พระไพศาล วิสาโล
ปาฐกถาในงานแจกรางวัลคลิปวีดีโอสุขแท้ด้วยปัญญา

 

การที่เราจะมีความสุขท่ามกลาง สถานการณ์ที่ขัดแย้งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะเมื่อเหตุการณ์นั้นลงเอยด้วยความแตกหักจนมีการทำร้ายและสร้างความ พินาศให้แก่กันและกัน ในสถานการณ์เช่นนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะรักษาใจให้เป็นสุขได้ แต่นี่ก็เป็นการบ้านที่ท้าทายสติปัญญาของเรา

พุทธศาสนานั้นสอนว่า ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา จะดีหรือร้ายก็ตาม เราต้องหาประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นให้ได้ แม้ว่ามันจะกลายเป็นอดีตไปแล้ว อีกทั้งการไปนึกถึงมันจะทำให้เจ็บปวดก็ตาม แต่สิ่งที่ควรทำย่อมไม่ใช่การละเลยหรือหลงลืมมัน คนเรานั้นสามารถที่จะจดจำเหตุการณ์หรือประสบการณ์อันเลวร้ายได้โดยที่ไม่ รู้สึกเจ็บปวด “จำโดยไม่เจ็บ”นั้นเป็นไปได้ แต่ถ้าจำไม่เป็นก็จะเจ็บปวดเคียดแค้น

จำโดยไม่เจ็บหมายความว่าเรา สามารถมองทะลุเหตุการณ์ จนกระทั่งสามารถเก็บเกี่ยวบทเรียนที่จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตและสังคมของเรา ความทรงจำที่เจ็บปวดหรือความทรงจำอันเลวร้ายนั้นมันมีพิษภัยหรือหนามแหลมที่ ทิ่มแทงใจ แต่เราต้องฉลาดในการถอนพิษหรือถอนหนามแหลมออกจากความทรงจำนั้น ถ้าเราถอนพิษหรือหนามแหลมได้ ความทรงจำนั้นจะไม่ทำร้ายเราอีกต่อไป ตรงกันข้ามเมื่อใคร่ครวญถึงมัน เราจะได้รับบทเรียนที่เป็นประโยชน์อย่างมาก

มนุษย์เราไม่มีความสามารถพอที่ จะกำหนดหรือควบคุมให้มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา แต่เรามีอิสรภาพพอที่จะเลือกได้ว่า จะยอมให้ประสบการณ์ที่ไม่ดีนั้นมาทำร้ายจิตใจเราได้มากน้อยแค่ไหน เราสามารถเลือกได้ว่าจะมีปฏิกิริยาหรือรู้สึกกับมันอย่างไร อีกทั้งเรายังมีอิสรภาพที่จะให้ความหมายใหม่แก่เหตุการณ์เหล่านั้น พูดง่ายๆ คือเราสามารถจะเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้ แม้ว่าเราจะเปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนความหมายของมันหรือเก็บเกี่ยวบทเรียนจากมันได้ ความตายหรือความสูญเสียนั้นจะมองว่าเป็นเคราะห์ก็ได้ หรือมองว่าเป็นโชคที่ฝึกใจเราให้เข้มแข็งหรือสอนใจเราให้ฉลาดก็ได้ มันจะเป็นเคราะห์หรือโชคอยู่ที่เราเลือก อยู่ที่มุมมองของเรา

อาตมาคิดว่าความขัดแย้งในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาให้บทเรียนกับเราอย่าง น้อย สี่ประการถ้าเราเข้าใจก็สามารถจะซึมซับรับเอาบทเรียนนั้นมาเป็นต้นทุนในการ สร้างความสุขให้แก่เราได้ หรืออย่างน้อยก็ป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์อย่างเดียวกันนี้ได้ในอนาคต บทเรียนอะไรบ้างที่เราสามารถจะเก็บเกี่ยวได้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา อาตมาไม่มีเวลาที่จะอธิบายมาก แต่อยากจะฝากข้อคิดเอาไว้อย่างน้อยสี่ประการ ก็คือว่า

๑. คนเราเมื่อเราหลงติดในตัณหามานะทิฏฐิ เต็มไปด้วยความโกรธเกลียด ก็สามารถทำอะไรได้ทั้งนั้น รวมทั้งทำร้ายกันและกันด้วย (ตัณหาคือความติดยึดในผลประโยชน์ ทิฏฐิคือความติดยึดในความคิดเห็นรวมทั้งอุดมการณ์ มานะคือความถือตัวว่าสูงกว่า ถูกต้องกว่า ประเสริฐกว่า ดีกว่า)

๒. ถ้าเราใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง จะไม่เกิดผลดีแก่ใครเลย เพราะทุกฝ่ายจะกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

๓. เมื่อทุกฝ่ายต้องการเอาชนะ ไม่ยอมถอย ย่อมก่อความพินาศแก่กันและกันรวมถึงส่วนรวมด้วย

๔. สังคมใดที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและมีความไม่เป็นธรรม ย่อมเกิดความแตกแยกและหนีความรุนแรงไม่พ้น

ถ้าหากว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะ มีประโยชน์แก่สังคมไทย ก็อยู่ตรงที่มันชี้ให้เราเห็นถึงบทเรียนสี่ประการที่ว่า (ความจริงบทเรียนอาจมีมากกว่านี้) เราจะต้องจดจำบทเรียนเหล่านี้เพื่อนำพาชีวิตและสังคมไทยให้หลุดพ้นขวากหนาม รวมทั้งกับดักความรุนแรง ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ก็จะนำพาสังคมไทยให้ถึงซึ่งความสุข เป็นสุขที่เกิดจากปัญญา เป็นสุขที่พร้อมเผชิญหน้ากับความจริง ไม่ใช่หลีกหนีความจริง ไม่ใช่เอาแต่เรียกร้องให้สมานสามัคคีกันด้วยคำขวัญ หรือด้วยการขอร้องให้เราลืมเหตุการณ์ในอดีต

ที่พูดมานี้คือหนทางสู่ความสุข ด้วยปัญญา แต่เป็นความสุขในระดับสังคม หรือในระดับ
ประเทศชาติ แต่ความจริงเฉพาะหน้าในตอนนี้คือว่า ผู้คนทั้งหลายมีความทุกข์กันมาก ช่วงนี้เราก็คงได้ยินผู้คนเรียกร้องว่า “ขอความสุขคืนกลับมา” มีการร้องเพลงขอความสุขคืนกลับมา อันนี้เป็นเรื่องที่ดีมากเลย แต่ว่าเท่านี้คงไม่พอ แม้ความสุขกลับคืนมา แต่ถ้าใจเราไม่เปิดรับความสุข เราก็ไม่มีวันเป็นสุขได้ ตอนนี้ความสุขอาจจะคืนกลับมาแล้วก็ได้ แต่เราต้องถามตัวเองว่าใจเราเปิดรับความสุขแล้วหรือยัง คนเป็นจำนวนมากใจยังไม่เปิดรับความสุข ความสุขมาแล้ว แต่ใจยังไม่ยอมเปิด เหมือนกับเพื่อนรักที่มาอยู่หน้าประตูแล้ว แต่เราไม่ยอมเปิดประตู

เราจะมีความสุขได้ใจเราต้องเปิด รับความสุขเสียก่อน แต่ที่ใจยังปิดก็เพราะว่ามันมีอะไรบางอย่างขวางกั้นอยู่ มีอะไรบ้างที่ขวางกั้นไม่ให้ใจเปิดรับความสุข ประการแรกคือความโกรธเกลียด ความโกรธเกลียดที่ฝังแน่นในใจเป็นตัวขวางกั้นใจไม่ให้เปิดรับความสุข ถ้าเราไม่สามารถจัดการกับความโกรธเกลียดในใจได้ก็ยากที่จะมีความสุข จะมีก็แต่ความรุ่มร้อนในจิตใจ เราจะทำให้ความโกรธเกลียดคลายไปจากใจได้อย่างไร มีหลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่อยากจะพูดให้เข้ากับหัวข้อในวันนี้คือการเห็นความเป็นมนุษย์ ของกันและกัน เราโกรธเกลียดก็เพราะเห็นผู้อื่นเป็นศัตรู และเมื่อเราเห็นใครเป็นศัตรูเราก็จะไม่เห็นเขาเป็นมนุษย์ เราจะเห็นเขาเป็นปีศาจ เป็นยักษ์มาร หรือว่าต่ำกว่าความเป็นมนุษย์นั่นคือเป็นเดรัจฉาน คนเราจะไม่สามารถทำร้ายกันได้ถ้าเราเห็นซึ่งกันและกันเป็นมนุษย์ และเราจะโกรธเกลียดกันไม่ได้ถ้าเราเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ทุกวันนี้เราติดป้ายตีตราอันเลวร้ายให้แก่กันและกันจนไม่สามารถมองเห็น มนุษย์ของกันและกันได้ อันนี้เป็นประเด็นแรกที่อยากจะชวนให้เราทำกัน

ถ้าเราเห็นความเป็นมนุษย์ของกัน และกันแล้ว เราจะโกรธเกลียดกันได้ยาก และเราจะไม่เห็นว่าเขาเป็นศัตรู แต่เราจะเห็นว่าศัตรูที่แท้จริงคือความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท มนุษย์ไม่ใช่ศัตรูของเรา ความโกรธ ความเกลียด ความโลภ ความเห็นแก่ตัวต่างหากที่เป็นศัตรู ถ้าเราเห็นมนุษย์เป็นศัตรูเราจะใช้ความรุนแรงเพื่อกำจัดเขา แต่ถ้าเราเห็นความโกรธความเกลียดเป็นศัตรู เราจะหันมาใช้ความรัก หันมาใช้ความเมตตา หันมาใช้ความดี

การมีขันติธรรมก็สำคัญเพราะทำให้เราสามารถอดทนต่อความเห็นที่แตกต่างกัน ได้ เราโกรธเกลียดเพราะว่าเราทนไม่ได้กับความเห็นที่แตกต่างจากเรา ใครก็ตามที่เห็นต่างจากเรา เราก็จะผลักเขาให้ไกลออกไป แม้ว่าคนนั้นจะเป็นคนที่เรารัก เป็นพี่เป็นน้อง เป็นภรรยาเป็นสามี เพียงแค่เห็นต่างจากเรา เราก็ผลักเขาออกไปไกล จนมองเขาเป็นศัตรู

อย่างไรก็ตามขันติธรรมจะเกิด ขึ้นได้ก็ต้องมีปัญญา คือการเห็นความจริงว่ามนุษย์เรานั้นแตกต่างกันได้ แม้แต่เราเองวันนี้ก็ยังคิดไม่เหมือนกับเมื่อวาน แม้แต่เราเองก็ยังเถียงกันอยู่ในใจ ราวกับมีสองคนอยู่ในตัวเราเวลาจะทำอะไรก็ตาม แม้แต่เวลาจะไปเที่ยว ดังนั้นความแตกต่างจึงเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเรามีปัญญาเห็นความจริงข้อนี้ เราก็จะอดทนต่อความแตกต่างและมีความใจกว้างได้

ปัญญายังช่วยให้เราเห็นด้วยว่า มันไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน คนที่เกลียดกันวันนี้ วันหน้าก็อาจจะรักกันได้ คนที่เคยพยายามเข่นฆ่ากันเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว หลัง ๖ ตุลา ๑๙ ทหารกับนักศึกษาประชาชนจำนวนหนึ่งได้จับอาวุธเข่นฆ่ากัน ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายรัฐ ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่ว่าวันนี้คนที่เคยไล่ล่าเข่นฆ่ากันก็กลับมาเป็นเพื่อนกัน อยู่พรรคการเมืองเดียวกัน เล่นกอล์ฟก๊วนเดียวกัน ร้องเพลงคาราโอเกะด้วยกัน

ถ้าเรามีปัญญาสามารถเห็นความ จริงในมุมที่กว้างไกลก็จะตระหนักว่าคนที่โกรธเกลียดกันในวันนี้ พรุ่งนี้ก็อาจจะเป็นเพื่อนกันได้ แล้วเราจะเข่นฆ่ากันไปทำไม ปัญญาทำให้เรามองไกลและใจกว้าง ทำให้เราโกรธเกลียดกันได้ยาก รวมทั้งสามารถคลายความโกรธเกลียดลงได้ ไม่ใช่กดข่มความโกรธเกลียดเอาไว้ แต่ว่ารู้ทันมัน รู้ว่าเป็นธรรมดา แล้วมันก็จะหายไป

นอกจากความโกรธเกลียดแล้ว ยังมีอารมณ์อย่างอื่นอีกที่ขวางกั้นใจไม่ให้เปิดรับความสุข เช่น ความเจ็บแค้น ความเศร้าโศก อันนี้ก็สืบเนื่องมาจากการที่ต้องสูญเสียสิ่งรัก ต้องสูญเสียคนรัก ซึ่งมีอยู่จำนวนมากเวลานี้ ไม่ว่าเหลืองหรือแดง ก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่สูญเสีย พ่ายแพ้ เป็นผู้ที่ต้องเจ็บปวด เศร้าโศก สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราคลายความเศร้าโศกได้ คือการได้เห็นความทุกข์ของผู้อื่น เมื่อเรารู้ว่ามีคนอื่นที่ทุกข์เหมือนเรา หรือทุกข์ยิ่งกว่าเรา เราก็จะทำใจยอมรับความสูญเสีย ยอมรับความเจ็บปวดได้ง่ายขึ้น อาจจะยอมรับไม่ได้ทั้งหมด แต่ว่ามันช่วยได้

เมื่อเราเปิดใจรับรู้ความทุกข์ ของผู้อื่น รวมทั้งความทุกข์ของผู้ที่อยู่คนละฝ่ายกับเรา มันจะช่วยทำให้เราเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับตัวเขาได้ เพราะเวลารู้สึกว่าเราเป็นฝ่ายถูกกระทำ และอีกฝ่ายเป็นผู้กระทำเรา เราจะมีความเคียดแค้น แต่ถ้าเราเปิดใจรับรู้ความทุกข์ของฝ่ายตรงข้ามและพบว่าเขาเองก็เป็นผู้สูญ เสียเหมือนกัน เราไม่ได้เป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียวเท่านั้น เขาเองก็ถูกกระทำด้วยเช่นกัน เราต่างสร้างความทุกข์ให้กันและกัน และเราก็เป็นผู้รับผลพวงแห่งความทุกข์เสมอหน้ากัน ก็จะทำให้เราเห็นผู้อื่นเป็นเพื่อนทุกข์ ไม่ใช่ศัตรู มันจะช่วยทำให้เราคลายความเศร้าโศก คลายความคับแค้นได้

มาถึงตรงนี้พอเราเห็นว่าทุกคน เป็นเพื่อนทุกข์ การที่จะหันหน้าเข้าหากัน ปรับทุกข์แก่กันและกัน หรือแม้แต่การให้อภัยกันก็เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าใครก็ตามที่ประสบความทุกข์เวลานี้ อยากจะให้ตระหนักว่าไม่มีใครจะทำให้เราทุกข์ใจได้นอกจากตัวเราเอง คนอื่นนั้นทำได้อย่างมากก็แค่ทำลายทรัพย์สินของเราหรือว่าทำร้ายร่างกายของ เรา แต่ไม่สามารถทำร้ายจิตใจเราได้ คนเดียวที่ทำร้ายจิตใจเราได้คือตัวเราเอง เราทำร้ายจิตใจตัวเองด้วยการเก็บสะสมความโกรธ ความคับแค้น รวมทั้งความอาลัยในอดีต

เมื่อใครบางคนพบว่าตัวเองเป็น มะเร็ง ก้อนมะเร็งนั้นทำได้อย่างมากก็แค่บั่นทอนร่างกายของเขา แต่ไม่สามารถบั่นทอนจิตใจเขาได้ มีแต่เจ้าตัวนั่นแหละที่จะทำร้ายจิตใจของตัวเอง เราทำร้ายจิตใจด้วยการยึดติดในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่ยอมปล่อยวางความโกรธ ความคับแค้น ความเศร้าโศก หลวงพ่อชา สุภัทโท พูดไว้น่าฟังว่า “ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหยุด ทุกข์หลุดเพราะปล่อย”

ใครก็ตามที่มีความทุกข์เวลานี้ อาตมาอยากจะให้ตระหนักว่าไม่มีใครทำให้เราทุกข์ใจได้นอกจากตัวเราเอง คนอื่นนั้นเขาทำได้อย่างมากก็แค่ทำลายทรัพย์สินของเรา หรือทำให้เราเจ็บป่วย แต่จิตใจนั้นไม่มีใครทำร้ายได้นอกจากตัวเราเอง ถ้าเข้าใจเช่นนี้เราก็จะตระหนักว่าอิสรภาพที่จะหลุดจากความทุกข์นั้นมีอยู่ แล้วในใจเรา แต่จะทำเช่นนี้ต้องเห็นความจริง เข้าใจความจริง คือมีปัญญาอย่างที่อาตมาว่า

อาตมาได้พูดถึงความโกรธความเกลียดความเศร้าโศกแล้ว อีกตัวหนึ่งที่เป็นภูเขาขวางกั้นไม่ให้ใจเราเปิดรับความสุขที่มาอยู่ตรงหน้า แล้ว ก็คือความหดหู่เศร้าหมอง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เราบางคนท้อแท้ สิ้นศรัทธาในมนุษย์ หมดหวังในบ้านเมือง แต่อาตมาอยากจะบอกว่า ไม่มีคืนไหนที่มืดมิดไปตลอด ที่สุดของความมืดมิดคือฟ้าสางและอรุณรุ่ง บ้านเมืองเราไม่ใช่เพิ่งเคยเจอเหตุการณ์นี้เป็นครั้งแรก นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนไทยรู้สึกหดหู่เศร้าหมองหรือท้อแท้สิ้นศรัทธาใน มนุษย์ อาตมาเองก็เคยผ่านเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ผู้คนสิ้นศรัทธาในมนุษย์ หมดหวังในบ้านเมือง นั่นคือเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ การประหัตประหารที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวง ทำให้หลายคนรวมทั้งอาตมาเองสิ้นศรัทธาในมนุษย์ หมดหวังในบ้านเมือง และยิ่งมีรัฐประหารในคืนนั้น ก็เป็นอันว่าสงครามกลางเมืองกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว เพราะว่าฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาจะสู้กันอย่างถึงที่สุด แต่ว่าเราก็ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้ เรากลับมามีศรัทธาในมนุษย์ขึ้นมาใหม่ เรากลับมามีความหวังในบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่ง และกลับมามีพลังที่จะสร้างสรรค์ความดีงาม

แต่ว่าเป็นธรรมดาที่คนเราชอบหลงลืม ผ่านไปเพียงแค่ชั่วอายุคนหนึ่งเราก็ลืมไปแล้วว่าเมืองไทยเคยผ่านเหตุการณ์ อะไรมาบ้าง แล้วเราก็ทำซ้ำรอยเหตุการณ์ในอดีต ๖ ตุลาผ่านไปไม่ถึง ๒๐ปีก็มีพฤษภาทมิฬ ๓๕ พฤษภาทมิฬผ่านไปไม่ถึง ๒๐ ปีก็มี ๑๙ พฤษภา ๕๓ แต่ถ้าเราไม่หลงลืมจนเกินไปเราก็จะเชื่อมั่นว่าในที่สุดบ้านเมืองของเราก็จะ สามารถฝ่าพ้นวิกฤตการณ์ได้ ถ้าเรามีทัศนะที่ยาวไกลในเชิงประวัติศาสตร์แบบนี้ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการเปรียบเทียบกับประเทศข้างเคียง เช่นเขมรซึ่งเคยผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าเรา เวียดนามที่ประสบเหตุที่เลวร้ายกว่าเรามาก เขาก็ยังสามารถฟันฝ่ามาจนถึงวันนี้ วันที่อนาคตกำลังสดใส ถ้าเรามองในแง่นี้อาตมาเชื่อว่าเราจะมีความหวังกับบ้านเมืองและจะมีศรัทธาใน มนุษย์ขึ้นมาใหม่

ที่พูดมาทั้งหมดนี้เป็นการทำใจของตัวเองไม่ให้ทุกข์ระทมกับสิ่งที่เกิด ขึ้น เป็นการเปิดใจให้ความสุขกลับคืนสู่ชีวิตของเรา แต่สิ่งที่ควรทำไม่ใช่มีเพียงเท่านี้ เราสุขคนเดียวไม่พอ ต้องพยายามช่วยให้คนอื่นเขาสุขด้วย เมื่อสองสามวันก่อนอาตมาได้อ่านบันทึกของเพื่อนคนหนึ่งที่เขียนไว้ในเฟสบุ๊ค เขาเขียนให้ชวนคิดได้ดีทีเดียว เขาบอกว่า “ถ้าจะมีธรรมะหรือแนวทางอะไรที่ทำให้ผมมีความสุข หลุดออกจากความทุกข์ที่มีอยู่ในตอนนี้ตามลำพังได้ ผมปฏิเสธนะครับ ผมไม่เอา แต่ถ้ามีแนวทางใดที่นำพาพี่น้องไปสู่หนทางที่เป็นธรรม แม้ผมจะทุกข์ระทมผมจะทำ”

อันนี้เป็นข้อคิดที่ดีว่าในยามนี้หากเราจะสุขคนเดียว หรือพ้นทุกข์โดยลำพัง ย่อมไม่สมควร ตราบใดที่คนอื่นเขายังมีความทุกข์ เราควรร่วมทุกข์กับเขา แต่ไม่ใช่ร่วมทุกข์โดยที่ใจเราก็ทุกข์ไปด้วย อันนี้อาตมาไม่เห็นด้วย เมื่อเราทำใจเปิดรับความสุขแล้ว ไม่ควรพอใจหรือหยุดเพียงเท่านั้น แต่ว่าจะต้องเข้าไปร่วมทุกข์กับเพื่อนมนุษย์ เพื่อนคนไทย เพื่อช่วยให้เขามีความสุขและพ้นจากทุกข์ด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญมาก

เพราะฉะนั้นอาตมาจึงอยากจะเชิญชวนทุกคนว่า เมื่อเยียวยาจิตใจตนเองได้แล้ว อย่าหยุดเพียงเท่านั้น แต่ให้กล้าที่จะออกไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าสีใด อุดมการณ์ใด ให้เขาออกจากทุกข์ อย่างน้อยก็อย่าไปซ้ำเติม อย่าไปทับถมให้เขาเจ็บปวดเคียดแค้นมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราทำได้เป็นอย่างแรก คำพูดของเรา ข้อความที่เราพิมพ์ในเฟสบุ๊ค ในเว็บไซต์ สามารถทำร้ายจิตใจผู้คนได้มากเลย เพียงแต่เราระมัดระวังตั้งสติในการใช้คำพูดที่ไม่ไปซ้ำเติมทับถมผู้คน มันจะช่วยให้ผู้คนไม่ทุกข์ไปกว่านี้ และทำให้สถานการณ์บ้านเมืองไม่เลวร้ายไปกว่านี้ แต่ถ้าเราทำได้มากกว่านี้ก็ยิ่งดี นั่นคือรับรู้ความทุกข์ของเขา เข้าใจความทุกข์ของเขา

ดังที่ได้บอกแต่ตอนต้นแล้วว่าตอนนี้คนทุกฝ่ายเป็นผู้ทุกข์ คนทุกฝ่ายเป็นถูกกระทำ ธรรมชาติของคนเมื่อมีความทุกข์ ย่อมต้องการคนเข้าใจ ย่อมต้องการคนรับฟัง ไม่ว่าจะทุกข์เพราะสูญเสียทรัพย์สมบัติหรือว่าทุกข์เพราะสูญเสียคนรัก เขาต้องการคนที่เข้าใจเขา ถ้าเขาได้พูด ได้ระบายออกมา ก็จะช่วยเขาได้ในระดับหนึ่ง อาตมาจึงอยากเชิญชวนทุกคนว่าไปเป็นเพื่อนเขา เปิดใจรับฟังความทุกข์ของเขา ไม่ต้องทำอะไรนอกจากรับฟัง ไม่ต้องสอน ไม่ต้องเทศนา ไม่ต้องบอกว่าทำใจ เพียงแค่เรานั่งฟังนิ่ง ๆ พยายามเข้าใจเขาโดยไม่ตัดสิน มันจะช่วยเขาได้มาก

เราต้องช่วยกันหาพื้นที่ให้เขาเหล่านี้ได้พูดถึงความทุกข์ของเขา อย่าให้พื้นที่นั้นจำกัดอยู่เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น คนเป็นอันมากพูดถึงความทุกข์ของตัวไม่ได้เพราะเขากลายเป็นจำเลยสังคมไปแล้ว อาตมาคิดว่าถ้าเราจะร่วมทุกข์ร่วมสุขกันก็ต้องเปิดโอกาสหรือให้พื้นที่แก่คน ทุกฝ่ายได้พูดถึงความทุกข์ของเขา

เป็นการยากที่เราจะฟังโดยไม่ตัดสิน แต่นี่เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาเขาได้ และถ้าเราสามารถที่จะไปร่วมทุกข์ด้วยการไปช่วยเหลือเขา เยียวยาเขาด้วยการกระทำก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ อย่างที่เราได้ทำกันมาบ้างแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำ โดยเฉพาะสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่อาตมาอยากฝากไว้คือ การช่วยกันทำให้สังคมไทยน่าอยู่กว่านี้ เพราะว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าสังคมไทยมีกับดักแห่งความ รุนแรงมากเหลือเกิน เป็นกับดักที่แฝงฝังอยู่ในโครงสร้างที่ทำให้คนไทยต้องมาเป็นศัตรูกัน ขัดแย้งกันไม่พอ แตกแยกกันไม่พอ ยังถึงขั้นทำร้ายกัน

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็ดี ความไม่เป็นธรรมในสังคมก็ดี เหล่านี้คือตัวการที่ผลักดันให้สังคมไทยติดอยู่ในกับดักแห่งความรุนแรง มันทำให้เกิดความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตอนนี้เชื้อแห่งความรุนแรงกำลังระบาดมาถึง ๗๓ จังหวัดที่เหลือ ทั้งสองเหตุการณ์เป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่ว่าแสดงออกมาในอาการที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือความรุนแรงที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและ ความไม่เป็นธรรมในสังคม

จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้เราต้องใช้ปัญญา จนสามารถเห็นถึงรากเหง้าของความรุนแรงทั้งที่อยู่ในใจเรา และที่อยู่ในโครงสร้างสังคมที่ครอบงำเราไว้ ถ้าเราใช้ปัญญา ไม่ใช้แต่อารมณ์ เราก็จะเห็นสาเหตุและสามารถที่จะร่วมกันแก้ไขเพื่อให้เมืองไทยหลุดจากกับดัก แห่งความรุนแรง และนำพาผู้คนสู่สันติสุขได้อย่างยั่งยืน

ที่มา: http://www.visalo.org/article/peaceSuktae.htm