ในสภาพสังคมไทยปัจจุบัน ที่มีความแตกแยกอย่างรุนแรง พระอาจารย์คิดว่าควรจะเอาธรรมะข้อไหนมาใช้ในการรับมือกับปัญหา และแก้ปัญหา

– มองในภาพรวม ตอนนี้สังคมไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นแรงผลักให้มีการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ แม้ปรากฏการณ์ที่มีอยู่นี้จะเป็นความขัดแย้งที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวบุคคล เช่นคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกฯ) แต่ว่าสาเหตุรากเหง้าไม่ได้อยู่ที่คุณทักษิณอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างของสังคมไทยในหลายมิติที่กำลังเปลี่ยนแปลง เช่น ประชาชนมีความสำนึกทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นคนชั้นล่าง คนยากจน หรือ คนชั้นกลางระดับล่าง คนเหล่านี้เมื่อก่อนเขาอาจจะยอมรับความไม่เป็นธรรมในสังคมได้ ยอมรับในความเป็นสองมาตรฐาน ในความเหลื่อมล้ำได้ แต่เดี๋ยวนี้เขายอมรับได้ยากแล้ว และเป็นอย่างนี้ในหลายวงการ เช่นในวงการหมอกับคนไข้ เมื่อก่อนลูกเมียตายเพราะการรักษาชาวบ้านก็ไม่ฟ้อง แต่ตอนนี้เขารู้ว่าเขามีสิทธิที่จะฟ้อง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปของหมอกับคนไข้ อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการยอมรับได้ ว่าแค่ไหนยอมรับได้ แค่ไหนยอมรับไม่ได้

-น่าจะถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีหรือเปล่า เพราะคนรู้จักคิดเรื่องสิทธิมากขึ้น?

-ความเปลี่ยนแปลงจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับท่าที และวิธีปฏิบัติ ถ้ามีสิทธิ แล้วคิดถึงแต่สิทธิของตัวเองโดยไม่มองหรือไม่เข้าใจอีกฝ่ายก็จะมีปัญหา เช่นคนไข้เสียลูก แต่หมอก็พยายามเต็มที่แล้ว แต่เนื่องจากมีความกดดันหลายอย่าง เช่น รพ.ชุมชน มีคนไข้เยอะมากแต่หมอมีน้อย ฉะนั้นการรักษาก็อาจมีผิดพลาดบ้าง หรือเช่นเรื่องสังคม ๒ มาตรฐาน ถ้าคนเรียกร้องมี ๒ มาตรฐานในใจด้วย มันก็ไม่ดี เช่นคนเสื้อแดงต่อต้านสังคม ๒ มาตรฐาน แต่ว่าเขาก็มี ๒ มาตรฐานในใจ คือถ้าเสื้อแดงทำอะไรถูกหมด รัฐบาลทำอะไรผิดหมด อย่างนี้ก็ไม่ดี

-ดูเหมือนปัญหาเรื่อง ๒ มาตรฐานนี้มีอยู่ในทุกกลุ่ม?

-ใช่ เพราะเป็นวัฒนธรรม เป็นวิถีคิดของคนไทยที่ถูกหล่อหลอมมาตลอด ที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เช่นเรื่องความเป็นธรรม ถ้าเราได้เงินเดือนน้อยกว่า ได้โบนัสน้อยกว่า เราก็จะโวยวายว่าไม่เป็นธรรม แต่ถ้าเราได้มากกว่าเขาเราก็เงียบเฉย ลืมเรื่องความไม่เป็นธรรมไปเลย

ความยุติธรรมที่เรียกร้องกันในปัจจุบันมันมีตัวกูของกูเป็นศูนย์กลาง เป็นความเป็นธรรมที่สนองอัตตาตัวตน ซึ่งทางพุทธเรียกว่า “อัตตาธิปไตย” ไม่ใช่ “ธรรมาธิปไตย”

ธรรมาธิปไตยคือเอาธรรมะ เอาความถูกต้องเป็นใหญ่ คือ แม้ฉันจะได้น้อยกว่า แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม ฉันก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าฉันได้มากกว่า หากไม่ถูกต้อง ฉันก็จะไม่ยอมรับ

-จะเป็นการมองในแง่ร้ายเกินไปไหมคะ ถ้าจะบอกว่าสภาพสังคมไทยตอนนี้เป็นสังคม “อัตตาธิปไตย”?

-อาตมาเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นมาก(เน้นเสียง) แม้เราจะอ้างเหตุผลที่สวยหรู แต่ก็เป็นเหตุผลที่ใช้เพื่อสนองผลประโยชน์ของส่วนตัวหรือพวกตัวเอง เช่น ใคร ๆ ก็บอกว่าการคอรัปชั่นไม่ดี ไม่ถูกต้อง แต่มีคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยบอกว่าถ้าทักษิณคอรัปชั่นเอามาช่วยคนจน อันนี้ถูกต้อง แสดงว่าเป็น ๒ มาตรฐาน เป็นเหตุผลที่สนองตัวกูของกูเป็นหลัก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกวงการ

-เรื่องอัตตาธิปไตย ถือเป็นรากเหง้าที่ทำให้เกิดปัญหา?

-เป็นส่วนหนึ่ง แต่อย่างที่บอก ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลง ยังไม่ต้องพูดถึงสังคมโลกนะ เช่นมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นระหว่างข้างบนกับข้างล่าง และมีความแตกตัวของกลุ่มคนที่อยู่ในระดับเดียวกัน เช่นคนชั้นกลางก็มีการแตกตัวเป็นกลุ่มย่อยมากมาย มีความเห็นต่างกัน รสนิยมต่างกัน มีผลประโยชน์ต่างกัน แม้จะมีรายได้ใกล้เคียงกัน แต่ความแตกต่างดังกล่าวทำให้คนชั้นกลางจำนวนมากนี้เริ่มคุยกันไม่รู้เรื่อง นอกจากนั้นกระแสโลกาภิวัตน์ยังทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ การแย่งชิงทรัพยากร การผูกขาดมากขึ้น ทำให้คนชั้นกลางระดับล่าง และคนชั้นล่างทนไม่ไหว ไม่พอใจ และเกิดความรู้สึกว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีความเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันมีคนที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นคนที่ได้เปรียบในสังคม จึงเกิดการต่อสู้กัน พูดตรงไปตรงมาตอนนี้คนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงคือกลุ่มคนเสื้อแดง คนที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงคือคนที่มีอำนาจ หรือได้ผลประโยชน์อยู่ตอนนี้ แต่ถ้าถามว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องอยู่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงหรือ เปล่า อาตมาไม่แน่ใจ

-สภาพปัญหาอย่างนี้ ที่แต่ละกลุ่มมีความเป็น “อัตตาธิปไตย” ขณะที่สังคมโลกก็มีความเปลี่ยนแปลง จะใช้หลักธรรมะข้อไหนมาช่วยเยียวยา?

-ต้องอาศัยธรรมะหลายส่วน อย่างแรกเลย จะต้องคิดถึงคนอื่นมากขึ้น เพราะสังคมไทยตอนนี้คิดถึงแต่ตัวเอง และพวกของตัวเอง การคิดถึงคนอื่นมากขึ้น ก็เหมือนที่อดัม คาเฮน (นักสันติวิธีที่เพิ่งมา..เช็คข้อมูลเพิ่มด้วย) พูดเมื่อสองสามวันก่อนว่า การกระจายความรักไปให้คนอื่นมากขึ้น จะช่วยลดความขัดแย้งได้

แต่การกระจายความรักอย่างเดียวก็ไม่พอ จะต้องกระจายอำนาจด้วย ถ้ารักแล้วไม่ทำอะไรก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้ารักแล้วแค่ยื่นเงินไปให้ ให้แค่ประชานิยม ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

แต่ตอนนี้มีปัญหาว่าทุกฝ่ายต่างก็บอกว่าทำเพื่อประโยชน์ของชาติ แต่มีการนิยามที่ไม่ตรงกัน บางคนบอกว่าสส.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจึงถือว่าถูกต้อง ขณะที่อีกฝ่ายบอกไม่ได้ จะต้องมีการถ่วงดุลจากส่วนต่างๆ เช่น จากข้าราชการ จากระบบตุลาการด้วย จึงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมา เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ต้องมีการเจรจาต่อรองกัน เวทีเจรจาต่อรองจะสามารถลดความขัดแย้งได้ แต่ตอนนี้ไม่มีเวทีอย่างนั้น คนเสื้อแดงจึงมาประท้วง

ฉะนั้น นอกจากการกระจายความรัก กระจายอำนาจแล้ว ก็ต้องมีเวทีเจรจาต่อรองที่เท่าเทียมกันด้วย เพราะตอนนี้มีความเห็นแย้งกันในแทบทุกเรื่อง และไม่สามารถตัดสินได้ด้วยการใช้กำลัง จึงต้องมาคุยกันด้วยเหตุด้วยผล

-จะคุยกันด้วยเหตุด้วยผลได้อย่างไร ดูจากที่ผ่านมาเป็นเรื่องยากมาก?

-ต้องมีความไว้ใจกัน ที่ผ่านมาไม่มีความไว้ใจกัน เสื้อแดงก็ไม่ไว้ใจ คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ นายกฯ) ก็ไม่ไว้ใจ ซึ่งอาจเป็นเพราะบทเรียนที่ผ่านมา จึงทำให้ไม่ให้โอกาสแก่กันและกัน เช่นกรณีเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค. รัฐบาลก็บอกว่าเป็นเพราะคนเสื้อแดงบิดพลิ้ว รับแผนปรองดองแล้วแต่ไม่ยอมเลิกชุมนุม ขณะที่คนเสื้อแดงก็บอกรัฐบาลไม่ปรองดองจริง เพราะไม่เห็นมีการดำเนินการอะไรกับคนที่ก่อเหตุการณ์นองเลือดเมื่อ 10 เมษายน

-แล้วควรจะทำอย่างไร?

-เมื่อไม่มีความไว้ใจกัน ก็ต้องสร้างขึ้นมา โดยเริ่มจากโจทย์ง่ายๆ เช่นห้ามเคลื่อนไหวหรือออกจากที่ตั้ง 1 อาทิตย์ ถ้ารับปากแล้วทำไม่ได้ถึงค่อยไม่ไว้ใจกัน แต่ถ้าทำได้ ความไว้ใจก็จะเริ่มขึ้น ต่อไปก็อาจมีการเปิดพื้นที่ให้คนเสื้อแดงใช้ช่อง 11 หรือฝ่ายเสื้อแดงอาจจะขอให้ทีวีเสื้อแดงเลิกโจมตีรัฐบาล ทุกฝ่ายต้องสร้างโอกาสขึ้นมาเพื่อทดสอบความไว้วางใจของอีกฝ่าย

เหมือนกับกลุ่มที่ทำสงครามกัน เมื่อจะสงบศึก ก็ต้องเริ่มด้วยเริ่มด้วยการหยุดยิง 1 อาทิตย์ 1 เดือน ทำได้ไหม ถ้าทำได้ก็ค่อยคุยเรื่องที่ใหญ่ขึ้นหรือยากขึ้น ฉะนั้นต้องให้โอกาสในการสร้างความไว้ใจกัน

-จำเป็นต้องมีตัวเชื่อมไหม?

-จำเป็น แต่ถึงที่สุดต้องเกิดจากการที่ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสพูดคุยกัน เหมือนเมนเดล่ากับเดอเคลิร์ก (เฟรเดอริค วิลเลม เดอ เคลิร์ก – Frederik Willem de Klerk- ประธานาธิบดีของประเทศแอฟริกาใต้คนสุดท้ายในยุคของการแบ่งแยกสีผิว) ตอนแรกทั้งสองไม่ไว้ใจกัน คุยกันครั้งแรกเดอเคลิร์กให้เมนเดล่าไปเจอที่ทำเนียบ เจอกันลับๆ ก็ไม่ได้คุยอะไรกันมาก ครั้งที่สองเดอเคลิร์กมาหาเมนดาล่าที่คุก ได้เปิดใจพูดคุยกันอยู่นาน หลังจากนั้นเมนเดล่าได้ก็เขียนในบันทึกว่า “ผมสังเกตเห็นตั้งแต่แรกว่าเดอเคลิร์กตั้งใจฟังสิ่งที่ผมจำเป็นต้องพูด เขาเป็นคนที่เราทำงานร่วมกันได้” ส่วนเดอเคลิร์กก็เห็นตรงกัน หลังจากพูดคุยเสร็จเขาได้เล่าให้เพื่อน ๆ ในรัฐบาลว่า แมนเดล่าเป็นนักฟังที่ดีมาก เขาเป็นคนที่ผมสามารถทำงานร่วมกันได้ ทั้งสองคนรู้สึกคล้าย ๆ กันว่า อีกฝ่ายไว้ใจได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายหาข้อตกลงจนนำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งก็ใช้เวลา 2-3 ปีหลังจากนั้น

ความไว้ใจต้องเกิดจากการได้เจอกัน และถ้าได้เจอกันโดยไม่ต้องสวมหัวโขน ก็จะได้เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ความระแวง ความกลัว ความเกลียดก็จะลดลง

-ปัญหาคือแต่ละฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ยึดตัวกูเอาไว้?

-ต้องมีการ break the ice ซึ่งเป็นหน้าที่ของตัวกลาง อย่างเช่นตอนที่คาร์เตอร์ (เจมส์ เอิร์ล “จิมมี” คาร์เตอร์ จูเนียร์ (James Earl “Jimmy” Carter, Jr) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) พาเบกิน (เมนาเฮม วูล์โฟวิช เบกิน – Menachem Wolfovich Begin อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล) กับอันวาร์ อัล ซาดัต ( Muhammad Anwar al-Sadat ประธานาธิบดีแห่งอียิปต์) ไปคุยกันในแคมป์เดวิดเพื่อเจรจาสันติภาพยุติสงครามยาวนานระหว่างกันถึง 30 ปี (ดูข้อมูลเพิ่มเติม http://tinyurl.com/32jskhd )บรรยากาศในนั้นเริ่มทำให้เริ่มเป็นส่วนตัว เริ่มถอดหัวโขน ออกมา ทำให้คุยกันแบบส่วนตัว ทำให้คุยกันรู้เรื่อง ถ้าคุยกันแบบเป็นทางการ ก็จะมีหัวโขนติดมา ทำให้ไม่สามารถคุยกันอย่างเปิดอก หรือเห็นแง่ดีของกันและกันได้

แต่อาตมาคิดว่า ตอนนี้เรื่องการคุยกันอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ทุกฝ่ายต้องส่งสัญญาณออกมาก่อนว่าต้องการเจรจา แต่ตอนนี้เหมือนบรรยากาศยังไม่เป็นอย่างนั้น พรก.ฉุกเฉินก็ยังมี เสื้อแดงก็ยังเคลื่อนไหวอยู่

-สภาพตอนนี้เหมือนขิงก็ราข่าก็แรง?

-แน่นอน เพราะมีการฆ่ากัน พอมีเลือดตกยางออกแล้วก็ยากที่จะไว้ใจกัน

-คิดว่าจะใช้เวลาอีกนานไหม กว่าจะผ่านความแตกแยกรุนแรงอย่างนี้?

-สมัยก่อนขึ้นอยู่กับผู้นำมาก เช่นสมัย ร.5 หรือสมัยพลเอกเปรม ที่พยามทำให้สงครามระหว่างคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลยุติลง แต่กว่าจะทำได้ก็ฆ่ากันมาเกือบ 20 ปี ความเปลี่ยนแปลงในเมืองไทยเห็นเค้าลางมาเป็น 10 ปี แต่คนไม่ตระหนักถึงปัญหาของความเปลี่ยนแปลงนี้ อาจจะเริ่มตระหนักบ้าง คือเริ่มพูดความถึงไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ แต่คนชั้นกลางจำนวนมากที่ได้เปรียบก็ยังไม่ตระหนัก ตรงนี้ที่ต้องอาศัยผู้นำที่กล้าหาญ

ที่แอฟริกาใต้แก้ปัญหาได้ก่อนที่ลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง ก็เพราะความกล้าหาญของเมนเดล่า และเดอเคลิร์ก แต่ผู้นำอย่างเดียวก็ไม่พอ สังคมต้องช่วยด้วย ปัญหาตอนนี้คือฝ่ายที่มีอำนาจ ฝ่ายที่ได้เปรียบอยู่ก็กลัวการเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าให้มีการเลือกตั้งที่อิสระเสรีก็กลัวว่าฝ่ายทักษิณจะชนะ เพราะตัวเองเล่นงานทักษิณไว้เยอะ ก็กลัวจะถูกแก้แค้น แต่ละฝ่ายจึงอยู่ในโหมดของการแก้แค้นและการป้องกันตัว จึงไม่มีความไว้วางใจกัน

-มองผู้นำ คือ อภิสิทธิ์ อย่างไร กล้าหาญเพียงพอไหม?

-ต้องมีความกล้าหาญและมีวิสัยทัศน์ด้วย คุณอภิสิทธิ์มีความกล้าหาญระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ได้แสดงออกเท่าที่ควรโดยเฉพาะในยามวิกฤต ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเพราะขาดการมองการณ์ไกล กลัวว่าถ้าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังอาจเกิดปัญหาตามมาในอนาคต แต่ถ้ามีวิสัยทัศน์ก็จะเห็นว่าแน่นอนในระยะสั้นอาจเกิดปัญหา แต่ในระยะยาวอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีก็ได้

เหมือนตอนที่ ร.5 ตัดสินใจสละพื้นที่บางส่วน(ของไทย)ให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส ก็ต้องอาศัยความกล้าหาญ เพราะประชาชนไม่ยอม แต่ท่านก็ยอมเจ็บปวด แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ที่เห็นว่าการสละส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้เป็นเรื่องจำเป็น ถ้าไม่สละเลยอาจเสียหมด

แต่ก็น่าเห็นใจว่าคุณอภิสิทธิ์ ไม่ได้เป็นผู้กุมอำนาจอย่างแท้จริง สมัย ร.5 ตอนนั้นเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว พอคุณอภิสิทธิ์ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริงก็เลยทำอะไรได้ไม่มาเพราะต้องประนี ประนอมกับผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง ก็อาจเป็นไปได้ จึงเป็นข้อจำกัดของคุณอภิสิทธิ์

-ใครคือผู้มีอำนาจที่แท้จริง?

-อาตมาคิดว่าเป็นทหาร ถ้าทหารขู่อย่างเดียวว่าถ้าคุณอภิสิทธิ์ทำอะไรมากจะปฏิวัติ ถ้าเป็นอาตมาก็คิดหนัก เพราะถ้าปฏิวัติอีกบ้านเมืองก็หมดอนาคต

แต่ก็ต้องยอมรับว่าตอนนี้เมือง ไทยไม่มีใครมีอำนาจเด็ดขาดอยู่แล้ว แต่อาตมาคิดว่าคนอย่างคุณอภิสิทธิ์ซึ่งมีสติปัญญา ถ้าสามารถสร้างแนวร่วมได้มากพอ ก็อาจจะมีกำลังพอที่จะผลักดันให้มีการ ปฏิรูปแม้จะไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ แต่เท่าที่ทราบคุณอภิสิทธิ์ไม่ค่อยสนใจหาแนวร่วมเท่าไหร่ แม้แต่คนในพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังบ่น คุณพิชัย (รัตตกุล อดีหัวหน้าพรรค) ก็บ่นว่าคุณอภิสิทธิ์ไม่มาปรึกษา คนในพรรคก็บ่นว่าคุณอภิสิทธิ์คบแต่พวกเดียวกัน

อาตมาคิดว่าคุณอภิสิทธิ์อาจมี วิสัยทัศน์ไกล แต่อาจจะอยู่ท่ามกลางกลุ่มผู้มีอำนาจที่สายตาสั้น คุณอภิสิทธิ์ก็ต้องหาพวก เช่น รัชกาลที่ 5 ก็ต้องหาแนวร่วมซึ่งเป็นกลุ่มสยามหนุ่มเพื่อคานอำนาจกับกลุ่มอำนาจเก่าคือ กลุ่มของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ท่านสามารถดึงอำนาจมาจากกลุ่มอำนาจเก่า จนกระทั่งพวกนั้นไม่มีอำนาจ พวกนั้นประมาทท่านว่าเป็นเด็กเมื่อวานซืน เป็นกษัตริย์ตอนอายุ ๑๕-๑๖ ถ้าคุณอภิสิทธิ์สามารถสร้างแนวร่วมได้แบบนี้ก็อาจจะพอทัดทานกลุ่มอำนาจเดิม และสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเรื่องเป็นราวกว่านี้ สังคมไทยตอนนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว เพราะทรุดเต็มทีแล้ว คุณอภิสิทธิ์ต้องกล้าที่จะขัดใจกับกลุ่มเหล่านี้ ในการสร้างกลไกให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ยิ่งมีกลุ่มคนเสื้อแดงยิ่งต้องเปลี่ยนแปลง เพราะไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่ยอมเหมือนกัน

-คิดว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ กว่าจะเรียบร้อย?

-ที่ผ่านมามีการไปขัดขืนการเปลี่ยนแปลงด้วยการรัฐประหารทำให้บ้านเมือง ถอยหลัง แม้คุณทักษิณจะทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง แต่การรัฐประหารทำให้ถอยหลังยิ่งกว่า ตอนนี้ยังไม่ทันได้พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงเลย คุณกลับหน่วงเหนี่ยวการเปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำ

-ในฐานะที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูป คนภายนอกมองว่าการทำงานที่ออกมาดูเป็นนามธรรม?

-ก็ถูกต้องแล้วที่คนมองอย่างนั้น เพราะกรรมการหลายชุดที่มีขึ้นมาไม่มีผลงานอะไรเป็นรูปธรรม ก็เป็นเรื่องที่ กรรมการปฏิรูปจะต้องพิสูจน์ตัวเอง

ที่เราตั้งธงไว้คืออย่างน้อย 6 เดือนต้องมีอะไรเสนอกับสังคมอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ระดับหนึ่ง ตอนนี้ผ่านมา 2 เดือน อยู่ในขั้นตอนการสร้างกรอบการทำงาน ซึ่งใกล้จะเสร็จแล้ว เราเน้นเรื่องการสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างความเป็นธรรมเราจะเน้น 5 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากร ด้านโอกาส ด้านสิทธิ และด้านอำนาจต่อรอง
ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงการปรับความคิดเข้าหากันด้วย เพราะกรรมการชุดนี้มีความหลากหลายมาก มีคนมองว่ามีทั้งคนที่เห็นใจฝ่ายเสื้อเหลือง และฝ่ายเสื้อแดง

ทั้ง ๕ ประเด็นนี้เราจะมีการเสนอรูปธรรมทั้งระยะสั้นและระยะยาว เดือนหน้าก็จะมีการเปิดตัวสู่สาธารณะ เมื่อครบ ๖ เดือนก็จะเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมและทำได้ทันที ส่วนเรื่องที่แก้ไขได้ยากก็ต้องรอหลัง 6 เดือนไปแล้ว ทั้งนี้เรื่องการเปลี่ยนแปลงเราอย่าไปหวังรัฐบาล ต้องเสนอต่อสังคมให้ขับเคลื่อน ซึ่งคุณอานันท์ (ปันยารชุน ประธานกรรมการปฏิรูป)บอกเราจะเสนอข้อเสนอต่อประชาชน แต่สำเนาถึงรัฐบาล

-ประชาชนควรจะวางใจอย่างไรต่อบรรยากาศความขัดแย้งที่เกิดขึ้น?

-อย่างแรกคือ อยากให้เกิดความเข้าใจในสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องเข้าใจว่านี่ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือความขัดแย้งเชิงบุคคล แต่มันเป็นภาพสะท้อนของความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีรากเหง้ามาจากความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ การดูถูกเหยียดหยาม เพราะยากจนเพราะเป็นคนบ้านนอก ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง

อย่างที่สอง สังคมไทยต้องมีขันติธรรมมากขึ้น ต้องยอมรับและเคารพความเห็นที่ต่างกัน สิทธิในการแสดงความเห็นที่ต่างกัน สิทธิในการแสดงออก ในการประท้วงของทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งเหลืองทั้งแดง

ข้อสาม ต้องมีความเมตตา วันนี้สังคมไทยมาถึงจุดที่ทุกคนเป็นผู้ถูกกระทำ เป็นผู้ทุกข์ทั้งสิ้น ถ้าเราไม่มีเมตตา ไม่มีความรักให้กัน ไม่เห็นใจกัน ก็ลำบาก ตอนนี้เราต้องคิดถึงคนอื่นให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราคิดถึงเฉพาะตัวเอง และพวกของตัวเอง โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำ ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ต้องมีคิดถึงคนอื่นให้มาก

และอีกเรื่องที่สำคัญ คือ ตอนนี้คนไทยมีความคิดแบบอำนาจนิยมทางศีลธรรม คือ คิดว่าคนผิดมีสิทธิเป็นศูนย์ คนที่ทำผิดไม่ว่าจะผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรม เราจะทำอะไรกับเขาก็ได้ ฆาตรกรฆ่าข่มขืนก็โดนคนรุมประชาทัณฑ์ พ่อค้ายาบ้าก็โดนวิสามัญฆาตกรรม โดนฆ่าตัดตอนโดยไม่มีใครว่าอะไร เหมือนกับว่าคนผิดไม่มีสิทธิแม้จะมีชีวิตอยู่ พวกเสื้อแดงก็สมควรตายเพราะทำผิดกฎหมาย อาตมาคิดว่าความคิดแบบอำนาจนิยมทางศีลธรรมเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขด้วย เพราะคนผิดก็มีสิทธิได้รับความเมตตาและความยุติธรรม

-ตอนนี้มีกลุ่มพลังบวกเกิดขึ้น ช่วยได้มากน้อยแค่ไหน?

-ช่วยได้ อย่างน้อยก็ช่วยให้คนไทยไม่มองอะไรติดลบ ทำให้มีความหวังมากขึ้น กลุ่มอย่างนี้ควรจะมีมากๆ และไม่ควรทำเฉพาะเรื่องสโลแกน คือ อาตมาอยากเห็นคนกลุ่มนี้ลงมือทำอะไรที่เป็นบวกด้วย ไม่ใช่แค่คิดบวก เช่นทำกิจกรรมจิตอาสาไปช่วยสังคม ไปช่วยเหลือคนยากคนจน ถ้ามีการขับเคลื่อนอย่างนี้ก็จะทำให้สังคมมีความหวังมากขึ้น และถ้าสามารถผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้วยก็ยิ่งดี

สัมภาษณ์โดยสมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๓
บางส่วนตีพิมพ์ใน กรุงเทพธุรกิจ และ The Nation ฉบับวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๓
ที่มา http://www.visalo.org/columnInterview/Nation_530822.htm