“น่าภาคภูมิใจแทนเด็กนักเรียน ที่มีในคนหมู่บ้านเป็นครู มีแหล่งเรียนรู้ที่สร้างความสนุกสนาน และมากด้วยเนื้อหาสาระ…”
บอกเล่าประสบการณ์การเรียนรู้จากของจริงต่อเนื่องจาก “ห้องเรียนภูมิปัญญา : ดอนเจ้าพ่อพญาหล่ม” ของเด็กๆ โรงเรียนวัดหนองหล่ม โดย ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ
ลงจากหลังวัดหนองหล่ม ลัดหมู่บ้านผ่านสวนลำไยซึ่งกำลังแตกพุ่ม ผ่านทุ่งนาเขียวสดสบายตา ออกสู่ป่าชุมชนดอยผายาย นึกว่าจะไปไกลที่แท้อยู่ใกล้ๆ หมู่บ้าน ป่าแถบนี้ต่างจากป่าต้นน้ำตามดอยสูง หรือป่าดิบชื้นที่มีต้นไม้ใหญ่ไม่ทิ้งใบเขียวตลอดปี ที่นี่เป็นป่าดอยต่ำมีต้นไม้มากมายหลากหลายชนิดก็จริง แต่ต้นเล็กอยู่ในสภาพป่าเพิ่งฟื้นตัว เป็นป่าผสมทั้งป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ที่มีการผลัดใบทุกปี

ครูรัชนี  ธงไชย พร้อมคณะจากโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก, ครูพยุง ใบแย้ม, ครูสารภี มณีจินดา จากจังหวัดกาญจนบุรี, ครูสุภาพ จากเมืองแพร่, พ่ออุ๊ยใจคำ ตาปัญโญ พร้อมคณะอุ๊ยสอนหลาน, พ่อคำอ้าย เดชดวงตา ศูนย์ศิลปะชุมชนเมืองงาว จ.ลำปาง, พ่อครูนันท์ นันชัยศักดิ์ ประธานชมรมฟื้นฟูกวีล้านนา คณะโรงเรียนชาวนาและสามเณรจากเมืองน่าน, คณะกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ เชียงราย, ครูเกริก อัครชิในเรศ, ครูสุเมธสุกิม โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา รวมแล้ว 45 ชีวิต จะจัดเพียงกลุ่มเดียวก็ใหญ่เกิน อาจารย์สุวัฒน์จึงแบ่งเป็น 2 กลุ่ม เพื่อสะดวกในการเดินเส้นทางศึกษาป่าชุมชนดอยผายาย

เริ่ม ล้อมวงคุยกันที่ลานใต้ต้นตุ๊ต ต้นใหญ่กว่าไม้ทั้งปวง เรียงรายล้อมรอบด้วยต้นสัก มีผ้าเหลืองมัดไว้ทุกต้น แสดงให้คนรู้ว่านี่ป่าชุมชนที่คนหนองหล่มหวงแหน โปรดอย่าเข้ามาทำลาย

เส้นทางเดินเป็นแนวกันไฟที่ชาวบ้านช่วยกัน ทำ เพื่อป้องกันไฟป่าในหน้าแล้ง ทางโรงเรียนมองเห็นแนวกันไฟน่าเป็นจะประโยชน์ต่อการเรียนรู้แก่เด็กๆ จึงร่วมกับชุมชนสร้างแนวกันไฟให้กลายเป็นเส้นทางแห่งการเรียนรู้ขึ้นมา ตลอดระยะยาวทางยาวกว่า 2,500 เมตร ต้องเดินเป็นวงกลม และจัดให้มีสาระการเรียนรู้ทั้งหมด 8 จุดด้วยกัน

จุดแรก  “เปิดประตู…สู่ป่าชุมชนดอยผายาย” มี แผ่นป้ายเขียนบอกเล่าถึงการทำลายล้างป่า ด้วยการเผาถ่านและไม้ฟืน ส่งไปเป็นเชื้อเพลิงดันรถจักรไอน้ำ ที่แล่นผ่านบ้านหนองหล่มในยุคแรก ตามมาด้วยยุคการขยายพื้นที่เกษตร และการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อเงินตรา ผลที่ตามมาเกิดความแห้งแล้ง เดือดร้อน จนชาวบ้านต้องอพยพทิ้งถิ่นไปอยู่ที่อื่น ในปี พ.ศ. 2479 พ่อหลวงหมวก ตาสัก และชาวบ้าน จึงประชุมปรึกษาหารือร่วมแก้ปัญหาความแห้งแล้ง ด้วยการสร้างข้อตกลงในการดูแลป่าชุมชนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เดินผ่านจากจุดแรก อาจารย์สุวัฒน์ ขู่ว่า การเดินทางไปจุดที่สอง เป็นการทดสอบว่าร่างกายใครมีความแข็งแรงเพียงใด จะต้องเดินตัดเข้าป่าขึ้นไปจนถึงยอดดอยผายาย จึงไปถึงจุดศึกษา “ดอยผายาย….ดินแดนแห่งผืนป่า”

จากเส้นทางใหญ่เดินสู่เส้นทางแคบๆ มีก้อนหินน้อยใหญ่เต็มทั้งดอย เดินเลียบดอยได้สักพักต้องตัดขึ้นยอดดอยผายาย หัวใจผมเริ่มเต้นแรง หายใจฟืดฟาด ขาสั่นไหว เหงื่อไหลย้อย ในใจนึก…ยังไงก็ต้องให้ถึงยอดดอยให้ได้

ดอยผายายเป็นภูเขาลูกเล็กๆ อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ผายายเป็นชื่อหน้าผาสูง 5 เมตร มีความยาวประมาณ 50 เมตร ยืนตรงจุดนี้สามารถชมวิว มองเห็นทัศนียภาพของหมู่บ้านสวยงามได้อย่างชัดเจน บริเวณนี้เป็นแหล่งที่ชาวบ้านเข้ามาหาอาหารป่า เพระมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติมาก มีเห็ดหล่ม เห็ดละโขก เห็ดเผาะ ฯลฯ และมีผักหวาน ผักสาบ หน่อไม้ ไข่มดแดง  จักจั่น ฯลฯ บริเวณนี้ชุมชนจึงกำหนดเป็นเขตห้ามตัดไม้ และเป็นเขตปลอดไฟป่า ปัจจุบันเริ่มมีหมูป่า เก้ง ไก่ป่า เริ่มเข้ามาอาศัยหากินบ้างแล้ว

ลง จากยอดดอยผายาย  เดินสู่จุดศึกษา “หลากพฤกษา..ที่สูงค่าจากขุนเขา” มี ลำไม้ไผ่ตีล้อมพื้นที่ป่าไว้ กว้าง 10 เมตร ยาว 10 เมตร ทำไว้ให้เด็กๆ สำรวจนับพันธุ์ไม้ว่ามีกี่ชนิดในพื้นที่ 10 ตารางเมตร แล้วคำนวณกับพื้นที่ทั้งหมด เป็นการเรียนรู้เรื่องความหลากหลายของพันธุ์พืชที่ขึ้นในป่า แต่ละชนิดอิงแอบอาศัยกันและกัน ต้นหญ้า เถาวัลย์ มอส เฟิร์น ไลเคน ในร่มพื้น พืชต่ำ พืชขนาดกลาง พืชขนาดใหญ่ หลากหลายชนิด เรียนรู้พันธุ์พืชพร้อมๆ กับเรียนวิชาคณิตศาสตร์ไปด้วย

เดินต่อไปอีกไม่ไกลนัก ก็เข้าสู่พื้นที่ศึกษา  “ร่วมลำเนาสร้างสรรค์…..สมุนไพร” กิจกรรม ตรงจุดนี้เรียนรู้สนุกสนาน ให้เด็กๆ เดินเข้าสู่ประตูเขาวงกต เดินวกไปวนมา หาทางออกให้ได้ ถ้าเดินผิดทาง ต้องย้อนกลับหาทางออกใหม่ ในช่วงเดินวนไปวนมาในเขาวงกต มีรูปมีเอกสารให้ความรู้ สรรพคุณ และการใช้สมุนไพรในป่าให้อ่าน แก้เวียนหัวไปด้วยจนกว่าจะหาทางออกเจอ

มาถึงจุดศึกษาที่ 5 “มวลปักษา…งามวิไลม่อนดินแดง” อาจารย์ สุวัฒน์ บอกว่าเป็นจุดที่เด็กมาเรียนรู้เรื่องการดูนก ที่โรงเรียนมีกล้องดูนกพร้อมกับคู่มือดูนก เด็กต้องเรียนรู้การพลางตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เรียนรู้วิธีใช้กล้อง ใช้คู่มือดูนก แค่เริ่มส่องกล้องก็เท่ห์แล้ว ยิ่งส่องเห็นนกด้วยนะใจมันเต้นตุ่มๆ ต๋อมๆ แต่เสียดายวันนี้เวลาที่คณะเราไปถึงไม่เหมาะนัก บ่าย 3 บ่าย 4 จึงไม่มีนกป่าบินมาให้ดูกัน ผมนึกนกจะมาได้อย่างไรมีทั้งเสื้อสีแดง สีขาว สีเหลือง แถมยังเดินคุยกันมาลั่นป่า

เดินลุยฝ่าดินแห้ง ลงร่องห้วย ขึ้นเนินไม่นานนักก็เข้าสู่จุดศึกษา “สุดแสนมหัศจรรย์….ถ้ำดิน” ใน พื้นที่ป่าชุมชนบ้านหนองหล่ม มีถ้ำดินอยู่หลายแห่งให้เด็กๆ ได้เรียนรู้กัน ถ้ำดินเกิดจากการยุบตัวของดินที่ไม่เท่ากัน จึงเกิดเป็นโพรงดินลึก ชาวบ้านใช้เป็นทั้งที่หลบร้อนขณะเอาควายมาเลี้ยงในป่า และเป็นที่หลบภัยสงครามในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หน้าถ้ำดินผมเห็นหว่านนกคุ่มกำลังออกดอกสีขาวแตะตา

เดินผ่านร่องดินที่ถูกน้ำกัดเซาะ เป็นร่องยาว ดูไม่น่าสนใจ แต่โรงเรียนกับชาวบ้านสร้างเป็นจุดศึกษา “เหนี่ยวรั้งแผ่นดิน….ด้วยผืนป่า” ชี้ ให้เห็นว่าตรงบริเวณไหนที่มีต้นไม้ขึ้น จะมีความร่มรื่นชุ่มชื้น ตรงที่ไม่มีต้นไม้ดินจะแห้ง ดินถูกกัดเซาะทำลายได้ง่าย เรียนรู้แบบดูให้เห็นชัดๆ กันไปเลย เห็นแล้วแทบไม่ต้องมีคำอธิบาย

มัวดูโน่นดูนี่  ฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้ อ้าว..เดินมาถึงจุดศึกษาสุดท้ายแล้ว “ประวัติศาสตร์เลิศล้ำค่า…หนองบัว” เดิมที เส้นทางตามแนวชายป่าชุมชนดอยผายายนั้น เคยเป็นเส้นทางเดินเชื่อมระหว่างบ้านน้ำพุกับบ้านหนองหล่ม ต่อไปถึงบ้านอื่นๆ ในอำเภอแม่ทา ระหว่างทางเดินมี “บ่อหิน” ที่มีน้ำออกมาเต็มบ่อตลอดปี ชาวบ้านเล่าว่า บ่อหินเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านใช้ดื่มกิน ต่อมามีคนมาลักลอบขโมยของศักดิ์สิทธิ์ไป น้ำในบ่อหินจึงแห้งลง ปัจจุบันชาวบ้านหนองหล่มร่วมกันขุดบ่อขยายเป็นบ่อน้ำเพื่อการเกษตร พร้อมกับตั้งศาลเจ้าพ่อหนองบัว เป็นที่เคารพสักการะ มีการเซ่นไหว้กันทุกปี

เดินครบรอบมานั่งรอกันที่ลานใต้ต้นตุ๊ด พวกเราเป็นห่วงพ่ออุ๊ย พ่อครูที่สูงวัย พ่ออุ๊ยใจคำกับพ่อครูนันท์ เดินมาถึงบอกว่ายังไหว สบายมาก แถมพ่อครูนันท์ยังจ้อยเรื่องราวป่าไม้ และนกไพรให้ฟังกันกลางป่า ในชีวิตนี้หาอรรถรสแบบนี้ได้ยากยิ่ง

น่าภาคภูมิใจแทนเด็กนักเรียน โรงเรียนบ้านหนองหล่ม ที่มีแหล่งเรียนรู้ที่สนุก  มากด้วยเนื้อหาสาระ  มีคุณครูที่คอยพาเดินป่าหาความรู้ มีทุกๆ คนในหมู่บ้านเป็นครู ช่วยบอกช่วยสอนแบบง่ายๆ จากของจริง ได้ทั้งความรู้ ได้เหงื่อ ได้สนุกไปพร้อมกันด้วย

เขียนโดย ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ
วันอาทิตย์ ที่ 18 เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2553

ที่มา http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…