ถาม-ตอบสิ่งแวดล้อมโลก  โดยโนเบลเศรษฐศาสตร์
โดย เกษียร เตชะพีระ มติชนรายวัน วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11556

 

384.78 ppm (part per million หรือส่วนในล้านส่วน)…
นี่คือตัวเลขก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกเมื่อเดือนที่แล้วซึ่งสูงขึ้นตามลำดับเทียบกับของสองปีก่อน

วางทาบลงบนภาพกราฟแสดงแนวโน้มของมันในรอบกึ่งศตวรรษที่ผ่านมานับแต่เริ่มตรวจวัดด้วยเครื่องที่มีความแม่นยำสูง (อ้างจากเว็บไซต์ www.co2now.org/ ซึ่งอิงไฟล์ข้อมูลของหน่วยงานมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของรัฐบาล อเมริกัน – National Oceanic and Atmospheric Administration – ที่ตรวจวัด จากศูนย์สังเกตการณ์ Mauna Loa ในมลรัฐฮาวาย)

ในฐานะก๊าซเรือนกระจกหลักที่ก่อภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แนวโน้มการสะสมตัวของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกนับวันเข้มข้นและ เร่งเร็วขึ้น จนทะลุเลยเส้นอันตรายที่ 350 ppm ซึ่งอาจทำให้โลกเสียหายชนิดไม่สามารถแก้ไขกู้คืนให้กลับดีดังเดิมได้ มาตั้งแต่ต้นปี ค.ศ.1988 โน่นแล้ว!

การยึดถือเส้นอันตรายนี้เป็นเกณฑ์มาตรฐานใหม่แทนเส้นเก่าที่ 450 ppm (ตามรายงาน IPCC ปี ค.ศ.2007) ได้การสนับสนุนเต็มที่จาก ราเชนทรา ปาเชารี ประธานองค์คณะระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC), อีกทั้งรัฐบาลของประเทศยากจน 80 ประเทศที่ล่อแหลมต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่สุดในโลกยังประกาศใช้มันเป็นเป้าหมายในการผลักดันให้ลดการปล่อยคาร์บอน ไดออกไซด์ลงไปใต้เส้นนั้นให้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในสิ้นคริสต์ศตวรรษนี้

น่าสนใจที่ศาสตราจารย์เอลินอร์ ออสทรอม นักรัฐศาสตร์หญิงแห่งมหาวิทยาลัยอินเดียนา ผู้ร่วมรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ได้เคยตอบคำถาม 12 ข้อเกี่ยวกับปัญหาเร่งด่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมโลกไว้เมื่อ 3 ปีก่อนในนิตยสาร GAIA (กายา) ของเยอรมนีที่เสนอมุมมองทางนิเวศวิทยาในเรื่องวิทยาศาสตร์ และสังคม ปีที่ 15 ฉบับที่ 4 ประจำเดือนธันวาคม ค.ศ.2006 ว่าด้วยการจัดการอวิชชา หน้า 246-47 ซึ่งผมขอนำมาถ่ายทอดต่อดังนี้ : –

1) ในทรรศนะของคุณ อะไรคือปัญหาเร่งด่วนที่สุดเรื่องสิ่งแวดล้อม?

ตอบ : ธารน้ำแข็งละลาย, ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น, พายุแรงจัด, และผลกระทบอย่างอื่นของภาวะโลกร้อนล้วนร้ายแรงและต้องจัดเป็นปัญหาหลักทาง ด้านสิ่งแวดล้อมในยุคของเรา อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ด้วย

นอก จากนี้ เราควรต้องตระหนักด้วยว่าการสนองตอบเชิงนโยบายที่คิดง่ายเกินไปต่อความหลาก หลายของปัญหาที่เราเผชิญอยู่มักทำให้เรื่องแย่ลงแทนที่จะดีขึ้น การหวังพึ่งมาตรการแก้ไขแบบแก้วสารพัดนึกโดยตัวมันเองก็เป็นปัญหาหลักด้าน สิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง! ไม่มียาสารพัดนึกขนานใดดีพอจะแก้ไขนานาปัญหาอันซับซ้อน หลายชั้นและส่งผลกระทบต่อกันกลับไปกลับมาซึ่งประกอบกันเป็นสิ่งแวดล้อมของ มนุษย์เราได้

2) เวลามองดูศักยภาพในการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมของเราให้ดีขึ้นนั้น มีอะไรบ้างที่ให้ความหวังคุณ?

ตอบ : สัญญาณบวกอย่างหนึ่งก็คือคนจำนวนมากกำลังเอาจริงว่าต้องหาแหล่งพลังงานทาง เลือกให้ได้แล้ว ตอนนี้การลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังลมในระยะหลังๆ ก็ช่วยปลุกใจมาก

3) มีการปฏิรูปนโยบายสิ่งแวดล้อมที่เฉพาะเจาะจงอันไหนไหมที่คุณชื่นชมที่สุด?

ตอบ : ความพยายามเมื่อเร็วๆ นี้ของหน่วยงานปกครองทางตอนใต้ของมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่ออกเงินอุดหนุนค่าใช้ จ่ายให้ชาวบ้านปรับปรุงติดตั้งอุปกรณ์ในบ้านและสวนส่วนตัวเพิ่มเติมเพื่อลด การใช้น้ำและพลังงานนับว่าน่าปลื้มใจ การหาทางลดการบริโภคน้ำและพลังงานลงอย่างสมเหตุสมผลมันเข้าท่ากว่าจะมัวแต่ รวมศูนย์ทุ่มทุนมหาศาลเพื่อผลิตน้ำและพลังงานกันต่อไปถ่ายเดียว

4) แนวโน้มด้านนโยบายและการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมอันใดที่คุณถือว่าหลงทิศผิดทาง?

ตอบ : การที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา (สมัยรัฐบาลประธานาธิบดีบุชผู้ลูก – ผู้เขียน) ปฏิเสธว่าภูมิอากาศโลกกำลังเปลี่ยนแปลงและไม่ยอมเข้าร่วมการเจรจาหาทางลดการ ปล่อยก๊าซคาร์บอนในโลก

5) ลองจินตนาการว่าคุณได้เป็นรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมโลกอยู่หนึ่งวัน คุณจะทำอะไร?

ตอบ : ไม่มีวันที่ดิฉันจะยอมรับงานในฐานะนั้นแค่หนึ่งวันหรอกค่ะ ไม่มีอะไรที่ใครในตำแหน่งนั้นจะทำได้ ในชั่ววันเดียวเพื่ออุทิศคุณูปการแก่การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมโลกให้ดีขึ้น

6) ทำไมคุณถึงวิจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม?

ตอบ : การวิจัยและสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมจำเป็นยิ่งในสภาพที่ตอนนี้การทำให้เป็น เมืองเป็นกระแสครอบงำไปทั่ว เมื่อเด็กจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เติบโตขึ้นในเมือง การตระหนักว่าเราต้องพึ่งพาโลกเพื่อสนองชีวปัจจัยที่จำเป็นก็ไม่ใช่อะไรที่ เรียนรู้ได้แต่วัยเยาว์จากชีวิตประจำวันอีกแล้ว

สิ่งที่ท้าทายจริงๆ ก็คือจะกระตุ้นส่งเสริมงานแบบสหวิทยาการอย่างไร เราปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นได้ไม่มากหรอก ถ้าไม่ตระหนักถึงความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในระยะยาวระหว่างมนุษย์กับ วัฒนธรรมต่างๆ รวมทั้งสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจของเขา และผลกระทบของทั้งหลายทั้งปวงนี้ต่อระบบนิเวศวิทยาว่าเป็นเช่นใด

7) การวิจัยแขนงใดในศาสตร์เรื่องสิ่งแวดล้อมนอกเหนือจากที่คุณกำลังทำอยู่ที่คุณเห็นว่าน่าตื่นเต้นที่สุด?

ตอบ : ในความเห็นของดิฉัน พันธมิตรคืนสภาพ (The Resilience Alliance เป็นเครือข่ายสถาบันวิจัยซึ่งมีเว็บไซต์อยู่ที่ www.resalliance.org/1.php – ผู้เขียน) กำลังผลิตงานวิจัยร่วมสมัยที่น่าตื่นเต้นที่สุดบางชิ้นออกมา โดยรวบรวมศูนย์การศึกษาวิจัยต่างๆ ทั่วโลกมาช่วยกันศึกษาเรื่องสมรรถนะในการคืนสภาพของระบบนิเวศวิทยาจากการ รบกวนที่ธรรมชาติและมนุษย์ก่อขึ้น

8) คุณพอจะเอ่ยชื่อบุคคลหรือเหตุการณ์ใดบ้างไหมที่ส่งอิทธิพลเฉพาะเจาะจงต่อคุณให้เกิดผูกพันยึดมั่นต่อประเด็นสิ่งแวดล้อม?

ตอบ : ก่อนดิฉันจะได้อ่านงานของโรเบิร์ต เน็ตติ้ง (ค.ศ.1934-1995, ศาสตราจารย์มานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอริโซนา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนิเวศวิทยาทางวัฒนธรรม – ผู้เขียน) เมื่อต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ดิฉันไม่ระแคะระคายเลยว่าการจัดสรรที่ดินให้คนใช้ในรูปทรัพย์สินสาธารณะมัน จะมีประสิทธิภาพไปได้ ดิฉันเข้าใจอยู่ว่าน้ำกับปลาดำรงอยู่ในรูปทรัพยากรส่วนกลาง (common-pool resources) และต้องมีระบบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินหลายๆ แบบมารองรับ แต่ดิฉันคิดว่าที่ดินเป็นสินค้าเอกชนและต้องใช้กรรมสิทธิ์เอกชนถึงจะจัดสรร อย่างมีประสิทธิภาพได้

ข้อวิเคราะห์ของเน็ตติ้งช่วยเขย่าความคิดจิตใจของดิฉัน เขาถามว่าทำไมชาวไร่แถบเทือกเขาแอลป์ใช้กรรมสิทธิ์เอกชนมาจัดการไร่ในหุบเขา ของพวกตน ทว่าชาวไร่กลุ่มเดียวกันกลับใช้ทรัพย์สินสาธารณะรูปแบบต่างๆ มาจัดการทุ่งหญ้าเทือกเขาแอลป์ การวิเคราะห์ของเขาแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินสาธารณะรูปแบบต่างๆ มีประสิทธิผลกว่ากรรมสิทธิ์เอกชนเมื่อที่ดินมีผลิตภาพต่ำ, ปริมาณน้ำฝนและสารอาหารอย่างอื่นกระจายตัวไม่ทั่วถึงทั้งในแง่พื้นที่และ ช่วงเวลา, และการประหยัดจากขนาดการผลิตมีมากพอควรในการก่อสร้างโครงสร้าง พื้นฐาน หลักฐานเชิงลึกของเขาหนักแน่นและข้อถกเถียงทางทฤษฎีก็ช่วยเปิดหูเปิดตาของ ดิฉันมหาศาล มันทำให้ดิฉันหูตาสว่างไสวขึ้นมาเลยทีเดียว!

9) คุณอธิบายให้เด็กฟังว่าอย่างไรเรื่องที่ทำไมคุณถึงกำลังทำสิ่งที่คุณทำอยู่?

ตอบ : ดิฉันชี้ให้เห็นว่ารู้สึกห่วงว่าพวกเขาอาจไม่มีน้ำดื่มในอีก 20 ปีข้างหน้า ด้วยการพยายามแก้ไขปัญหาน้ำและทรัพยากรอื่นที่เกี่ยวข้อง เราอาจช่วยให้พวกเขาและลูกหลานมีน้ำดื่มได้

10) ความรู้ใดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่คุณอยากจะถ่ายทอดต่อให้คนหนุ่มสาว?

ตอบ : คนหนุ่มสาวต้องเรียนรู้เรื่องความหลากหลายของระบบนิเวศวิทยา และ ความหลากหลายของการจัดระเบียบสถาบันที่มนุษย์ได้ประดิดประดอยขึ้นเพื่อรับ มือสภาพการณ์และปัญหาที่แตกต่างกันออกไปอย่างมีประสิทธิผล มนุษย์ได้ใช้กฎเกณฑ์ชุดใหญ่ที่ผสมผสานกันในสูตรต่างๆ เพื่อพยายามให้มันสอดรับกับลักษณะเฉพาะของระบบทรัพยากรหนึ่งๆ กฎเกณฑ์ว่าใครสามารถเข้าถึง, เก็บเกี่ยว, จัดการ, กีดกันคนอื่น, และจำหน่าย แง่มุมด้านต่างๆ ของระบบทรัพยากรนั้นเสมือนก้อนอิฐที่มาก่อร่างสร้างขึ้นเป็นสถานการณ์แห่ง การใช้และปกป้องทรัพยากรแบบต่างๆ เมื่อระบบล้มเหลว เราต้องใช้ทฤษฎีการวินิจฉัยที่มีเหตุผลเชิงประจักษ์รองรับได้มาวิเคราะห์มูล เหตุแห่งความล้มเหลว และหาว่าต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์ข้อใดบ้าง (และเปลี่ยนอย่างไร) เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนกว่าเดิมขึ้นมา

11) ตอนนี้คุณกำลังอ่านอะไรอยู่?

ตอบ : ดิฉันกำลังอ่านหนังสือเรื่อง อันดับลิงกับนักปรัชญา : ศีลธรรมวิวัฒน์มาอย่างไร (Primates and Philosophers : How Morality Evolved) ของฟรานส์ เดอ วาล อย่างเพลิดเพลิน (Frans de Waal นักวิชาการชาวดัตช์และศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมอันดับลิงแห่งคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยอีโมรี เมืองแอตแลนตา มลรัฐ จอร์เจีย สหรัฐอเมริกา – ผู้เขียน) เนื่องจากดิฉันได้ศึกษาการปฏิบัติแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกันและความเป็นธรรมใน หมู่มนุษย์ทั้งในห้องทดลองและภาคสนาม มันจึงน่าอัศจรรย์ที่ได้อ่านเขาอภิปรายถึงกระบวนการทำนองเดียวกันเหล่านี้ใน ฝูงลิงชิมแปนซีและคาปูชิน

12) นอกจากที่เราถามมาแล้ว มีคำถามใดไหมที่คุณคิดว่าสำคัญที่สุด?

ตอบ : พวกเราแต่ละคนจะทำอะไรได้บ้างทุกๆ วันเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมของเราให้ดีขึ้น? ถ้าเราคิดว่า คำตอบเดียวสำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่รัฐบาลรับทำให้แล้ว เราก็จะเผชิญกับโศกนาฏกรรมจริงๆ

 

Credit : http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2009q4/2009october30p6.htm