนจบคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“วัน แรกที่ได้เข้าไปมหาวิทยาลัยมีเพลงเพื่อชีวิตเป็นเซ็ทเลย อย่างเพลงเพื่อมวลชน เป้าหมายการศึกษา ปีกความฝัน ครูบนดอย เป็นจุดแรกทำให้อยากไปค่าย ต่อมาออกค่ายของชมรมศึกษาและพัฒนาชุมชนปีละครั้งจนเกิดเหตุการณ์สึนามิเกิด เป็นกลุ่ม U – Volunteer ขึ้น เริ่มทำงานเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นเครือข่าย เจอเพื่อนทั้งธรรมศาสตร์ ศิลปากร หรือราชภัฏ ทำให้มีกำลังใจว่าคนแบบนี้ยังมีมากมาย”

อย่าง ไรก็ตาม ในช่วงใกล้จบการศึกษาเป็นช่วงที่ติลังเลสับสนระหว่างการทำงานในสายที่เรียน ซึ่งแน่นอนว่าได้ค่าตอบแทนสูงและมั่นคงกับสิ่งที่ชอบคือการพัฒนาคน สุดท้ายติเลือกเส้นทางหลังเพราะมองว่าสังคมโหดร้ายขึ้นทุกที ยิ่งคนแก่ขึ้นยิ่งคิดถึงคนอื่นน้อยลง ขณะเดียวกันติก็มุ่งทำงานกับเยาวชนเพราะสามารถสื่อสารได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่

ก่อน มาเป็นครู ติทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนในรูปแบบค่าย แต่พอทำไปเรื่อยๆจึงเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่ารู้จักชุมชนจริงหรือ เธอจึงเลือกมาที่ชุมชนนี้ภายใต้โครงการบัณฑิตอาสาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรับเงินเดือนเพียง 4,000 บาท ซึ่งน้อยมากหากเทียบเงินที่จะได้รับในสายเทคนิคการแพทย์ แต่เธอก็บอกว่าใช้พอ อย่างหนึ่งคือที่นี่สอนให้รู้จักพึ่งตัวเอง อย่างเรื่องซักผ้าหรือล้างจานเธอก็ทำน้ำยาเอนกประสงค์ชีวภาพใช้เองโดยไม่ ต้องซื้อ

“หนึ่ง ปีที่ผ่านมาทำให้คิดว่ากระบวนการพัฒนาจากด้านในเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อไหร่ที่เราเจออะไรแล้วมองกลับมาทบทวนที่ตัวเองได้แสดงว่าเราได้เรียน รู้มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

 

ครูติ กล่าวว่า ทำงานกับเด็กต้องปรับตัวเข้ากับเด็กเป็นอย่างแรก พระอาจารย์บอกว่าต้องเป็นทั้งครู เพื่อน และแม่ ซึ่งเป็น 3 สิ่ง ที่ใหญ่มาก เธอบอกว่าช่วงแรกยากมาก แต่วิธีปฏิบัติธรรมบางอย่างพอช่วยได้ เช่น การคิดสลับขาวดำ คือการคิดว่าในอดีตเคยทำกริยาแบบไหนด้วยอารมณ์แบบไหนกับใคร คิดแบบนี้ทำให้คิดถึงแม่กับครูบ่อยๆ ทำให้คิดได้ว่าเราเคยทำแบบนี้เหมือนกัน รู้สึกว่ากรรมมันตามทัน (หัวเราะ ) เริ่มเข้าใจ และปรับตัวได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

“แต่กับชาวบ้านบางครั้งเราต้องการเวลาส่วนตัว คือแรกๆรู้สึกว่าเราอยู่กับชาวบ้านได้ แต่ผ่านไปสัก 4 เดือน เหมือนเวลามันคร่อมระหว่างชาวบ้าน ครู เด็ก ตัวเองและงานที่วัด กว่าจะนอนก็ดึกและต้องการเวลาส่วนตัว แต่พออยู่ๆไปกลับไม่ต้องการเวลาส่วนตัวแล้ว คืออยู่ได้แบบเรื่อยๆ เรากลายเป็นชาวบ้านไปแล้ว” เธอกล่าวและว่า “ปัญหา ใหญ่ที่สุดคือปรับตัวกับตัวเอง เวลาเราไม่พร้อมเจอเหตุการณ์ เช่น เช้านี้ต้องตื่นเช้ามาก เมื่อคืนก็เหนื่อย แต่เราต้องมาเจอเด็กซึ่งเราไม่ควรทำอาการเบื่อหรือเหนื่อยใส่เด็กทั้งสิ้น”

ผ่านมาแล้ว 6 เดือน สิ่งที่ค้นพบจากการเป็นครู Home School คือ รู้สึกว่าต้องมีความสุขทุกช่วงของชีวิต ติ บอกว่าอยู่ที่นี่แม้มีความทุกข์ แต่ก็รู้ว่าเราจะผ่านไปได้ อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของชุมชนหรือสังคม ที่นี่ทำให้รู้ว่าสังคมอย่างในตำรามันไม่ใช่ ความเป็นจริงมันไม่ได้สวยงาม

“ชุมชน อย่าไปคิดว่ามันต้องสวยงาม ดีไปหมด สังคมประกอบด้วยคนหลายส่วนมีทั้งดีและไม่ดี แต่สังคมมันมีชีวิตและเป็นไปของมัน สมดุลที่เคยมีในอดีตกับสมดุลในปัจจุบันมันก็คือสมดุลเหมือนกัน เราแค่กลับไปตามหาว่าอะไรทำให้สิ่งเหล่านี้มันเปลี่ยน

 

“ไม่ เคยคิดอยากกลับบ้าน แค่รู้สึกว่ามันเหนื่อยได้ มันท้อได้ แต่ถ้าเราไม่ทำต่อ อุดมการณ์หรือความคิดที่เราคิดว่าพัฒนาคนหรือเยาวชนได้จะสูญหายไป ความท้อมันเกิดได้แต่เราจะพิสูจน์ความเชื่อของเราจริงๆได้อย่างไร” ครูติกล่าวบนเส้นทางแห่งการเรียนรู้และแสวงหาของหนุ่มสาวที่คงหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่คนในห้วงเวลานี้

‘พระอาจารย์สรยุทธ’ นักพัฒนาจากแดนสงฆ์

‘ดอยผาส้ม’ เป็นภูสูงกว่า 1,200 เมตร และห่างไกลความเจริญ มองไปรอบๆรายล้อมด้วยภูลูกอื่นๆ ข้างบนลมหนาวยังพัดเฉื่อยฉิวแม้จะเข้าหน้าร้อนและใบไม้ข้างล่างเริ่ม แห้งกรอบแล้วก็ตาม ห่างเชิงเขาออกไปเล็กน้อยมีถนนตัดผ่าน เป็นเส้นทางไปมาระหว่าง 2 หมู่บ้านเล็กๆ ถนนเส้นนี้แยกมาจากอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ราว 30 กิโลเมตร เส้นทางค่อนข้างคดโค้งชวนเวียนหัว

บนยอดดอย มีพระธาตุเก่าที่สร้างตั้งแต่สมัยครูบาศรีวิชัย หากไปกราบสักการะเมื่อ 5 ปี ก่อนคงเห็นเพียงเจดีย์รกครึ้มกลางดงหญ้า แม้ยังตั้งตรงตระหง่านไม่ทรุดเอียงแต่ก็ทรุดโทรมด้วยอิฐปูนกะเทาะลอกร่อน คล้ายปราศจากการดูแลมานานปี แต่บังเอิญที่ ‘พระสรยุทธ ชยปัญโญ’ พระอาจารย์หนุ่มศิษย์หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ แห่งวัดป่าบ้านค้อ จังหวัดอุดรธานีจรผ่านมาปฏิบัติธรรมใกล้ๆหมู่บ้านพอดี

“ตอน แรกตั้งใจมาปฏิบัติธรรมที่นอกหมู่บ้านไม่คิดว่าจะมาทำอะไร แต่เห็นพระธาตุเก่าก็สลดใจ เลยชวนคนช่วยกันทำ บางคนก็ถวายแมคโครมาทำถนน ตอนนั้นปี 2548 ทำๆไปไม่มีงบประมาณก็ต้องหยุด แต่ข่าวกระจายไปทุกหมู่บ้านคนก็มาช่วยกันแบกหิน แบกทรายกัน”

ปัจจุบัน พระธาตุเก่าได้รับการบูรณะด้วยแรงศรัทธา มีพระมณฑปสวยงามครอบอีกชั้น ปลายปีนี้น่าจะสามารถยกฉัตรขึ้นพระมณฑปได้ งานก่อสร้างถือว่าสิ้นสุดลง แต่สำหรับงานสร้างธรรมมะให้สถิตสถานถาวรในหัวใจผู้คนในฐานะศิษย์ตถาคตคง เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

หลังทำงานร่วมกับชาวบ้านมาแรมปี พระอาจารย์สรยุทธ์เริ่มมองเห็น ‘ทุกข์’ ที่ แฝงเร้นในแววตาเศร้าสร้อย เกษตรกรสตรอเบอรี่ทุกคนแบกหนี้มากมายเอาไว้บนบ่า เป็นวงจรปัญหาเดิมๆที่ไม่แตกต่างไปจากชุมชนเกษตรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวแห่ง อื่นๆในประเทศ คือต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆจากดอกเบี้ยเป็นวงรอบเหมือนงูกินหาง มีทั้งหนี้ในระบบส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์และหนี้นอกระบบที่กู้ มาใช้หนี้ในระบบอีกทอดหนึ่ง ยังไม่รวมถึงค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีที่แพงขึ้นเรื่อยๆในขณะที่ดินก็เสื่อมลงเรื่อยๆเช่นกัน

“ยิ่งถ้ามีลูกก็เตรียมมีหนี้ได้เลย” พระ อาจารย์กล่าวถึงอีกชั้นหนึ่งของโครงสร้างปัญหา การศึกษาในระบบปัจุจุบันมีต้นทุนที่สูง แต่ไม่สามารถนำกลับมาทำงานได้จริงในชุมชนเลย พระอาจารย์สรยุทธจึงเริ่มมองหาหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะกับชุมชนเกษตรกรรม และเริ่มวางรากฐานให้เป็นรูปธรรม

พระอาจารย์ กล่าวว่า เริ่มต้น Home School จากการไปพบกับคุณหญิง ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการและเลขาธิการ สพฐ.ที่งานอัศจรรย์เด็กไทย เมืองทองธานี บอกท่านว่าการศึกษาของเด็กที่อยู่ชายขอบจะเอาการศึกษาแบบส่วนกลางมาให้เรียน ใช้แก้ไขปัญหาชุมชนไม่ได้ แต่ที่เป็นอยู่คือเด็กต้องไปจบ ม.6 จากนอก ชุมชน พ่อแม่ก็ไม่รู้ว่าเรียนแบบไหน แม้ไม่อยากให้ไปแต่ก็ไม่มีทางเลือก คุณหญิงกษมายอมรับว่ามีปัญหาจริง พระอาจารย์จึงเสนอว่าถ้ามีหลักสูตรการศึกษาเองขอทดลองได้หรือไม่ ท่านรับว่าจะช่วยดูให้และมอบหมายไปยังเขตการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่

“ทดลองลองผิดลองถูกมามาก เพราะ Home School ใน ลักษณะทำงานชุมชนนั้นไม่มี ที่มีส่วนมากเป็นลูกหมอ ลูกทนาย ที่พ่อแม่สอนเอง ในช่วงทดลองเจอปัญหาหนึ่งคือโรงเรียนที่เด็กจบมาไม่ได้สร้างลักษณะอันพึง ประสงค์ เช่น ความมีวินัย ความซื่อสัตย์ ความสนใจ ใฝ่รู้ แม้โรงเรียนจะประเมินผลด้วยการให้ ผ.หรือ มผ. แต่ถ้า ผ.จริงไม่เป็นอย่างนี้ ให้ผ่านๆไปจึงรับภาระจากโรงเรียนที่ไม่สามารถปั้นเด็กได้ ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้

 

“เด็ก แต่ละคนมีปัญหาคนละอย่าง ตอนนี้รู้ทางคือไม่ทรีตเด็กเป็นเด็ก ถ้าคิดว่าชั้นเป็นครู เธอเป็นเด็ก ทำหน้าที่รับคำสั่งอย่างเดียว แบบนั้นไม่ได้ มันเหมือนคนพิการแบมือขอทาน ครูจึงไม่สั่งแต่ใช้การคุยเยอะ การสั่งถึงเอามีดจ่อคอเด็กก็ไม่ทำเพราะเขาไม่มีส่วนร่วมแต่ตอนนี้ปั้นกระบวน การให้มีส่วนร่วม”

 

พระ อาจารย์กล่าวอีกว่าได้ทำการทดสอบว่าใครถนัดอะไร บางคนชอบวาด บางคนชอบถ่ายรูป บางคนชอบร้องเพลง ใครชอบอะไรก็สอนกันตัวต่อตัว เด็กก็ทำได้ดี เรียนรู้เร็วไม่เบื่อ

“พยายาม ให้เด็กมีความสุขกับการเรียน ทำกิจกรรมที่ชอบ สนใจ ความสัมพันธ์กับครูแนบแน่น ดุหรือตีก็ไม่ว่า เด็กมีความเกรงใจกันมากขึ้น พูดก็เชื่อ อย่างทำงานรวมเรื่องการทอดกล้วย คนชอบเพลงให้แต่งเพลงทอดกล้วย คนวาดก็ให้วาดรูป แล้วก็ให้คิดโครงการเอาไปขาย รูปและเพลงก็เอาไปใช้เป็นส่วนประกอบ”

 

หลักสูตร Home School ยัง เน้นไปที่ความสอดคล้องกับทิศทางพัฒนาชุมชนชนบทที่พยายามปลดแอกจากหนี้สินที่ พอกพูน พระอาจารย์สรยุทธ กล่าวว่า แนวทางที่นำมาใช้กับชุมชน คือ แนวทางพระราชดำริ ‘บวร’ หรือ บ้าน วัด โรงเรียน สัมพันธ์กันโดยอาศัยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวขับเคลื่อนชุมชนพร้อมกันใน 4 ด้าน คือ ทุนของสังคมเกษตร การพึ่งพาตนเอง พลังงานทดแทน และการศึกษา

ทั้ง นี้ ชุมชนเกษตรกรรมต้องมีแหล่งน้ำเป็นทุนสำคัญจึงขับเคลื่อนแนวคิดการอนุรักษ์ ทรัพยากร มีการทำฝายชะลอน้ำแบบชาวบ้านในหลายจุดตามแนวพระราชดำริเพราะเชื่อว่าการ สร้างฝายเล็กๆหลายฝายมีประโยชน์กว่าการสร้างฝายใหญ่ฝายเดียว ปัจจุบันเริ่มมีวังน้ำเกิดขึ้น นอกจากนี้ ชุมชนจะต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ที่นี่เริ่มปรับตัวเข้าสู่การทำการเกษตรแบบอินทรีย์โดยให้ทดลองปลูกลงไปใน แปลงปกติ นักเรียนบางคนไปขอแบ่งแปลงเกษตรพ่อแม่มาทดลองทำเกษตรอินทรีย์เอง นอกจากนี้มีการทำน้ำยาอเนกประสงค์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและขยะวิทยา การทำน้ำหมัก การทำฮอร์โมนต่างๆ ยาขับไล่แมลง ในด้านพลังงานทดแทนเริ่มปลูกทานตะวันแซมไปตามไร่สตรอเบอร์รี่และหนีบน้ำมัน เอง หลักสูตรและการปฏิบัติงานของเด็ก Home School จะสอดคล้องกับแนวทางเหล่านี้

“การ ศึกษาที่ให้กู้เรียนไปเรื่อยๆแต่มีหนี้ตั้งแต่เริ่มต้นไม่มีความสุขหรอก ถ้าเรียนฟรีน่าจะให้เรียนมหาวิทยาลัยฟรีด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าฟรีหมดแล้วจะดี เหมือนอย่างคิวบา บราซิล ให้เรียนมหาวิทยาลัยฟรีเลยจบหมอ จบวิศวะเต็มไปหมด แต่ไม่มีงานทำ เป็นเพราะไม่ได้ดู Demand/Supply ประเทศไทยนั้นต้องการผู้ผลิตอาหาร อนาคตประเทศนี้จะขาดผู้ผลิตอาหาร เพราะประเทศนี้สร้างแต่คนมีปริญญา อาชีพเกษตรถูกดูถูก” พระอาจารย์วิจารณ์แนวทางจัดการศึกษาของรัฐทั้งยังบอกอีกว่า “อาตมาเรียนมาก่อนเลยเห็นโทษ การเรียนระบบปัจจุบันเหมาะกับคนบางกลุ่มเท่านั้น นำมาใช้ 100 % ไม่ได้ ”

 

พระ อาจารย์ กล่าวว่า ประสบการณ์สมัยทำงานทางโลกทำให้เห็นว่า แท้จริงแล้วระบบตลาดหลักทรัพย์เป็นระบบที่ชั่วช้ามาก และบริษัทข้ามชาติจะใช้ระบบนี้ซึ่งเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นจึงต้องหาวิธีลงทุน ให้ได้กำไรที่สุด

“มันเหมือนเครื่องดูดฝุ่นจะดูดของชุมชนเข้ากลางหมด มันดูดทรัพยากรคนอื่นหมดไว้ที่มันคนเดียว ไม่มองไกล ปลาใหญ่กินปลาเล็กกินจนหมดสุดท้ายก็มากินหางตัวเอง ดูดจนสุดท้ายเหลือแต่หิน” พระอาจารย์กล่าวด้วยว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง

“นิสัย คนเราไม่เหมือนกันบางคนต้องการอยู่ในเมืองก็ให้อยู่ไป แต่ขอทางเลือกให้คนที่อยากอยู่ในชนบทด้วย ปัจจุบันมันไม่มีทางเลือกนี้ การศึกษาลากคนเข้าส่วนกลางหมดไม่เปิดช่องอื่นเลย บางคนบอกเรียนอาชีพก็ให้ไปเรียนอาชีวะสิ แต่เรียนอาชีวะอะไรบ้างที่นำกลับมาประกอบอาชีพที่บ้านได้ ระบบการเรียนตอนนี้ไม่ได้เรียนเพื่อกลับมาท้องถิ่น แต่เรียนเพื่อไปของานทำ”

ท่าน มองว่า ท้องถิ่นเองจำเป็นต้องถูกพัฒนาให้เข้มแข็ง แม้จะอยู่แบบชนบทก็ต้องไปให้ทันโลก คือไฮเทคได้ มีศูนย์คอมพิวเตอร์ได้ อย่างในประเทศตะวันตก เช่น ลอนดอนหรือปารีสในตัวเมืองฟุ้งเฟ้อมาก แต่ถ้าออกไปนอกเมืองหน่อย บรรยากาศจะเป็นอีกแบบไปเลย เป็นป่า เป็นชนบทเก่าแก่ เขาทำหน้าที่ผลิตอาหารส่งเมือง มีวัวแต่ก็มีอินเตอร์เน็ท ความทันโลกเป็นสิ่งจำเป็น แต่จุดเด่นของชุมชนคือการพึ่งตนเองและต่อรองได้ หลักสูตร Home School ใน สายตาพระอาจารย์สรยุทธจึงไม่ใช่การปฏิเสธความเป็นไปของโลก แต่เป็นการเปิดพื้นที่ทางเลือกให้กับภาคส่วนชนบทและส่งไม้ต่อให้อนาคตอย่าง ยั่งยืน

“เกษตรอินทรีย์ถ้าลูกไม่ทำต่อมันก็เจ๊ง ผลสรุปสุดท้ายก็คือขายที่ดินอยู่ดี” ศิษย์ตถาคตผู้นี้กล่าวทิ้งท้ายไปยังสาธุชนทั้งหลาย…

ประวัติพระอาจารย์สรยุทธ ชยปญฺโญ

พระอาจารย์สรยุทธ ชยปญฺโญ เล่าให้ฟังว่า ในวัยเด็กเติบโตมาตามสูตรของเด็กผู้ชายในกรุงเทพฯทั่วไป สมัยมัธยมต้นเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนและไปต่อมัธยมปลายที่โรงเรียน เตรียมอุดมศึกษา ต่อมาสอบได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“หลัก สูตรในฝันครอบครัวก็ภาคภูมิใจ ตอนนั้นมีกระแสไม่หมอก็วิศวะ พี่ชายก็เรียนหมอศิริราช แต่ละคนเรียนพิเศษ ติวเข้ม เอ็นทรานซ์ ญาติพี่น้องก็อย่างนี้ทั้งนั้น เรียนจบแล้วไม่รับปริญญาไปเรียนต่ออเมริกาเลย”

ท่านกล่าวว่า จบมาด้วยเกรด 3.5 และจบปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ดโดยใช้เวลาเพียงปีเดียว

“จบ มาทำงานก่อน ตอนหางานบางบริษัทเห็นเราจากตอนสัมภาษณ์แล้วไม่สน เพราะเราอยากจะทำประโยชน์ให้สังคมด้วย แต่เขาสัมผัสได้ว่าความกระหายในการทำกำไรของเราไม่พอก็ไม่รับ เขาหาคนโลภจัดร่วมเป็นร่วมตายกับเขา เขารู้เราไม่มีไฟกระหาย เราไปได้งานที่ World Bank”

 

แต่ ทำได้สักพักก็เปลี่ยนงานอีกครั้งเพราะรู้สึกเหมือนนั่งอยู่บนหอคอยคอยวางแผน แต่ไม่ได้สัมผัสกับผู้คนจริงๆ ไม่ได้เห็นผลสรุปเชิงประจักษ์ด้วยตาตัวเอง จึงเปลี่ยนไปทำให้บริษัทสายการบินฟินิกซ์ ที่อริโซน่า

พระอาจารย์กล่าวว่า ช่วงนี้เองที่เริ่มมองเห็นความไม่เที่ยงของชีวิตจากเจ้านาย ก่อนเกิดเหตุการณ์ 911 บริษัท มีผลกำไรสูงมาก เจ้านายมีรถทุกยี่ห้อ สร้างบ้านใหญ่โต มีปาร์ตี้ทุกวันศุกร์ แต่หลังเหตุการณ์เริ่มเกิดวิกฤติจนต้องปลดคนงาน เจ้านายเปลี่ยนจากคนยิ้มแย้มกลายเป็นคนหน้าอมทุกข์ ส่วนตัวเองแม้ไม่ได้ถูกปลดออกแต่ต้องแบกงานแทนเพื่อนอีก 2 คน

ต่อมา ภายหลังพระอาจารย์ได้พบกับหลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ ที่อเมริกา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้อ่านหนังสือธรรมมะของท่านมาก่อน 2 เล่ม คือ ‘ทวนกระแส’ กับ ‘สัมมาทิฏฐิ’ และฝึกทำสมาธิเป็นประจำ

หลวง พ่อทูลเทศน์ให้ฟังเรื่องสมาธิ จึงเริ่มคิดที่จะบวช หลังผ่านด่านทดสอบจิตใจหลายอย่าง ปลดสิ่งที่เคยผูกมัดทางจิตใจได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปลักษณ์หน้าตาของสตรี ปล่อยวางในหน้าที่การงานแล้วลาออกเมื่ออธิบายให้ทางบ้านเข้าใจแล้วจึงได้บวช และศึกษาพระธรรมที่วัดป่าบ้านค้อ จังหวัดอุดรธานี นอกจากโครงการ Home School แล้ว ปัจจุบันกำลังทำโครงการ ‘ธนาคารต้นไม้’ เพื่อเป็นอีกกระบวนการหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้สิน

Credit : http://www.prachatai.com/05web/th/home/16091