เปลี่ยนประเทศไทยด้วยมือเราเอง

   วงประชุมเล็กๆเริ่มขึ้นของแกนประสานใน เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง  ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมและทิศทางของเครือข่าย “รัฐบาลไหนๆก็คิดอยู่เรื่องเดียวจริงๆ ว่าปัญหาประเทศคือวิกฤตเศรษฐกิจ และการเมืองแต่พวกเราที่เป็นเกษตรกร ชาวประมง ไม่ได้รู้สึกกระทบอะไรเท่าไหร่เลย” มีบางคนเงียบ “ทำอย่างไรได้เมื่อนักการเมืองกับนักธุรกิจเป็นคนกลุ่มเดียวกัน แล้วปัญหาพี่น้องในชนบทอย่างเราละ ไม่เคยได้รับการหยิบยกขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเลย หรือพวกเราไม่ใช้เป็นพลเมืองของประเทศนี้ก็ไม่รู้นะ” หรือว่าการปฏิรูปการเมืองต้องเกิดขึ้นจากคนในชนบทเสียแล้ว อาจเปลี่ยนทฤษฏีใหม่ให้สังคมโลกได้รับรู้ ว่าจากแรงงานเป็นคนในชนบทที่เปลี่ยนประเทศไทย  การเมืองใหม่คืออะไรกันแน่ เราหาคำตอบร่วมกัน ทุกคำตอบถูกหากทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงของคนแม้แต่แค่คนเดียว หรือชุมชนเดียว

จากสถานการณ์น้ำท่วมจนเกิดผลกระทบพื้นที่อำเภอเชียงแสน เชียงของและเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ในช่วงวันที่ 9- 15 สิงหาคม 2551    ได้ก่อความเสียหายต่อพื้นที่ การเกษตรและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านอย่างหนัก พบความเสียหายทางเศรษฐกิจประเมินค่าได้อย่างน้อย 85 ล้านบาท จากจำนวนหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหาย  38 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.เชียงแสน 6  หมู่บ้าน อ.เชียงของ  26 หมู่บ้าน และอำเภอเวียงแก่น  6 หมู่บ้าน

   สาเหตุหลักของวิกฤติน้ำท่วมในครั้งนี้ เกิดจากการเปิด-ปิดเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน ในยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งสร้างเขื่อนจำนวน 3 เขื่อน คือ 1)เขื่อนมันวาล เปิดใช้ในปี พ.ศ. 2539 ผลิตไฟฟ้า1,500 เมกกะวัตต์ ขนาดบรรจุน้ำหน้าเขื่อน 920 ล้านลูกบาศก์เมตร  2)เขื่อนต้าเชาชาน  เปิดใช้ในปี พ.ศ.2546 ขนาดบรรจุน้ำหน้าเขื่อน 890 ล้านลูกบาศก์เมตร  3) เขื่อนจินหง . ประกอบกับเกิดพายุฝนที่ตกหนักสุดในรอบศตวรรษในจีนยูนนาน ทำให้มีน้ำหน้าเขื่อนมากกว่าที่ตัวเขื่อนจะรับไหว จีนจึงต้องเร่งระบายน้ำในเขื่อน จนเกิดผลต่อประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อนในพื้นที่ราบใหญ่แห่งแรกซึ่งต่ำลงมาจาก จีน คือพื้นที่ลุ่มน้ำอิง-กก-ตอนปลายและชายฝั่งโขงในเขตเชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น ประกอบกับเกาะแก่งธรรมชาติซึ่งเป็นตัวชะลอน้ำในลำโขงตั้งแต่เหนือสามเหลี่ยม ทองคำเป็นต้นไปได้ถูกระเบิดทิ้งไปแล้วจากโครงการระเบิดเกาะแก่งเพื่อการเดิน เรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ ตามนโยบายการค้าเสรีของประเทศและกระแสโลก  ได้ผลักดันโครงการนี้อย่างหนักใน ปี พ.ศ. 2544 – 2547 สามารถระเบิดเกาะแก่งออกไปได้เกือบทั้งหมด ยกเว้นบริเวณคอนผีหลงในเขตพรมแดนไทย-ลาว เพราะชาวบ้านในท้องถิ่นเชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น ไม่เห็นด้วย ซึ่งเมื่อไม่มีเกาะแก่งทางเหนือแม่น้ำโขงในประเทศไทยขึ้นไป ทำให้น้ำไหลหลากท่วมอย่างรวดเร็ว

ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้บ้านปากอิงใต้ได้รับผลกระทบจากการพังทลายของ ตลิ่ง 2 จุด มีความยาวจุดละ 500 เมตร และลึกประมาณ 5 เมตร ทางชุมชนในเขตน้ำปากอิงตอนปลายและชายฝั่งโขง  จึงรวมตัวกัน เพื่อระดมทุนและแรงงานช่วยเหลือชุมชนบ้านปากอิงใต้ในการทำแนวกันตลิ่ง รวมถึงแลกเปลี่ยนสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชนและหาทางรับมือกับ ผลกระทบที่อาจจะตามมาในอนาคต

กิจกรรม รวมพลังปักหลัก เสริมดิน ป้องกันตลิ่งพังริมฝั่งโขง ณ บ้านปากอิงใต้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย  เป็นกิจกรรม ที่หารือร่วมกัน หลายคนมีความเห็นร่วมกันว่าต้องไปช่วยกัน  ปัญหาความขัดแย้งเรื่องสีเสื้อ  คนเหนือ คนใต้ ไม่ใช่ปัญหา เพราะปัญหาเกิดจากการเมือง คนในประเทศไม่ได้แตกแยกกัน  หากกิจกรรมนี้ร่วมมือกันแก้ปัญหาประเทศได้เราอาจใช้เป็นโมเดลเสนอให้รัฐบาล ใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการเมืองได้ หากใช้ความจริงใจต้องแก้ได้อย่างแน่นอน

เครือข่ายชุมชนศรัทธา ๓ จังหวัดชายแดนใต้ เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เครือข่ายจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย อุบล พเยาว์ อุตรดิต กรุงเทพฯและอื่นๆ  มากกว่า ๓๐๐ คน  บางเครือข่ายเดินทางมากกว่า ๓๐ ชั่วโมง  “ไม่มีปัญหาหรอกเรามากับใจ ใจถึงใจ ปัญหาที่เกิดขึ้นพี่น้องกันต้องช่วยกัน เหนื่อยหน่อยแต่สบายใจไม่มีสี” พี่น้องไทยพลัดถิ่นเสนอตอนสรุปงานประจำวัน

อาหารมื้อเที่ยง  ในวัดมีเต็นท์กางขึ้นสามสี่หลังเพื่อตั้งโต๊ะอาหาร  แม่ครัวที่อยู่ในศาลาเสียงโหวกเหวกกันเป็นระยะเพื่อเตรียมอาหารให้พร้อมก่อน ที่พี่น้องจะขึ้นมาจากริมฝั่งโขง หางกันประมาณ ๕๐๐ เมตร  เริ่มมีคนทยอยกันมาแต่ละคนเนื้อตัวมอมแมม  “ล้างไม้ล้างมือกินข้าวก่อน” พ่อใหญ่ตะโกนบอก บนโต๊ะมีถ้วยน้ำพริก แกงจืดแตงกวากับไก่  และถุงข้าวเหนียววางอยู่เรียงราย  “คนใต้จะกินเหนียวแล้ววันนี้”ใครคนหนึ่งตะโกนขึ้นมา  บรรยากาศครื้นเครง ทานไปคุยกันไปโขมงโฉงเฉง บรรยากาศเต็มไปด้วยความสุขของทุกคน  ชาวบ้านในพื้นที่เองก็ยิ้มแย้มแจ่มใสไปตามๆกัน บางคนกินแบบบุฟเฟ่ ก็หยิบข้าวเหนียวถุงหนึ่ง ช้อนคันหนึ่งเดินตักกับข้าวจากทุกโต๊ะเป็นที่สนุกเฮฮากัน  เวลาล่วงเลยพอสมควรหลายคนทานเสร็จแล้วเดินไปนั่งจับกลุ่มคุยกันเรื่องการ เมืองบ้าง  หรือแลกเปลี่ยนกัน ทำความรู้จักกัน ขอเบอร์โทรและที่อยู่กัน

“ขอแกนจังหวัดละสองคนร่วมหารือการทำงานกันหน่อย เอาใต้ต้นมะพร้าวแล้วกัน” เสียงพี่สมเกียรติ ตะโกนมาแต่ไกล  แล้วคนก็เริ่มล้อมวงกัน  เย็นนี้เราจะแบ่งคนกันใหม่นะ ขอให้คนเพิ่มในทีมตักทรายอีก ๑๐ คน เพื่อยกกระสอบทรายขึ้นรถ  หลายคนแย่งกันยกมือ “พอๆ เอา ๑๐ คนพอ”   ขออีก ๒๐ คนไปตัดไม้ไผ่  ทีมแบกกระสอบทรายทำเขื่อนละกันมีอยู่มาก “ทีมเกาะลันตาจองเองครับ”  แล้วเย็นนี้เราน่าจะเลิกกันกี่โมงดีละ “เรามาจากใต้สุดของประเทศเพื่อมาเหนือสุดของประเทศ  ขอให้ทำงานเต็มที่เลิกช้าหน่อยนะครับ” แลกเปลี่ยนกันพอสมควร พี่สมเกียรติสรุป “เลิกห้าโมงเย็นและทานข้าวหนึ่งทุมพร้อมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมขอให้ทุกจังหวัด เตรียมการแสดงด้วย อ๋อ ใครจะกลับที่พักไปอาบน้ำก่อนก็ได้ ให้ตกลงกันเอง แต่ต้องกลับมาทานข้าว” เครือข่ายไหนที่มีงบสนับสนุนค่าอาหารกองกลางให้ได้เลย หลายเครือข่ายที่เตรียมงบมาจากชุมชนก็นำเข้าสมทบค่าอาหารกองกลาง

   บรรยากาศงานทำเขื่อนครั้งนี้เป็นบรรยากาศที่แตกต่างจากความรู้สึกของคนใน สังคมที่เป็นนักคิดทั้งหลายว่าสังคมมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง บรรยากาศที่นี่ไม่มีความขัดแย้งให้เห็น  พวกเราค้นพบอะไรบางอย่างที่นี่ร่วมกัน คือการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  หากสังคมใดมีความขัดแย้งเกิดขึ้น แก้โดยใช้วิถีชุมชนในการแก้ปัญหาเพราะวิถีชุมชนคนจะช่วยกัน เช่นการลงแขกเกี่ยวข้าว  การสร้างสังคมสมานฉันต้องใช้ปัญหาของชุมชนเป็นตัวตั้ง  และหาคนมาช่วยกันแก้ คนอาจหมายถึงเพื่อนต่างชุมชน ต่างเครือข่าย ต่างวัฒนธรรม หรือมแม้กระทั่งรัฐบาลเองก็ตามหากใช้ใจ  จะแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่มีข้อกังขา

เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ค้นพบการเมืองใหม่ในชุมชนโดยการปฏิบัติจริง  การแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของชาวเลเกาะเหลาร่วมกันโดยชุมชนเป็นหลักทั้ง แรงเงิน แรงใจ แรงกาย แก้ปัญหาตลิ่งบ้านปากอิงใต้ ที่เชียงของ จ.เชียงใหม่ หรืออื่นๆอีกมากมาย ได้ทั้งคน ได้ทั้งใจ  รัฐบาลอาจจะเอาโมเดลนี้เป็นตัวอย่างได้ หากไม่มีใครช่วยพวกเราเรือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศยินดีจะร่วมมือในการแก้ ปัญหาร่วมกัน แต่รัฐต้องสนับสนุนไห้กระบวนองค์กรชุมชน เหล่านี้เดินได้อย่างมั่นคง  มิใช่มุ่งเน้นความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว แต่ลองเหลียวกลับมามองเรื่องความมั่นคงของความเป็นมนุษย์อย่างจริงจังเสีย ที  หากคนเหล่านี้อยู่ในชุมชนอย่างไม่มั่นคงประเทศนี้จะมั่นคงได้จริงหรือ

ไมตรี จงไกรจักร์

เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง