นักธุรกิจจิตอาสา

คอลัมน์ การบริหารงาน และการจัดการองค์กร โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ สถาบันการบริหารและ จิตวิทยา Michita@ThaiBoss.com  ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4097

แม้ว่าช่วงเวลานี้ประเทศไทยจะดูเร่าร้อน น่าตื่นเต้นสำหรับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ นักท่องเที่ยว หรือแม้แต่คนไทยในประเทศด้วยกันเอง ผู้เขียนพบว่ากลุ่มคนใจดีที่ชอบช่วยเหลือสังคม ชอบทำความดีรูปแบบต่างๆ มิได้หยุดคิดหยุดทำความดีเหล่านั้นเลย หากแต่บางคนกลับรู้สึกว่าช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะกับการทำงานเพื่อ สังคมมากขึ้น มีเวลาไปทำบุญปฏิบัติธรรมมากขึ้น เขาและเธอเหล่านั้นเห็นโอกาส “ดีๆ” บนวิกฤตที่ลวงตาเหล่านี้

คนหนึ่งซึ่งช่วยสงเคราะห์เด็กในโรงเรียนจำนวน 29 โรงมานานกว่า 30 ปี และจะเพิ่มจำนวนปีละ 1 โรง คือ คุณวิชัย วิทยฐานกรณ์ เจ้าของบริษัทฟีราพลัส The Boss รุ่น 4 คุณวิชัยทำโครงการเริ่มตั้งแต่มอบถังขยะแยกประเภทและสื่อการเรียนการสอนให้ เด็กเล็กในโรงเรียน โดยพนักงานในบริษัทเป็นผู้ทำ จนกระทั่งในปัจจุบันมีโครงการพูดได้ 3 ภาษา ไทย-อังกฤษ-จีน แก่เยาวชน เพื่อพัฒนาระดับความสามารถและทักษะทางด้านภาษา และโครงการสนับสนุนทางการเกษตรเพื่อการยังชีพ เป็นต้น ช่วงเวลานี้คุณวิชัยเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งมีไฟทำโครงการเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้

อีกกรณีที่เป็นนักธุรกิจที่ทำงานให้กับสังคมทั้งระบบเชิงลึกถึงจิตใจมา เป็นระยะเวลานาน คือ คุณอดิศร พวงชมภู เจ้าของบริษัท สยามแฮนด์ส จำกัด ผู้ผลิตเสื้อตราแตงโม The Boss รุ่น 2 เรียนจากสถาบันมาเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เท่าที่เห็นคุณอดิศรไม่ได้ใช้เงินเป็นตัวตั้งในการทำงานเพื่อสังคม เธอกลับคิดและมองประเด็นของพื้นที่สังคมนั้นอย่างลึกซึ้ง วิเคราะห์กันถึงรากของปัญหา และหาวิธีการที่คนในพื้นที่นั้นได้มีส่วนร่วม หรือเป็นแกนนำในการแก้ปัญหานั้นๆ อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

ท่ามกลางหลายสิบเรื่องที่คุณอดิศรทำ มีเรื่องที่ผู้เขียนจำได้ เช่น เรื่องทำเสื้อเพื่อพ่อ คุณอดิศรและคุณอมรา พวงชมภู ผู้ซึ่งเป็นห่วงกับปัญหาชายแดนภาคใต้ที่รุนแรงมากเมื่อ 2-3 ปีก่อน ลงไปในเขตหมู่บ้านบอเกาะ ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ซึ่งถือว่าเป็นเขตอันตราย ลงไปแรกๆ ต้องไปด้วยเฮลิคอปเตอร์ มีทหารช่วยคุ้มกันรอบ สองท่านไปชวนคนในหมู่บ้านเย็บเสื้อเหลืองถวายในหลวง คนในพื้นที่ซึ่งกำลังหวาดกลัวกับสถานการณ์รอบข้าง ได้เบนความสนใจมาทำรายได้ให้กับครอบครัวแทน สร้างความรู้สึกร่วมกันระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธถึงความเป็นชาติเดียวกัน รักในหลวงเหมือนกัน การรวมกันเป็นกลุ่มก้อนของชุมชนกลับมาอีกครั้ง ได้ทั้งเงินได้ทั้งการรวมจิตใจ แน่นอนว่ากระบวนการที่จะสร้างเรื่องนี้ให้เป็นจริงมิใช่เรื่องง่าย แต่ละขั้นตอนเสี่ยงภัยและมีอุปสรรค แต่ด้วยความเป็นห่วงและความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน คุณอดิศรและคุณอมราก็สามารถช่วยให้ชาวบ้านทำเสื้อจนมีรายได้เป็นอาชีพเสริม ประจำสำหรับครอบครัว นอกจากนั้นบริษัทแตงโมยังนำรายได้จากการดำเนินงานทูลเกล้าฯถวายในหลวงเป็น จำนวนเงิน 60 ล้านบาท

ท่านผู้อ่านเห็นกรณีศึกษาเหล่านี้อาจรู้สึกท้อ เราจะไปทำเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร ชีวิตก็วุ่นวายกับการงานทุกวันอยู่แล้ว ไหนจะพิษวิกฤตเศรษฐกิจอีก น่าเห็นใจค่ะ เพื่อนๆ นักธุรกิจที่ทำเรื่องต่างๆ เหล่านี้ก็อยู่ในวิกฤตเดียวกับเรา เพียงแต่เขาอาจจะพลิกวิธีคิดนิดหน่อย เช่น บริษัทเอเชียพรีซิชั่น ซึ่งทำงานเพื่อสังคมกันทั้งบริษัท พนักงานในบริษัทเป็นผู้ริเริ่มโครงการกองทุนพัฒนาบ้านเกิดของพนักงาน โครงการ Asia อาสา และการลด ละ เลิกอบายมุข 3 อย่าง คือ เหล้า บุหรี่ และหวย เพื่อเก็บเงินมาทำงานอาสาสมัคร เมื่อ 2 เดือนที่แล้วมีโอกาสได้พบกัน บอกว่าจะไปทำงานอาสาสมัครกันมากขึ้น เพราะช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี ไม่ค่อยมีงานทำ คนงานว่างและไม่ไล่คนออก ทำงานอาสาเพราะอาศัยแรงได้ ไม่ต้องใช้เงินมากมายอะไร ผู้เขียนได้ฟังแค่นี้ก็พอจะคาดได้เลยว่าพนักงานจะรู้สึกดีอย่างไรกับบริษัท นี้ ยามวิกฤตไม่คิดทำร้ายกันแต่กลับชวนไปทำดีอีกต่างหาก

นักธุรกิจหลายกลุ่มก็เริ่มจากเรื่องง่ายๆ ก่อนเวลาไม่มี ให้เงินเลย เมื่อเชื่อในการทำงานขององค์กรสาธารณกุศลใดแล้ว ก็เพียงแค่ให้การสนับสนุนให้ทุนการศึกษาเลย เช่น ถ้าใครสนใจช่วยเหลือคนพิการ ผู้เขียนเคยไปที่มูลนิธิคุณพ่อเรย์ www.fr-ray.org โทร.038-716-628 มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน CCF www.ccfthai.or.th โทร.0-2747-2600 ฯลฯ หาข้อมูลเพิ่มได้ที่ www.konjaidee.com, www.volunteerspirit.org

ผู้เขียนเคยไปอบรมให้กับผู้บริหารมูลนิธิคุณพ่อเรย์ รู้สึกน่าสนใจมาก มีตั้งแต่บ้านช่วยเหลือเด็ก จนกระทั่งส่งเสริมคนพิการให้มีอาชีพถาวร ทำคอมพิวเตอร์ โรงเรียนสอนคนตาบอด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นักกีฬาเฟสปิกเกมที่โด่งดังก็มาจากที่นี่หลายคน ที่ผู้เขียนประทับใจมากอีกอย่างคือ เขาส่งเสริมกันจนผู้พิการเหล่านี้ทำงานระดับบริหารองค์กร วิธีคิดวิธีทำงานไม่แพ้คนมีอวัยวะครบ อันที่จริงหลายคนมีความพิเศษกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ ผู้เขียนพบว่าผู้บริหารที่นี่ซึ่งรวมทั้งคนที่พิการมีจิตใจดี เห็นความเป็นมนุษย์ของคนอื่นได้อย่างดี ทำให้สไตล์การบริหารอ่อนโยนได้อย่างอัตโนมัติ น่าชื่นชม เราบางคนที่มีอวัยวะครบเสียอีกที่อาจต้องไปเรียนรู้กับเขาเหล่านั้น

กลุ่มคนที่ทำงานต่อเนื่อง เช่น โรตารี่ ไลอ้อน ฯลฯ ดูเผินๆ เหมือนมาพบปะกัน รู้จักกันตามงานเลี้ยงต่างๆ แต่ความต่อเนื่องของกิจกรรมทำให้โครงการช่วยเหลือสังคมของกลุ่มเหล่านี้เป็น รูปธรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเองก็ได้ซึมซับเรื่องราวเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของ เพื่อนๆ ผู้ขาดโอกาส โครงการต่างๆ แม้ไม่ซับซ้อนเหมือนการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน แต่ก็ทำต่อเนื่องยาวนาน ก็เป็นประโยชน์กับสังคมได้ไม่น้อยทีเดียว เช่น โครงการวัคซีนโปลิโอของโรตารี่ ทำกันปีละนิดปีละหน่อย แต่ทำด้วยกันทั้งโลก กลายเป็นการร่วมกันกำจัดโรคนี้ออกไปจากโลกได้ จะมากน้อยตามแต่เรามีโอกาสมีกำลัง ขอเพียง “ทำ” ไปเรื่อยๆ

การเรียนรู้พัฒนาการให้การช่วยเหลือสังคมเกิดขึ้นได้เมื่อเราใส่ใจ “ผู้รับ” มากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นเมื่อเดือนก่อนของสมาคมเดอะบอสส์ หรือสมาคมศิษย์เก่าที่เรียนคอร์สเดอะบอสส์ไป 2-3 ปีที่ผ่านมา มีโครงการปลูกจิตสำนึกรักป่าถวายในหลวง และโครงการต่างๆ อีกมากมาย ที่ผู้เขียนเห็นการเปลี่ยนแปลงคือโครงการ “แบ่งฝันปันน้ำใจให้น้อง อิ่มท้อง อิ่มเรียน” ซึ่งคือการซื้อของเล่นไปให้เด็กอ่อนที่บ้านสงเคราะห์ต่างๆ ปีแรกๆ ทางสมาคมก็ระดมทุนจากสมาชิกไปซื้อของเล่นให้เด็กอ่อน ปีล่าสุดทราบแล้วว่าทางศูนย์ไม่ต้องการของเล่นแล้ว สิ่งที่ต้องการมากกว่าคือ ผ้าอ้อมและนม การให้จึงเปลี่ยนรูปไป ช่วยเขาให้ถูกกับความต้องการ

เดี๋ยวนี้เราจะเห็นนักธุรกิจทั้งหลายชวนกันไปปลูกป่ามากขึ้น ทำงานอาสาสมัครสร้างบ้านดินกันมากขึ้น เป็นเรื่องน่าชื่นชมทั้งนั้น คำถามสำหรับเฟสต่อไปคือ “อะไรคือสิ่งที่ชุมชนหรือสังคมนั้นต้องการจริงๆ” การสำรวจความต้องการของพื้นที่นั้นๆ ให้ลึกซึ้ง หมายถึงว่าไม่ใช่ขออะไรก็หาไปให้อย่างนั้นอย่างเดียว บางเรื่องถ้าเราช่วยกันคิดหาสาเหตุที่แท้ เช่น เป็นหนี้กันทั้งหมู่บ้านกับสินค้าที่ไม่จำเป็น เราอาจจะเปลี่ยนวิธีการที่จะหาของไปให้ เป็นการไปเรียนรู้การใช้จ่ายเก็บออมที่ถูกวิธีก็ได้ ซึ่งการจะวินิจฉัยการวิเคราะห์ได้นั้น จิตใจที่น้อมรับฟัง พร้อมเรียนรู้ไปกับเพื่อนๆ ในชุมชนนั้นสำคัญมาก ความรู้ที่เราไม่รู้ เช่น การพัฒนาชุมชนก็ดี การจัดการสิ่งแวดล้อมก็ดี เราก็สามารถน้อมเรียนรู้ไปกับเพื่อนองค์กรสาธารณประโยชน์หรือองค์กรภาคสังคม (NGO) ที่เขามีประสบการณ์ได้ ไม่ใช่ไปอย่างผู้มีเงินซึ่งเหนือกว่าคนทั้งหลาย ถึงตอนนั้นเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักสำหรับการ “ทำดี” แล้ว ความคิดและจิตใจของเราต่างหากที่จะก่อให้เกิด “นักธุรกิจจิตอาสา” ตัวจริง ลองทำกันดูนะคะ ได้ผลอย่างไรมาเล่าให้ผู้เขียนบ้าง

 

ที่มา : http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2009q2/2009april16p7.htm