โดย เปรมวดี เสรีรักษ์

บูรณาการแบบรุ่งอรุณ หลอมรวมทุกสิ่งสู่ “ชีวิต”…….
บทเรียนรู้ต่อเนื่องจากเรื่องรุ่งอรุณ ของครูแป๋ว..เปรมวดี เสรีรักษ์ อาสาสมัครครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือกรุ่นที่ ๑ ประจำโรงเรียนรุ่งอรุณ

สังคมแห่งการเรียนรู้  จิตวิญญาณความเป็นครู และพุทธศาสนา
นับจากวันแรกที่ได้เข้ามาที่โรงเรียนประถม รุ่งอรุณ จนเวลาผ่านไปครบ ๑ ปี รุ่งอรุณยังคงสะท้อนมุมที่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา มีการอบรมที่จัดขึ้นเพื่อฝึกฝนให้คุณครูมีทักษะเพิ่มเติมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาใหม่ๆ , การอบรมความรู้เชิงวิชาการ, การเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับเด็กนักเรียน, การไปปฏิบัติธรรมในทุกปีการศึกษา รวมไปถึงการสรุปประเมินการทำงาน และหาสิ่งที่ควรยกระดับสำหรับการจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนต่อไป ล้วนเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในมุมที่แตกต่างหลากหลาย กับผู้เป็นครูทั้งสิ้น

คำพูดในวงสนทนากลุ่มหลายครั้งหลายครา ทำให้รู้สึกว่าครูรุ่งอรุณมีจิตวิญญาณของความเป็นครูสูง หากคนไม่รู้จักกันมาได้ยินคำพูดเหล่านี้ บางครั้งอาจรู้สึกว่าดูลึกซึ้งเกินจริงมากไป แต่เมื่ออยู่มาระยะหนึ่ง จึงมั่นใจได้ว่าคำพูดของครูบางคนนั้น แต่ละคำ…แต่ละความรู้สึก…ที่สะท้อนออกมาในวงสนทนานั้นไม่ได้เป็นเพียงคำ พูดที่ปั้นแต่งให้ดูดี แต่เป็นคำพูดที่สื่อสารอย่างจริงใจ ผ่านความตั้งใจจริงที่จะทำหน้าที่ในฐานะครูที่อยากพาให้ลูกศิษย์ไปได้ไกล และไปได้ดี

คุณครูมีความกระตือรือร้นที่จะทำหน้าที่ของตนเองให้ดีด้วยวิธีที่แตกต่าง กัน บางคนทุ่มเทเวลาให้กับการค้นหาหรือคิดสร้างสรรค์วิธีการสื่อสารความรู้ไปให้ เด็ก ซึ่งไม่เพียงมุ่งให้ความรู้แต่ยังต้องการให้เด็กสนุกสนาน และมีความสุขระหว่างเรียนไปด้วยในขณะเดียวกัน บางคนไม่เพียงใส่ใจในความรับผิดชอบส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังทุ่มเทและเสียสละทำงานส่วนกลาง รวมถึงช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาให้กับเด็กนักเรียนในงานกิจกรรมส่วนรวมของ โรงเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกฝนพัฒนาตัวเอง ในการทำงานเพื่อผู้อื่นอีกด้วย

นอกจากนี้รุ่งอรุณยังใส่วิธีคิด  หรือหลักคิดในทางพุทธศาสนาเข้าไปที่ตัวครูค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน หรือแม้แต่เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ในโรงเรียน  วิธีคิดทางพุทธศาสนามักถูกเชื่อมโยงเข้ามาเพื่อช่วยสนับสนุนในการหาหนทาง แก้ไข ผลที่เกิดขึ้นกับตัวเองซึ่งเป็นคนต่างศาสนานั้น ไม่ได้เกิดความขัดแย้ง   เพราะหลักศาสนามิได้มีสิ่งใดขัดกัน เพียงแต่ทำให้ตนเองอยากกลับไปเรียนรู้ และทำความเข้าใจในคำสอนของศาสนาตนเองให้มากขึ้น เนื่องจากสิ่งที่เคยเรียนมาในวัยเด็กเป็นความรู้ที่ได้มาจากการท่องจำ แต่จากประสบการณ์วันนี้ ทำให้เชื่อว่าเมื่อได้กลับไปเรียนรู้คำสอนเรื่องเดิมอีกครั้งในวัยที่โตขึ้น ตัวเองคงจะได้รู้จักและเข้าใจในข้อคำสอนของศาสนาได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น  และหวังจะได้ใช้ความเข้าใจในศาสนาที่มีมากขึ้นในวันข้างหน้า เพื่อทำประโยชน์ในสักวันหนึ่งได้เช่นกัน


รุ่งอรุณ…รักษ์โลก

โรงเรียนรุ่งอรุณมีการปลูกฝังในเรื่องของการใส่ใจสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ และทุกคนที่จะทิ้งขยะที่นี่จะต้องคิดก่อน…ทิ้ง คิดว่าจะทิ้งลงถังหรือกล่องของวัสดุประเภทใด ในทุกชั้นเรียนจะมีกล่องกระดาษ กระป๋องโลหะอยู่จำนวนหนึ่ง สำหรับให้ทิ้งขยะแต่ละประเภทที่แตกต่างกันไป ทุกสัปดาห์จะมีระบบการจัดการที่ให้เด็กนำกล่องหรือกระป๋องที่บรรจุขยะ ไว้ไปแยกขยะอีกครั้งที่โรงแยกขยะของโรงเรียน ก่อนจะดำเนินการนำส่งออกไปนอกโรงเรียนต่อไป ส่วนขยะที่ย่อยสลายได้จะถูกนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการบำรุงต้นไม้ให้เจริญเติบโต

นอกจากเรื่องการแยกขยะ ยังมีเรื่องการใช้แก้วน้ำหรือกระติกน้ำของตัวเองเพื่อประโยชน์ในหลายด้าน โดยเรื่องนี้จะเห็นชัดเจนที่ครูมากกว่าเด็กนักเรียน เพราะทุกครั้งที่ครูมาทานข้าวร่วมกันที่ส่วนกลาง แต่ละคนต้องนำช้อน ส้อม และแก้วน้ำหรือกระติกน้ำของตนเองมาด้วย เพราะจะไม่มีการจัดอุปกรณ์เหล่านี้ที่เป็นของส่วนกลางไว้ให้     หรือแม้แต่เมื่อครูต้องออกไปทำงานนอกสถานที่  แต่ละคนก็มักจะนำแก้วหรือกระติกสำหรับดื่มน้ำของตนเองไปด้วย

จริงๆ แล้ว เหตุผลในการสนับสนุนให้ใช้แก้วของตนเอง และพกพาไปด้วยนั้นอาจมีอยู่หลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นการลดการซื้อน้ำขวดพลาสติก เพื่อลดการสร้างขยะให้โลกใบนี้ การเติมน้ำและดื่มน้ำในปริมาณที่พอเพียงกับความต้องการของตัวเอง ไม่เหลือทิ้งขว้างให้เสียประโยชน์ ขณะเดียวกันยังเป็นการรักษาความสะอาดไปในตัวด้วยเพราะเมื่อเราใช้ภาชนะส่วน ตัว เราจะดูแลทำความสะอาดภาชนะนั้นเอง และมักไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่นด้วย ซึ่งทำให้เกิดสุขอนามัยที่ดี

ผลที่เกิดขึ้น คือ ตนเองเคยชินกับการพกพากระติกน้ำส่วนตัวไปตามที่ต่างๆ แม้จะไม่ได้เป็นเวลาทำงาน แม้กระติกน้ำจะทำให้ต้องหนักกระเป๋าเพิ่มขึ้น  แต่ทำให้เราไม่ต้องซื้อน้ำขวดพลาสติก หลายครั้งมีคนทักอย่างแปลกใจพร้อมรอยยิ้มว่าเรามีกระติกน้ำของตัวเองมาด้วย จริงๆ แล้วไม่รู้ตัวว่าเราเริ่มทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากคนอื่น เพราะเราทำอยู่เรื่อยๆ และไม่ได้รู้สึกขัดเขินในเรื่องนี้

จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้ไปนั่งทานข้าวอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ขณะทานข้าวโดยมีกระติกน้ำประจำตัวอยู่ข้างกาย มองไปรอบตัวเห็นนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยนั่งทานข้าวอยู่ตามปกติ พลันสายตาได้มองไปเห็นขวดน้ำพลาสติกจำนวนมากบนโต๊ะทานข้าว…คนส่วนมากที่ เลือกจะดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลมหรือน้ำหวาน ก็มักซื้อน้ำขวดพลาสติกมาคนละหนึ่งขวดพร้อมหลอดคนละหนึ่งหลอด…ณ ขณะที่มองเห็นขวดน้ำจำนวนมากในโรงอาหารนั้น เกิดความคิดในใจว่า “ทำไมขวดพลาสติกมันเยอะขนาดนี้” ความคิดลักษณะนี้คงเกิดขึ้นเนื่องจากการซึมซับแนวคิดในการลดขยะของโรงเรียน ขณะเดียวกันได้ลองย้อนคิดดูว่าตอนที่เราทานข้าวสมัยที่เป็นนักศึกษาเราดื่ม น้ำอย่างไร จำได้ว่าเราก็ทำเช่นเดียวกับที่เรากำลังเห็นคนอื่นทำอยู่ตรงหน้า จึงได้รู้ว่าตอนนี้เป็นเราเองที่เปลี่ยนไป…บางครั้งเราไม่รู้ตัวว่าเรา เปลี่ยนไป จนเมื่อได้กลับมาอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นเดิม เราจึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงนั้น ความรักษ์โลกที่รุ่งอรุณทำอยู่ได้ค่อยๆ ซึมเข้ามาสู่ตัวเราทีละเล็กละน้อย…



กระจกสะท้อนตัวเอง

การเป็นครูประจำชั้นนั้น ไม่ได้มีเพียงหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาเท่านั้น แต่ยังมีความรับผิดชอบบางอย่างที่คล้ายคลึงกับพ่อแม่ นั่นคือ การอบรมสั่งสอนให้นักเรียนมีความประพฤติ และมารยาทที่ดี เมื่อเราสอน ติติง ตักเตือนเด็กนักเรียน บางครั้งสิ่งได้พูดไปทำให้เราต้องกลับมาย้อนดูตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจว่า ตัวเราเป็นอย่างที่ได้สอนนักเรียนด้วยหรือไม่ ถ้าไม่…มันจะเกิดเป็นความขัดแย้งในใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งอาจทำให้สุดท้ายแล้วเราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างด้วย เพราะรู้ว่าเขากำลังเลียนแบบเราอยู่ หรือหากเราสอนนักเรียน แต่เราไม่ได้ทำเช่นที่เราสอน เด็กจะย้อนกลับมาบอกได้อย่างซื่อๆ ตรงไปตรงมาว่าครูยังไม่ทำเลย แต่ความซื่อนั้นอาจทำให้ครูพูดไม่ออกได้เช่นกัน

ดังนั้นสิ่งที่เราพูด  หรือสอนเขามักสะท้อนกลับมาที่ตนเองอยู่บ่อยๆ อย่างเช่น เวลาเด็กนักเรียนบอกว่าไม่ต้องการทำงานบางอย่าง หรือทำแล้วแต่ทำได้เพียงเล็กน้อยโดยใช้เหตุผลของความไม่ชอบ ไม่พอใจ ไม่อยากทำ แล้วเราบอกเขาว่า “ถ้าเรามาโรงเรียนเพื่อเรียนรู้ฝึกฝนให้ตัวเองเก่งขึ้น เราจะใช้แค่เพียงความชอบ ความพอใจที่จะทำหรือไม่ทำของเราอย่างเดียวได้อย่างไร ถ้าต้องการแบบนั้นอยู่ที่บ้านเฉยๆ ไม่ดีกว่าหรือ เพราะที่บ้านเราสามารถทำอะไรก็ได้”…คำพูดที่ว่า “ไม่ชอบ ไม่อยากทำ ฉะนั้นเราไม่ทำสิ่งนั้น” หลายครั้งได้สะท้อนกลับมาในความคิด เพราะในชีวิตคนเรานั้น มีหลายเรื่อง หลายสิ่ง ที่บางครั้งไม่ได้ถูกต้องตรงใจตัวเราไปเสียทั้งหมด แต่เราจะใช้แค่เพียงความพอใจของเราเท่านั้นได้หรือ…เรื่องของมนุษย์ตัว เล็กกับมนุษย์ตัวโต หลายครั้งได้เห็นว่า มันเหมือนกัน เป็นเรื่องเดียวกัน  เพราะเราต่างเป็นมนุษย์เหมือนกัน ฉะนั้นสิ่งที่จะเติมเข้าไปให้ในตัวเด็กนั้น หากครูเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ครูก็ควรนำกลับมาย้อนดูตัวเองด้วยเช่นกันว่า ได้ทำอย่างที่สอนเด็กไปแล้วหรือยัง

ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์

การทำงานเป็นครูในรุ่งอรุณ ทำให้ได้เห็นอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น…สุข เศร้า เหงา โกรธ ทุกข์ อึดอัด สนุกสนาน เบิกบาน ฯลฯ ทำให้ได้รู้ว่า จริงๆ แล้วทุกคนมีโอกาสที่จะเกิดความรู้สึก และอารมณ์เหล่านี้ได้ เพียงแต่สถานการณ์และชีวิตที่เป็นอยู่นั้น เอื้อให้เกิดความรู้สึกและอารมณ์เหล่านี้ขึ้นในจังหวะและเวลาใดเท่านั้นเอง

ก่อนหน้าที่จะมาเป็นครูนั้น  ไม่เคยมีใครตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ถ้ามาสอนเด็ก  แล้วคิดว่าจะโกรธหรือโมโหเด็กมั๊ย” แต่ถ้ามีคนตั้งคำถามจริงๆ  ตัวเองคงตอบว่า “ไม่รู้เหมือนกัน” แต่คงไม่ตอบในลักษณะที่รู้ว่า เราสามารถโกรธเด็กได้อย่างแน่นอน เมื่อมาทำงานจริงๆ แล้วพบว่า บางครั้งเรามีทั้งอารมณ์หงุดหงิด หรือโกรธเด็กอยู่จริง ย้อนกลับไปมองว่าเหตุใดจึงต้องโกรธ…คงเป็นเพราะเขาไม่ได้ทำเหมือนที่ใจเรา อยากให้เป็น นั่นคือ เราไม่รู้ตัวว่าเรามีความคาดหวังบางอย่างอยู่ในใจ อยากเด็กควรต้องเป็นแบบนั้น  แบบนี้ ด้วยเหตุผลมากมายของตัวเราเอง แต่เมื่อเขาไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดไว้ เราจึงรู้สึกโกรธ

อารมณ์ ความรู้สึกเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว แต่เราไม่อยากให้เป็นเช่นนี้ จะไปบังคับให้มันหยุดก็ทำไม่ได้ ยิ่งบังคับยิ่งมีแต่จะทำให้อึดอัด คับข้องมากขึ้น ฉะนั้นในบางครั้งหากสามารถบอกกับตัวเองได้ก่อนจะสอนว่า อาจเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็ได้ระหว่างการเรียนการสอน จะเป็นเรื่องที่ดีกับตัวเองเพื่อจะได้เป็นการพึงระวัง และทำให้ใจเราเองไม่รู้สึกไปกับสิ่งนั้นมากหากมีปัญหาเกิดขึ้นจริง เพราะรู้ว่ามันก็เป็นไปอย่างที่คิดไว้   เป็นไปตามปกติ และเรายังมีสติอยู่ หากสอนโดยไม่มีข้อพึงระวังอะไรในใจเลย นั่นอาจหมายถึงว่า ตัวเรากำลังคิดว่าทุกอย่างต้องออกมาเรียบร้อย ราบรื่น  หรือพูดอีกอย่าง คือ เราคาดหวังว่าทุกอย่างต้องออกมาดี แม้ปากเราอาจพูดว่าเราไม่ได้คาดหวังอะไร—อาจเป็นวิธีคิดที่ใช้ได้เฉพาะตัว กับคนที่มองโลกในแง่ดีเกินไปในบางครั้งโดยไม่รู้ตัว เพราะในทางตรงกันข้ามแล้ว อาจมีคนมองว่า วิธีคิดนี้ดูจะมองโลกในแง่ร้ายเกินไปก็เป็นได้

ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าไม่ได้ทบทวน

มีคนเคยบอกว่า “เมื่อใดเรารู้ว่าชั่วขณะที่ผ่านมา เราเผลอไป แสดงว่าเมื่อนั้นเรากำลังรู้ตัว” ในหนึ่งวัน มีกี่ครั้งกันที่มั่นใจได้ว่าเรากำลังรู้สึกตัว ไม่ได้กำลังเผลอไป…ส่วนใหญ่คนเรามักทำอะไรไปตามอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในสิ่งที่เราเคยชิน หรือสิ่งที่เรารู้และคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว พูดได้ว่าหลายครั้งเรามัวแต่ทำ  ทำ ทำ และทำอะไรลงไปโดยไม่มีสติ เสมือนลืมความรู้สึกตัวของเราไป และหากเราไม่หมั่นฝึกที่จะรู้ตัว เราก็จะลืมตัวอยู่ร่ำไป แม้เราจะรู้ว่าการกระทำอย่างมีสติมีประโยชน์มากกว่าการทำสิ่งต่างๆ โดยไม่รู้ตัวอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกัน หลายครั้งระหว่างการทำงาน เราได้ฟังผู้อื่นพูดถึงวิธีการ หรือข้อคิดที่เป็นประโยชน์และควรจดจำนำไปใช้ เสมือนเราได้ตำราสำเร็จรูปโดยยังไม่ต้องลงมือทำเอง หรืออีกหลายครั้งที่เราได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์การทำงานจริง ที่เกิดปัญหาอุปสรรคระหว่างทาง จนทำให้เราได้ข้อคิดดีๆ ที่น่าจะเชื่อถือได้เพราะค้นพบด้วยตนเองหลายข้อ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป…เมื่อเราไม่ได้หมั่นทบทวนหรือระลึกถึงเรื่องเหล่า นั้นอีก เราก็กลับมาพบเจอกับปัญหาซ้ำๆ เรื่องเดิมๆ  ซึ่งถ้ามองตามหลักการและเหตุผลแล้ว หากเรายังคงระลึกถึงข้อคิดดีๆ หรือมีข้อเตือนใจเหล่านั้นอยู่กับตัวเอง เราน่าจะไม่ต้องตกหลุมปัญหาเก่าๆซ้ำเดิม แม้มันจะถูกบิดให้เพี้ยนไปบ้างเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม แต่เป็นเพราะเราไม่ได้กลับมาย้อนทวนสิ่งที่เรารู้แล้ว หรือเชื่อว่าดีจริงแล้วอยู่บ่อยๆ จนสามารถบันทึกได้เป็นรหัสลับไว้ในใจ สิ่งดีๆ ที่เราเคยรู้มาจึงหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลย เหมือนกับนักเรียนที่เข้าใจและจับหลักของเนื้อหาวิชาได้อย่างถูกต้องแล้ว แต่ไม่ได้หมั่นทบทวนหลักการดังกล่าว นานไปเมื่อเจอโจทย์เก่าที่ถูกดัดแปลงให้ยากขึ้นแค่เพียงเล็กน้อย ก็ไม่สามารถแก้โจทย์นั้นได้อยู่ดี

บูรณาการแบบรุ่งอรุณ หลอมรวมทุกสิ่งสู่ “ชีวิต”

วิชาชีพความเป็นครู…การใส่ใจในคุณค่าความแตกต่างของคนด้วยเห็นว่า ทุกคนต่างมีดีที่แตกต่างกันไป…การทำงานเป็นทีม…การเรียนรู้จากสิ่งที่ ได้ทำไปแล้ว และปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น…การมีจิตสำนึกใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม…การเรียน รู้ สำรวจดู จิตใจในกายตน เพื่อเข้าใจสภาวะรอบตัวภายนอก…ทั้งหมดคือองค์ประกอบย่อยที่ต่างเชื่อมโยง สัมพันธ์สู่กัน และส่งผลกระทบต่อกันและกันทั้งสิ้น  เพราะมนุษย์ สัตว์ พืช สิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้ต่างมี “ชีวิต” ที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ดั่งคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”

ที่มา http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…