ดร.ไสว บุญมา กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า บิล เกตส์ ออกจากมหาวิทยาลัย เพื่อไปก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ก่อนเรียนจบปริญญาตรี แต่อาจไม่เป็นที่ทราบกันดีว่า เขาสนใจในด้านการศึกษาไม่ต่ำกว่าในด้านเทคโนโลยี งานเขียนของเขาจึงมักมีเรื่องราวของการศึกษาแทรกอยู่เสมอ โดยเฉพาะในหนังสือเรื่อง Business @ the Speed of Thought ซึ่งมีบทคัดย่อเป็นภาษาไทยอยู่ในหนังสือชื่อ “คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์” และเรื่อง The Road Ahead ซึ่งมีบทคัดย่ออยู่ในหนังสือที่กำลังอยู่ในระหว่างจัดพิมพ์ชื่อ “แนวคิดของนักธุรกิจนามกระเดื่อง” นอกจากนั้น ในการกล่าวคำปราศรัยและการให้สัมภาษณ์ เขามักจะมีข้อคิดเรื่องการศึกษาเสมอ คำปราศรัยที่มีเนื้อหาน่าสนใจยิ่งได้แก่เมื่อเขารับปริญญากิตติมศักดิ์จาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ซึ่งมีคำแปลอยู่ในเว็บไซต์ www.sawaiboonma.com

บิล เกตส์ มิได้พูดอย่างเดียว หากสนับสนุนการศึกษาอย่างจริงจังด้วย มูลนิธิของเขาซึ่งมีทรัพย์สินราวสามหมื่นล้านดอลลาร์และจะได้เงินจากวอร์เรน บัฟเฟตต์ มาเพิ่มขึ้นอีกสนับสนุนการศึกษาในอเมริกาครั้งละนับร้อยล้านดอลลาร์ เนื่องจากเขามองว่าการศึกษาของอเมริกากำลังป่วยหนัก และต้องเยียวยาไม่ต่ำกว่าโรคร้ายที่มูลนิธิของเขาสนับสนุนการค้นหายาเพื่อ รักษาอยู่ เช่น เอดส์ วัณโรคและมาลาเรียดื้อยา ผู้ที่ไม่ค่อยได้ติดตามความเป็นไปในด้านการศึกษาของอเมริกาอาจแปลกใจว่า เพราะอะไรบิล เกตส์ จึงมองว่าการศึกษาของอเมริกากำลังป่วยหนัก เนื่องจากใครๆ ก็ดูจะส่งลูกส่งหลานไปเรียนอเมริกากัน นั่นเป็นความจริงหากมองเฉพาะในด้านอุดมศึกษา เนื่องจากอเมริกามีมหาวิทยาลัยชั้นนำจำนวนมาก แต่หากมองที่การศึกษาพื้นฐาน หรือในระดับก่อนมหาวิทยาลัย จะพบว่าเขามีปัญหาหนักหนาสาหัส

อาจเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การจัดการศึกษาก่อนระดับมหาวิทยาลัยในอเมริกาเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ท้องถิ่น รัฐบาลกลางมีหน้าที่วางกรอบกว้างๆ และให้การสนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่นตามความจำเป็น ฉะนั้น คุณภาพจะแตกต่างกันอยู่บ้างระหว่างท้องถิ่นที่มีรายได้สูงกับท้องถิ่นที่มี รายได้ต่ำ อย่างไรก็ตาม เมื่อราวสองสามทศวรรษที่ผ่านมา คุณภาพของการศึกษาโดยทั่วไปตกต่ำ จนทำให้รัฐบาลกลางต้องเข้าไปแทรกแซง สภาพของความตกต่ำที่ทำให้ชาวอเมริกันตกใจ ได้แก่ คะแนนทดสอบวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของเด็กอายุ 13 ปีทั่วโลก เมื่อปี 2538 ซึ่งพบว่าเด็กอเมริกันได้ที่ 24 เด็กไทยได้ที่ 20 และเด็กสิงคโปร์ได้ที่ 1

ความตกใจครั้งนั้นกระตุ้นให้รัฐบาลในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ตรากฎหมายชื่อ No Child Left Behind ออกมา เพื่อพยายามยกมาตรฐานการศึกษาพื้นฐานของชาวอเมริกันทั่วประเทศ แต่ ณ วันนี้ เป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดว่า กฎหมายนั้นมีผลเพียงจำกัด เนื่องจากการศึกษาในบางท้องถิ่นยังอยู่ในขั้นวิกฤติรวมทั้งในกรุงวอชิงตัน อันเป็นเมืองหลวงของเขาด้วย ตัวอย่างของปัญหาที่น่าตกใจได้แก่เรื่องของเมืองดีทรอยต์ อันเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทำรถยนต์ของอเมริกาซึ่งนิตยสาร Fortune นำมาพิมพ์ในฉบับประจำวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ข้อมูลบ่งว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของเมืองนี้เพียง 3% เท่านั้นสอบผ่านข้อสอบมาตรฐานของชาติในวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนนักเรียนมัธยมปลายปีสุดท้ายสอบตกถึง 40% ยิ่งกว่านั้น นักเรียนมัธยมของโรงเรียนรัฐบาลในเมืองนั้นเพียง 2% และ 11% มีพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์และการอ่านภาษาอังกฤษตามลำดับเพียงพอสำหรับการ เรียนต่อไปในระดับอุดมศึกษา สภาพเช่นนี้ ทำให้บิล เกตส์ มองว่า ถ้าเอกชนเช่นเขาไม่ยื่นมือเข้าไปทำอะไรสักอย่าง วิกฤติจะยังคงอยู่ต่อไปส่งผลให้ประเทศชาติสูญทรัพยากรสำคัญที่สุด

บิล เกตส์ เริ่มสนับสนุนการศึกษาพื้นฐานอย่างจริงจัง ตั้งแต่เขาก่อตั้งมูลนิธิเมื่อสิบปีที่แล้ว เริ่มแรกเขาสนับสนุนให้แยกโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ออกเป็นหลายโรง เนื่องจากข้อมูลชี้บ่งว่าโรงเรียนขนาดเล็กสอนเด็กได้คุณภาพมากว่าโรงเรียน ขนาดใหญ่ แต่หลังจากการวิจัยต่อมาพบว่าข้อสรุปนั้นอาจไม่สะท้อนความเป็นจริงเสมอไป เขาหันไปสนับสนุนวิธีการซึ่งวางอยู่บนฐานของการวิจัยที่พบว่าคุณภาพของครู เป็นปัจจัยที่ทำให้ผลการเรียนของเด็กแตกต่างกัน ตอนนี้เขากำลังสนับสนุนโรงเรียนนำร่องหลายแห่งด้วยเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ ทั้งในรัฐฟลอริดา เทนเนสซี เพนซิลเวเนีย และแคลิฟอร์เนีย พร้อมๆ กับสนับสนุนการวิจัยในด้านการทำแบบทดสอบมาตรฐานให้สะท้อนทั้งการเรียนรู้และ ภูมิหลังของเด็กที่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนเช่นนี้ก็มีการต่อต้านจากบางกลุ่ม โดยเฉพาะสหภาพแรงงานครู ทั้งนี้ เพราะทุกปีจะต้องมีการปลดครูที่ถูกประเมินว่าขาดสมรรถภาพ

อันที่จริง บิล เกตส์ ไม่ใช่มหาเศรษฐีอเมริกันคนเดียว ที่สนับสนุนการศึกษาอย่างจริงจัง ยังมีอีกหลายคนที่ทำอยู่ แต่ไม่เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางเนื่องจากพวกเขาไม่ใช้วิธีรณรงค์ตรงๆ เช่นเดียวกับบิล เกตส์ ในขณะนี้ แนวคิดที่มหาเศรษฐีนิยมสนับสนุนกัน คือ การให้เอกชนรับเหมาไปทำโรงเรียนที่เรียกว่า Charter School วิธีนี้มีข้อได้เปรียบบางอย่างโดยเฉพาะความมีอิสระจากสหภาพแรงงานครู ซึ่งในบางท้องถิ่นเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงมาก เนื่องจากโรงเรียนไม่สามารถปลดครูที่ไม่มีสมรรถภาพได้

สำหรับในเมืองไทย ในขณะนี้ ยังไม่มีมหาเศรษฐีคนใดให้ความใส่ใจแก่ปัญหาการศึกษาพื้นฐานโดยให้การสนับ สนุนในแนวของบิล เกตส์ และเศรษฐีอเมริกัน อย่างไรก็ตาม เริ่มมีความเคลื่อนไหวที่จะทำให้การศึกษาพื้นฐานเป็นแบบบูรณาการโดยภาคประชา สังคมบ้างแล้ว ความเคลื่อนไหวที่น่าจะมีผลเป็นที่ประจักษ์ในเร็ววันนี้ยังไม่มีชื่อเป็นทาง การ หากรู้กันในหมู่ผู้ร่วมเคลื่อนไหวว่าโครงการ GREEEN School โดยที่ GREEEN ย่อมาจาก Global Revolution in Education, Economy, Environment and Energy การเคลื่อนไหวนี้เริ่มมีการทำกิจกรรมนำร่องที่จังหวัดหนองคายและนครราชสีมา หากผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ แนวคิดนี้จะขยายต่อไปถึงท้องถิ่นที่มีความพร้อมจะรับแนวคิดใหม่ๆ เพื่อทำให้การศึกษาของตนแข็งแกร่งขึ้น