20141226

ช่วงเวลา 07.58 น. ของ วันที่ 26 ธันวาคม ปี 2547 คงเป็นเวลาที่หลายคนยังจดจำได้ดี ถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่สุดที่ประเทศไทยเคยประสบ นั่นคือการเกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย ตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเหตุให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่สูงราว 30 เมตร เข้าพัดถล่มพื้นที่ต่างๆ ทางตอนใต้ของไทย เช่น ภูเก็ตและพังงา จนมีผู้เสียชีวิตในประเทศไทยกว่าห้าพันคนและสูญหายอีกสามพันกว่าคน โดยผู้ประสบภัยมีทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาพักผ่อนช่วงปี ใหม่และคนไทยในพื้นที่

หลังจากที่คลื่นยักษ์ได้กวาดกลืนทุกอย่างกลับลงทะเลแล้ว สิ่งที่เหลือไว้คือความสับสนวุ่นวายของผู้คน เนื่องจากในยุคสมัยนั้น ประเทศไทยยังไม่เคยมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติเช่นสึนามิ มาก่อน คลื่นยักษ์ทำให้อาคารบ้านเรือน ยานพาหนะ ต่างๆ เสียหายเป็นจำนวนมาก ระบบสาธารณูปโภคถูกตัดขาด มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนนับไม่ถ้วนที่รอการช่วยเหลือ สิ่งที่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามทำได้ในตอนนั้นคือการรวบรวมสรรพกำลัง ที่ตนเองมีและเดินทางเข้าพื้นที่ให้เร็วที่สุดเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบ ภัย แต่ถึงกระนั้นความช่วยเหลือต่างๆ ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะหลังเกิดเหตุการณ์ ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องจัดการ เช่น การกู้ชีพกู้ภัย การทำฐานข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต การติดต่อญาติของผู้ประสบภัย การรักษาพยาบาลรวมถึงการเก็บรักษาศพและระบุอัตลักษณ์

นั่นจึงเป็นที่มา ของการเกิด “อาสาสมัครสึนามิ” จากกลุ่มคนธรรมดาจำนวนมาก ที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ประสบภัย ด้วยความหวังที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่พวกเขาเองก็ไม่ได้รู้จักมาก่อน อาสาสมัครกลุ่มแรกๆ คือ อาสากู้ชีพกู้ภัยจากมูลนิธิและหน่วยงานด้านการกู้ภัยทั่วประเทศ คอยทำหน้าที่ลำเลียงคนเจ็บและร่างผู้เสียชีวิตกลับมายังโรงพยาบาล กลุ่มต่อมาคืออาสาสมัครที่อยู่ในเต็นท์อำนวยการกลางที่คอยให้ข้อมูลการตามหา คนสูญหาย ซึ่งต้องอาศัยทักษะทางภาษาต่างประเทศ อีกกลุ่มคืออาสาสมัครเก็บข้อมูลผู้เสียชีวิตที่จะต้องทำงานร่วมกับเจ้า หน้าที่ของศูนย์นิติวิทยาศาสตร์และกลุ่มสุดท้ายคืออาสาสมัครฟื้นฟูหลังเกิด เหตุการณ์ เพื่อช่วยซ่อม สร้างและบูรณะอาคารบ้านเรือน ให้กลับมาใช้งานได้เร็วที่สุดอีกครั้ง และเมื่อมีอาสาสมัครเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ทางมูลนิธิกระจกเงาซึ่งเป็นองค์กรที่ลงไปทำงานในพื้นที่ตั้งแต่เริ่มต้น จึงพยายามจัดระบบการทำงานของอาสาสมัครให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ จนเป็นที่มาของการจัดตั้ง “ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ มูลนิธิกระจกเงา” ในจังหวัดพังงา เมื่อปลายปี 2548

แม้ว่าการเกิดเหตุการณ์นี้จะสร้างความสูญเสียให้กับประเทศไทยอย่างมาก แต่ในอีกมิติหนึ่ง เหตุการณ์นี้ก็ทำให้คนไทยตระหนักและรู้จักการทำงานอาสาสมัครมากขึ้นเช่นกัน หลายคนได้เรียนรู้ที่จะรับมือกับความสูญเสียไปพร้อมกับการเป็นผู้ให้ ได้ฝึกแก้ไขปัญหา พัฒนาตัวเองและเติบโตจากภายใน และหลายคนก็ได้ออกเดินทางจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองเพื่อไปช่วยเหลือและ เยียวยาคนอื่นโดยไม่ต้องรอการร้องขอ

เครือข่ายจิตอาสาขอร่วมรำลึก 10 ปีเหตุการณ์สึนามิและขอสดุดีอาสาสมัครทุกคนที่เคยได้เสียสละแรงกายแรงใจในการทำงานทุกท่านค่ะ