ห้องสมุดในทัศนะของข้าพเจ้า
โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ปาฐกถาแสดงในการประชุมสามัญประจำปี ๒๕๑๑ ของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย
วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๑  ตีพิมพ์ใน วารสารห้องสมุด ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑ มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒

ผมมีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมในการประชุมในวันนี้ และขอแสดงความชื่นชมในการที่สมาคมนี้ ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก มีสมาชิกมากมาย กิจการกว้างขวาง และได้ส่งเอกสารให้ผมได้อ่านอยู่เป็นประจำ (และดูเหมือนจะไม่เคยเรียกให้บำรุง วิสัยนักเศรษฐศาสตร์ ถ้าเขาไม่ทวง จะเอาเงินไปให้เขา เขาอาจจะหาว่าสบประมาท)

วันนี้เขากะเกณฑ์ให้ผมเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน มีอย่างหรือ คนไม่มีความรู้เรื่องบรรณารักษ์ศาสตร์สักนิดเดียว เกณฑ์ให้มาพูดเรื่องห้องสมุดกับบรรดาเซียนทั้งหลาย ผมมีประสบการณ์แต่เฉพาะอ่านหนังสือจากห้องสมุด ยืมแล้วคืนบ้าง ไม่คืนบ้าง อ้างว่าลืม ซื้อหนังสือมาให้คนอื่นยืม แล้วเขาคืนบ้าง ไม่คืนบ้าง ก็มี กรรมสนองกรรม ไม่นานนี้คนที่เขากลับจากดูงานห้องสมุดต่างประเทศ มาบอกว่า เดี๋ยวนี้ คติของห้องสมุดสมัยใหม่เขาว่า “หนังสือหายดีกว่าไม่มีใครยืม” คตินี้ค่อนข้างจะเข้าที ทำให้คลายหิริโอตตัปะเรื่องโกงหนังสือได้บ้าง แต่ตามคติสมัยเก่าของผม ก็เข้าใจว่า “มีคนยืมหนังสือไปอ่านมากๆ แล้วไม่หาย เอากลับมาคืนตามกำหนดครบถ้วน เป็นดีที่สุด”

เมื่อผมไม่รู้ว่าจะเอามะพร้าวห้าวประเภทไหนมาขายสวน ผมก็ขอความกรุณาว่าผมจะขอเดาเอา และคงจะพูดไม่ยืดยาวนัก เหลือเวลาเอาไว้แลกมะพร้าวกันดีกว่า ขอพูดก่อนสั้นๆ แล้วขอเชิญท่านทั้งหลายอภิปรายและแสดงทัศนะของท่านบ้าง ถ้าเผอิญมีปัญหาที่ท่านประสงค์จะจับตัวผมมาถาม และผมพอตอบได้ ก็เป็นโอกาสของท่านแล้ว

หนังสือช่วยให้คิด คิดแล้วเป็นมนุษย์
ในทัศนะของผม คนเราขาดห้องสมุดไม่ได้ เพราะหนังสือเป็นอาหารของสมองและจิตใจ ถ้าคนเราไม่อ่านหนังสือ เขาเอาเวลาไปทำอะไรกัน ผู้ชายก็กินเหล้า ผู้หญิงก็เล่นไพ่ ทั้งผู้ชายผู้หญิง อาจจะใช้เวลานินทาคนนั้นคนนี้ ปากไม่อยู่สุข ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สมัยนี้ก็ดูโทรทัศน์กัน ภาพเขาป้อนเข้าตา เสียงเขายัดเข้าหู และถ้าจะจัดรายการโทรทัศน์ให้เป็นที่เร้าใจกันจริงๆ ต้องทำให้ภาพ และเสียงนั้นกระทบประสาทที่ผิวเผิน ลีลาต้องรวดเร็ว อย่าให้ผู้ชมมีเวลาคิด เพียงแต่ให้รู้สึกเพลินๆ หรือเสียวแสยงหรือโกรธ หรือเอาใจช่วยฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ถ้าให้โอกาสผู้ชมคิดนานๆ ก็จะเป็นเรื่องจืด เช่นนี้เป็นต้น ฉะนั้น ผมสรุปได้ว่า ถ้าคนเราอ่านหนังสือ เรามีเวลาคิดไตร่ตรองเรื่องต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน เพราะทำได้ตามจังหวะและลีลาของตนเอง ถ้าไม่อ่านหนังสือ มักจะไปทำอย่างอื่นที่ทำให้ไม่มีโอกาสคิดกว้างขวาง กินเหล้าสมองเสื่อมจะไปคิดอะไรได้ เล่นไพ่ก็คิดแต่เพียงเจ็บใจมือบน ว่ากักไพ่ ไปงานคอกเทล ก็ต้องทำหน้าทะเล้น พูดกับคนรู้จักบ้าง ไม่รู้จักบ้าง คิดอยู่แต่ว่าเจ้าหมอที่เข้ามาพูดด้วยนี้ หน้าคลับคล้ายคลับคลา ชื่ออะไรหนอ ดูโทรทัศน์ก็ให้เขาจูงจมูกจูงสมอง ยั่วประสาทตื้นๆ มีที่เทียบได้กับการอ่านหนังสืออยู่อย่างเดียว ในเรื่องยั่วให้คิด เปิดโอกาสให้คิด คือ “การสมาคมสนทนากับคนฉลาด” ที่พระท่านว่าจะทำให้เราฉลาดขึ้น คนเราถ้าไม่คิดแล้ว เกือบไม่แตกต่างกับสัตว์เดรัจฉาน จริงไหมครับ

จากบ้านไปโรงเรียน ไปมหาวิทยาลัย
ในการศึกษาหรือวิจัย ท่านทั้งหลายย่อมตระหนักดีว่า ห้องสมุดสำคัญเพียงใดในมหาวิทยาลัยของไทยเรา ตราบใดที่เรายังใช้ระบบ “สวดยัด” หรือครูพูด นักเรียนฟัง จดบ้าง ไม่จดบ้าง วิชาย่อมเรียวลงทุกที เราต้องให้นักศึกษาของเราเข้าห้องสมุดอ่านตำราต่างๆ จากครูบาอาจารย์ ผู้เขียนวิชาการ จากทุกๆ ประเทศทั่วจักรวาล ให้สมกับที่มหาวิทยาลัยของเราถอดความจากคำอังกฤษ University แปลตามความเห็นของผมว่า เป็นที่ถ่ายความรู้ของจักรวาล ทีนี้นักศึกษาของเรามีนิสัยอ่านตำราจริงหรือเปล่า คำตอบคือยังน้อยนักที่อ่านตำราจริงๆ ตามปรารถนา สาเหตุมีอยู่หลายประการ ผมขอยกขึ้นมา ๓ ประการ คือ หนึ่ง ครูผู้สอนออกข้อสอบไล่แต่เฉพาะในข่ายแห่งคำบรรยายของตน สอง ตำราไทยมีน้อย ตำราฝรั่งมีมาก อ่านภาษาฝรั่งไม่รู้เรื่อง ทั้ง ๒ ประการนี้ เราต้องแก้ไข จะแก้อย่างไร ผมจะขอกวนประสาทท่านผู้ฟัง โปรดคิดเอาเอง เพราะมีวิธีหลายวิธี ซึ่งต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะมากสักหน่อย และเรื่องนี้ผมใคร่จะไม่ขยายความตอนนี้ อยากพูดถึงสาเหตุประการที่สาม ที่ทำให้นักศึกษาไม่อ่านตำรา คือเราไม่เคยเพาะนิสัยมาเรื่องนิสัยการอ่านหนังสือนี้ คงจะโยนกันไปได้เป็นทอดๆ มหาวิทยาลัยก็ติโรงเรียนมัธยม ว่าไม่เพาะนิสัยเด็กให้อ่าน โรงเรียนมัธยมก็โยนกลองไปให้โรงเรียนประถม โรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนต่างๆ ก็ปัดสวะไปได้ บอกว่าทางบ้าน ผู้ปกครองของเราไม่เอาใจใส่ในเรื่องนี้

การโยนความผิดความบกพร่องกันไปเป็นทอดๆ อย่างที่ว่านี้ มีทั้งข้อที่ถูกและข้อที่ผิด ความจริงคือทุกฝ่ายทุกระดับต้องพยายามเพาะนิสัยเด็กของเราให้รักหนังสือ ให้อ่านหนังสือ ความรับผิดชอบของผู้ปกครอง แน่ละ เป็นความรับผิดชอบขั้นพื้นฐาน เพราะเด็กอยู่บ้านก่อน และมากกว่าเข้าโรงเรียน และการฝึกนิสัยต่างๆ ต้องเริ่มตั้งแต่เยาว์วัยจริงๆ จึงจะสำเร็จได้ตามความมุ่งหมาย คำถามที่ใคร่จะถามบิดามารดาทุกคนก็คือ หนึ่ง ได้เคยอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่อายุ ๔ ขวบขึ้นไปหรือไม่ สอง เมื่อลูกโตได้สัก ๗-๘ ขวบ ได้เคยเล่นกับเด็กไหม ในทำนองที่พ่อแม่อ่านให้ฟัง ๑๐ นาที แล้วลูกอ่านให้พ่อแม่ฟังสัก ๕ นาที สลับกันไป สาม เมื่อลูกโตขึ้นอีกหน่อย ลูกของเราได้เห็นเราอ่านหนังสือเอง ไปยืมหนังสือห้องสมุดมาให้ลูกอ่าน ซื้อหนังสือที่เหมาะเป็นของขวัญให้เด็กในวันเกิด ปีใหม่ ฯลฯ หรือเปล่า ถ้าจะเห็นว่าคำถามเหล่านี้วุ่นไปเปล่าๆ เพราะค่าครองชีพสมัยนี้ นักเศรษฐกิจ นักการเมืองทำเสียป่นปี้ ทั้งพ่อแม่ต้องออกทำงานเลี้ยงชีพ จนไม่มีเวลา ไม่มีสติปัญญาพอที่จะสละให้ลูกได้ ถ้าย้อนมาเช่นนี้ คำตอบก็คือเราไปทำงานเพื่อให้ลูกได้กินอาหารกาย เราเลยลืมอาหารใจของลูก อะไรสำคัญกว่ากัน แล้วก็ที่เอาคนอื่นมาดูแลลูกเรานั้น เราให้ความยุติธรรมแก่ลูกเราพอแล้วหรือ

ถ้าไม่เกรงใจ ก็อยากถามว่า ท่านเคยละเลยการป้อนอาหารใจสำหรับบุตรของท่าน หลานของท่าน น้องของท่าน หรือไม่ เคยทำตัวอย่างที่ดีแก่บุตรหลานของท่านหรือเปล่า

หนังสือในชนบท
ในชนบท ก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า บิดามารดา ผู้ปกครองของนักเรียนมักจะไม่สนใจที่จะสนับสนุนให้บุตรหลาน ของตนเล่าเรียนให้มากนัก พอพ้นอายุเกณฑ์หรือพอพ้นประถมปีที่ ๔ ก็ถอนนักเรียนออกจากโรงเรียนเป็นส่วนมาก ครูบาอาจารย์ก็มีน้อย ที่มีอยู่ก็เอาใจใส่ในนักเรียนมากบ้างน้อยบ้าง ตามบุญตามกรรม ผลก็คือนักเรียนส่วนใหญ่เมื่อออกจากโรงเรียน หนังสือไม่แตกฉาน ที่แตกฉานก็คงมีบ้าง แต่ในไม่ช้าก็ลืม เพราะไม่ได้ฝึกฝนวิชาสืบไป

ในกรณีเช่นนี้ ผมคิดว่าห้องสมุดเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่ง ที่จะช่วยให้เด็กวัยรุ่นของเรา ทั้งที่รู้หนังสือพอสมควร ให้รักษาความรู้นั้นได้ตลอดไป และที่ยังไม่รู้มาก พอให้รู้มากขึ้น ปัญหามีอยู่ว่า หนังสือชนิดใดที่จะยั่วยุให้เด็กเหล่านี้สนใจอ่านและบรรณารักษ์ควรจะทำอย่าง ไร ที่จะชวนให้เขารู้สึกดึงดูดให้เข้าห้องสมุด และเมื่อเข้ามาแล้วก็ติดใจอ่านหนังสือ ปัญหาเหล่านี้ท่านทั้งหลายคงจะตอบได้ดีกว่าผม เพราะอาชีพของท่านมีจุดหมายอยู่ที่จะดึงดูดให้คนอ่านหนังสือ มะพร้าวห้าวที่ผมขอเสนอขายท่านทั้งหลายมีเพียงว่า โปรดหาวิธีให้เหมาะ สำหรับดึงดูดใจผู้ที่ท่านต้องการให้อ่านหนังสือ ถ้าเอาคำปราศรัยของนักการเมืองไปล่อใจให้อ่าน หรือถ้าห้องสมุดของท่านมีแต่หนังสือเทศน์ ผมเกรงจะไม่ใช่เครื่องมือที่ดี เรื่องประโลมโลกเป็นอย่างไร เรื่องที่เกี่ยวกับท้องถิ่นของเขาเป็นอย่างไร ใช้ได้ไหม ผมขอเชิญท่านทั้งหลายลองขบคิดพลิกแพลงดู โดยคำนึงว่า หน้าที่ของท่านนี้สำคัญเหลือหลาย เพราะช่วยให้คนเป็นคน คือช่วยให้เขาอ่านได้ แล้วก็คิดได้ เป็นการพัฒนาประเทศชั้นยอด

ศีลธรรมในหนังสือ
ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดในเมืองหรือในชนบท ห้องสมุดในมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียน ปัญหาเรื่องศีลธรรม จะต้องมาสู่ท่านวันใดวันหนึ่งเป็นแน่ ท่านควรจะเผยแพร่หนังสือประเภทใด และควรระวังหนังสือประเภทใด นี้เป็นปัญหาทางการเมือง การศาสนา และสังคมที่ท่านคงจะประสบไม่วันนี้ ก็วันข้างหน้า

ถ้าเป็นหนังสือต่างประเทศ ผมเองเคยแนะนำลูกศิษย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งก็อายุมากพอสมควร ว่าให้อ่านไม่อั้น เพราะจุดหมายมีอยู่ที่จะให้ภาษาต่างประเทศแตกฉาน และควรจะอ่านด้วยความรู้สึกสนุก อย่างที่เราเรียกว่า มีฉันทะ เรื่องตลกโปกฮา เรื่องนักสืบลึกลับ เรื่องความรักหวานฉ่ำ เรื่องวิทยาศาสตร์ ประโลมโลก ใครชอบทางไหน อ่านไปเถิด จะได้อ่านได้มาก แม้แต่เรื่องโป๊ ผมก็รู้สึกว่าไม่น่าห้าม ถ้าเขาอ่านแล้วชอบ ก็ควรให้อ่าน ขออย่างเดียวให้ได้ภาษาดีๆ และเป็นเรื่องที่มีศิลปะ

พูดถึงเรื่องโป๊แล้ว แม้แต่ในวรรณคดีเอกของไทย ก็มีกันดื่น พายุปากอ่าว เรือจะล่มมิล่มแหล่ มีอยู่ทั้งนั้น ในพระลอ พระอภัยมณี อิเหนา ขุนช้างขุนแผน เป็นต้น Lady Chatterley เป็นของใหม่สำหรับฝรั่ง ของไทยเราเกือบจะเป็นของธรรมดา แต่แน่ละ ถ้าเป็นเรื่องเขียนขึ้นมีแต่ลามกอนาจารเป็นที่ตั้ง ก็เป็นหนังสือที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่เริ่มจะรู้ความ

เศรษฐกิจของห้องสมุด
เมื่อห้องสมุดเป็นสิ่งสำคัญยิ่งแล้ว ทำอย่างไรจึงจะหาเงินมาบำรุงห้องสมุดให้สมกับความสำคัญนั้น ท่านทั้งหลายคงจะตำหนิผมแน่ ถ้าผมผ่านประเด็นนี้ไป

วิธีหาเงินเพื่อกิจการที่สำคัญนั้น ต้องแล้วแต่กาละและเทศะ ที่มาสำคัญแห่งปัจจัยนั้น คงจะเป็นงบประมาณแผ่นดิน สำหรับท่านทั้งหลายส่วนมาก

ผมคิดว่าสมาคม คงจะมีวิธีโน้มน้าวใจให้ผู้มีอำนาจทางการเงินของแผ่นดินสนใจ ทำนุบำรุงกิจการห้องสมุดได้ ถ้าพิจารณาหาโอกาสทำการประชาสัมพันธ์ให้มาก ถือว่าเป็นของซื้อของขาย เราอยากให้ท่านสนับสนุนกิจการห้องสมุด ก็ต้องพยายามโฆษณา ให้เป็นกิจจะลักษณะกระมัง เป็นต้นว่า ถ้าเป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัย ท่านก็คอยจ้องดูว่า เขาจะร่างหลักสูตรอะไรขึ้นใหม่ ท่านก็ควรสอดแทรกเข้าไปถามว่า แล้วหนังสือตำรามีพอแล้วหรือ เช่นเดียวกับที่สภาการศึกษามักจะสอบถามว่า ครูมีพอแล้วหรือ การวางโครงการขยายการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นระดับประถม มัธยม หรืออุดม ทุกวันนี้เขามักพิจารณากันแต่เฉพาะอาคาร ครู และนักเรียน เจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะต้องพร้อมใจกันทุกแห่ง เตือนให้พิจารณาหนังสือตำรา และห้องสมุดด้วย เวลานักการเมืองแถลงนโยบายว่าจะสนับสนุนการศึกษา ให้คนมีวิชาความรู้อย่างนั้นอย่างนี้ ก็เป็นโอกาสของพวกเราจะถามว่า แล้วห้องสมุดเล่า โดยเฉพาะห้องสมุดสำหรับผู้ใหญ่ สำหรับประชาชนเล่า ท่านนักการเมืองจะทำอย่างไร อย่าปล่อยให้ท่านทั้งหลายโมเม ดีแต่พูดให้เชื่อ แต่เรื่องห้องสมุดและหนังสือไม่นำพา

ผมเกิดความคิดขึ้นได้ข้อหนึ่งเกี่ยวกับปัจจุบันนี้ ก็ประเทศไทยเราจะมีการเลือกตั้งใหญ่กันในไม่กี่เดือนข้างหน้า ถ้าพวกเราเห็นด้วยกันอย่างพร้อมเพรียงว่า กิจการห้องสมุดเป็นเรื่องสำคัญชั้นยอด ทำไมเราไม่ร่วมมือร่วมใจกันเตือนสติผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคน โดยระดมกันไปฟังเขาแสดงนโยบายชวนเชื่อให้เลือกตั้ง แล้วถามถึงนโยบายการสนับสนุนห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นชนบทหรือในกรุง ในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัย ในคำถามนั้น ผมคิดว่าพวกเราแต่ละคนใช้สิทธิ์เกริ่นๆ ได้ว่า ถ้าผู้สมัครผู้ใดไม่สนับสนุนกิจการห้องสมุด น่ากลัวจะเลือกเข้ามาเป็นผู้แทนในสภาไม่ลง อย่างนี้เป็นอย่างไรครับ
ผมรู้สึกว่าที่พูดมานี้ ค่อนข้างจะหมดสติปัญญาแล้ว จึงขอยุติเพียงเท่านี้

 

ที่มา : http://www.nidambe11.net/