Money Pro : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ CFPTM กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

มีการลงทุนอย่างหนึ่ง ที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้มีความมั่งคั่งสูงของโลก เรียกว่า Philanthropy Investment หรือแปลเป็นภาษาไทย ว่า “การลงทุนเพื่อเพื่อนร่วมโลก” โดยกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง เห็นว่าตนเองเป็นผู้มีอะไรหลายๆ อย่างเพียบพร้อมแล้ว จึงต้องการที่จะแบ่งปันให้กับมวลมนุษยชาติด้วย

Philanthropy Investment (อ่านว่า ฟิแลนโธรพี) เป็นที่สนใจมากขึ้นตั้งแต่หลังวอร์เรน บัฟเฟตต์ ช่วยสมทบทุนให้มูลนิธิ ของบิล เกตส์ ในปี 2006

บิล เกตส์ ตั้งมูลนิธิชื่อ มูลนิธิ William H Gates ขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 1994 (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Bill & Melinda Gates Foundation) โดยเขารวบรวมเงินบริจาค เพื่อ 2 วัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อสุขภาพของมวลมนุษยชาติ และเพื่อดูแลความต้องการของท้องถิ่นในเขตภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐ อเมริกา (เนื่องจากเขาเป็นคนเมืองซีแอตเติล มลรัฐวอชิงตัน) ด้วยเงินทุนประเดิม 94 ล้านดอลลาร์ และให้บิดาของบิล เกตส์ คือ คุณบิล เกตส์ (ซีเนียร์) เป็นผู้จัดการ

ในเดือนมิถุนายน 1997 เขาแยก The Gates Library Foundation ออกมา มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ห้องสมุดประชาชนทุกแห่งในสหรัฐ มีเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้คนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 20-27 ล้านคน สามารถเข้าไปใช้อินเทอร์เน็ตได้

หลังจากที่บิล ได้คุยกับวอร์เรน บัฟเฟต์ มหาเศรษฐีเจ้าของกองทุน เบิร์กไชร์ เฮธทะเวย์ ในเดือนมิถุนายน ปี 2006 วอร์เรนก็เกิดศรัทธาในสิ่งที่บิลตั้งใจทำ จึงร่วมสมทบทุนให้เป็นหุ้นของบริษัทเบิร์กไชร์ เฮธทะเวย์ 10 ล้านหุ้น มูลค่าประมาณ 31 ล้านดอลลาร์ โดยทยอยโอนให้ แก่มูลนิธิ เพื่อให้การดำเนินงานของมูลนิธิแผ่ขยายไปได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ในเดือนตุลาคม 2006 มูลนิธิจึงแยกการดำเนินการเป็น 2 ส่วน โดย Bill & Melinda Gates Foundation เป็นทรัสต์ฟันด์ที่ทำหน้าที่ดูแลการจ่ายเงินให้กับผู้รับการสนับสนุน และ Bill & Melinda Gates Foundation Trust เป็นทรัสต์ฟันด์ ที่ทำหน้าที่บริหารเงินลงทุน

มูลนิธิบิล และเมลินดา เกตส์ มีคำขวัญว่า “All Lives Have Equal Value” หรือ “ทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน” ซึ่งเป็นความพยายามที่จะผ่อนคลายความแตกต่างของผู้มีอันจะกิน และผู้ยากไร้ ในโลกของทุนนิยม เพราะผู้ยากจนและด้อยโอกาส โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา มักจะมีโอกาสอยู่รอดน้อยกว่าผู้มีโอกาส เนื่องจากหากไม่ถูกโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ก็จะต้องทำงานที่มีอันตรายสูง เสี่ยงภัยต่อชีวิต

บิลและเมลินดา ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกมาหลายปี (เพิ่งจะถูก คาลอส สลิม มหาเศรษฐีของเม็กซิโกแซงหน้าไปในปี 2010 นี้) มีความตั้งใจที่ช่วยเหลือมวลมนุษยชาติที่ด้อยโอกาส ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โครงการของเขามีหลายโครงการ บางส่วนเป็นเรื่องของสุขภาพ โภชนาการ บางส่วนเป็นเรื่องของการศึกษา

การตั้งกองทุนหรือมูลนิธิประเภทนี้ขึ้น มูลนิธิก็จะนำเงินบริจาคที่ได้มา มาทำการบริหารและนำดอกผลไปใช้ เพื่อการกุศลตามวัตถุประสงค์ที่เจ้าของตั้งไว้

ขอบเขตการดำเนินงานของมูลนิธิบิล และเมลินดา เกตส์ ในปัจจุบัน ขยายไปครอบคลุม 3 ด้านหลัก คือ สุขภาพของมวลมนุษยชาติ (Global Health) การพัฒนาของโลก (Global Development) และโครงการในสหรัฐอเมริกา (US Program)

ในปี 2010 นี้ มูลนิธิเน้นเรื่องวัคซีน โดยจัดสรรเงิน 10 ล้านดอลลาร์ เพื่อการค้นคว้า พัฒนา และการฉีดวัคซีน เนื่องจากเห็นว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบในประเทศด้อยพัฒนามีอัตราการเสียชีวิตสูง ทั้งนี้ หากได้รับวัคซีนครบถ้วน หรือหากมีการพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ ก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง

ลักษณะการดำเนินการของมูลนิธิ จะเขียนหลักการไว้อย่างชัดเจนว่า โครงการที่ต้องการขอรับการสนับสนุน ควรมีคุณสมบัติอย่างไร และมูลนิธิจะติดตามความคืบหน้าอย่างไร

ในเว็บไซต์ของมูลนิธินี้ เมลินดา กล่าวไว้ว่า “ด้วยความตั้งใจของเรา เราจะทำให้เยาวชนจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย มีโอกาสเรียนจนจบวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว”

ท่านที่สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม คลิกไปดูได้ที่ www.gatesfoundation.org  ค่ะ

ลงทุนเพื่อเพื่อนร่วมโลก (ต่อ)

Money pro : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ CFPTM กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สัปดาห์ที่แล้วดิฉันเขียนถึงการลงทุนเพื่อเพื่อนร่วมโลก หรือ Philanthropy Investment ซึ่งผู้ที่มีความมั่งคั่ง สามารถทำได้ เพื่อช่วยเหลือ หรือให้โอกาสแก่ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า ในสัปดาห์นี้ขอกล่าวถึงรายละเอียดต่อไปค่ะ

หากมองโดยรวม การ “ให้” กับสังคมนั้น มีอยู่หลายแบบ แบบที่คนทั่วไปนิยมปฏิบัติคือการบริจาคให้องค์กรการกุศล และให้องค์กรไปดูแลบริหารจัดการเอง โดยจะเน้นให้ไปยังองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ตรงกับที่ผู้ให้อยากจะให้ เช่น ผู้ที่มีญาติผู้ใหญ่เป็นโรคมะเร็ง อาจจะอยากบริจาคให้กับ สถาบันมะเร็ง คนที่ไม่มีบุตร อาจจะอยากบริจาคให้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เป็นต้น การให้ในลักษณะนี้ จะให้เงินและไม่หวังผลตอบแทนทางการเงินใดๆ ถือเป็นการให้ขาด

เมื่อเงินที่เราให้มีก้อนใหญ่พอ เราก็อาจจะสามารถตั้งเป็นกองทุนภายใต้มูลนิธิหรือองค์กรการกุศลได้ เช่น ศิริราชมูลนิธิ มีให้เลือกจัดตั้งกองทุนได้ และผู้บริจาคสามารถกำหนดได้ด้วยว่า จะให้นำเฉพาะดอกผลไปใช้ หรืออนุญาตให้นำเงินบริจาคนั้นไปใช้ด้วย

เมื่อถึงอีกขั้นหนึ่งที่เราต้องการให้นำเงินไปดูแลในด้านใดด้านหนึ่งโดย เฉพาะ และเห็นว่าองค์กรการกุศลที่มีจัดตั้งอยู่ ยังไม่ครอบคลุมกิจกรรมการกุศลที่เราอยากทำ เราก็สามารถตั้งมูลนิธิเอง แบบที่บิล เกตส์ตั้ง ซึ่งดิฉันได้เขียนถึงไปเมื่อสัปดาห์ก่อนนั่นเอง ซึ่งการตั้งมูลนิธิต้องมีวัตถุประสงค์ ต้องมีการบริหารจัดการ จึงจะสามารถทำให้กิจการของมูลนิธิมีความต่อเนื่อง ทั้งนี้ท่านต้องมองด้วยว่า หากเงินในส่วนที่นำไปประเดิมหมด ท่านจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ประเทศไทยเรามีมูลนิธิอยู่มากมาย ดิฉันพยายามหาว่ามีทั้งหมดกี่แห่งแต่ไม่สามารถรวบรวมได้ มูลนิธิต้องสังกัดกระทรวงมหาดไทยค่ะ โดย ในแต่ละอำเภอหรือเขตก็จะมีทะเบียนรายชื่อมูลนิธิของอำเภอหรือเขตนั้นๆ ค่ะ เช่นเขตบางกอกน้อยซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลศิริราช ก็มีมูลนิธิตั้งอยู่ถึง 97 แห่ง

ถ้าท่านต้องการบริจาคเงินให้กับมูลนิธิหรือองค์กรการกุศลที่สามารถหัก ภาษี ได้ ก็มีถึง 686 แห่งแล้ว ดูรายชื่อได้ที่ เว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th 

แต่ก็มีการดำเนินการของบางมูลนิธิที่ดี แต่ท่านยังไม่สามารถนำไปหักภาษีได้ ท่านอย่ามองข้ามไปนะคะ เว็บไซต์ www.thaicharities.org รวบรวมรายชื่อแบบมีหมวดหมู่ ดูง่าย พร้อมทั้งมีการเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของมูลนิธิหรือองค์กรการกุศลนั้นๆ ด้วย โดยหลายแห่งก็สามารถนำเงินบริจาคไปหักภาษีได้ ซึ่งหมวดหมู่ที่แบ่งมีทั้ง โครงการช่วยเหลือสัตว์ เพื่อเยาวชน พัฒนาสังคม ช่วยเหลือคนพิการ รักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมอนามัย ช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ ปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมศาสนา ช่วยเหลือสตรี และอื่นๆ

แบบที่สอง เป็นการให้กับสังคมโดยอ้อม อาจจะโดยการลงทุนในกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือที่เรียกว่า Socially Responsible Investment (SRI) ที่ดิฉันเคยเขียนถึงไปแล้ว โดยผู้ลงทุนยอมที่จะได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าผลตอบแทนในท้องตลาดไปบ้าง เพื่อสนับสนุนให้บริษัทที่มีการดำเนินการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสามารถ ดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

การให้แบบที่สาม เป็นการให้โอกาส ให้เวลา ให้แรงงาน ช่วยคิด ช่วยดำเนินการ หรือที่เรียกว่าเป็น ผู้มีจิตอาสา (volunteer) ซึ่งใครก็สามารถให้ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องมีความมั่งคั่งสูง

โดยเฉพาะการให้โอกาสนั้น เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ตลอดเวลา โอกาสในการศึกษา โอกาสในการทำงาน โอกาสในการแสดงความคิดเห็น ฯลฯ และหากผู้รับโอกาส สามารถแสดงความสามารถ สามารถใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเองให้ดีและเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นแล้ว ก็จะกลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าของประเทศค่ะ

ไม่ว่าการให้แบบไหน หากทำเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้ด้อยโอกาส ก็สามารถช่วยลดช่องว่างได้ค่ะ เพียงแต่ว่าต้องมีการทำต่อเนื่อง และควรจะเป็นการให้ที่มีผลในระยะยาว เช่นเรื่องการศึกษา

สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องนี้ให้นักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุนรุ่นที่ 10 ฟัง ดิฉันตั้งใจนำเสนอเรื่องนี้ เพราะเห็นว่า นักศึกษาเหล่านี้ ล้วนเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการที่จะผลักดันให้เกิดการให้ในลักษณะลงทุนเพื่อ เพื่อนร่วมโลกทั้งสิ้น เพราะมีทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตปลัดกระทรวง ประธานกรรมการ ผู้ถือหุ้น และผู้บริหารของบริษัทใหญ่ๆ และทายาทธุรกิจผู้มีความมั่งคั่ง

ดิฉันพบว่า แนวคิดนี้มีผู้นำไปปฏิบัติมากขึ้น หลายบริษัทนอกจากจะมีงบประมาณเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีการตั้งกองทุนเพื่อทำกิจกรรม “ให้” กับสังคมอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะตบมือพร้อมๆ กันหลายคน ย่อมจะดังกว่าตบเพียง 2-3 คน

อยากให้มีการศึกษาจริงๆ จังๆ ว่า ผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทยเรายังขาดแคลน สิ่งส่งเสริมในด้านใดบ้าง และมีการชี้นำให้คนในสังคมช่วยกันบริจาคเพื่อให้มีงบประมาณในการพัฒนาสิ่ง นั้นค่ะ เสมือนหนึ่งมีโรดแมพเพื่อการบริจาค ดิฉันชอบที่บิล เกตส์ ตั้งใจจะให้ห้องสมุดประชาชนทุกแห่งในสหรัฐ มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เยาวชนที่ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้าน สามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ได้

ต้องยอมรับว่าโลกของอินเทอร์เน็ต ทำให้การแสวงหาความรู้ไร้ขอบเขตเรื่องดินแดน เมื่อนั่งอยู่หน้าจอ อยากจะค้นคว้าเรื่องอะไรก็สามารถทำได้โดยง่าย ผู้ที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ขาดโอกาสนี้อย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะบุตรหลานของผู้ใช้แรงงานซึ่งอยู่ไม่ประจำที่ หรือเกษตรกรที่อยู่ห่างไกล

“ให้ปลาแก่เขาตัวหนึ่งเท่ากับให้อาหารมื้อหนึ่ง สอนเขาให้จับปลาเท่ากับให้อาหารเขาตลอดชีวิต”

– สุภาษิตจีน

—————–

เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การให้การศึกษาเป็นการให้ที่ยั่งยืน เป็นการให้เขาสามารถหาเลี้ยงตัวเอง และยกระดับฐานะความเป็นอยู่ได้ในระยะยาว เพราะเมื่อรุ่นหนึ่งสามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็จะให้การศึกษาที่ดีต่อรุ่นถัดไป ซึ่งย่อมจะทำให้รุ่นถัดๆ ไป มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย ถ้าไม่ไปสะดุดเพราะอบายมุข เช่น สุรา ยาเสพติด หรือการพนัน เสียก่อน

เรื่องของการลงทุนเพื่อเพื่อนร่วมโลกยังไม่ได้จบเฉพาะเรื่องของบิล เกตส์นะคะ สัปดาห์ต่อๆ ไป ดิฉันจะขอนำตัวอย่างของท่านอื่นๆ มาเล่าอีก และหากท่านมีแรงบันดาลใจ ที่จะ “ให้” เพื่อเพื่อนร่วมชาติ หรือร่วมโลกบ้างแล้ว ท่านสามารถทำได้ด้วยวิธีการใดบ้าง

ที่มา: http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2010q2/2010May03p3.htm