เรามีสิทธิ เราอยู่กันมานานแล้ว เราทำกิน เรารักษา เราดูแลป่า เราผูกพัน แต่ท่านไม่ดูแล เหมือนกับที่ไม่เหลียวแลเรา”……ทนายน้อย @ Legal on the rock เล่าเรื่องชาวบ้านกุดลาดไต้ คนเมืองอุบลฯ ซึ่งต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน แต่ได้มาเพียงสิทธิที่เช่าที่ดินของตนเอง
“หม่องนั่นล่ะอีหล้า…เขาเจ้าสิ เฮ็ดเป็น โรงเก็บศพ” วิทยากรผู้เฒ่า ใบหน้า ผิวพรรณของแกถูกแสงแดดกลืนกินจนแห้งกร้าน ถ้านับจำนวนฟันในปากรวมกันแล้วไม่น่าจะถึงสิบซี่ แล้วผู้เฒ่าก็ได้ชี้ไปที่ป่าทึบๆ ซึ่งตัวแกเอง และชาวบ้านเรียกที่นั่นว่า “ดอนปู่ตา” ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าปู่ตาเป็นผู้ปกปักรักษาป่าชุมชน อันเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของพวกเขา เมื่อได้เห็นได้ฟังแล้วก็อดสงสัยไม่ได้เลยว่า เหตุใดจึงมีคนต้องการที่ดินตรงนี้ และอยากเปลี่ยนให้เป็นโรงเก็บศพล่ะ ?    

แม้จะเป็นการสัมมนาที่ฉันไม่รู้สึกง่วงเลย ซึ่งมันผิดกับหลายครั้ง (หรือทุกครั้ง..) ที่ผ่านมา เพราะหน้าร้อนแถบอีสานทำเอาทุกคนหลับไม่ลง หรือความหมายแท้จริงมันอยู่ที่คำบอกเล่าของวิทยากรอาวุโสทั้งหลายต่างหาก ที่ทำให้เรื่องราวค่อยๆ  คืบ และรู้สึกคุ้นเคยกับชุมชนแห่งนี้มากขึ้น

หมู่บ้านกุดลาดไต้ ต.กุดลาด อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ชาวบ้านอาศัยทำกินกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานสืบมาในปัจจุบัน แม้ว่าหมู่บ้านแห่งนี้จะมีที่ตั้งซึ่งอยู่ติดกับถนนใหญ่ แต่เชื่อหรือไม่ว่าที่นี่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แม้อีกฟากของถนนยังมีอีกหมู่บ้านหนึ่ง แต่หมู่บ้านดังกล่าวกลับมีไฟฟ้าใช้ และได้รับการบริการสาธารณูปโภคที่ดีกว่า

“เขาเจ้าสิให้หมู่เฮาออกไปจากหม่องนี่…เขาเจ้าสิเฮ็ดโรงหมอ” ผู้เฒ่าพูดขึ้นมาอย่างไร้ความหวัง สีหน้าของแกกำลังบอกอะไรบางอย่าง เขาเจ้านี่เป็นไผหนอ และทำไมจึงเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างหมู่บ้านกับหมู่บ้าน ชุมชนกับชุมชนแบบนี้ได้ ในขณะที่ทั้งสองหมู่บ้านดังกล่าวอยู่ใกล้กันแค่สองฟากฝั่งของถนนเท่านั้น เอง

หากนึกย้อนไปสักนิด เมื่อครั้งที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรม เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ เมื่อประมาณ  40 ปีก่อน จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน รวมถึงประเทศไทยเองมีความเข้มแข็งและเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นเป็นลำดับ และขณะเดียวกันก็มีความต้องการที่จะขยายพื้นที่เศรษฐกิจ ในเขตสามเหลี่ยมอินโดจีนให้มีความเติบโตออกไปอีก ไม่ว่าสถานการณ์ภายในประเทศจะมีการพลิกผันไปในทิศทางหรือองศาใด แต่เป้าหมายหลักก็ยังพุ่งเป้าไปที่เศรษฐกิจ ซึ่งยังคงใช้ตัวเลขเป็นมาตรฐานในการชี้วัดความเติบโต ถึงแม้ว่าจะมอมเมานักลงทุนให้เสพติดอำนาจ จนเกิดปัญหาคอรัปชั่นตามมาไม่รู้กี่ยุคกี่สมัยแล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างไรตัวเลขทางเศรษฐกิจต้องมาก่อน ?

นี่เองเป็นที่มาของนโยบายต่างๆ ของรัฐที่ออกมาเพื่อผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจในหลายพื้นที่ ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งนับว่าเป็นเมืองใหญ่ทางภาคอีสาน เป็นพื้นที่หนึ่งที่จะมารองรับนโยบายดังกล่าว รวมทั้งพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านกุดลาดไต้แห่งนี้ด้วย โดยที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่ตรงตำแหน่งที่ถนนใหญ่สองสายตัดกันพอดี และโครงการที่กำลังจะเข้ามาหาที่ทำเลงามๆ นี้ ก็เป็นผลมาจากนโนบายการพัฒนาและส่งเสริมการค้าของรัฐเช่นกัน โดยจะมีการสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่มุมหนึ่ง ซึ่งอาจจะกินพื้นที่ของหมู่บ้านกุดลาดไต้เกือบทั้งหมด

ฝั่งตรงข้ามจะเป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตอุตสาหกรรม ซึ่งจะสร้างขึ้นเพื่อรองรับการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมในอนาคต อีกมุมหนึ่งก็จะสร้างสถานีตำรวจ และมีที่ทำการ อบต.ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม    เมื่อโครงการดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ พื้นที่ตรงนี้ก็จะสามารถรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้าได้ (หรือไม่) และชาวบ้านจะมีงาน มีรายได้ที่มั่นคง (หรือเปล่า)

ความเจริญแบบครบวงจรนี่เอง คือคำตอบของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับสองหมู่บ้าน ชาวบ้านเองได้มีการต่อรองกับทางการมาหลายครั้งแล้ว เกี่ยวกับเรื่องสิทธิในที่ดินของตนเองซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์มาแล้ว หลายสิบปี แต่ต้องชะงักเมื่อได้ทราบว่าที่ดินซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นที่ดินที่มีหนังสือของทางราชการรับรองก็คือ  “หนังสือรับรองที่หลวง หรือ นส.ล.” พูดง่ายๆ ก็คือที่ดินของรัฐนั่นเอง ซึ่งระบุว่าที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินสาธารณะมาตั้งแต่ปี 2471   เหมือนเป็นคำขาดว่า “ที่หลวง สูไม่มีสิทธิ”

เรื่องราวการต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกินของกุดลาดไต้ได้เริ่มขึ้น  และนับวันก็ดูจะเป็นเรื่องยากเมื่อกฎหมายที่ตราขึ้นมาปิดปากประชาชนไม่ให้ ท้วงติงอะไรต่อไปได้ หากแต่ชาวบ้านมีเพียงความจริงที่จะบอกว่า “เรามีสิทธิ เราอยู่กันมานานแล้ว เราทำกิน เรารักษา เราดูแลป่า เราผูกพัน แต่ท่านไม่ดูแล เหมือนกับที่ไม่เหลียวแลเรา”

เรื่องราวของคนกุดลาดไต้ สะท้อนให้ต้องกลับมาคิดว่า แท้จริงแล้วกฎหมายยังใช้ได้จริงหรือเปล่า   ถ้ามีกฎหมายแล้วใช้ไม่ได้จริง ไม่ต้องมีจะดีกว่าไหม ? และถ้าต้องมีทางออกมันคืออะไร ? เพราะมาถึงตอนนี้ คำว่าสิทธิคงเป็นไปได้ยากเกินไปแล้วสำหรับชาวบ้านกุดลาดไต้ เนื่องจากว่าทางออกสุดท้ายที่จะต่อรองกับรัฐได้ก็คือ การขอเช่าที่ดินจากรัฐ ซึ่งชาวบ้านรู้สึกว่าเหมือนการเช่าที่ดินของตัวเอง เพื่อวันข้างหน้าของลูกหลานจะได้มีบ้าน มีที่ทำกิน ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องอพยพไปไหน และมีลักษณะความเป็นชุมชนที่มั่นคงตามกฎหมาย เพื่อไฟฟ้า เพื่อระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้น

ซึ่งโดยหลักสิทธิมนุษยชน อันเป็นภาษาที่สวยงามสำหรับฉันแล้ว ถ้าสิทธิมนุษยชนหมายถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็คือสิ่งที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่มีใครพรากหรือเอาไปจากเราได้  ซึ่งก็ได้แก่สิทธิขั้นพื้นฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำกินอันจะได้มาซึ่งอาหารในการดำรงชีพ ถ้าเป็นดังนี้แล้ว หมู่บ้านกุดลาดไต้ต้องเป็นของคนกุดลาดไต้

ในขณะที่รัฐธรรมนูญเอง ก็มีบัญญัติเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ในหมวด ๓ เรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หากแต่จะใช้ได้จริงหรือไม่นั้นเป็นเรื่องนอกประมวลกฎหมาย นั่นก็คือผู้ใช้ ประมวลเป็นแค่เครื่องมือ กฎหมายจะเป็นไปในทิศทางใดบางทีอาจจะขึ้นอยู่กับผู้ใช้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดแล้ว ผู้สร้างเครื่องมือก็ย่อมยิ่งใหญ่กว่าใครทั้งปวง ?

อากาศยิ่งร้อนขึ้นไปอีก  เพราะหลังจากที่ฉันและผู้เข้าร่วมการสัมมนาทุกคน เดินตามหลังวิทยากรผู้เฒ่าต้อย ๆ เรียนรู้เรื่องราวของผู้คนอีกหลายชีวิต ณ หมู่บ้านแห่งนี้ และพวกเราเองมีความหวังว่า  หากหมู่บ้านกุดลาดไต้ เกิดความเป็นชุมชนที่มั่นคงได้ตามกฎหมายแล้ว สูงสุดอาจจะได้หยิบยกคำว่า “สิทธิชุมชน” ตามรัฐธรรมนูญที่นักสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า เป็นสิทธิของเราโดยแท้ มาใช้ต่อรองกับอำนาจ เพื่อพิทักษ์รักษาดอนปู่ตา ซึ่งเป็นมรดกทางนิเวศน์ และวัฒนธรรมของกุดลาดไต้

หาก “ดอนปู่ตา” ซึ่งเป็นป่าชุมชน ที่ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านช่วยกันดูแลรักษามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ต้องกลายเป็นโรงเก็บศพ ของโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ในวันที่พระอาทิตย์ขึ้น เช่นกัน ในรุ่งขึ้นของวันใดวันหนึ่ง ลูกหลานคงจะมีเรื่องน่าเศร้ามากมายที่จะเล่าให้กัน

เขียนโดย ทนายน้อย @ Legal on the rock