อาตมา คิดว่า ปัจจุบันนี้ เราไม่ได้มองซึ่งกันและกันเป็นเหยื่อที่จะเอาเปรียบเท่านั้น แต่ที่หนักไปกว่านั้นคือ มองเป็นศัตรู เพราะตอนนี้มีความโกรธเกลียดเกิดขึ้นมากในสังคมไทย อันนี้อาตมาคิดว่าเป็นอิทธิพลของอุดมการณ์หลายๆ อย่าง โดยเฉพาะอุดมการณ์ชาตินิยมแบบเก่าๆ ด้วยที่ทำให้เราไม่สามารถจะยอมรับความแตกต่างทางความคิดเห็นได้ เพราะชาตินิยมแบบไทยๆ ที่เรียกว่า ชาตินิยมแบบราชการ นี่ก็คือการมองว่าทุกคนต้องคิดเหมือนกัน จะเป็นคนไทยต้องพูดภาษาเดียวกัน ถ้าพูดภาษายาวีแสดงว่าไม่ใช่ไทย พูดภาษากะเหรี่ยงไม่ใช่ไทย เป็นคนต้องมีชื่อและนามสกุล ถ้ามีแซ่ อย่างอาตมาสมัยก่อนไม่ใช่ไทย ที่อาตมาเปลี่ยนแซ่ก็เพราะกลัวว่าจะไม่ใช่ไทยและต้องทำหลายๆ อย่างให้เหมือนกัน คุณต้องใส่กางเกงไปราชการ ถ้าใส่โสร่งไป คุณก็ไม่เป็นไทย มีปัญหามากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะว่าเขาไม่เป็นไทย ความเป็นไทยคือว่าต้องเป็นเหมือนกัน ไอ้ความคิดที่ว่าเป็นไทยต้องเป็นเหมือนกัน มันก็รวมว่าต้องคิดเหมือนกันด้วย เมื่อคิดเหมือนกันก็หมายความว่าต้อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เหมือนกัน ในแบบแผนที่เขากำหนดไว้ ตรงนี้มันมีปัญหาเพราะว่าปัจจุบันสังคมไทยเป็นโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายมาก การที่จะคิดเหมือนกันจึงยาก แต่ว่าเราไม่ยอมรับความคิดที่แตกต่างกันทำให้เกิดความโกรธ เกลียด เกิดอคติกัน คือว่าขาดขันติธรรม พอขาดขันติธรรม ความแตกต่างจึงกลายเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้ง และเกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ และเวลาที่เราทะเลาะกัน เราเกลียดกัน เพราะว่าคิดไม่เหมือนกัน เพียงแค่ใส่เสื้อคนละสีก็สามารถทำให้ผัวเมีย พี่น้อง พ่อแม่ ทะเลาะกัน ไม่เผาผีกัน อันนี้เป็นตัวอย่างของความโกรธเกลียดที่มีในสังคมไทย

อาตมาไม่ได้คิด ไม่ได้หวังว่าจะให้ทุกคนมารักกัน ขอให้คนไทยเคารพกันก็พอ เคารพสิทธิประชาชนก็พอ มันต่างกันนะ ระหว่างการเคารพสิทธิกับความรัก ความรักเป็นสิ่งที่ดี แต่ตอนนี้อาตมาคิดว่าเราเรียกร้องมากไป เอาแค่ว่าเคารพสิทธิกัน สิทธิที่จะเห็นต่าง ถ้าเรามีความเคารพสิทธิที่เห็นต่าง อาตมาคิดว่าเมืองไทยจะน่ารักกว่านี้ แต่เราไม่ได้เคารพสิทธิที่จะเห็นต่าง ใครที่คิดต่างจากเรา เราก็นึกด่าในใจ แล้วก็จะป้ายสีซะด้วยซ้ำว่า ไอ้นี่เป็นศัตรูของเรา และที่น่ากลัวคือเรามีความเชื่อมีความคิดเรื่องอำนาจนิยมทางศีลธรรม หมายความว่า ถ้าเราเห็นหรือคิดว่าใครผิดศีลธรรม หรือผิดกฎหมาย เราสามารถใช้อำนาจกับเขายังไงก็ได้ ในความคิดแบบนี้ คนผิดมีสิทธิเป็นศูนย์ ในสังคมไทยตอนนี้เรามีความคิดแบบนี้มากนะ คนผิดมีสิทธิเป็นศูนย์ ผู้ต้องหาฆ่าข่มขืน ถ้ามาทำแผนประทุษกรรมกลางกรุง มีสิทธิถูกกระทืบตายได้ ถูกประชาทัณฑ์บ่อยครั้งเลย และคนลงมือประชาทัณฑ์ไม่ผิดนะ คนผิดคือผู้ต้องหาในสังคมไทย เรามองว่าผู้ต้องหาฆ่าข่มขืนไม่มีสิทธิ ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ด้วยซ้ำ ถือเป็นศูนย์ เวลาคนคุกเขาประท้วง ในเมืองไทยมักจะลงเอยว่า คนคุกที่ประท้วงตาย ไม่ตายเดี๋ยวนั้นก็ตายในวันหลัง แขวนคอตาย ฆ่าตัวตาย แต่เราก็รู้ว่าเขาไม่ได้ตายในลักษณะนั้น และคนไทยเห็นด้วยเพราะเห็นว่าคนในคุกมีสิทธิเป็นศูนย์อยู่แล้ว ไม่มีสิทธิประท้วง ไม่มีสิทธิแม้จะมีชีวิตด้วยซ้ำ คนที่เป็นพ่อค้ายาเสพติดก็สมควรตาย ด้วยการวิสามัญฆาตกรรม ฆ่าตัดตอน เราก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะว่าคนผิดมันสมควรตาย อันนี้ไม่ต้องพูดคำว่าตัดสินกันโดยกระบวนการยุติธรรมหรือเปล่า เพียงแค่เราสรุปว่าเขาผิดเขาก็สมควรตายแล้ว ซึ่งมันไม่ควรมีแบบนี้ในสังคมที่มีนิติธรรม ไม่ต้องพูดถึงสังคมที่มีศาสนานะ เป็นแค่ผู้ต้องหาก็ควรจะมีสิทธิตามกฎหมาย หรือแม้แต่เป็นนักโทษแล้ว คุณก็มีสิทธิในชีวิต มีสิทธิในหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ใช่มีสิทธิเป็นศูนย์ อย่างที่เชื่อกันในสังคมไทยเวลานี้

เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคนไทยจำนวนมาก พอเชื่อว่าพวก นปช.เป็นผู้ก่อการร้ายจึงสมควรตาย ก็จะมีเสียงคนสนับสนุนว่าต้องใช้ความรุนแรงปราบให้เหี้ยน เพราะมันคือผู้ก่อการร้าย อาตมาคิดว่าถ้าเรามีความคิดแบบนี้ สังคมไทยจะหาความสงบสุขไม่ได้ เพราะว่าเรามีการตัดสินคนผิดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรม หรือว่าผิดเพียงแค่เห็นต่างจากเรา แต่พอเห็นผิดเขาก็มีสิทธิเป็นศูนย์ เขาก็สมควรตาย กฎหมายไม่มีความหมาย รัฐธรรมนูญไม่มีความหมาย ไม่ต้องพูดถึงหลักศาสนา หลักศีลธรรม ที่พูดถึงเรื่องความรัก อาตมาคิดว่ายังไม่ต้องพูดถึงเรื่องความรักมากไป แต่ถ้าได้ก็ดี เอาแค่ว่าเคารพสิทธิ แม้เขาจะผิด เขาก็ยังมีสิทธิในความเป็นมนุษย์ เขามีสิทธิในชีวิต เขามีสิทธิที่จะมีตัวแทน เขามีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น เพราะว่าถ้าจะผิดบางเรื่องแต่ก็จะถูกบางเรื่องก็ได้

ความจริง

อาตมาคิดว่าเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในสังคมไทย เพราะเวลานี้ความจริง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวบุคคละ มันจะเป็นสีเทา แต่เวลานี้เรามักจะมองความจริงเป็นขาวและดำ ทั้งสองฝ่าย ในความขัดแย้ง ต่างมองเห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นดำ และพวกตัวเองเป็นขาว ฝ่ายรัฐบาลก็มองว่ารัฐบาลถูก ส่วนฝ่าย นปช.นี่ผิด ฝ่าย นปช.ก็บอกว่า ฉันน่ะถูก รัฐบาลน่ะผิด และเพราะฉะนั้น สังคมไทยก็เลยแตกขั้วกันเป็น ๒ ฝ่าย สมัยก่อนเวลาเรามีประท้วงกัน ๑๔ ตุลาก็ดี พฤษภาก็ดี มันไม่เคยมีความแตกขั้วกันมากขนาดนี้ ก็เพราะมีความชัดเจนว่าใครขาวใครดำ สมัย ๑๔ ตุลานี้ก็ชัดว่า รัฐบาลถนอม-ดำ ศูนย์นิสิต-ขาวเป็นพลังบริสุทธิ์ พฤษภาทมิฬก็ชัดว่า รัฐบาล รสช.- ดำ ฝ่ายประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นพลังบริสุทธิ์ – ขาว คนก็เทใจมาให้ฝ่ายศูนย์นิสิต เทใจมาให้ฝ่ายผู้เรียกร้องประชาธิปไตย มันยังไม่มีการแบ่งเป็นขั้วเป็นข้าง เป็นครึ่งอย่างเมืองไทยที่ผ่านมา

ปัญหาก็คือว่า ในเมืองไทยปัจจุบันนี้ มันไม่มีอะไรที่ขาวและดำขนาดนั้น มันเป็นสีเทา ความจริงเป็นสีเทา แต่เราไม่สามารถจะเห็นความจริงเป็นสีเทาได้ ความจริงถูกสร้างภาพขึ้นมาว่าฝ่ายหนึ่งขาว ฝ่ายหนึ่งดำ แต่ทั้งสองฝ่ายก็จะมองซึ่งกันและกัน จะมองอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นดำ ทั้งๆ ที่ในฝ่ายที่มองว่าดำก็มีขาวอยู่ด้วย และในฝ่ายตัวเองที่มองว่าขาว มันก็มีดำอยู่ด้วย คือเป็นสีเทา

เมื่อมีการแต่ละฝ่ายเป็นขาวเป็นดำ ก็จะเกิดการแบ่งเป็น ๒ ขั้ว ฝ่ายรัฐบาลมองว่า นปช.มีคุณทักษิณอยู่เบื้องหลังอย่างโจ่งแจ้งก็เป็นสีดดำ แต่ฝ่าย นปช.มองว่ารัฐบาลมีทหารหนุนหลัง จึงเป็นสีดำ เช่นกัน แต่ในความเป็นจริงคือว่า มันมีทั้งขาวและดำอยู่ด้วยกัน ความจริงเป็นอย่างนั้น แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้มองอย่างนั้น และสื่อต่างๆ ก็พยายามสร้างภาพให้เห็นว่า กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งนี้เป็นขาวและดำ

อาตมาคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถเห็นความจริงว่ามันไม่ใช่ขาวและดำอย่างนั้น มันไม่ใช่เป็นการต่อสู้ระหว่างเทพกับมารอย่างที่เราเคยเห็นในสมัยพฤษภาทมิฬ ฉะนั้น ในสมัยที่มองว่าอะไรเป็นขาวและดำ มันจะไม่มีที่ให้กับคนที่อยู่ตรงกลาง อย่างเดียวกับที่ จอร์ช บุช บอกว่า ถ้าคุณไม่อยู่ข้างผม คุณก็อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับผม คืออยู่ฝ่ายผู้ก่อการร้าย เพราะเขามองว่ากรณี ๑๑ กันยายน เป็นเรื่องของขาวกับดำ มันไม่มีที่ว่างให้ตรงกลางอยู่ แต่ในความเป็นจริง กรณี นปช. กรณีการประท้วง ๒ ปีที่ผ่านมาอาตมามองว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น อาตมาคิดว่านี่คือความจริงที่หายไป ความจริงที่ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งเป็นสีเทาทั้งคู่ ไม่ใช่ขาวและดำล้วน ๆ ทำยังไงถึงจะมองให้ได้ อันนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ความจริงอีกประเด็นหนึ่งที่อาตมาได้พูดไปนิดหน่อยแล้วก็คือว่า เราจะต้องไม่มองความจริงในลักษณะของปัจเจกบุคคล คือเรามักจะมองปัญหาต่างๆ ว่าเกิดจากตัวบุคคล เรามองกันแบบนี้ตลอด ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลของศาสนาด้วย คือเรามองว่าปัญหาสังคมเกิดขึ้นเพราะมีคนไม่ดีบางคนหรือหลายคน ถ้าจัดการคนไม่ดีนั้นเสีย บ้านเมืองก็สงบสุข เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้ความรุนแรงจัดการ แต่เราไม่สามารถจะมองเห็นว่าปัญหาสังคมนี้ มีคนไม่ดีอยู่ มีนักการเมืองที่ไม่ซื่อสัตย์อยู่ มีนักการเมืองที่คอร์รัปชั่นอยู่ก็จริง แต่ว่ามันมีสาเหตุรากเหง้าที่ลึกไปกว่านั้นที่ทำให้คนที่เป็นนักการเมืองไม่ ซื่อสัตย์ ทำไมถึงขึ้นมาเป็นใหญ่ได้ มันต้องมีปัจจัยทางสังคมที่ทำให้คนที่ไม่เข้าท่าขึ้นมาเป็นใหญ่ได้ ซูสีไทเฮาจะไม่สามารถขึ้นมาเป็นใหญ่ในประเทศจีนได้ ถ้าระบบจักรพรรดิและระบบการปกครองเวลานั้นไม่ตกต่ำ ถ้าระบบมันดี เธอจะแป้กตั้งแต่ตอนที่เป็นนางสนมแล้ว จะไม่ขึ้นมาเป็น ๑ ใน ๔ ฮองเฮา และเข้ามาเป็นอันดับ ๑ ได้ เพราะระบบมันเละเทะ ระบบขุนนางก็เสีย กลายเป็นกังฉินกันหมด ทำให้มีการซื้อขายตำแหน่งกันอย่างมากมาย

เราไม่ค่อยมองว่า การที่คนไม่ดีขึ้นมาเป็นใหญ่ได้มันมีรากเหง้ามาจากโครงสร้างที่มีปัญหา รวมทั้งวัฒนธรรมที่มีปัญหา มีความผิดพลาด ฉะนั้นอาตมาคิดว่า ความจริงในเชิงโครงสร้างเป็นสิ่งที่ผู้คนมักจะมองไม่เห็น เราเห็นแต่ความจริงในเชิงบุคคล ดังนั้นจึงคิดแต่จะขับไสไล่ส่ง กำจัดบุคคล เพราะคิดว่าถ้ากำจัดคุณทักษิณไปทุกอย่างจะเรียบร้อย ถ้าเอานักการเมืองคอร์รัปชั่นออกไป บ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย แต่ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะว่าระบบนี้มันจะสร้างคนแบบคุณทักษิณ สร้างนักการเมืองแบบนี้ขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่มีจบไม่มีสิ้น และคนแบบนี้ก็จะเป็นที่นิยมของประชาชน นี่คือความจริงอีกอย่างหนึ่งที่ถูกมองข้ามไป

ความยุติธรรม

อาตมาได้พูดไปแล้วว่า ตอนนี้มันมีความเหลื่อมล้ำในสังคมมาก การมีสองมาตรฐานก็ดี ความเหลื่อมล้ำในเชิงกฎหมายก็ดี ในเชิงเศรษฐกิจก็ดี เป็นเรื่องเดียวกันที่สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรม ที่จริง เรื่องสองมาตรฐานนี้ อาตมามองว่า มันเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างของสังคมไทย เป็นปัญหาในเชิงวิธีคิดของคนไทยด้วย สองมาตรฐานมันอยู่ในโครงสร้าง และอยู่ในใจคน ยกตัวอย่าง ชาวบ้านในชนบท เวลาชาวบ้านมีการขุดบ่อน้ำ ชาวบ้านทุกคนทุกหมู่บ้านก็ต้องการเข้าถึงบ่อน้ำเท่าเทียมกัน แต่เวลาบ่อน้ำเสีย จะต้องจ่ายค่าซ่อม ชาวบ้านกลับบอกว่า ต้องจ่ายไม่เท่ากันถึงจะเป็นธรรม บ้านไหนอยู่ใกล้จ่ายมาก บ้านไหนอยู่ไกลจ่ายน้อย เวลามีโครงการวิจัยโครงการได้ทุนมาก้อนหนึ่ง หัวหน้าโครงการก็ต้องการเอาเงินที่เหลือมาแบ่งให้ลูกน้องที่เป็นพนักงาน พิมพ์ดีดในโครงการ แต่ก็มีคนท้วงว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าจ่ายให้เฉพาะพนักงานพิมพ์ดีดที่อยู่ในโครงการ พนักงานคนอื่นก็จะไม่พอใจ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีส่วนในโครงการนั้นเลย คำตอบคือ ต้องแบ่งให้ทุกคนเท่ากัน แม้ทำงานไม่เท่ากัน แต่เวลาแบ่งผลประโยชน์ต้องได้เท่ากันถึงจะเป็นธรรม

ทำงานไม่เท่ากันเป็นเรื่อง ธรรมดา แต่ถ้าได้ผลประโยชน์ ต้องได้เท่ากัน ถ้าได้ไม่เท่ากันถือว่าไม่เป็นธรรมนะ เวลาเราได้เงินเดือนน้อยกว่าคนอื่น เรารู้สึกว่าไม่เป็นธรรมใช่ไหม แต่ถ้าเราได้เงินเดือนมากกว่าคนอื่น เราเคยคิดไหมว่ามันไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นธรรม เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าเราได้น้อยกว่าคนอื่น แต่ถ้าเราได้มากกว่าคนอื่นเรามองว่านี่ไม่ใช่ความไม่เป็นธรรม อันนี้เป็นเรื่องของความเสน่หาและโชค และนี่คือสองมาตรฐานที่อยู่ในใจคน ไม่ได้อยู่ในโครงสร้าง

ความไว้วางใจ

ถ้าไม่มีความไว้วางใจแล้ว การสร้าง ความรัก เป็นเรื่องยากมาก เพราะว่าตอนนี้มีความไม่ไว้วางใจสูงมาก เมื่อไม่มีความไว้วางใจ ก็มีความโกรธ ความเกลียด ความอคติ ความรักเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อไม่มีความไว้วางใจ การใส่ร้ายป้ายสี การใส่ไข่กัน ก็เกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อพูดถึงความยุติธรรม ซึ่งต้องใช้ความร่วมแรงร่วมใจกัน อาตมาคิดว่าการที่เราจะสร้างความรักได้ ต้องเริ่มต้นจากการสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นให้ได้ อาตมานึกถึงประเทศแอฟริกาใต้ เนลสัน แมนเดลา ติดคุกมา ๒๗ ปีแล้วระหว่างนั้นแอฟริกาถูกกดดันจากนานาชาติเพื่อให้ยกเลิกลัทธิเหยียดผิว ประธานาธิบดี เดอ เคลิร์ก ซึ่งเป็นคนขาวรู้ว่าถ้าไม่เจรจากับคนดำ บ้านเมืองจะเกิดสงครามกลางเมืองเพราะมีการประท้วงและปะทะกันมาก เดอ เคลิร์ก เริ่มหันหน้ามาเจรจากับแมนเดลา แต่ลึกๆ ทั้งสองมีความระแวงกัน เพราะแมนเดลาเป็นหัวหน้าขบวนการที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง ที่จริงเขาไม่เคยจับอาวุธเลยนะ แต่เขาเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง ในเมื่อประชาชนลุกขึ้นด้วยสันติวิธีแต่ถูกปราบ ถูกทำลาย ก็ไม่มีทางเลือก นอกจากต้องจับอาวุธ แมนเดลาถูกจับข้อหาใช้ความรุนแรง ๒๗ ปี แต่ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ใช้ความรุนแรง เป็นผู้ก่อการร้าย

ส่วนเดอ เคลิร์ก ในสายตาแมนเดลาก็เป็นใกล้ๆ อาชญากร แล้วทั้งสองคนมาคุยกันได้อย่างไร ครั้งแรก เดอ เคลิร์ก เชิญแมนเดลาไปคุยที่ทำเนียบ ตอนนั้นทั้งสองเพิ่งรู้จักกัน เดอ เคลิร์ก เพิ่งขึ้นเป็นประธานาธิบดี คุยกันได้เพียงไม่ถึงชั่วโมง ครั้งต่อมา เดอ เคลิร์ก มาหาแมนเดลาถึงในคุก คุยกันได้นานหน่อย ความประทับใจของแมนเดลาเขียนในสมุดบันทึกว่า “เดอ เคลิร์กตั้งใจฟังสิ่งที่ผมจำเป็นต้องพูด เขาเป็นคนที่เราทำงานร่วมกันได้” ส่วนเดอ เคลิร์ก ก็ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ในเวลาต่อมาว่า “แมนเดลาเป็นนักฟังที่ดีมาก…ผมรายงานไปที่พรรคพวกของผมว่า “นี่เป็นคนที่ผมสามารถทำงานร่วมกันได้” นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเจรจาปรองดอง จนกระทั่งทำให้กลายเป็นแบบอย่างของโลกได้

ประเด็นคือว่า การเจรจา ความปรองดอง จนกระทั่งนำไปสู่การยกเลิกลัทธิเหยียดผิว และมีการผ่องถ่ายอำนาจจากคนขาวไปสู่คนดำ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ใหญ่มาก เริ่มต้นมาากการที่คน ๒ คน มีความไว้วางใจ และความไว้วางใจเกิดขึ้นได้เมื่อทั้ง ๒ ฝ่ายต่างแสดงให้เห็นว่าเขาตั้งใจฟัง เขาตั้งใจฟังอีกฝ่ายหนึ่ง มันทำให้เกิดความรู้สึกว่า เฮ้ย! ไอ้หมอนี่มันคุยกันรู้เรื่องนะ น่าจะเจรจากันต่อไปได้ อาตมาคิดว่านี่คือสิ่งที่ขาดไปในสังคมไทย ความไว้วางใจ เราต้องสร้างขึ้นมา และถ้าเราสร้างไม่ได้ ความรักซึ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่กว่ามากก็จะเกิดขึ้นไม่ได้

ความจริงกับความยุติธรรม : ๒ สิ่งสำคัญสำหรับ “การปรองดอง”

ตอนนี้อาตมาคิดว่า เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว เราไม่สามารถที่จะหลงลืม หรือไม่รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่จะต้องทำให้ความจริงปรากฏว่า ความสูญเสียเกิดขึ้นจากอะไร จากใคร สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ขันติธรรม ใช้วุฒิภาวะพอที่จะยอมรับความจริงได้ เพราะเมืองไทย เราไม่ค่อยจะยอมรับความจริง เมื่อมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น เราก็ชอบคิดว่าให้มันผ่านเลยไป เรามักจะบอกว่าให้ลืมๆ ไปซะ แต่ที่จริงแล้วเป็นเพราะเราชอบลืมกันนั่นแหละ มันถึงเกิดความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่า เมื่อเรารู้ว่าความจริงเป็นอย่างไรแล้วจะนำไปสู่ความโกรธเกลียดเสมอไปทุก ครั้ง ความจริงก็สามารถช่วยยกจิตใจผู้คนได้ โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่เจ็บปวดสามารถที่จะรู้ว่า ความจริงความเจ็บปวดของเขาได้เป็นที่รับรู้กัน

เมื่อตอนที่แอฟริกาใต้จะตั้ง กรรมการสัจจะและความสมานฉันท์ขึ้นมา มีการตั้งเงื่อนไขว่า ใครที่ต้องการได้รับการนิรโทษกรรมให้มาสารภาพว่าได้ทำผิดอะไรบ้าง ใครที่สารภาพก็จะได้รับการนิรโทษกรรม แต่ใครที่ไม่รับสารภาพก็จะต้องดำเนินคดี ถ้ามีผู้ฟ้องร้องก็จะมีการไต่สวน กระบวนการนี้ ในแง่หนึ่งก็ช่วยเยียวยาผู้ที่เจ็บปวด สูญเสีย เพราะว่าผู้ที่เจ็บปวด สูญเสีย เขาก็อยากจะรู้ว่าเขาเจ็บปวดเพราะอะไร ใครทำ มีคนหนึ่งเขาเป็นคนผิวดำถูกทรมานจนตาบอด และเมื่อได้ไปให้การในศาลว่าใครเป็นคนทำ แม้ว่าศาลยังไม่ได้มีการตัดสินลงโทษตำรวจคนขาวที่ทรมาน แต่เขาบอกว่า เพียงแค่การได้พูดได้เล่าถึงความทุกข์ของเขาให้สาธารณชนได้รับรู้ในศาล ก็เหมือนกับตาได้มองเห็นอีกครั้งหนึ่ง เหมือนกับได้เห็นโลกอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าได้พูดได้เล่าเรื่องราวความทุกข์ เพราะแต่ก่อนไม่คิดว่าความทุกข์ของตัวเองจะสามารถเล่าให้ใครฟังได้ แต่เมื่อได้เล่าในศาลแล้วก็รู้สึกเหมือนกับได้รับการเยียวยา เหมือนกับว่าตาเปิดอีกครั้งหนึ่ง การเยียวยาเกิดขึ้นได้ เมื่อความจริงและความยุติธรรมปรากฏโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการลงโทษก่อนด้วย ซ้ำ ถึงจะเกิดความรู้สึกดีขึ้นมา

และบางครั้ง ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งขอโทษ มันก็จะทำให้การเยียวยาสมานได้มากขึ้น มีผู้หญิงคนหนึ่งโดนระเบิดจนกระทั่งพิการเป็นเวลา ๒๐ กว่าปีที่ไม่รู้ว่าใครทำ แต่ว่าหลังจากนั้นไม่นาน ทางการได้จับมือระเบิดได้ เป็นคนขาว มือระเบิดนั้นติดคุกไปประมาณเกือบ ๒๐ ปีได้ และต่อมาเขาก็สำนึกผิดว่า สิ่งที่เขาไปทำนั้นไม่ถูกต้อง และการที่เขาเหยียดผิวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งหนึ่งที่เขาอยากทำคือ อยากจะขอโทษคนที่เป็นเหยื่อ ก็มีการสืบหาจนมาพบผู้หญิงคนนี้ที่พิการเพราะระเบิดจากฝีมือของเขา ทีแรกผู้หญิงคนนี้บอกไม่อยากจะฟัง ไม่อยากจะรับรู้ใดๆ ทั้งสิ้นจากมือระเบิด และจะไม่มีการให้อภัยใดๆ เพราะเกลียดมาก แต่พอได้มาเห็นผู้ที่ทำร้ายตัวเอง เธอบอกว่า นึกไม่ถึงเลย ทีแรกเธอนึกวาดภาพว่า คนอย่างนี้ต้องเป็นปีศาจร้าย แท้ที่จริงเขาก็เป็นคนหนุ่มธรรมดาคนหนึ่ง และเมื่อชายหนุ่มคนนั้นขอโทษเธอ เธอก็รู้สึกว่าให้อภัยได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือเธอบอกว่า เมื่อให้อภัย ความรู้สึกว่าฉันเป็นเหยื่อ ฉันเป็นผู้เคราะห์ร้าย มันไม่มีความหมายอีกแล้ว มันหลุดหายไปจากใจเลย ฉันกลับมาเป็นคนเดิม มองในแง่นี้การที่เธอให้อภัยทำให้ตัวเธอเป็นอิสระด้วย อิสระจากความเชื่อว่า ฉันเป็นเหยื่อ นอกจากอิสระจากความกลัวแล้ว ยังอิสระจากความรู้สึกที่ว่าฉันเป็นคนที่ต่ำต้อย ย่ำแย่ น่าสมเพช และตรงนี้เองทำให้คนเราสามารถที่จะเปิดใจรับผู้อื่นได้ เมื่อเราสามารถที่จะ เป็นอิสระจากความโกรธ เป็นอิสระจากความสมเพชตัวเอง ความเชื่อว่าฉันแย่ ฉันถูกกระทำ

อาตมาเชื่อว่า ความยุติธรรมในแง่นี้จะนำไปสู่ความรักได้ เป็นความยุติธรรมที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการลงโทษ เพียงแค่การขออภัย เพียงแค่การที่เขาได้ทำความจริงให้ปรากฏว่าเขาทุกข์ทรมานเพราะเหตุใด อาตมาคิดว่า ตรงนี้เป็นสิ่งซึ่งสังคมไทยน่าจะเรียนรู้ บางทีเรากลัวความจริง เราเชื่อว่าความจริงจะทำให้คนเจ็บปวด เคียดแค้น เราคิดว่าความยุติธรรมจะทำให้ผู้คนเรียกร้องสิทธิ และนำไปสู่การทวงสิทธิกัน แต่บางครั้ง มันกลับนำไปสู่ความรักได้ เพราะอาตมาเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีความรักอยู่ในหัวใจ มนุษย์ทุกคนมีพลังแห่งความดีในใจ แต่มันถูกกดเอาไว้ เพราะความโกรธ ความเกลียด ความเคียดแค้น แต่ถ้าเราได้ปลดปล่อยความโกรธ ความเกลียด ความเคียดแค้นนั้นไปเสีย ความรักก็จะเกิดขึ้น และในที่สุดเราก็จะเห็นว่า คนที่เป็นศัตรู คนที่ทำลายเรา เขาก็เป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกับเรา และจะเห็นต่อไปว่า ศัตรูที่จริงไม่ใช่มนุษย์ ศัตรูที่จริงคือ ความโกรธ ความเกลียด ความเคียดแค้น

ความรัก

เวลาพูดถึงความจริง อย่ามองในเชิงตัวบุคคลว่า นาย ก นาย ข เป็นคนผิด แต่ให้มองไปถึงปัญหาในเชิงโครงสร้าง ว่ามีความเลวร้าย ก่อให้เกิดการเอาเปรียบอย่างไรบ้าง แต่อาตมาเชื่อว่าเท่านั้นไม่พอนะ จะต้องมองให้ลึกไปถึงระดับจิตใจว่า จริงๆ แล้ว มนุษย์ไม่ใช่ศัตรู ถ้าเราสามารถจะมองเห็นตรงนี้ได้ เราจะรักกันมากขึ้น หรืออย่างน้อยเราจะไม่เกลียดถึงขนาดจะทำร้ายกัน เพราะเราล่วงรู้ว่ามนุษย์ไม่ใช่ศัตรู ศัตรูคือ ความโกรธ ความเกลียด ความเคียดแค้น ความหลงผิด และเราไม่สามารถจะกำจัดได้ด้วยความรุนแรง ต้องใช้ความรัก พระพุทธเจ้าตรัสว่า “พึงเอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงเอาชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ พึงเอาชนะความชั่วด้วยความดี เอาชนะคำเท็จด้วยคำสัตย์” ตรงนี้เราต้องใช้ความดีถึงจะชนะเขาได้ มีเกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจ อาตมาเอามาทิ้งท้ายแล้วกัน

หลังจากวันที่ ๑๙ พฤษภา มีการเผาในกรุงเทพ และมีการเผาอีกหลายที่ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคอีสาน เพื่อแสดงความเคียดแค้น เพื่อแสดงการตอบโต้ ที่จังหวัดหนึ่งคือ ยโสธร มีชุมชนหนึ่งซึ่งคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งคิดจะไปเผาเพราะเห็นว่าเป็นชุมชนที่ ใกล้ชิดกับสันติอโศก สันติอโศกถูกมองว่าเป็นเสื้อเหลือง คนเสื้อแดงก็จะไปเผา ส่วนคนในชุมชนนั้นพอรู้ว่าคนเสื้อแดงกำลังยกพวกเข้ามา แทนที่จะเรียกตำรวจ แทนที่จะเตรียมไม้ เตรียมมีด หรือเตรียมอะไรสักอย่างเพื่อป้องกันตัว คนในชุมชนนั้นกลับเข้าไปถามคนเสื้อแดงเหล่านั้นว่า “ มากันตั้งเยอะแยะ กินข้าวกันมาหรือยัง สงสัยจะยังไม่ได้กินนะ เดี๋ยวจะทำก๋วยเตี๋ยวให้ รอก่อนนะ” แล้วแกก็ทำก๋วยเตี๋ยวเลี้ยง คนเสื้อแดงพอกินเสร็จ อิ่ม ก็เลยเลิก กลับไป ไม่ทำอะไรกับชุมชนนี้

ทีแรกคนเสื้อแดงมาด้วยความโกรธ มาด้วยความต้องการตอบโต้ แต่อีกฝ่ายหนึ่ง แทนที่จะโกรธ แทนที่จะเอาความโกรธเข้าสู้ กลับเอาความรัก เอาความเมตตา และการให้ ปรากฏว่า สามารถชนะใจเขาได้ เพราะคนเสื้อแดงเขาก็เป็นมนุษย์ เขาก็มีความรัก เขามาด้วยความโกรธ แต่ถูกตอบโต้ด้วยความรัก ความรักของชุมชนนั้นสามารถที่จะดึงเอาความรัก ความปรารถนาดีในใจคนเสื้อแดงออกมา สุดท้ายเขาก็เปลี่ยนใจ ล่าถอยกลับไป ไม่มีการเผาเกิดขึ้น

ความรักแม้เกิดขึ้นได้ยาก แต่ถ้าเรามีกำลังพอที่จะให้ความรักแก่ผู้อื่นได้ ก็จะสามารถดึงเอาความรักของอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาได้เหมือนกัน แต่น่าเสียดาย ที่ผ่านมาเราคิดจะตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง เราตอบโต้ความเกลียดด้วยความเกลียด เราไม่คิดว่าเราจะตอบโต้ความเกลียดด้วยความรัก เราไม่คิดจะตอบโต้คำเท็จด้วยคำสัตย์ เราไม่คิดจะตอบโต้คนตระหนี่ด้วยการให้ เราคิดแต่ว่าแรงมาก็แรงไป มึงแรงมากูแรงไป ใช่ไหม ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ก็เลยเป็นอย่างนี้ ฉะนั้น กรณีเดือนพฤษภา เป็นบทเรียนว่า เมื่อใดก็ตามที่เราคิดจะใช้ความรุนแรงเข้าแก้ปัญหา ทุกฝ่ายก็จะพ่ายแพ้ และเกิดความเสียหายแก่ส่วนรวมด้วย

นี้เป็นสิ่งที่อยากจะฝากเอาไว้ว่า ยังไม่สายที่เราจะรวมพลัง เอาความรักขึ้นมา แม้จะเป็นพลังของคนเล็กๆ คนไม่กี่คน แต่ว่าสามารถที่จะดึงเอาความรักจากการให้ ให้ขยายกว้างขึ้นได้ ความรักเป็นสิ่งที่สามารถจะแพร่กระจายไปได้ เมื่อคนหนึ่งมีความรักก็ทำให้คนรอบตัวมีความรัก และสามารถจะกระจายไปได้เรื่อยๆ ความโกรธก็เหมือนกัน ความโกรธก็แพร่กระจายได้เหมือนกับโรคระบาด เราต้องสู้กับโรคระบาดแห่งความโกรธ ด้วยการให้ความรักเข้าไปด้วยความเข้มข้นพอๆ กัน จึงจะช่วยให้บ้านเมืองเรามีสันติสุขขึ้นได้

สรุปจาก เสวนา “ความรัก ความจริง ความยุติธรรม : ในห้วงเวลาฟื้นฟูสังคม” จัดโดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกความยุติธรรมและสันติ (ยส.) วันพุธที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ณ ห้องประชุมชั้น ๓ ศูนย์พัฒนาบุคลากรอัสสัมชัญ อาคารมูลนิธิเซนต์คาเบรียล ซ.ทองหล่อ ๒๕ กรุงเทพฯ

พระไพศาล วิสาโล
วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๓๑
ฉบับที่ ๘๓ พฤษภาคม – สิงหาคม ๒๕๕๓
ที่มา http://www.visalo.org/article/phutai83.html