เราต้องการมีชีวิตอยู่อย่างไร?” บทใคร่ครวญตัวตนภายใน เพื่อการดำรงอยู่อย่างดีงามร่วมกัน…มอบเป็นพิเศษแด่คนรุ่นใหม่ที่ยังสับสน กับแนวทางการดำเนินชีวิต…..เรื่องโดย ปราณ ป้องถิ่น ในวาระขอลี้ภัยทางโลก ไปศึกษาธรรมะ หรือเข้าสู่ร่มกาสาวพักตร์ในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ ผมจำได้ว่าเมื่อครั้งผมกับเพื่อนๆ  เข้ารับการอบรมเพื่อเตรียมตัวก่อนที่จะลงพื้นที่ ไปทำงานเป็นอาสาสมัครรุ่นที่ 24 ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ระหว่างวงคุยซักซ้อม ได้เปิดโอกาสให้มีการซักถามพี่ๆ เจ้าหน้าที่ มอส. เพื่อนอาสาสมัครบางคนจึงมีคำถามว่า “งานนี้มีสวัสดิการอย่างไร?” หรือ “พอจบจากการเป็นอาสาสมัครแล้วจะมีงานอย่างอื่นรองรับหรือไม่? (โดยเฉพาะงานราชการ)” หรือแม้แต่ “เป็น NGOs แล้วจะมีความมั่นคงไหม?” อะไรเทือกนี้ ในห้วงเวลานั้นถึงแม้ว่าผม (และเพื่อนคนอื่นๆ ด้วย) จะไม่ได้เป็นคนตั้งคำถาม แต่พวกเราก็นึกในใจว่า ขอสนับสนุนกับคำถามเหล่านั้นทุกประการ ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็คือ

“การเป็นอาสาสมัครนั้นเป็นการเรียนรู้สังคม เพื่อให้เกิดความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่เราลงพื้นที่ไปทำงานด้วย เพราะที่ผ่านมาชีวิตในระบบการศึกษา มันสั่งสอนให้เราเห็นแก่ตัว เร่งเรียนให้จบๆ เอาใบปริญญาไปหาสมัครงาน หรือสอบบรรจุเข้าเป็นข้าราชการ มีครอบครัว มีบ้าน มีรถยนต์ก็บรรลุเป้าหมายในชีวิตแล้ว แต่ไม่เคยสนใจใครก็ตามที่กำลังตกทุกข์ได้ยากอยู่รายทาง”

“ดังนั้น การเป็นอาสาสมัครอย่างน้อยยังทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นบ้าง คนที่ด้อยโอกาสกว่าเรายังมีอีกมากมาย หรือเข้าใจว่าคนจนไม่ได้จนเพราะขี้เกียจ….เผื่อว่าสักวันหนึ่งเราไปอยู่ ที่หนแห่งใหม่ หรือทำงานร่วมกับคนอื่น ก็จะได้นำประสบการณ์เหล่านี้ไปใช้ได้ ส่วนเรื่องความมั่นคงในงานนี้ไม่มีหรอก ไม่เหมือนงานราชการ แต่เท่าที่พี่ทำงานนี้มาก็ยังไม่เคยปรากฏว่ามี NGOs คนไหนอดตายนะ” (ตอบได้สะใจมาก!) ฟังดูแล้วก็งงเพราะมันเป็นนามธรรมมาก

คราวนี้ก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งโยนคำถามมาถึง พวกเราบ้างว่า “แล้วเราต้องการมีชีวิตอยู่อย่างไร?…” ซึ่งเป็นคำถามที่ยังไม่ต้องการคำตอบ แต่อยากให้ทุกคนไปเสาะแสวงหา จากช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตกับการเป็นอาสาสมัครทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่ส่วน ใหญ่เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

ตลอดระยะเวลาคำถามนี้ก็ยังก้องอยู่ในโสต ประสาทของผมเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกันผมก็ได้เผชิญและผ่านพ้นกับความสับสนและเจ็บปวดจากเหตุการณ์ภายใน และภายนอกตัวเอง มาบ่อยครั้งเช่นเดียวกัน

ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงสักเรื่อง  คือผมมีเพื่อนคนหนึ่งเราเรียนจบมัธยมมาด้วยกันเรามีพื้นฐานของความเป็นเด็ก ชนบทด้วยกัน นายคนนี้เป็นคนเรียนเก่งมากเป็นที่  1 ของห้อง และของโรงเรียนมาโดยตลอด เขาเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี มีความเอื้อเฟื้อเพื่อนฝูง (ให้ลอกการบ้านด้วย…ฮา) เห็นอกเห็นใจคนอื่นเมื่อเห็นว่าด้อยโอกาสกว่า เสนอตัวช่วยเหลืองานโรงเรียนไม่ขาด เรียกว่าเก่งแต่ไม่เห็นแก่ตัว เมื่อจบมัธยมเขาก็สอบเข้าเรียนในคณะแพทย์ฯ ของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง และก็ได้เป็นหมอตามความใฝ่ฝัน เมื่อเรามาเจอกันอีกทีเขาขับรถยนต์มาหาผมถึงที่บ้าน ดูภูมิฐาน และน่านับถือมาก เราต่างพูดคุยกันอย่างสนุกสนานตามประสาเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนานเกือบ 10 ปี

หลังจากเราแยกจากกันวันนั้น เขาก็โทรมาหาผมอีก 2-3 ครั้ง เพื่อชักชวนให้ผมเข้าร่วมทำธุรกิจกับผลิตภัณฑ์ขายตรงยี่ห้อดัง โดยเขาอ้างว่าผมทำงานกับกลุ่มคนจำนวนมาก เข้าพบปะผู้คนเป็นประจำต้องทำยอดขายได้ดีอย่างแน่นอน…ซึ่งผมก็ปฏิเสธ เพื่อนไปพร้อมให้เหตุผลว่า กลุ่มเป้าหมายที่เราทำงานด้วยมีพื้นฐานทางสังคมที่แตกต่างกัน แต่เขาก็ไม่ละความพยายามมาตื้อผมถึงที่บ้านอีกครั้ง โดยเกลี้ยมกล่อมอยากให้ผมไปประชุมด้วยเพื่อรับฟัง และตัดสินใจทำธุรกิจกับเขา

“นายจะต้องมีครอบครัวที่มั่นคง ครัวครอบนายจะต้องมีบ้าน มีรถ นายควรมีสวัสดิการดีๆ ให้กับพ่อแม่ ลูกเมีย (ถ้ามี) นายจะได้สุขสบาย นายจะเห็นแก่ตัวไปถึงไหน นายจะทิ้งคนข้างหลังแล้วเดินไปหาความสุขเพียงลำพังเชียวหรือ” (กูมันแย่ขนาดนั้นเลยหรือว่ะ!) เป็นประโยคที่เพื่อนผมกล่าวทิ้งท้ายก่อนจากกันไปอีกครั้ง และก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย หลังจากเป่ากระหม่อมผมไม่สำเร็จ แต่ก็ยังทราบข่าวของกันและกันผ่านเพื่อนคนอื่น ซึ่งเขาก็มีภรรยาที่ดี มีบ้าน มีรถยนต์ มีความสุขตามนิยามของเขาสมใจอยากแล้ว

ผมก็ได้แต่นั่งเวทนาว่า เพื่อนผมและภรรยาของเขาต่างก็เป็นหมอกันทั้งคู่ แต่ต้องมาขายผลิตภัณฑ์จำพวกนี้ และยังบอกว่ามันเป็นรายได้หลัก (ทำให้มีบ้าน มีรถยนต์) แล้วพาลให้ผมคิดเลยเถิดไปถึงคนป่วย ที่รอความช่วยเหลือจากหมอที่โรงพยาบาล จะเป็นอย่างไรกันบ้างหนอ? และนี่หรือคือระบบสวัสดิการด้านสาธารณสุขที่ดีๆ?

แล้วก็กลับมาคิดทบทวนโจทย์ที่ว่า “เราต้องการมีชีวิตอยู่อย่างไร?…” ซึ่งในหลายครั้งเมื่อผมพบเห็นขอทานใต้สะพานลอย เห็นคนเก็บขยะ เห็นกรรมกรแบกหาม หรือแม้แต่เห็นชาวนาชาวไร่ ที่ทำงานตั้งแต่ตะวันยังไม่โผล่จนถึงตะวันตกดิน ผมก็ใคร่ครวญและมักจะพูดกับคนอื่นอยู่เสมอว่า “เรายังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเขาเหล่านั้นมาก” และอีกอย่างเราก็ยังไม่อดตายจริงๆ ด้วย!

ถึงแม้ว่างานที่ผมทำมันเป็นสิ่งเล็กๆ และไม่มีเกียรติยศอะไรมากมายนัก แต่ผมก็เชื่อในสิ่งที่ผมทำว่า มันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม ควบคู่ไปกับการมีชีวิตที่เป็นสุข ซึ่งผมก็มีความภาคภูมิใจว่า ผมเป็นคนเล็กๆ คนหนึ่งที่มีส่วนช่วยทำให้ชาวบ้านได้เข้าใจในสิทธิของตนเอง และนำไปสู่การรวมตัวกันลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น ให้หลุดพ้นจากความละโมบของนายทุน ขณะเดียวกันผมก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากชาวบ้าน ที่ไม่เคยมีสอนในตำราเรียน และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ผมได้เข้าใจ “คุณค่าของการได้เกิดมาเป็นคน” มากยิ่งขึ้น

ผมขบคิดอยู่หลายครั้งว่า ทำไมพระท่านจึงถือสมณะเพศได้จนวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ปุถุชน (แปลว่าผู้ที่มีกิเลสหนา) อย่างเราๆ แค่มีเงินน้อยก็เป็นทุกข์ หรือมีกิ๊กคนเดียวก็ไม่พอ ฯลฯ ดังนั้น ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีสงครามให้เราต้องลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้ แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับคนเราก็คือ การต่อสู้กับกิเลสภายในตัวตน ซึ่งมีอยู่กันทุกคนภายใต้สังคมแห่งการบริโภค นี่แหล่ะคือตัวศัตรูที่ร้ายกาจที่สุด ซึ่งผมก็เฝ้าครุ่นคิดอยู่เสมอว่า ถ้าผมต่อสู้กับศัตรูตัวนี้ได้ ก็จะเป็นการตอบโจทย์ ทั้งหมดว่า “นี่คือชีวิตความเป็นอยู่ที่ผมต้องการแล้ว” จงเพียรถามตัวเองว่า “ความคิดขถบในตัวเรา ถึงพร้อมแล้วหรือยัง?”

เพราะหัวใจเจ้าเป็นอิสระ…จงกล้าที่จะพามันไป!

————
หมายเหตุ ~~ ตีพิมพ์แล้วในคอลัมน์เบิ่งคักคัก ในจดหมายข่าวชุมชนคนฮักถิ่น ฉบับที่ ๖๔ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ ของศูนย์สื่อชุมชนเพื่อการพัฒนา

เขียนโดย ปราณ ป้องถิ่น
วันอาทิตย์ ที่ 18 เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2553

ที่มา http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…