หัวใจเป็นส่วนสำคัญของร่างกายเรา

คอยสูบฉีดหล่อเลี้ยงเลือด แปรเปลี่ยนเลือดและลมหายใจ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอากาศ  อีกทั้งยังเป็นอวัยวะที่เป็นตัวแทนของจิตใจ ความสุข ความทุกข์ ตื่นเต้น เร้าใจ ดีใจ เศร้าใจ “หัวใจ”เต้นกับเราในทุกห้วงยาม

หัวใจของอาสาสมัคร คืออะไร? คือ หัวใจที่พร้อมจะให้ หัวใจที่พร้อมจะเรียนรู้บทเรียนรอบตัว หัวใจแห่งความรัก หัวใจที่ตื่นตัว หัวใจ…หัวใจ

อาสาสมัครหลายคนบอกว่า ยิ่งให้ หัวใจเขายิ่งพองฟู ยิ่งให้ หัวใจเขายิ่งได้รับ เพราะเขามักได้รับรอยยิ้ม ความสุข กลับมา เป็นสิ่งที่มาตรวัดไม่ได้ หาค่าไม่ได้

แต่หากหัวใจอาสาสมัคร แห้งเหี่ยว หมดกำลังใจ ขาดคนเข้าอกเข้าใจ พวกเขาจะทำอย่างไร มีวิธีดูแลหัวใจของเขาเองและคนรอบข้างเขาอย่างไร ลองมาฟังหัวใจทำงานอาสา 6 คน 6 แบบ ที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งด้านพองและด้านแฟบ

**************************

อาสานักออกแบบ

ณขวัญ  ศรีอรุโณทัย (เข้ม)

หนุ่มสถาปัตย์ฯ จุฬา คนนี้ชื่อเข้ม เป็นคนยิ้มง่าย คุยสนุก ทำงานอาสาตามแต่โอกาสอำนวย ตั้งแต่สร้างบ้านดินที่อุบล ปลูกหญ้าทะเลที่ตรัง นวดเด็กกับมูลนิธิสุขภาพไทย ปัจจุบันทำอาชีพกราฟฟิคดีไซเนอร์

-หัวใจอาสา สำหรับตัวเองคืออะไร
น่าจะหมายถึงจิตใจที่มีขอบเขตกว้างไปกว่าหัวใจของตัวเองครับ

-หัวใจอาสาที่มีความพร้อมเป็นอย่างไร
คงจะเป็นใจที่สงบ อิ่ม เต็ม หรืออาจจะไม่ก็ได้ แต่เปิดเอาไว้เพื่อรองรับสิ่งดีๆ

-ชวนแชร์ประสบการณ์จากการทำงานอาสา หรือ การใช้ชีวิต มีเรื่องอะไรบ้างที่กระแทกหรือโดนจิตใจของเรา
มีอยู่ช่วงหนึ่ง เคยจับพลัดจับผลูไปเป็นอาสาสมัครเลี้ยงเด็กที่บ้านเด็กอ่อนปากเกร็ดครับ (ทุกวันเสาร์ตอนเช้า เป็นเวลาสี่เดือน) ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความรักเด็กออกนอกหน้าแต่อย่างใด ก็น่าแปลกครับ ทำไปเรื่อยๆ จากที่เคยรู้สึกขี้เกียจที่จะต้องตื่นเช้า เบื่อๆ ไม่รู้จะทำยังไงเวลาเด็กงอแง เวลาที่ผ่านกลับทำให้เรารู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่าง เหมือนความผูกพันบางๆ ที่คล้ายกับเหตุบังเอิญ จนวันหนึ่งที่เราอุ้มเขาขึ้นมา มองที่ตาของน้องเขา แล้วรู้สึกว่า เรามาเพื่อที่จะให้ แต่เราก็ได้อะไรๆ มากมายเลยนะ

-เรามีวิธีดูแลใจตัวเองอย่างไร
ดูแลร่างกายให้ดีก่อนครับ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เวลาเครียดเราจะเกร็งช่วงคอและไหล่โดยไม่รู้ตัว ถ้ารู้ปุ๊บก็หายใจเข้า-ออก ลึกๆ ยาวๆ ส่วนเรื่องของการดูแลจิตใจ พูดตามตรงก็คือผมเองก็ยังเอาตัวไม่ค่อยจะรอด ฮ่าๆๆ ก็พยายามทำตามคำสั่งสอนของอาจารย์ทางจิตวิญญาณทั้งหลาย ทั้งการดึงสติกลับมาสู่ลมหายใจเวลาที่ใจเตลิดไปไหนไกลๆ ให้รู้ตัวว่ากำลังรู้สึกอะไรอยู่ และก็ที่สำคัญมากๆ เลย คือเรียนรู้ที่จะหยุดคิด

-เรามีวิธีดูแลใจเพื่อนร่วมงาน ทีมงาน เพื่อนร่วมโลกของเราอย่างไร
ถ้าเขามีอะไรอยากจะพูด อยากระบาย ก็คงช่วยได้เต็มที่ในขั้นแรกคือการรับฟังอย่างตั้งใจ แล้วอาจจะต้องถอดรหัสสักหน่อย ว่าจริงๆ แล้วเขารู้สึกอะไรอยู่ และต้องการอะไร เพราะบางทีคนที่โกรธ อาจจะด่าเรารุนแรงเสียๆ หายๆ แต่จริงๆ แล้วเขาอาจจะอยู่ในช่วงที่จิตใจอ่อนแออยู่ก็ได้ หลังจากนั้นก็คงแล้วแต่สถานการณ์ครับ แต่ยังไงก็ตาม ก่อนที่เราจะดูแลใจใครได้ ใจเราต้องสงบสุขเสียก่อนนะ ไม่งั้นคงเหมือนพายุสองลูกตีกัน ถ้าหากว่าเรากำลังเป็นพายุอยู่ คงจะดีกว่า ถ้าเราหนีไปพัดไกลๆ รอความเร็วลมลดลงก่อน

-และเมื่อมีคนไม่เข้าใจเรา ไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ หรืออุดมคติของเรา เราทำอย่างไร
แล้วสักวันเขาจะเข้าใจเองครับ แต่ถ้าคิดแค่นี้แล้วมันยังคาใจของเราล่ะก็ ผมว่ามันอาจจะเป็นเพราะเรายังไม่เข้าใจอุดมคติของตัวเองดีพอนะ พอไล่เรียงมาจนถึงจุดนี้ได้ ผมว่าเราอาจจะมีปมอะไรอยู่ ที่ควรจะแก้เองก่อน และก็หวังว่า เมื่อแก้เสร็จแล้ว เราจะเข้าใจโลก

-สุดท้าย ตัวเรามีวิธีดูแลใจตัวเองอย่างไร
พักเมื่อเหนื่อยล้า มองโลกทั้งใบด้วยสายตาสดใหม่ อยู่ในกลุ่มคนที่เกื้อหนุนและดูแลจิตใจกันและกัน

**************************

พิธาลัย ผู้พัฒน์ (ส้ม)

ส้ม สาวตาโต ผมหยิกคนนี้เป็นอีกคนที่เป็นนักออกแบบ ริเริ่มงานอาสาสมัครจากเพื่อนที่ชักชวนกัน จากการเป็นครูอาสากับ ซ โซ่ อาสา ตอนนี้เธอทำงานอาสาสมัครในหลายๆ แห่ง

-หัวใจอาสา สำหรับตัวเองคืออะไร
หัวใจอาสามีแรงใจสิ่งเดียวก็พอแล้ว

-ประสบการณ์อาสา
เคยไปอาสาสอนเด็ก ได้เห็นความใสความบริสุทธิ์ของเด็ก ไม่ว่าเขาจะเป็นคนแบบไหน เขาก็เป็นเด็กอยู่เสมอ ส้มเป็นนักออกแบบ บางที่ทำแล้วมันตื้อๆ ตันๆ พอได้มาทำงานอาสา ได้เล่นกับเด็ก รู้สึกมีพลังกลับคืนมา ชีวิตมีสีสัน มีไอเดียใหม่ๆ จากเด็กๆ มากมายเลยค่ะ

สิ่งที่ประทับใจมากคือได้ไปเลี้ยงเด็กอ่อนที่บ้านปากเกร็ด เป็นโครงการที่ต่อเนื่อง 3 เดือน เราก็ไปทุกอาทิตย์ เราได้เห็นพัฒนาการของน้อง เห็นความรู้สึกของเขา คือ มันดีใจที่ได้ไปเลี้ยงเขา มีเคสหนึ่ง ดูแลเขาไม่ถึงครึ่งโครงการ น้องเขามีแม่อุปถัมภ์รับไปเลี้ยง เรารู้สึกดีใจมากที่เขามีคนดูแลแล้ว

สำหรับส้ม ทำงานอาสาแล้วรู้สึกใจเย็นขึ้นเยอะ แต่ก่อนจะใจร้อน ทำอะไรเอาเลย แต่พอได้อยู่กับเด็กๆ ใจเย็นขึ้น เหมือนเห็นมุมมองเหตุผลของเด็กเขาใสๆ ซื่อๆ

-ชวนแชร์ประสบการณ์จากการทำงานอาสา มีเรื่องอะไรบ้างที่กระแทกหรือโดนจิตใจของเรา
ส่วนใหญ่เป็นปัญหาในตัวเองมากกว่าค่ะ อย่างไปสอนเด็ก เราก็กลับมาคิดว่า สิ่งที่เราสอนเนี่ย มันดีจริงแล้วเหรอ? เราควรจะสอนแบบให้เด็กคิดเลขเร็ว เรียนเก่ง แบบคุมองค์เลยดีไหม (หัวเราะ) แต่พอคิดไปเรื่อยๆ ถึงจุดประสงค์ของการสอน จริงๆ มันไม่ใช่สอนให้เขาฉลาด แค่ทำให้เขารู้สึกขยัน ใฝ่รู้ เป็นคนดีก็พอแล้ว พอคิดได้ ก็รู้สึกคลายความกังวล

-ถ้ามีคนไม่เข้าใจเรา ไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ หรืออุดมคติของเรา เราทำอย่างไร มีวิธีเข้าใจโลกรอบๆ ตัวอย่างไร
รอบตัวไม่มีคนที่ไม่เข้าใจเลยนะ 🙂 เลยไม่รู้ว่าจะตอบยังไง

-สุดท้าย ท้ายสุด มีวิธีหล่อเลี้ยงความสุขอย่างไร
ความสุขของงานอาสา แค่มีใจ เตรียมใจพร้อม เต็มที่กับมัน ก็พอแล้ว ความสุขก็จะตามมา

**************************

อาสานักจัดกิจกรรม

ไพโรจน์ วิสุทธิวงศ์รัตน์  (แว่น)

พี่แว่น หนุ่มใหญ่จากเครือข่ายอาสารักษ์ธรรมชาติ (V4N) นอกจากจะเป็นนักจัดกิจกรรมและอาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว เขายังเป็นครูสอนคณิตศาสตร์และอาสาสมัครตัวยง

-หัวใจอาสาสำหรับพี่แว่นเป็นอย่างไร
คำว่าอาสาสมัครของผม ไม่ได้จำกัดเพียงคนที่ทำกิจกรรมอาสาสมัคร แต่คือคนที่มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่น ดูแลคนรอบตัว โดยไม่มีใครมาบังคับ ไม่ได้ทำตามหน้าที่ หรือหวังผลตอบแทน เมื่อเห็นขยะบนพื้นก็เก็บ เห็นคนแก่เดินลำบากก็เข้าไปช่วย และสิ่งที่คนจิตอาสาได้รับคือความรู้สึกอิ่มเอมใจ

“หัวใจอาสา” น่าจะมีสองอย่างคือ หนึ่งหัวใจที่มองเห็นความสำคัญของคนอื่น สองมีความเสียสละ

-ชวนแชร์ประสบการณ์จากการทำงานอาสา หรือ การใช้ชีวิต มีเรื่องอะไรบ้างที่กระแทกหรือโดนจิตใจของเรา
ทำงานอาสาทำให้ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันของคนเยอะแยะ ผมเคยเป็นทั้งผู้จัดกิจกรรมและอาสาสมัคร ถ้าเป็นอาสา ผมมุ่งความใส่ใจไปที่งาน ให้คุณค่ากับงานที่ทำ คุณค่าสำหรับตัวเองและ เพื่อนอาสาสมัคร แต่หากอยู่ในหมวกของผู้จัดแล้ว ถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้ทำงานกับเพื่อนที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกัน และมีหน้าที่เปิดเวทีให้คนอื่นได้มีโอกาสทำงานอาสาสมัคร

ส่วนใหญ่ปัญหาตอนทำงาน เป็นเพราะมองภาพสังคมไม่เหมือนกัน มีวิธีการทำงานไม่เหมือนกัน เมื่อต้องวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน วางกรอบแนวคิด ลงมือทำงาน เลยเกิดความขัดแย้ง พี่ถือเป็นเรื่องปกติ พี่ใช้ “วิพากย์วิธี” คือ สัมพันธภาพที่มีความขัดแย้งแต่ทำงานด้วยกันได้ หาทางออกร่วมกันได้

เวลามีปัญหา ต้องถามใจตัวเองว่า คนทำงานมีความเสมอภาคทางความคิดไหม ถ้าไม่ ทุกอย่างคือการสั่งการ แต่วิธีการทำงานของผม คือ ผมเชื่อว่าทุกคนเท่าเทียมกัน การคิดอย่างนั้นทำให้เราเปิดโอกาสให้เขาได้เปิดเผยตัวเองออกมา ทั้งแง่มุมมองต่อสังคม ความคาดหวัง ผ่านจากพูด เขียน วาดภาพ แม้ว่าเราทำตามความคาดหวังของทุกคนไม่ได้ก็ตาม

สิ่งสำคัญของการทำงานที่ผ่านมา คือ การดูแลคน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลา ความเข้าใจ และเราไม่สามารถพิพากษาคนในเวลาอันสั้นได้

-เวลาเจอคนที่ไม่พึงใจ มีวิธีดูแลใจตัวเองอย่างไร?
เวลาเจอคนนิสัยไม่ดี เราต้องพยายามเข้าใจความแตกต่าง บางทีผมก็ทำไม่ได้นะ งงว่าทำไมเขาทำอย่างนี้ แต่แทนที่จะหงุดหงิด หากลองพยายามเข้าใจเขา พยายามมองในจุดดีของเขา เราคบคนๆ หนึ่ง เราคบเขาด้วยข้อดีหรือข้อเสียของเขา? ถ้าเราคบข้อดีของเขา เราก็มองตรงนั้น ช่วยควบคุมข้อไม่ดี แต่ถ้าเราคบเขาด้วยข้อเสียก็ต้องถามตัวเองว่าคบเพื่ออะไร

บางครั้งเราเจออาสาสมัครงี่เง่า ทำให้เพื่อนคนอื่นไม่อยากมา ส่ายหน้าหนี สิ่งที่ทำได้ คือ บอกกับเขาดีๆ ว่าอะไรเกิดขึ้น ดูว่าเขาเปิดรับฟังหรือเปล่า พูดบนฐานที่เราเป็นห่วง เราให้เกียรติโดยพูดตรงๆ ไม่ใช่นินทา และทางเลือกสุดท้ายคือตัดเขาออก เพราะถ้ามีคนอีก 5-10 คนที่ไปกับเราได้ แต่คนๆ นี้ทำให้คนทั้งหมดเดินไปต่อไม่ได้ เราก็ต้องตัดเขา

สำหรับคนที่เราไม่พึงใจ บางทีเราก็ชวนเขามาทำกระบวนการอาสา ที่จะช่วยเป็นกระจกส่องตัวเขาทั้งในปัจจุบันและอดีต

-เรามีวิธีดูแลใจเพื่อนอาสาสมัครไม่มีความสุขกับการทำงานอาสาสมัครอย่างไร
ความรู้สึกไม่เข้าใจ ไม่มีความสุขของเขา ผมคิดว่ากระบวนการกลุ่มช่วยได้ เปิดให้เขาได้พูด แสดงความรู้สึก ตัวคนจัดจะช่วยทำให้เข้าใจมากขึ้น เช่น งานภาวนาที่พี่เพิ่งไปร่วมมา ตัวพี่เองก็มีปัญหาว่าเป็นคนดื้อ คนอื่นมีปัญหากับความดื้อของเรา เราเป็นพวกยิ่งว่า ยิ่งทำ แต่การมีกระบวนการกลุ่ม ทำให้มีโอกาสให้พูด ชี้แจงทำความเข้าใจ และทำให้ได้เห็นผลกระทบจากสิ่งที่ตัวเองทำ

-ถ้ามีคนไม่เข้าใจเรา ไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ หรืออุดมคติของเรา เราทำใจอย่างไร
ต้องถามว่าเราให้ความสำคัญคนอื่นที่ไม่เข้าใจเรามากน้อยแค่ไหน ต้องยอมรับว่าเราให้ความสำคัญไม่ได้ทั้งหมด เราอยากให้คนใกล้ตัวเข้าใจเรามากกว่าคนที่ไกลตัว ถ้าเขาเป็นคนที่สำคัญ คนใกล้ตัว เราอยากให้เขาเข้าใจ เราก็ให้ความจริงใจกับเขา พูดและแสดงความเป็นตัวเราออกไปอย่างจริงใจ แต่ถ้าทำอย่างไรเขาก็ไม่เข้าใจ เราก็ต้องลดความแคร์ลง แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง สิ่งที่เป็นเราก็เก็บเอาไว้ ในฐานะที่เขาไม่เข้าใจเรา ก็อย่าลืมว่าเราก็ไม่เข้าใจเขาพอๆ กัน

-อะไรที่ทำให้เรายังอยู่ตรงนี้ได้
ความเข้าใจชีวิต และ การมองโลกแง่ดี ข้อนี้สำคัญมาก ผมเห็นคนนั่งรถพิการ ยังสามารถไปทำงานอาสาสมัครได้ คือ มันตกผลึกแล้ว เขาอยากทำประโยชน์ให้คนอื่นเพราะ เขามีความเข้าใจชีวิต และสามารถมองโลกในแง่ดีได้ด้วย

**************************

ใจอาสา กายอาสา

ปถรส บุญศรีโรจน์ (อะตอม)

พี่อะตอม เป็นผู้หญิงตัวเล็ก ผมหยิก ใส่แว่น พูดจากคล่องแคล่วน่ารัก เห็นตัวแค่นี้ เธอเป็นผู้หญิงทำงานเกี่ยวกับสินค้าสปาส่งออก และยังเป็นอาสาสมัครขาประจำในกิจกรรมต่างๆ ของเครือข่ายจิตอาสา ทุกวันนี้เป็นคุณแม่ลูกหนึ่ง กำลังรอกำหนดคลอดด้วยใจระทึก

-หัวใจอาสาที่มีความพร้อมสำหรับพี่เป็นอย่างไร
พี่ไม่รู้ ว่าหัวใจอาสาที่มันพร้อมมันควรเป็นอย่างไร สำหรับพี่ พี่ทำงานอาสาเพราะพี่มีเรื่องทุกข์ใจ เราไม่อยากอยู่ในทุกข์นั้น แต่ก็ไม่อยากไปสำมะเลเทเมา เพราะทำแล้ว สนุกแป็ปเดียว กลับมาแล้วเหนื่อย ทุกข์ก็ไม่ได้หายไปไหน การทำงานอาสาทำให้เราลืมทุกข์ด้วยการออกไปดูคนที่ลำบากกว่าเรา ทุกข์กว่าเรา ทำให้เราเห็นว่าคนที่มีปัญหาเยอะกว่าเรามาก เขายังอยู่ได้ มีความสุขได้ เทียบกับปัญหาของเรามันแค่ขี้หมา พี่คิดว่าการทำงานอาสาไม่ใช่เป็นการให้ เราให้เล็กๆ น้อยๆ แต่สิ่งที่ได้รับมันมากมาย ทำให้เราอิ่มใจ เห็นคุณค่าของตัวเอง แทนที่เราจะจมจ่อมกับความทุกข์ การทำงานอาสาทำให้เราพบสิ่งดีๆ พอได้ทำแล้ว เราเห็นผลก็ชื่นใจ ไปพบเพื่อนอาสาที่หลากหลายก็ทำให้ใจของเราเปิดกว้างมากขึ้นด้วย

ตอนเรามีความสุขเราอาจไม่คิดถึงคนอื่น แต่พอเราทุกข์ เรากลับอยากมองคนอื่น

-ชวนแชร์ประสบการณ์จากการทำงานอาสา หรือ การใช้ชีวิต มีเรื่องอะไรบ้างที่กระแทกหรือโดนจิตใจของเรา
ตอนไปอาสาสวนโมกข์ครั้งที่ 2 อาสาสมัครมีหน้าที่ถางหญ้า อาจจะดูเป็นงานง่ายๆ ใช้แรงเฉย แต่ไม่ง่ายเลย มันทำให้เราเห็นว่างานทุกงานมีการวางแผน มีศาสตร์ มีศิลป์ มีทักษะของมัน ทำให้เห็นว่าชีวิตเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราอาจคิดว่าเราเก่งคอม เราภูมิใจ แต่เราคิดไปเองหรือเปล่า เราถางหญ้าไม่ได้ ปลูกข้าวไม่ได้ มันทำให้เห็นคุณค่าของงานต่างๆ ไม่ดูถูกสัมมาอาชีพอื่น เห็นว่ามนุษย์มันต้องพึ่งพาอาศัยกัน

-แล้วเรามีวิธีดูแลใจตัวเองอย่างไร
การไปทำงานอาสา ทำให้เราหัดไม่คาดหวัง ไม่ต้องนอนดี กินดี แค่มีที่นอนให้ซุกหัว มีข้าวให้กิน มีเพื่อนร่วมงานดีๆ แค่นี้พอแล้ว และเมื่อไม่คาดหวัง ทุกครั้งมันมากกว่าที่คาดไว้ เราอาจเจอเพื่อนที่ไม่ถูกใจบ้าง ดูไม่เต็มที่บ้าง เราก็คิดเสียว่าเขาอาจมีกำลังแค่นั้น สุขภาพอาจจะไม่อำนวย แต่อย่างไรเขามีใจที่อยากมาช่วยแน่ๆ เพราะงานอาสาไม่มีใครโดนบังคับมา  ฉะนั้นเขาจะทำมากทำน้อยเป็นสิทธิของเขา เราก็ฝึกที่จะไม่จับผิด เราทำแล้วมีความสุขก็พอแล้ว มองในแง่ดีว่าเวลาเรากลับมาสังคมจริง มีคนที่แย่กว่านี้เยอะแยะ เรายังทนได้ รับได้ แล้วทำไมเราจะรับเขาไม่ได้

-เรามีวิธีดูแลใจเพื่อนของเราอย่างไร เมื่อใจเขาเสียศูนย์
ชวนเขามองอีกมุม เพราะเป็นธรรมดาที่เราจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เวลาทุกข์ตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง เปรียบเหมือนคนตกในหลุม เขาไม่รู้ว่ามันลึกแค่ไหน เราเป็นคนนอกอาจช่วยบอกเขาได้  ตัวเราเองเมื่อก่อนก็เคยมองโลกแบบเหลี่ยมๆ คมๆ แต่การทำงานอาสาทำให้เรามองโลกกลมมนมากขึ้น เราจะเลือกมองเห็นโอกาส หรือ มองเห็นสิ่งดีๆ มากขึ้น

เรื่องที่เซนซิทีฟมากคือ เรื่องคำพูด หลายครั้งทำให้คนผิดใจกันเพราะเรื่องคำพูด สำหรับพี่ คำพูดเป็นลม อย่าเก็บมันไว้ ปล่อยมันไป พูดสิ่งที่หอมหวานก็รับไว้ชื่นใจได้ เขาพูดไม่ดีก็ปล่อยไปตามลม อย่าเก็บลมมาทำให้เราเป็นทุกข์ เพราะคนเราอาจพูดด้วยความคะนองปาก ความสนุก แต่คนฟังอาจไม่ได้คิดอย่างนั้น และถ้ามีโอกาส เราอาจเปิดใจคุยกันดีๆ คุยอย่างสร้างสรรค์ ทำความเข้าใจกัน

-และเมื่อมีคนไม่เข้าใจเรา ไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ หรืออุดมคติของเรา ทำใจอย่างไร
พี่ไม่เดือดร้อนนะ ที่คนอื่นไม่เข้าใจเรา มีบ้างที่เพื่อนล้อๆ ก็ทำให้สะกิดใจ บางครั้งเราก็ลองเล่าสิ่งที่เราเจอให้เขาฟัง คนที่สนใจก็จะเล่าให้ฟังต่อ แต่ถ้าเขาเริ่มเห็นเป็นเรื่องตลก ไม่เปิด เราก็ไม่แง้มต่อ เพราะประตูใจเขาปิด

พี่เคยชวนเพื่อนไปอาสาปลูกปะการัง เขาดูสนใจเราเลยชวนเขาไปด้วย แต่พอถึงเวลาจริงเขาไม่ตื่น ไม่มา แม้ว่าเราจะเตือนว่าไปเที่ยว แต่อย่านอนดึก พยายามโทรไปปลุก แต่เขาก็ไม่มา พอมาคิดอีกทีก็พบว่า จริงๆ เขาไม่ได้อยากมาหรอก แต่ตกลงไปเพราะเราอยากให้ไป พอคิดได้ พี่กลับรู้สึกผิดนะ ว่าเราคะยั้นคะยอเขามากไปหรือเปล่า ฉะนั้นพี่คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ที่เขาจะเข้าใจ มาร่วมกับเรา บางคนเขาไม่พร้อม ที่จะมาลองทำงานอาสาสมัคร เราก็ต้องเข้าใจ พี่ก็ชวนเขาทำดีด้วยวิธีอื่น เช่น บริจาค เพราะวิธีทำเรื่องดีๆ มีเยอะแยะ

-สุดท้าย ท้ายสุด ตัวเรามีวิธีดูแลใจตัวเองอย่างไร
คิดถึงเรื่องดีๆ ในชีวิตเรา พี่ก็ยังเป็นทุกข์อยู่นะ แต่เราก็พยายามคิดถึงสิ่งดีๆ ที่ยังมีอยู่ในชีวิตเรา คิดถึงช่วงดีๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา คิดถึงคนที่อาจลำบากกว่าเรา ก็พบว่าเรายังโชคดีอยู่มาก ถ้ามองให้ลึกซึ้งก็จะเห็นความโชคดีของเรา หรือถ้าเราโชคร้าย ก็ถือเป็นบทเรียนให้เราเข้าใจว่าการมีเรื่องดีๆ ในชีวิตนั้นมันดีอย่างไร ทุกข์ของวันนี้คือปุ๋ยของวันพรุ่งนี้

**************************

อาสารุ่นใหม่

โชติชัย สรรพากิจวัฒนา (คุง)

คุง หนุ่มหน้ามน ผมยาว แถมมีเคราเล็กน้อย เขานิ่งๆ เงียบๆ ดูครุ่นคิดอยู่ในที นอกจากจะเป็นอาสาสมัคร เขายังเป็นนักออกแบบ และเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

-ประสบการณ์อาสา
เริ่มตอนปี 1 ปี 2 ในมหา’ ลัย ตอนนั้นเรียนและทำงานออกแบบ หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อตัวเองในอนาคต พัฒนาตัวเองในสิ่งที่เรียน และมีรายได้ในอนาคต แต่ด้วยวัยที่ยังเด็กยัง ไม่พร้อมไปทำงานข้างนอก ทำให้เกิดปัญหากับตัวเองหลายอย่าง จนไม่มีความสุขเลย เลยคิดว่า เราไม่อยากจะทำอะไรเพื่อตนเองอย่างเดียวแล้ว เราอยากทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้าง แล้วก็พอดีมีเพื่อนมาชวนไปค่าย เราไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร รู้แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ก็เลยไป ไปค่ายสร้างที่เชียงใหม่ ที่หมู่บ้างปะกากะยอ ค่ายนั้นเปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งรอบตัวผม

ผมเป็นคนที่เกิดและเติบโตในเมืองกรุง พอได้ไปออกค่ายก็จะเจอว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เห็นได้ชัด ได้สัมผัสความเป็นมิตรของคนในหมู่บ้าน สัมผัสถึงการให้ ได้ออกแรง รู้สึกดี จากเดิมที่เคยคิดถึงตัวเองก็คิดถึงคนอื่นมากขึ้น เราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราทำอะไร เราจะไปช่วยตรงส่วนไหนได้บ้าง ไปอยู่ตรงจุดไหน พอตั้งคำถามว่าจะไปอยู่ตรงจุดๆ ไหน ก็จะถามตัวเองว่าจะไปได้อย่างไร มันเป็นขั้นตอนไป

-แล้วเวลาทำงานอาสาเมื่อเกิดปัญหาจัดการกับมันอย่างไร
อย่างแรกคือต้องเข้มแข็ง อย่ายอมแพ้อะไรง่ายๆ เปลี่ยนมุมมองกับปัญหา บางทีเราเจอกับปัญหาแล้วรู้สึกว่ามันแย่ อยากให้ลองเปลี่ยนมุมมองว่า ปัญหาเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เราต้องแก้ไขอยู่แล้ว แล้วคิดว่าเราจะหาวิธีแก้ไขอย่างไร พอมีความเข้มแข็งแล้วเราก็จะนึกถึงตัวงาน ความสำเร็จของงาน ผลที่ได้รับ ประโยชน์ของมัน พอคิดถึงประโยชน์แล้วปัญหาพวกนี้ก็จะเป็นเรื่องยิบย่อยไปเลย

-ดูแลจิตใจตัวเองอย่างไร
ต้องจัดการความรู้สึกของตัวเองให้ได้ หาเหตุผลคำตอบ เพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียว ทำงานเป็นกลุ่ม เราก็ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และก็เรียนรู้ตัวเองด้วย บางครั้งคนอื่นๆ ก็จะเป็นตัวเยียวยาให้เราที่ดีได้เช่นกัน การได้พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน ช่วยได้เยอะเหมือนกัน

เวลามีคำถาม มีความสงสัยเกิดขึ้น ผมจะหาคำตอบ คุยกับเพื่อน คุยกับคนอื่นๆ คุยกับครูอาจารย์ รวมถึงอ่านหนังสือ ศึกษาว่าคนในสังคมอื่นๆ ที่เขาอยู่ในเส้นทางคล้ายๆ เรา เขามีมุมมองความคิดอย่างไรบ้าง เพราะเราไม่ได้คิดคนเดียว รู้คนเดียว มันเป็นเรื่องของโลกที่มีคนที่รับรู้มาก่อน เขาอาจจะมีมุมมองที่ตอบโจทย์เราได้ ซึ่งก็จะช่วยเหลือและเป็นคำตอบซึ่งกันและกัน

-หัวใจอาสาคืออะไร
เวลาเราเจอคนแก่ข้ามถนน เราอาจคิดว่าเขาเดินมาได้ก็ต้องข้ามไปได้ หรือว่าเจอเด็กขายพวงมาลัย อาจคิดว่าเออ เด็กมันขยันดี เราอาจมอง ไม่ทำอะไร แยกตัวเองออกมาเป็นแค่ผู้ดู แต่ความอยุติธรรมก็ยังเกิดขึ้นกับเขาเรื่อยๆ ซึ่งเขาจะเป็นทุกข์ ถ้าคนๆ นั้นได้ลองที่จะเอื้อมมือได้ลองไปจูงมือคนแก่สักครั้ง หรือช่วยเหลือเก็บขยะที่มีคนทำตกทิ้งไว้สักเล็กน้อย เขาก็จะสัมผัสได้ถึงความพยายามที่จะช่วยเหลือของตัวเอง มันเป็นการที่จะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับคนอื่น มันทำให้ความเห็นแก่ตัวของตัวเองมันน้อยลง ใครก็เป็นคนที่มีจิตอาสาได้ พระไพศาลบอกไว้ว่า “จิตอาสา” คือ จิตที่นึกถึงผู้อื่น นึกถึงส่วนรวม เพราะฉะนั้นจะเป็นแม่ค้า พ่อค้า นักเรียน นักศึกษา นักธุรกิจ หรือใครๆ ก็ตาม ก็สามารถที่จะมีจิตอาสาได้ มีจิตใจที่จะคิดถึงผู้อื่น

-มีวิธีที่จะหล่อเลี้ยงความสุขอย่างไร
ความสุขมันขึ้นอยู่ที่ตัวเราครับ พยายามไม่มองอะไรให้เป็นทุกข์ ความสุขก็จะเกิดขึ้นกับตัวเรา การทำงานอาสา ถ้าเราคิดว่าเราอยากทำให้คนอื่นมีความสุข มันก็จะทำให้เรามีความสุขไปด้วย แต่ถ้าหากคิดว่าเสียเวลามาทำอะไรไม่มีประโยชน์ มันก็จะไม่มีความสุขกับการทำตรงนี้เหมือนกัน

**************************

อาสาจากความสุขภายใน

ยงยุทธ อุทัยวรรณ (บี)

บี เขาแผงม้า เขาดูเซอร์ แต่ธรรมดา ธรรมชาติ เบาสบาย คนๆ นี้เริ่มจากทำงานอาสาสมัครกับกับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า ช่วยงานทุกอย่าง จวบจนปัจจุบันเป็นหนึ่งในกลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้าและอาสาสมัครอิสระ

-ประสบการณ์งานอาสา
พื้นเพผมเกิดที่ขอนแก่น เรียนหนังสือที่โคราช เลยได้เจอคนที่หลากหลาย มองอดีตที่ผ่านมาเห็นมุมมองที่หลากหลาย เลยคิดว่าเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่ากับการที่เราจะมีความสุขอยู่คนเดียว

งานอาสาครั้งแรก เริ่มจากตอนที่มัธยมครับ ผมเป็นนักเรียนดุริยางค์ เล่นดนตรี ได้ตังค์บ้างไม่ได้ตังค์บ้าง มันก็น่าจะดีถ้าเราได้ไปช่วยงานบวช งานศพต่างๆ เลยไปเป็นนักดนตรีอาสากัน

ต่อมาผมมีโอกาสได้ไปเป็นอาสาสมัครกับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า ทำทุกอย่างที่มูลนิธิเขาให้ทำครับ ตั้งแต่เก็บกล่องบริจาค งานเอกสาร จัดค่ายให้กับเยาวชน เริ่มจากเป็นพี่เลี้ยงค่าย ได้เข้าร่วมอบรมเสริมสร้างกระบวนการการเป็นพี่เลี้ยง มันทำให้เรามีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องสายทางชีวิต ได้รับรู้ถึงเรื่องราวของแต่ละคน ทำให้รู้ว่าถึงแม้เราจะไม่ได้เรียนหนังสืออะไร แต่เราก็สามารถทำอะไรเพื่อคนอื่นได้น่ะครับ ทำไปๆ ก็ยิ่งรู้สึกชัดเจนในประเด็นนี้ และจากการไปทำกิจกรรมจิตอาสาในที่อื่นๆ ก็ช่วยตอบโจทย์ในใจให้ตัวเอง เริ่มเห็นแนวทางที่ยั่งยืน แนวทางที่ตอบโจทย์ในเรื่องความสุข การมีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่น ความสุขที่ไม่สามารถซื้อมาได้ด้วยเงินด้วยทอง เป็นความสุขเราสามารถสร้างขึ้นเองได้ตลอดเวลา

สิ่งที่ได้จากงานอาสาคือเรื่องของมิตรภาพ ชีวิตเราควรจะมีกัลยาณมิตร เพราะกัลยาณมิตรช่วยเราได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะแชร์เรื่องของความสุข ความทุกข์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ มันทำให้เรามียามาบำรุงหัวใจให้เติบโตและแข็งแรงพร้อมที่จะทำงานอาสาสมัคร ต่อไปเรื่อยๆ

-เมื่อเจอปัญหาต่างๆ
ความรู้สึกเวลาที่ไปงานอาสาสมัครต่างๆ มันก็จะหลากหลายแตกต่างกันไป เราใช้ความรู้สึกจากตรงนั้นครับ มาช่วยบำรุงเยียวยาหัวใจ เวลาเป็นอาสาสมัครมันก็มีหัวเราะ มีสนุก มีเฮฮา มีทุกข์ มีปัญหา มีช่วงจริงจังเป็นวิชาการ และมีช่วงที่ไม่ได้ทำอาสาด้วย เราก็ต้องเรียนรู้กับมัน

ผมเลือกมองสิ่งดีๆ คิดแต่สิ่งดีๆ ไว้ก่อนครับ ทุกคนมีความทุกข์ได้ แต่จะทุกข์กับมันอย่างไร มีวิธีการที่จะแก้ทุกข์อย่างไร เอาความทุกข์มันมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างไร จริงๆ แล้วงานอาสาก็จะเป็นยาที่จะมาช่วยให้เราแก้ทุกข์นั้นได้ดีทีเดียว

-ผลกระทบต่อสิ่งรอบตัวเราเมื่อมาทำงานอาสา
ถ้าเป็นคนที่ทำงานหลักอยู่แล้วคิดว่าน่าจะมีผลกระทบเรื่องของเวลา แต่สำหรับผมเองงานที่ทำของผมเกี่ยวกับงานอาสาอยู่แล้วทำให้ไม่มีผลกระทบอะไร มาก ทำจนจุดหนึ่งพอคนเห็นคนก็จะเข้าใจเอง ผมทำเรื่องการดูแลเรื่องของฐานทรัพยากรซึ่งมันเป็นเรื่องของใกล้ตัวเราครับ ถ้าวันนี้เราไม่ช่วยกันดูแลรักษาไว้ให้ลูกหลาน แล้วมันจะเป็นตราบาปไว้ให้กับคนรุ่นเรา เดี๋ยวลูกหลานจะมาว่าได้ว่า เอ๊ะ ทำไมปูย่าตายายสร้างอะไรแบบนี้ไว้ให้เรา ฉะนั้นเราควรที่จะหันมาสนใจเรื่องนี้กันให้มากขึ้น การเกื้อกูลกัน แบ่งปัน ช่วยเหลือพึ่งพา มันเป็นวิถีชีวิตที่ปู่ย่าตายายทำมาตั้งแต่อดีต ครั้งก่อน สังเกตได้ว่าสมัยก่อนปู่ย่าตายายเราจะมีเวลามากมาย แล้วทำไมเดี๋ยวนี้เรามายุ่งสาละวนอยู่กับอะไรก็ไม่รู้

-อะไรเป็นแรงดึงดูดที่ทำให้ทำงานอาสาเรื่อยๆ
มันตอบโจทย์ในใจเราตลอดเวลาครับว่าอย่างนี้มันยั่งยืนแล้ว คือทำอย่างนี้ไปแหละจนกว่าจะเหนื่อย หรือว่าจนกว่าจะไม่มีชีวิตอยู่น่ะครับ มันตอบโจทย์ได้ในเรื่องของความสุข เป็นความสุขที่ยั่งยืน ไม่ต้องเอาเงินเอาทองไปซื้อมาจากที่ไหน เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อน เรียนรู้ว่าเราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ถึงแม้บางคนจะเป็นอาสา แต่มีอาชีพหลักอื่น เราก็ใช้แนวทางที่เรามาเป็นอาสาไปปรับปรุงหล่อเลี้ยงกับงานที่เราทำให้มัน ยั่งยืน มีความสุข กับงานที่ทำทุกๆ เรื่องได้ครับ

-หัวใจอาสาคืออะไร
ก็เป็นเรานี่แหละครับ ทำอะไรก็ได้ที่เรามีความสุข แล้วเราสามารถแบ่งปันความสุขให้กับคนอื่นได้ การยิ้มให้กันมันก็เป็นจิตอาสาแล้ว เพราะจิตอาสามันมาจากใจ แล้วมันก็เป็นการยิ้มให้กันอย่างไม่มีเงื่อนไข การให้กันอย่างไม่มีเงื่อนไขครับ

-หัวใจอาสาที่มีความพร้อมเป็นอย่างไร
แค่เริ่มคิดอยากจะให้คนอื่น ก็ถือเป็นความพร้อมในการเริ่มต้นที่ดีที่จะลงมือให้ครับ

-มีวิธีหล่อเลี้ยงความสุขอย่างไร
สำหรับผมการให้คนอื่นมันคือความสุขครับ การหล่อเลี้ยงที่ดีที่สุดก็จะให้ไปเรื่อยๆ ให้จนสุดความสามารถเรา หรือจนกว่าที่เราจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว

**************************

แต่ละคน แม้หัวใจจะต่างดวง แต่มีความคล้าย คือ พวกเขาเปิดหัวใจเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวผ่านงานอาสา เรียนรู้สิ่งที่อยู่ในจิตใจผ่านทุกขณะที่ได้ทำให้ผู้อื่น

สิ่งที่ได้กลับมาไม่สามารถบอกกล่าวผ่านคำพูดหรือตัวอักษรได้หมด หากแต่คุณอยากรู้หรือรู้สึก คุณต้องเอาหัวใจลงไปสัมผัสมัน