“สิ่งที่ผมเห็นว่า  เช กูวาร่า เหมือนกับ  โต๊ะ โตะ จัง คือการที่เห็นว่า  สิ่งที่อยู่ข้างนอก มีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ  และอาจหาไม่ได้ในห้องเรียน” ถ่ายทอดประสบการณ์ดีๆ โดย พูลสมบัติ นามหล้า สถาบันชุมชนอีสาน และขอบคุณเรื่องราวดีๆ จาก http://esaancommunity.org ของมูลนิธิชุมชนอีสาน

นักอุดมคติหายไปไหน

หายากจริงทุกวันนี้ คนที่มีอุดมคติ อุดมการณ์

ปัจจุบันเราไม่ได้สร้างนักอุดม คติ สร้างแต่ผู้เชี่ยวชาญการทำโครงการ

คำพูดเหล่านี้จะไม่แปลกใจเลยถ้าได้ยินอยู่ที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่แวดวงนักพัฒนา (Social workers) นักกิจกรรมทางสังคม (Activists) ที่อุดมไปด้วยผู้มีประวัติศาสตร์ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นอดีตนักคิด นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สมัย “ตุลา 16” หรือ “ตุลา 19” อดีตสหายที่เคยต่อสู้เพื่อชิงอำนาจรัฐแห่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง ประเทศไทย อดีตบัณฑิตอาสาสมัคร อดีตนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย อดีตนักศึกษาค่ายพัฒนาชนบทที่เคยสัมผัสชีวิตผู้ยากไร้ในชนบทอย่างโชกโชน

บางคนก็ยังยึดมั่นในอุดมคติของตน เองไว้ได้ บางคนก็ปล่อยให้เลือนหายไปกับกาลเวลา บางคนเอาตัวเอง…ไปซบอกนักการเมือง จนกลายเป็นคนที่ได้ดีทางการเมืองแต่ลืมคนจน …ไปซบอกฝ่ายรัฐ ก็กลายไปเป็นขุนนางขี่เครื่องบินไปกลับระหว่างภาคกับ กรุงเทพ โดยมวลชนพี่น้องไม่ค่อยได้เห็นหน้า… ไปซบอกนายทุน บางคนก็เข้าไปดูแลโครงการให้กับฝ่ายที่เคยแต่ทำลาย ทรัพยากร แล้ววันหนึ่งก็จะมาทำโครงการเพื่อสังคม CSR (Corporate Social Responsibility) แต่กลับยืนอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับประชาชน ฝ่ายอนุรักษ์

ไม่ว่าจะอย่างไรตาม  จะอยู่ตรงไหน กล่องไหนก็ตาม  ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นเช่นนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเรามีภาวะผู้นำแค่ไหน อุดมคติในใจของเราคืออะไร “เราจะเข้าไปเปลี่ยนเขา หรือให้เขาเปลี่ยนแปลงเรา” เพราะอุดมคติและอุดมการณ์ที่มั่นคงนั้น เกิดจากการเรียนรู้ ด้วยตนเอง บุคคลแวดล้อม สิ่งแวดล้อม จนสั่งสมความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ความรักในความยุติธรรม การเรียนรู้ที่สำคัญคือการเห็น การได้รับประสบการณ์นั้นโดยตรง การอ่านหนังสือ การเสวนา การอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่ ผู้ที่นับถือ จนเกิดความเชื่อ จิตใจมุ่งมั่นและต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม

การมีสักช่วงเวลาที่ปล่อยวาง มีความคิดอิสระ พบปะกับสิ่งใหม่  อ่อนไหวกับสายลม แสงแดด อาจหาเชื้อไฟมาเติมใจให้ตัวเองบ้าง อาจหาหนังสักเรื่อง หนังสือสักเล่ม วันนี้ผมมีซีดีอยู่หนึ่งแผ่น กับหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ที่อยากจะแนะนำ หนังที่ว่านั้นเกี่ยวกับ เช กูวาร่า นักปฏิวัติที่คนทั่วโลกรู้จักเขาดี เขามีอิทธิพลต่อปัญญาชนหนุ่มสาวผู้ใฝ่ผันอยากสร้างสังคมใหม่ที่ดี งาม และปราศจากการกดขี่ครอบงำ ส่วนอีกเล่มหนึ่งคือ หนังสือเรื่องโต๊ะ โตะ จัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

ผมมีโอกาสดูหนัง The Motorcycle Dairies หรือ “บันทึกลูกผู้ชาย” ช่วงนักศึกษาปริญญาโท ของสถาบัน School for International Training รัฐ Vermont ประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศละตินอเมริกา เช่น โบลิเวีย เปรู ได้พากันจัดฉายภาพยนตร์ให้กับนักศึกษาในประเทศอื่น ๆ ได้ดู ซึ่งผมก็ได้ดูกับเขาด้วย หนังเรื่องนี้กำกับโดย ผู้กำกับบราซิลเลี่ยน Walter Salles ที่นำแสดงโดยนักแสดง Gael Garcia หนังได้กล่าวถึงเมื่อปี 1952 ในช่วงปีการศึกษาก่อนจบ ของนักศึกษาแพทย์ เช กูวาร่า (Che Guevara) ได้เดินทางด้วยมอเตอร์ไซด์กับเพื่อนรุ่นพี่ Alberto Granado ออกจากบัวโนส ไอเรส ( ประเทศอารเจนติน่า) เพื่อที่จะท่องเที่ยวผจญภัยตามประสาคนวัยหนุ่มไป ทั่วทวีปอเมริกาใต้

การผจญภัย กว่า 8,000 กิโลเมตร กับช่วง 4 เดือนในครั้งนี้ของเขาได้เปลี่ยนแปลงความคิด และชีวิตตนเอง จากการได้พบเห็น คนจน คนด้อยโอกาส และความอยุติธรรมในสังคม ด้วย Norton 500 รุ่นเก่า ซึ่งถือเป็นยวดยานที่นำเขาสู่การเปลี่ยนแปลง ตัวเอง สู่ “นักปฏิวัติ” ที่ได้นำพากลุ่มประเทศในแถบอเมริกาใต้ ลุกขึ้นต่อสู้การครอบงำของจักรวรรดินิยมอเมริกาอย่างแข็งกร้าว จนกระทั่งตัวตายในสนามรบ แต่จริงแล้วตัวเขาไม่ตายไปไหนหรอก ยังยืนอยู่ทุกหนแห่งที่ประชาชนพากันต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมใน สังคม

ส่วนหนังสือที่อยากจะแนะนำให้อ่านคือ หนังสือ  “โต๊ะ โตะ จัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” คุโรยนางิ เท็ตสึโกะ ผู้เขียนประวัติในวัยเด็กของตัวเอง ในชื่อหนูน้อย โต๊ะ โตะ จัง ผู้ชอบอยู่ข้างหน้าต่าง แห่งโรงเรียนประถมศึกษา ในกรุงโตเกียว ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะสงบไม่นานนัก เรื่องราวที่ผมรู้สึกว่ารุนแรงที่สุดคือ โต๊ะ โตะจัง ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเก่าขณะเรียนชั้นประถมหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่าเธอ รบกวนเด็กคนอื่นในชั้นเรียน โรงเรียนใหม่ของโต๊ะ โตะ จัง ชื่อโรงเรียนโทโมเอ “โรงเรียนนี้ช่างไม่มีอะไรเหมือนโรงเรียนเก่า ของเธอเลย” ห้องเรียนเป็นตู้รถไฟซึ่งไม่ได้ใช้แล้ว โต๊ะ โตะ จัง คิดว่าโรงเรียนนี้แปลกดี อีกไม่กี่วันต่อมา เธอสัญญากับตัวเองว่า “โรงเรียนดีๆ อย่างนี้ จะไม่ยอมขาดเรียนเลยสักวันเดียว”

ผมมองว่า หนูน้อย  โต๊ะ โตะ จัง ชอบมองออกไปนอกหน้าต่าง และสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นนอกห้องเรียนมากกว่า  การเรียนการสอนอันน่าเบื่อในห้องเรียน ได้ตีแสกหน้าอย่างแรง กับระบบการศึกษาที่พัฒนาเด็กแบบ เอาครูเป็นศูนย์กลาง (Teacher centered approach) ของโรงเรียนเก่า ในขณะที่โรงเรียนโทโมเอ เป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนรู้แบบเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child centered approach)

โรงเรียนโทโมเอ  มีเจ้าของโรงเรียนคือคุณครูโคบายาชิ ซึ่งเป็นครูใหญ่ที่เข้าใจในธรรมชาติของเด็ก ที่ให้นักเรียนเลือกเรียนวิชาที่ชอบก่อน และมีห้องเรียนเป็นรถไฟเก่า เป็นห้องเรียนที่ดูมีชีวิตชีวากว่าห้องเรียนปกติมากมาย ผมคิดว่าในปัจจุบัน มีโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทางเลือกหลายแห่งใน เมืองไทย ที่จัดการศึกษาโดยคำนึงถึงวัย อารมณ์ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้อย่างสอดคล้องเหมาะสม ทั้งอารมณ์ จิตใจ และสติปัญญา

สิ่งที่ผมเห็นว่า  เช กูวาร่า เหมือนกับ โต๊ะ โตะ จัง คือการที่เห็นว่า สิ่งที่อยู่ข้างนอก มีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ  และอาจหาไม่ได้ในห้องเรียน  เชได้ออกไปแสวงหาความจริง และได้พบเห็นโลกแห่งความเป็นจริง ที่มีทั้งการกดขี่ ขูดรีด ความเจ็บป่วยของคนยากจน คนชั้นล่าง จนทำให้เขาได้เปลี่ยนโลกทัศน์ และหล่อหลอมอุดมคติ อุดมการณ์ให้เขาเลือกที่จะยืนอยู่ฝั่งเดียวกับคน ชั้นล่าง จนกลายมาเป็น นักปฏิวัติ ที่นั่งอยู่ในหัวใจคนมากที่สุดคนหนึ่ง ที่เคยมีมาบนโลกใบนี้

ส่วน โต๊ะ โตะ จัง ได้ค้นพบตัวเอง จากเด็กหญิงที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนตั้งแต่อยู่ชั้นประถมปีที่หนึ่ง เคยอยากเป็นสายลับ อยากเป็นพนักงานเก็บตั๋วรถไฟ  อยากเป็นนักเต้นบัลเล่ต์  และอะไรอื่นอีกมากมาย ในที่สุดเธอกลายเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง ได้รับเลือกเป็นฑูตพิเศษของยูนิเซฟแห่งสหประชาชาติ และโต๊ะโตะจังเห็นต่อไปจากการเป็นฑูตพิเศษคือ ภาพเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ

“จำเป็นมากที่คนหนุ่มคนสาวต้องออกนอกประเทศไปดูหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ใช่แค่ไปชมวิวทิวทัศน์นะคะ ถ้าพวกเธอได้เป็นพยานรับรู้ปัญหาทั้งหลายในโลกนี้ วิธีมองโลกของเธอจะเปลี่ยนไป เธอจะรู้ว่าเธอโชคดีและร่ำรวยแค่ไหน แม้ว่าเธออาจจะได้รับความขุ่นเคืองรำคาญ เธอจะเข้าใจว่าเธอปลอดภัยจากการโจมตีทางอากาศและกับระเบิดแค่ไหน” คุโรยานางิ หรือ โต๊ะ โตะ รณรงค์ผ่านการสัมภาษณ์ในนิตยสาร the Japan time ในเดือนกันยายน ปี ๒๐๐๐ เพื่อต่อต้านสงครามทั่วโลก เหมือนกับที่เธอเคยเจอมาแล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
เธอตั้งปณิธานว่าจะเขียนงานซึ่งปลุก เร้าประเด็นปัญหาของเด็ก และให้ความรู้แก่ประชาชนในญี่ปุ่น ซึ่งอาชญากรรมในหมู่ผู้เยาว์กำลังแปรเป็นปัญหาระดับชาติ เธอประณามการที่เด็กตกเป็นเหยื่ออย่างแข็งกร้าว เหมือนเด็กหญิงโต๊ะโตะ คนเดิมที่ต่อสู้ และแก้แค้นแทนเพื่อนเมื่อถูกรังแก

เขียนโดย พูลสมบัติ นามหล้า
วันเสาร์ ที่ 7 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2553

ที่มา http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…