ปาฐกถาธรรมในงานปลงศพคุณชนิด สายประดิษฐ์
วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๒
ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส

พระไพศาล วิสาโล

วันนี้ พวกเราได้ มาร่วมกันบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศให้แก่คุณชนิด สายประดิษฐ์ ผู้ล่วงลับ โอกาสนี้ควรเป็นวาระที่พวกเราจะได้ระลึกนึกถึงความดีของท่านเพื่อให้เกิด ประโยชน์ในทางธรรมะและเพื่อเป็นธรรมานุสติในการดำเนินชีวิต

คุณชนิด สายประดิษฐ์ ถือได้ว่าเป็นบุคคลซึ่งเป็นแบบอย่าง ๒ ประการ ประการแรกคือเป็นแบบอย่างของคู่ชีวิต คุณชนิด สายประดิษฐ์ ได้อยู่เคียงข้างคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ มาตั้งแต่เริ่มชีวิตสมรส และได้ร่วมสุขร่วมทุกข์ตลอดเวลาที่คุณกุหลาบได้อุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของ ส่วนรวม แม้ในยามที่คุณกุหลาบประสบเภทภัย ถูกจองจำถึงสองครั้งสองครา คุณชนิดก็เป็นกำลังใจให้แก่คุณกุหลาบอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อคุณกุหลาบไม่อาจกลับเมืองไทยได้ ต้องลี้ภัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน คุณชนิดก็ยังเดินทางมาอยู่เคียงข้างคุณกุหลาบ และได้ดูแลครอบครัวอย่างอุทิศตน โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก

ประการต่อมา คุณชนิด สายประดิษฐ์ยังเป็นแบบอย่างของผู้ประพฤติธรรม คือตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมความดี แม้ต้องประสบความยากลำบาก ถูกกลั่นแกล้งด้วยภัยทางการเมืองอย่างไร ก็ยังมั่นคงอยู่ในธรรม บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจที่มิชอบ

คุณธรรมทั้งสองประการนี้เป็น สิ่งที่เราควรน้อมมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เริ่มตั้งแต่ การเป็นแบบอย่างของคู่ชีวิต คุณชนิดถือได้ว่าเป็นผู้บำเพ็ญคุณธรรมแห่งกัลยาณมิตรอย่างอย่างเต็มความหมาย ของคำนี้ นั่นคือ การเป็นมิตรแท้ มิตรแท้ในพระพุทธศาสนา มี ๔ ประการ คือ มิตรอุปการะ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มิตรแนะประโยชน์ และมิตรมีน้ำใจ กล่าวได้ว่าคุณชนิดเป็นมิตรแท้ของคุณกุหลาบอย่างครบถ้วนทั้ง ๔ ประการ นับเป็นแบบอย่างที่เราควรน้อมมาเป็นแรงบันดาลใจไม่ว่าเราจะเป็นมิตรในลักษณะ ใด คือมิตรที่เป็นคู่ชีวิต หรือมิตรที่ร่วมกิจการงาน

คุณธรรมประการต่อมาคือการเป็นแบบอย่างของผู้ประพฤติธรรม การที่บุคคลใดจะเป็นแบบอย่างของผู้ประพฤติธรรมได้ ย่อมต้องเป็นผู้มีศีล มั่นคงในความดี แม้จะประสบอุปสรรค หรือถูกกลั่นแกล้งเพียงใดก็ไม่ละทิ้งคุณธรรมความดี ใช่แต่เท่านั้นผู้ประพฤติธรรมยังมีคุณธรรมอีกประการหนึ่ง ได้แก่การมีใจใฝ่ช่วยเหลือผู้อื่น พร้อมจะเสียสละเพื่อผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก อีกทั้งยังเป็นผู้ที่พากเพียรเพื่อดำรงธรรมให้มั่นคงในสังคม

ทุกวันนี้เราพูดกันถึงความไม่ เป็นธรรมในสังคม แต่ความไม่เป็นธรรมมิได้เกิดขึ้นในยุคของเราเท่านั้น หากยังเกิดขึ้นในยุคของคุณชนิดและคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ คุณชนิดเป็นผู้หนึ่งซึ่งไม่เพียงสนับสนุนและอยู่เคียงข้างคุณกุหลาบ ในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อประชาธิปไตยและสันติภาพเท่านั้น ตัวท่านเองยังมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นในสังคม ในฐานะที่เป็นนักแปล หนังสือของท่านได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคคลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งอาตมาเองเมื่อครั้งได้อ่านหนังสือเรื่อง “เหยื่ออธรรม” ขณะที่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม ได้เกิดสำนึกแรงกล้าที่จะช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก แม้จะมีอุปสรรคมากมายเพียงใดก็ตาม

การที่คนคนหนึ่งจะมีความตั้ง มั่นในธรรมะสมกับเป็นผู้ประพฤติธรรมนั้น จะต้องมีธรรมะเป็นพื้นฐานที่มั่นคง ในพระพุทธศาสนา ธรรมะนั้นมีมากมายหลายประการ ธรรมะหมวดหนึ่งที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ อธิษฐานธรรม อธิษฐานธรรมโดยความหมาย ก็คือธรรมอันเป็นฐานที่มั่นของบุคคล ทำให้บุคคลมั่นคงในความดี ประกอบด้วยธรรมะ ๔ ประการ ประการแรกคือ ปัญญา ได้แก่การเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของธรรมะ นี้เป็นปัญญาเบื้องต้น เมื่อเห็นคุณค่าแล้วจะเกิดศรัทธา และทำให้ตั้งมั่นในธรรมะได้ ปัญญายังรวมถึงการรู้ถูกรู้ผิดไม่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว รู้เหตุ รู้ปัจจัย สามารถที่จะเข้าใจความเป็นไปของโลก ทำให้ไม่หวั่นไหวในยามที่ประสบอุปสรรคหรือเภทภัย เพราะว่ารู้ดีว่ามันเป็นธรรมดาโลก ปัญญาในความหมายที่ลึกซึ้งที่สุด หมายถึงการประจักษ์ชัดในสัจธรรมความจริงของชีวิตว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น ไม่เที่ยง ไม่สามารถจะยึดถือเป็นตัวตนได้

ต่อจากปัญญาคือสัจจะ สัจจะไม่ได้แปลว่าความซื่อสัตย์สุจริตเท่านั้น แต่ยังรวมความไปถึงการดำรงมั่นในความจริงที่เข้าถึงหรือเห็นชัดด้วยปัญญา เมื่อเรามีปัญญาเห็นชัดว่าคุณธรรมความดีนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เกื้อกูล เราจะตั้งมั่นคงในความดี จะไม่ยอมเฉไฉหรือคลาดเคลื่อนออกจากความดี อันนี้เป็นความหมายประการหนึ่งของสัจจะ เมื่อมีสัจจะแล้ว ก็จะเกิดธรรมะประการต่อมา คือจาคะ

จาคะ คือความเสียสละ เสียสละในที่นี้มีความหมายหลายประการ ตั้งแต่เสียสละทรัพย์สินเงินทอง เวลา พละกำลัง สติปัญญา จนกระทั่งไปถึงการสละกิเลส ซึ่งเป็นการสละที่ประเสริฐที่สุด การเสียสละจะไม่ใช่เรื่องยากหากเรามั่นคงในความดี มีสัจจะโดยมีปัญญาเป็นพื้นฐาน

เมื่อมีปัญญา มีสัจจะ มีจาคะแล้ว ธรรมะประการสุดท้ายที่ช่วยเสริมฐานทางจิตใจให้มั่นคงในความดี ก็คืออุปสมะ แปลว่า ความสงบเย็น ความสงบเย็นนั้นจัดว่าเป็นความสุขที่ประเสริฐ เป็นความสุขที่ประเสริฐยิ่งกว่าความสุขทางวัตถุ ความสุขทางโลก หรือกามสุข ทำให้เราสามารถเป็นอิสระจากวัตถุได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยหล่อเลี้ยงให้เรามีกำลังใจในการทำความดี

บุคคลใดก็ตามเมื่อมีธรรมะ ๔ ประการนี้ คือ ปัญญา สัจจะ จาคะ และอุปสมะ ย่อมมีฐานที่มั่นคงในจิตใจ ทำให้สามารถตั้งมั่นอยู่ในความดี แม้จะประสบกับความผันผวนปรวนแปรในชีวิต ถูกกลั่นแกล้ง หรือประสบเภทภัยเพียงใด ก็ยังเดินหน้าอย่างมั่นคงบนวิถีธรรม ธรรมะทั้ง ๔ ประการนี้ ไม่เพียงช่วยให้เรามีฉันทะและตั้งมั่นในความถูกต้องเท่านั้น แต่ยังจะทำให้เรามีพลังในการทำความดีอย่างต่อเนื่องไม่ท้อแท้ท้อถอย

ผู้ที่ต้องการอุทิศตนเพื่อสังคม จำเป็นต้องมีธรรมะ ๔ ประการเป็นเครื่องกำกับชีวิต หาไม่แล้วก็ยากที่จะบำเพ็ญตนให้แน่วแน่ในอุดมคติดังกล่าวได้ ธรรมะ ๔ ประการนี้หากพิจารณาให้ดี จะเห็นได้ว่า มีทั้งส่วนที่เป็นคุณธรรมที่แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่เรียกว่าความดี ได้แก่ สัจจะ และจาคะ กับอีกส่วนที่เป็นคุณภาพจิตภายในที่ส่งเสริมคุณธรรมความดี คือปัญญา และอุปสมะ

สัจจะและจาคะนั้นเป็นทั้งเครื่องหมายของคนดีและเป็นเครื่องกำกับให้บุคคล ดำรงมั่นอยู่ในความดี หากปราศจากสัจจะและจาคะแล้ว ก็ง่ายที่จะหันไปแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว หรือถูกกิเลสครอบงำได้ง่าย มีคนเป็นจำนวนมากที่ปรารถนาอุทิศตนเพื่อส่วนรวม แต่เมื่อพร้อมที่จะโกหกหลอกลวงเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ในระยะสั้น อีกทั้งไม่มีความเสียสละด้วยแล้ว ในที่สุดก็กลายเป็นคนที่ทำทุกอย่างเพื่อความมั่งคั่งหรือความยิ่งใหญ่ของตน เอง

อย่างไรก็ตามบุคคลจะมีสัจจะและจาคะ ตลอดจนอุทิศตนเพื่อส่วนรวมได้อย่างต่อเนื่องมั่นคง จะต้องมีฐานภายในเป็นตัวรองรับด้วย ฐานภายในนั้นก็คือปัญญา และอุปสมะ

ปัญญา และอุปสมะเป็นฐานภายในที่จะทำให้เราสามารถเสียสละและอุทิศตน โดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคและสิ่งยั่วยุ ไม่ว่าจะเรียกตนว่าเป็นผู้มีอุดมคติ เป็นนักเปลี่ยนแปลงสังคม หรือแม้กระทั่งเป็นนักปฏิวัติก็ตาม หากขาดฐานภายใน ก็คือปัญญา และอุปสมะแล้ว เมื่อประสบอุปสรรคซ้ำแล้วซ้ำเล่า มองไม่เห็นความสำเร็จก็อาจรู้สึกท้อแท้ท้อถอย หมดเรี่ยวหมดแรง หรืออาจจะถึงกับจิตสลาย ละทิ้งการต่อสู้ ไม่เพียรพยายามอีกต่อไป หรือมิฉะนั้นก็พ่ายแพ้ต่อสิ่งยั่วยวน ถูกกิเลสครอบงำ ยอมแปรพักตร์ไปอยู่ฝ่ายผู้เอาเปรียบ ซึ่งมีอำนาจและลาภสักการะมากกว่า หาไม่ก็ละทิ้งอุดมคติ แทนที่จะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็กลายเป็นทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แสวงหาอำนาจและทรัพย์สินเข้าตัวให้มากที่สุด ดังที่เห็นได้ทั่วไป

บุคคลใดก็ตามถ้าหากขาดฐานภายใน คือ ปัญญา และอุปสมะแล้ว ก็ยากที่จะมีความมั่นคง และมีพลังในการอุทิศตนเพื่อสังคมได้

ปัญญา และอุปสมะ นั้นช่วยอย่างไรจึงทำให้เราทำงานเพื่อส่วนรวมได้อย่างต่อเนื่อง

ปัญญานั้นคือความเข้าใจในกฎธรรมชาติ จนมั่นใจว่าธรรมะย่อมชนะอธรรม คนที่ปราศจากปัญญาย่อมมีความลังเลสงสัยว่า ธรรมะจะชนะอธรรมได้หรือไม่ แต่ถ้ามีปัญญาเข้าใจกฎแห่งเหตุปัจจัย เข้าใจกฎแห่งกรรมแล้ว ก็จะมั่นใจว่าธรรมะย่อมประเสริฐเหนือสิ่งอื่นใด ปัญญาช่วยให้เรามั่นใจว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ตน ดังมีพุทธพจน์ตรัสว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ

ประการต่อมา คือเมื่อมีปัญญาเข้าใจความจริงของโลก เราก็จะตระหนักว่าความปรวนแปรผันผวนนั้นเป็นธรรมดาของชีวิต ไม่ว่าจะมียศ มีลาภ มีสุขเพียงใด สักวันหนึ่งก็อาจจะผันแปร กลายเป็นเสื่อมลาภ เสื่อมยศ และประสบทุกข์ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญญาจึงช่วยให้เราไม่ยึดติดในโลกธรรม เพราะรู้ว่ามันไม่เที่ยง

ปัญญายังทำให้เราเห็นชัดว่า ความสุขนั้นอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่การมีทรัพย์สินเงินทอง อำนาจวาสนา หรือบริษัทบริวารมาก ๆ ปัญญาที่ตระหนักชัดในความจริงดังกล่าว ทำให้เราไม่หวั่นไหวต่อสิ่งยั่วยวน อาทิ อำนาจ ยศ ทรัพย์ เพราะรู้ว่านั่นมิใช่ความสุขที่แท้ จึงทำให้เราสามารถดำรงตนให้มั่นคงในความดี ในความเสียสละ พร้อมจะมีชีวิตที่เรียบง่าย ขณะเดียวกันเมื่อประสบอุปสรรค หรือความล้มเหลว มีชีวิตที่ยากลำบาก ก็ไม่หวั่นไหว ยังสามารถรักษาใจให้เป็นสุขได้

บุคคลสามารถรักษาใจให้เป็นสุขได้ เมื่อมีอุปสมะ อุปสมะคือความสุขที่เกิดจากความสงบเย็น คนเราถ้าหากมีความสุขหล่อเลี้ยงใจ โดยเฉพาะความสุขจากภายใน ก็พร้อมจะมีชีวิตที่เรียบง่ายได้ แม้จะไม่ร่ำรวย แม้จะไม่ยิ่งใหญ่ แม้จะไม่มีชื่อเสียงก็ยังมีความสุข เพราะว่าพบความสุขจากภายใน ดังนั้นจึงมีภูมิต้านทานต่อสิ่งยั่วยวน ไม่ว่าจะเป็นลาภสักการะ หรืออำนาจ ชื่อเสียง ก็ไม่สามารถชักนำให้ละทิ้งอุดมคติหรือคลอนแคลนคลาดเคลื่อนจากวิถีแห่งธรรมะ ได้

อุปสมะยังช่วยให้เรามีความสุขท่ามกลางความทุกข์ได้ แม้ว่าอยู่ท่ามกลางสิ่งบีบคั้นยากลำบากเพียงใดก็ตาม คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยถูกจองจำถึงสองครั้งสองคราว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่สามารถคลอนแคลนอุดมคติของท่านได้ ตรงกันข้ามท่านยังสามารถมีความสุขอยู่ได้ในคุก คุณกุหลาบเคยกล่าวว่า แม้ท่านจะถูกจองจำ ถูกจำกัดอิสรภาพทางกาย แต่อิสรภาพทางใจของท่านมีอย่างสมบูรณ์ การถูกจองจำ ไม่สามารถทำลายอิสรภาพทางใจได้ เพราะว่าไม่มีใครทำลายอิสรภาพทางใจของเราได้นอกจากตัวเราเอง

บุคคลที่เข้าถึงอุปสมะย่อมสัมผัสกับความสงบเย็นภายใน และดังนั้นจึงมีอิสระทางจิตใจ และสามารถพบความสุขท่ามกลางความทุกข์ได้ จนแม้ในยามที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ พลัดบ้านพลัดเมืองก็ยังสามารถมีความสุขในทุกที่ได้ ดังคุณกุหลาบ และคุณชนิด สายประดิษฐ์ ได้เป็นแบบอย่างให้แก่เราว่า แม้ประสบทุกข์ แม้ประสบอุปสรรค แต่ก็ยังมีชีวิตที่ผาสุก มีชีวิตที่พึงพอใจในความเรียบง่ายได้

ปัญญา และอุปสมะนั้น จะเป็นฐานให้เรามีความมั่นคงในสัจจะ และในจาคะหรือความเสียสละ ขณะเดียวกัน ถ้าหากเรามั่นคงในสัจจะ มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีจาคะ พร้อมจะเสียสละหรือเป็นผู้ให้อยู่เสมอ ก็จะเกื้อหนุนให้เรามีปัญญา และอุปสมะหรือความสุขทางจิตใจได้

ทั้งคุณชนิดและคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นแบบอย่างแห่งบุคคลที่ดำรงตนอย่างมั่นคงบนหนทางแห่งธรรมะ บำเพ็ญความดีทั้งในระดับบุคคล และอุทิศตนเพื่อส่วนรวมได้ ก็เพราะว่าท่านมีธรรมะ ๔ ประการนี้ แม้ว่าท่านอาจจะมิได้จำแนกเป็นข้อ ๆ ดังที่อาตมาได้กล่าวมา แต่ถ้าเราศึกษาชีวิตของทั้งสองท่าน จะพบว่าสิ่งที่ทำให้ท่านมั่นคงในความดี ก็หนีไม่พ้นธรรมะทั้ง ๔ ประการนี้ ก็คือ ๑. ปัญญา ๒. สัจจะ ๓. จาคะ และ ๔. อุปสมะ

พวกเราทั้งหลายซึ่งมาพร้อมกัน ณ ที่นี้เป็นผู้ที่ปรารถนาบำเพ็ญคุณงามความดี มีแรงบันดาลใจที่จะอุทิศตนเพื่อส่วนรวม ขอให้เราศึกษาแบบอย่างจากคุณชนิด สายประดิษฐ์ รวมทั้งคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ผู้เป็นคู่ชีวิต ว่าท่านสามารถดำรงตนอย่างมั่นคงบนวิถีทางแห่งธรรมะและบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ ส่วนรวมได้อย่างไร โดยไม่ทิ้งความสุขที่จะพึงมีพึงได้จากการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะความสงบเย็นในจิตใจ ถ้าหากว่าเราศึกษาชีวิตของท่านทั้งสองและสรุปบทเรียนมาเป็นธรรมะอย่างน้อย ๔ ประการ ที่อาตมาได้กล่าวมา ก็เชื่อว่าจะทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการทำความดี มีความสุขใจเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้มั่นคงในความดี และสามารถที่จะเผชิญกับปัญหาท้าทาย และอุปสรรคต่าง ๆ ได้

อาตมาได้กล่าวมาพอสมควรแล้ว ขอสรุปด้วยพุทธพจน์เพื่อให้ทุกท่านพิจารณาในท้ายที่สุดนี้ คือ “ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่ประพฤติธรรมดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ นี้คืออานิสงส์ของธรรมที่ประพฤติดีแล้ว” ขอจบปาฐกถาธรรมในท้ายที่สุดนี้แต่เพียงเท่านี้