นัน ภู่โพธิ์เกตุ

เมื่อรถมอเตอร์ไซค์ของฉันครบกำหนดระยะเวลาต้องตรวจเช็คเครื่องยนต์และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่น ปรกติฉันจะเลือกใช้บริการของอู่ซ่อมรถขนาดใหญ่ แต่วันนี้ฉันเลือกไปยังอู่เล็ก ๆ ใกล้บ้านด้วยต้องการประหยัดเวลา ทันทีที่ฉันขับรถเข้าไปยังลานปูนหน้าห้องแถวที่เปิดเป็นอู่ซ่อมมอเตอร์ไซค์ ช่างหนุ่มร่างเล็กก็วางมือจากรถที่กำลังซ่อมอยู่แล้วส่งยิ้มมาให้ ฉันบอกเขาว่าต้องการตรวจเช็คเครื่องยนต์และเปลี่ยนน้ำมันหล่อลื่น แล้วบทสนทนาของเราก็เริ่มขึ้น

เจ้าของอู่ซ่อมมอเตอร์ไซค์เล็ก ๆ แห่งนี้ชื่อเซซี เขาบอกว่าตัวเองก็เหมือนหนุ่มชาวกะเหรี่ยงโปว์คนอื่น ๆ ในหมู่บ้านที่เข้ามาทำงานในเมืองเพื่อจุนเจือครอบครัว ถึงแม้ว่าครอบครัวของเขาจะมีไร่ข้าวเล็ก ๆ พอกินตลอดปี แต่เกลือและพริกก็ยังต้องใช้เงินซื้อหา น้องชายหญิงอีกสามคนยังเรียนหนังสือ เด็กหนุ่มวัยสิบหกปีจึงตัดสินใจเดินทางจากบ้านบนดอยที่อมก๋อย มายังตัวเมืองเชียงใหม่เพื่อทำงานแบ่งเบาภาระครอบครัว

เซซีได้งานแรกในโรงงานเฟอร์นิเจอร์ เขามีหน้าที่เลื่อยไม้ให้ช่างนำไปตัดแต่งขัดเกลาเป็นชิ้นส่วนเครื่องเรือน จนวันหนึ่งเขาพลาดท่าถูกเลื่อยไฟฟ้าคมกริบบาดมือเป็นแผลยาว เล่าถึงตรงนี้เซซีก็วางมือจากอุปกรณ์ช่างแล้วยื่นมือให้ฉันดูรอยแผลเป็น “ดีที่ไม่เสียแขนเสียขา ไม่อย่างงั้นใครจะเลี้ยงพ่อแม่เลี้ยงน้องผม”

เซซีลาออกจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ทันทีเมื่อแผลหาย แล้วมาทำงานในร้านรับซื้อขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล ด้วยความที่เป็นลูกจ้างชายเพียงคนเดียว ที่นั่นเขาต้องทำงานแทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการคัดแยกประเภทขยะหรือแบกหาม  ดีที่ว่าเขาไม่ต้องนำเงินค่าแรงไปซื้ออาหารด้วยเพราะนายจ้างเลี้ยงข้าวทั้งสามมื้อ เช่นเดียวกับค่าเดินทางและที่พักก็ไม่ต้องเสียเพราะเขามีหน้าที่นอนเฝ้าร้านกันหัวขโมย เงินเดือนห้าพันกว่าบาทที่ได้รับจึงถูกส่งไปยังบ้านบนดอยครั้งละสองพันสามพัน

“นับวันเรายิ่งแก่ตัวเรื่อย ๆ อยู่ร้านรับซื้อของเก่ามันไม่มีอนาคต ผมคิดว่าจะเป็นลูกน้องเขาตลอดชีวิตไม่ได้” คือเหตุผลที่เซซีลาออกจากร้านรับซื้อของเก่านั้น สีหน้าจริงจังของเขาทำให้ฉันรับรู้ได้ว่าเด็กหนุ่มคนนี้คิดต่างจากคนอื่นที่ทำงานเก็บเงินไปแต่ละวันเพียงอย่างเดียว เซซีเล่าว่าเขาคิดอยู่นานว่าจะเลือกทำอาชีพอะไรดีที่จะได้ความรู้เอาไปต่อยอดเป็นกิจการของตัวเองได้ ในที่สุดความคิดเขาก็มาหยุดที่รถมอเตอร์ไซค์ สิ่งที่เขาใฝ่ฝันว่าจะได้มาครอบครองตั้งแต่ยังอยู่บนดอย

“สมัยเด็ก ๆ ครั้งแรกที่ผมเห็นมอเตอร์ไซค์ ผมก็บอกตัวเองว่านี่แหละสิ่งที่เราอยากได้ ถ้าได้อยู่กับมอเตอร์ไซค์ทุกวันผมคงมีความสุข”

เซซีไปสมัครเป็นเด็กฝึกงานในอู่ซ่อมมอเตอร์ไซค์หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตามคำแนะนำของคนรู้จัก ช่วงแรกเขาได้รับค่าแรงเพียงห้าสิบบาทต่อวันและต้องจ่ายค่าหอพักและอาหารเอง แต่เขาก็อดทนเพื่อที่จะเรียนรู้วิธีการซ่อมรถที่หัวหน้าช่างสอนให้ด้วยความฝันที่ว่าสักวันเขาจะมีอู่ของตัวเอง

ปีแรกที่อู่ซ่อมรถเขามีหน้าที่แกะหน้ากากรถ บังโคลน และถอดล้อรถมอเตอรไซค์ให้ช่างได้ตรวจเช็คซ่อมแซมต่อไป แม้จะไม่เคยจับมอเตอร์ไซค์มาก่อน เขาก็พยายามเรียนรู้เวลาที่ช่างสอน และทำตามอย่างประณีตสุดฝีมือ ย่างเข้าปีที่สองเซซีได้เลื่อนขั้นจากผู้ช่วยช่างเป็นช่างเต็มตัว นอกจากเงินและความรู้ในการซ่อมแซมมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับ เขายังได้รู้ว่าการบริการลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ทุกครั้งที่ลูกค้าถามเกี่ยวกับอาการของมอเตอร์ไซค์ เขาจะอธิบายอย่างละเอียดว่ารถเป็นอะไร ต้องซ่อมแซมอย่างไร  แต่ก็มีบางครั้งที่การพูดภาษาไทยไม่ชัดอย่างคนชนเผ่าของเซซีทำให้ลูกค้าไม่เข้าใจ บางคนก็หัวเราะเขาต่อหน้า แต่เขาก็จะยิ้มรับและพูดติดตลกว่า “ผมพูดได้เท่านี้แหละ” แล้วขอให้เจ้าของร้านหรือหัวหน้าช่างมาอธิบายต่อ

ตลอดระยะเวลาที่ทำงานในอู่ซ่อมมอเตอร์ไซค์ เซซีไม่ได้ส่งเงินกลับไปให้ทางบ้าน แต่เก็บออมเงินที่เหลือจากกินอยู่ไปซื้อมอเตอร์ไซค์ของตัวเองเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการเรียนดัดแปลง ตกแต่ง และซ่อมแซมในระดับที่สูงขึ้น หลังจากได้มอเตอร์ไซค์คันแรก เขาก็เก็บเงินต่อไว้เป็นทุนสำหรับเปิดอู่ของตัวเองทันที จนหลังสองปีผ่านไป เซซีเก็บเงินได้สามหมื่นกว่าบาท แล้ว “ความฝัน” ในการเปิดอู่ซ่อมมอเตอร์ไซค์ก็เปลี่ยนเป็น “ความหวัง” ที่กำลังจะเป็นจริง เขานำเงินก้อนนั้นมาซื้ออุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็น แล้วเช่าห้องแถวชั้นเดียวริมถนนใหญ่ชานเมืองเชียงใหม่ เปิดเป็นอู่ “ซีมอเตอร์” ที่ฉันกำลังนั่งคุยกับเขาอยู่นี้

แม้อู่ของเซซีจะเป็นอู่เล็ก ๆ แต่เขาก็บอกฉันว่าเหนื่อยกว่าเป็นลูกจ้างในอู่ใหญ่หลายเท่า เพราะนอกจากจะต้องซ่อมรถให้ลูกค้า เขายังต้องคิดถึงการบริหารจัดการ คิดถึงกำไรขาดทุน และต้องใส่ใจในการบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้าประทับใจแล้วกลับมาใช้บริการในครั้งหน้า เพราะปัญหาใหญ่ที่สุดในช่วงแรกของการเปิดอู่คือการไม่มีลูกค้าประจำ บางวันไม่มีลูกค้าด้วยซ้ำ เขาคิดเพียงแต่ว่าต้องซ่อมมอเตอร์ไซค์ของลูกค้าให้สุดความสามารถและบริการลูกค้าที่มีให้ดีที่สุด “ผมทำมาถึงตรงนี้แล้ว ยังไงก็ไม่ถอดใจง่าย ๆ หรอก”

หลังจากเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นเสร็จ ฉันบอกลาเซซีแล้วขับรถออกจากอู่ของเขาช้า ๆ ที่กระจกมองข้าง ฉันเห็นภาพนายช่างร่างเล็กก้มตัวลงซ่อมมอเตอร์ไซค์ที่ค้างไว้ ใบหน้านั้นฉาบด้วยรอยยิ้มเปี่ยมสุข

 


ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
ตู้ปณ.180 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่ 50202
โทรศัพท์ 053-805-298
โทรสาร 053-805-298
E-mail borders@chmai2.loxinfo.co.th