ตัดไม้ไม่ทำลายป่า : “เศรษฐกิจอนุรักษ์” แบบอีโคทรัสต์
ทุนนิยมที่มีหัวใจ สฤณี มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 09 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 29 ฉบับที่ 1521

ปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นการตัดเพื่อเอาไม้ไปขาย หรือตัดเพื่อถางใช้พื้นที่ทำการเกษตรหรือธุรกิจ เป็นปัญหาคาราคาซังที่ยังไม่เคยแก้ได้อย่างถาวรและรวดเร็วเพียงพอที่จะรักษา พื้นที่ป่าให้ได้ตามเป้าหมายระยะยาวของภาครัฐ ที่กำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ (รวมสวนป่าของเอกชน) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ แบ่งเป็นป่าเพื่อการอนุรักษ์ร้อยละ 15 และป่าเศรษฐกิจร้อยละ 25

คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุในการประชุมประจำปี 2551 หัวข้อ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย …สู่ปี 2570” ว่า ไทยเหลือพื้นที่ป่าประมาณ 104.7 ล้านไร่ในปี 2547 หรือร้อยละ 32.6 ของทั้งประเทศ และประเมินว่าไทยอาจสูญเสียพื้นที่ป่าอีกประมาณ 10 ล้านไร่ หรือร้อยละ 3 ก่อนถึงปี 2570 คิดเป็นอัตราการสูญเสียร้อยละ 0.15 ต่อปี

ตัวเลขคาดการณ์ของ สศช. ต่ำกว่าอัตราการสูญเสียในอดีตร้อยละ 0.6 ต่อปีระหว่าง 2533-2548 แต่ตัวเลขนี้ก็ยังหมายถึงพื้นที่ป่ากว่า 480,000 ไร่ต่อปี ยังไม่นับประเด็นที่ว่า “คุณภาพ” ของป่าเมืองไทย โดยเฉพาะไม้เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงซึ่งมักจะเติบโตได้เฉพาะในป่าที่มีความ อุดมสมบูรณ์ กำลังถดถอยลงเรื่อยๆ อย่างน่าใจหาย (อันน่าจะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่การข้ามชายแดนไปตัดไม้ทำลายป่าจึงน่าดึงดูด ใจ เพราะป่าพม่ายังอุดมสมบูรณ์และรัฐบาลไม่เข้มงวดเท่ากับไทย อย่างน้อยการติดสินบนก็ใช้เงินน้อยกว่า)

ถ้าอัตราการตัดไม้ทำลายป่ายังไม่ลดลงมากกว่าที่ สศช. ประเมิน ต่อให้มีโครงการปลูกป่าที่บริษัทไทยหลายแห่งกำลังทำในฐานะ “กิจกรรมซีเอสอาร์” อีกเป็นร้อยโครงการก็อาจช่วยชะลอปัญหานี้ได้เพียงเล็กน้อย มิพักต้องพูดว่าต้นไม้ที่ปลูกวันนี้ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะโตเต็มที่

ดังนั้น ถ้าบริษัทเหล่านี้อยากช่วยแก้ปัญหาป่าไม้ ก็ควรเปลี่ยนวิธีทำซีเอสอาร์ให้มีความหลากหลายและแก้ปัญหาอย่างตรงจุด มากกว่าเดิม เช่น เอาเงินและทรัพยากรไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ได้ค่าตอบแทนไม่กี่พัน บาทต่อเดือนแลกกับอันตรายถึงชีวิต หรือไม่ก็ช่วยล็อบบี้ภาครัฐให้สร้างกลไกหนุนเสริม เช่น ออกกฎหมายป่าชุมชน เพื่อแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ป่าไม้และสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านร่วมกัน อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน

แต่ปัญหาใหญ่ที่ผ่านมาคือ นักธุรกิจกับนักสิ่งแวดล้อมมักจะมองคนละมุมและพูดคนละภาษา นักสิ่งแวดล้อมหลายคนมองว่านักธุรกิจทำลายป่ามากเกินไป เศรษฐกิจโตเร็วก็จริงแต่สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ฝ่ายนักธุรกิจอีกจำนวนไม่น้อยกว่ากันก็โต้ว่านักสิ่งแวดล้อมพยายามอนุรักษ์ ป่ามากเกินความจำเป็น รักธรรมชาติมากเสียจนขัดขวางความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ

ในเมื่อนักสิ่งแวดล้อมกับนักธุรกิจมักจะยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกันเช่นนี้ การหา “จุดสมดุล” ในการบริหารจัดการป่าที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจำนวนมากของบริษัทบริหารจัดการป่าเศรษฐกิจนาม อีโคทรัสต์ ฟอเรสต์ แมเนจเม้นท์ จึงน่าศึกษาและชี้ให้เห็นหนทางสู่ “จุดสมดุล” ที่ได้ทั้งความเจริญทางเศรษฐกิจและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

ริ ษัทนี้เป็นบริษัทลูกขององค์กรไม่แสวงหากำไรนาม อีโคทรัสต์ (Ecotrust, http://www.ecotrust.org/) ก่อตั้งโดยกลุ่มนักนิเวศวิทยาและนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นำโดย สเปนเซอร์ บีบี (Spencer Beebe) ในปี 1991 เพื่อสนับสนุนวิถีการพัฒนาที่บีบีขนานนามว่า “เศรษฐกิจอนุรักษ์” (conservation economy)-สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจในทางที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ของระบบนิเวศและขับเคลื่อนเป้าหมายทางสังคมไปในขณะเดียวกัน โดยเฉพาะการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนท้องถิ่นที่ปกปักรักษาป่าไม้ และประมงชายฝั่ง ซึ่งในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกาหมายถึงชาวอินเดียนแดงและปลาแซลมอนที่ พวกเขาพึ่งพาในฐานะอาหารและแหล่งรายได้หลัก

อีโคทรัสต์ลงทุนกับการพัฒนาชุมชน ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ถ้าชุมชนที่พึ่งพาอาศัยธรรมชาติและเป็น “ด่านแรก” ในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจากมือของผู้บุกรุกอยู่ไม่ได้ ถึงที่สุดระบบนิเวศก็จะเสื่อมโทรมจนมนุษย์เองอยู่ไม่ได้

อีโคทรัสต์ก่อตั้งกองทุนชื่อ แนเชอรัล แคปิตอล ฟันด์ ในปี 1994 เป็นกลไกหลักในการลงทุนในโครงการหรือบริษัทที่ฟื้นฟูหรืออนุรักษ์สิ่งแวด ล้อมดีเด่นและโดดเด่นด้านการใช้นวัตกรรมสังคม โมเดลของอีโคทรัสต์ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

ภายในเวลา 3 ปีหลังจากก่อตั้งสำนักงานแห่งแรกในเมืองพอร์ตแลนด์ มลรัฐโอเรกอน (มลรัฐที่ “เขียว” ที่สุดในอเมริกา ทั้งในแง่กายภาพและความคิดของผู้คน) องค์กรน้องชื่อ อีโคทรัสต์ แคนาดา ก็ถือกำเนิดขึ้นในรัฐบริติช โคลัมเบีย ของแคนาดา ซึ่งมีชายฝั่งต่อกับโอเรกอนของสหรัฐ ชาวแคนาดาผู้ก่อตั้งนำกิจกรรมของอีโคทรัสต์ไปประยุกต์ใช้ในการอนุรักษ์แหล่ง ประมง บริหารป่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอินเดียนแดง

ปัจจุบันอีโคทรัสต์ขยายผลไปไกลถึงดินแดนที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ เม็กซิโก โบลิเวีย จนถึงออสเตรเลีย เป็นบทพิสูจน์ว่าโมเดลของบริษัทสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างแพร่หลาย นักพัฒนาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังศึกษาโมเดลของอีโคทรัสต์จากงานวิจัยและเอกสารมากมายที่องค์กรเผยแพร่ ผ่านเว็บไซต์

หัวใจของโมเดล “เศรษฐกิจอนุรักษ์” ของอีโคทรัสต์อยู่ที่การบูรณาการวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์ระบบนิเวศ เข้าด้วยกันอย่างสอดคล้องกลมกลืนเป็นวิถีพัฒนาที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน (ภาษาธุรกิจเรียกกระบวนการนี้ว่า “align interests” คือหาจุดร่วมและวิธีการปรับผลประโยชน์ของทุกฝ่ายให้ตรงกัน) และสร้างแนวร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการกุศล และภาคประชาชน ระดมนักลงทุนที่สนใจเรื่องนี้มาลงทุนในธุรกิจยั่งยืนที่คนท้องถิ่นเป็นเจ้า ของ เช่น

โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กในชุมชนที่ชนพื้นเมืองเป็นเจ้าของร่วมกัน กองทุนเพื่อชาวประมงชายฝั่งตะวันตก บริษัทสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เครือข่ายอาหารปลอดสารพิษเพื่อเชื่อมผู้ผลิตรายย่อยกับผู้บริโภค และอื่นๆ อีกมากมาย

ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของอีโคทรัสต์ ได้แก่การจับมือกับธนาคารชอร์แบงก์ ก่อตั้งธนาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในโลก คือ ชอร์แบงก์ แปซิฟิค และ ชอร์แบงก์ เอ็นเตอร์ไพรส์ แคสเคเดีย เติบโตเป็นธนาคารขนาดกลางที่มีสินทรัพย์กว่า 300 ล้านเหรียญ

กลับมามองเรื่องป่าไม้ บริษัทลูกของอีโคทรัสต์คือ อีโคทรัสต์ ฟอเรสต์ แมเนจเม้นท์ (ย่อว่า อีเอฟเอ็ม) ก่อตั้งกองทุนแรกในโลกที่ประกาศว่าใช้กลยุทธ์ “บริหารจัดการระบบนิเวศป่า” แทนที่จะใช้คำว่า “ทำอุตสาหกรรมป่าไม้” เหมือนบริษัทกระแสหลัก ปัจจุบันกองทุนนี้มีป่าภายใต้การบริหารจัดการนับหมื่นไร่

อีเอฟเอ็มใช้โมเดลธุรกิจแบบใหม่มุ่งบริหาร “งบดุล” ของป่า คือความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าในระยะยาว แทนที่จะมองป่าไม้ว่าเป็น “งบกำไรขาดทุน” ที่มุ่งตักตวงกำไรรายปีจากการตัดไม้เป็นหลัก ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ เนื้อไม้ของต้นไม้ในป่าตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกาจะมีคุณภาพดีที่สุดถ้า เติบโตได้ถึง 60-70 ปี แต่ที่ผ่านมาบริษัทป่าไม้กระแสหลักโค่นต้นไม้เร็วกว่านั้นมาก ได้เงินเร็วก็จริงแต่ก็ทำให้คุณภาพของระบบนิเวศเสื่อมโทรมในระยะยาว ไม้คุณภาพดีและความหลากหลายทางชีวภาพหดหาย แปลว่าแนวโน้มกำไรในระยะยาวก็แย่ตามไปด้วย

ในทางกลับกัน เป้าหมายของบริษัทอีเอฟเอ็มในการบริหารจัดการป่าคือให้ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ ในระยะยาว ซึ่งหมายถึงปล่อยให้ต้นไม้เติบโตเต็มวัยก่อนโค่น ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดูแลป่า และปลูกป่าด้วยวิธีเลียนแบบป่าธรรมชาติ (biomimetic) ให้ได้มากที่สุด เช่น เน้นความหลากหลายทางชีวภาพ และไม่ปลูกต้นไม้ชนิดเดียวกันอัดแน่นเป็นกลุ่มใหญ่ตามวิธีคิดแบบอุตสาหกรรม คือเน้นปริมาณและมองแค่ผลกำไรระยะสั้น

การจัดการแบบเน้น “งบดุล” ของป่าแปลว่าบริษัทจะมีรายได้จากการโค่นไม้ไปขายช้ากว่าในโมเดลกระแสหลัก ดังนั้น จึงมีประเด็นว่ารายได้ก่อนหน้านั้นจะมาจากไหน คำตอบที่ชาญฉลาดของอีเอฟเอ็มคือ หาวิธีสร้างมูลค่าจากความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของชุมชน ท้องถิ่น ให้อยู่ในรูปเงินอย่างสม่ำเสมอเพื่อชดเชยรายได้ เช่น

รับเงินค่าตอบแทนการอนุรักษ์ป่าจากโครงการของรัฐบาลกลาง แบ่งขายที่ดินบางส่วนให้กับหน่วยงานรัฐที่สนใจจะซื้อไปทำอุทยานหรืออนุรักษ์ เองเป็นพื้นที่ป่าสาธารณะ ขายคาร์บอนเครดิตในตลาด (เพราะต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการสำคัญของภาวะโลกร้อน) และได้รับเครดิตภาษีจากกองทุนสถาบันการเงินพัฒนาชุมชนของรัฐบาลกลาง

“รายได้เสริม” จากกลไกรัฐและนวัตกรรมต่างๆ ที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์ป่า ทำให้อีเอฟเอ็มสามารถนำส่งผลตอบแทนที่สูงกว่าโมเดลกระแสหลักให้กับนักลงทุน มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจปีต่อปี และพอโค่นไม้ไปขายก็ขายได้ในราคาดี เพราะไม้ของอีเอฟเอ็มได้เติบโตจนมีคุณภาพดีกว่าของบริษัทป่าไม้กระแสหลัก

อี

กกรณีหนึ่งที่แสดงวิธีคิดและวิธีทำของอีโคทรัสต์ คือการทำงานร่วมกับชาวอินเดียนแดงเผ่าซึเลล-วาทุธ สมาชิก 400 คน อาศัยอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษทางตอนเหนือของแวนคูเวอร์ซึ่งเคยมี ขนาดกว่า 1.14 ล้านไร่ เผ่าซึเลล-วาทุธต้องการพัฒนาท้องถิ่นและพิทักษ์ป่าจากผู้บุกรุกได้ดีกว่า เดิม แต่ไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมของอีโคทรัสต์ลงไปทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน เริ่มจากการใช้เทคโนโลยีข้อมูลภูมิศาสตร์ (จีไอเอส) ทำแผนที่บริเวณนั้น เสร็จแล้วก็วางแผนการใช้ที่ดินร่วมกับชาวบ้าน ช่วยผู้นำชุมชนเจรจากับรัฐบาลท้องถิ่นจนตกลงให้เผ่าซึเลล-วาทุธ มีอำนาจบริหารจัดการอุทยานระดับภูมิภาคร่วมกับรัฐ

ไม่นานหลังจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของอีโคทรัสต์ช่วยเผ่าซึเลล-วาทุธ เจรจาซื้อป่าขนาด 1,920 ไร่จากรัฐจนสำเร็จ มาทำเป็นป่าเศรษฐกิจของชุมชนเพื่อสร้างรายได้ สุดท้าย อีโคทรัสต์ช่วยให้เผ่านี้ได้รับตรารับรองจากสภาพิทักษ์ป่า (Forest Stewardship Council) องค์กรอิสระระดับโลก เป็นเครื่องยืนยันว่าชนพื้นเมืองเผ่านี้ทำธุรกิจป่าไม้อย่างยั่งยืนจริง

อีโคทรัสต์มีโครงการร่วมมือลักษณะเดียวกันนี้กับชนพื้นเมืองอีก 25 เผ่าตลอดชายฝั่งรัฐบริติช โคลัมเบียในแคนาดา โครงการเหล่านี้หักล้างอคติหัวโบราณของคนจำนวนมากที่ว่า ชนพื้นเมืองที่ยังมีวัฒนธรรมเข้าป่าล่าสัตว์และแต่งกายแบบบรรพบุรุษนั้น “โง่” เกินกว่าจะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และทำธุรกิจสมัยใหม่ได้

เมื่อผู้ฟังงานสัมมนาแห่งหนึ่งยกมือขึ้นถามสเปนเซอร์ บีบี ว่าเขาชนะใจชนพื้นเมืองจนตกลงทำงานด้วยได้อย่างไร บีบีตอบว่า “คุณแค่ต้องฟังพวกเขาครับ ปกติผมจะไปตกปลาด้วย คนเหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่มานานนับหมื่นปี คุณแค่ต้องเคารพในภูมิปัญญาของพวกเขาและหาทางทำงานกับภูมิปัญญานั้น”

ในช่วงเวลาไม่ถึงสองทศวรรษ อีโคทรัสต์กำลังพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า โมเดลการพัฒนาที่เชื่อมเป้าหมายสองประการที่ดูจะขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง คือการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น ไม่เพียงแต่เป็นไปได้เท่านั้น แต่ยังเป็นทางออกที่ยั่งยืนและคุ้มค่าในระยะยาวกว่าวิถีการพัฒนาที่ผ่านมา

ขอเพียงแต่เราตามให้ทันนวัตกรรมและกลไกใหม่ๆ ในภาครัฐ การเงิน และเทคโนโลยี เข้าใจระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างลึกซึ้ง หาวิธีสร้างแนวร่วม และเหนือสิ่งอื่นใด เคารพในสิทธิและภูมิปัญญาของชาวบ้านผู้เคารพธรรมชาติมากกว่าคนเมือง หาทางปลดปล่อยศักยภาพในตัวพวกเขาเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้อย่างมี ประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

Credit : http://www.nidambe11.net/