ของสำคัญในกระเป๋าของเราอาจเป็น กระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องสำอางค์ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ไอพ็อตรุ่นใหม่ สมุด ดินสอ ปากกา จนไปถึงยาดม แต่ในยามคับขันเมื่อภัยมาถึงตัว เหล่าสิ่งของมีค่ากลับไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ ชีวิตและความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ทุกคนนึกถึง

ในห้วงยามที่ภัยพิบัติถูกพูดถึงบ่อยแสนบ่อย และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ถี่ครั้งขึ้น การเตรียมตัวไว้ก่อนไม่ใช่เรื่องเสียหาย ซ้ำยังเป็นการดูแลตนเองและคนอื่นไปในตัว

แต่เตรียมอย่างไร เตรียมอะไรล่ะ? คำถามนี้เกิดขึ้นในใจเราเป็นแว่บแรก

จิตอาสารฉบับนี้จึงอาสา คุ้ย แคะ แกะ เกา (แถมด้วยเขี่ยและขอ) ดูกระเป๋ายังชีพและการเตรียมตัวของ  2 หนุ่ม 1 สาว ที่ตื่นตัวและใคร่รู้ในเรื่องภัยใกล้ตัวยิ่ง

 

ของอุ่นใจในเป้พี่แว่น
พี่แว่น ไพโรจน์  วิสุทธิวงศ์รัตน์ หรือที่คนสนิทก็เรียกว่า “เต็มเอว” ทำไมน่ะหรือ? ก็พี่แว่นมักมีของสำคัญๆ อยู่เต็มเอวไปหมด ไม่ว่ามีดพก โทรศัพท์มือถือ ไฟฉาย ฯลฯ และด้านหลังมักมีกระเป๋าเป้ใบเขื่องแขวนไว้ประจำตัวเสมอ ซึ่งบรรจุไปด้วยของใช้จำเป็น

ประกอบด้วย ไฟฉาย (แบบมีหลอดสำรอง), ถ่านสำรอง, มีดพับสวิสอาร์มี่ติดตัว 1 พับ ในเป้ 1 พับ, แว่นขยาย, ไฟเช็ค, เชือกร่มยาว 5 เมตร, ยา : พาราเซตามอล ยาหม่องน้ำ, ของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ ไหมขัดฟัน แปรง ยาสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ, ถุงพลาสติก, ถุงกันน้ำ, ถุงขยะสีดำ, นกหวีด, เสื้อกันฝน, หมวก (1-2 ใบ), เข็มทิศ นอกจากนี้บางวันยังมีถุงย่อยสำหรับใส่เสื้อผ้าสำรองและผ้าขาวม้าอีกต่างหาก

ทำไมถึงพกของมากมายขนาดนี้?

พี่แว่นเล่าที่มาที่ไปว่า มันเริ่มมาจากวันหนึ่ง ในปี 2536 พี่แว่นนัดเพื่อนทานข้าวหลังม.รามคำแหง แต่เกิดเหตุการณ์ 4 อย่างขึ้นพร้อมกัน ได้แก่ ฝนตก น้ำท่วม ไฟดับ และเพื่อนทำกุญแจอพาตเมนท์หล่นหายระหว่างทาง ทำให้พวกเขาต้องเพ่งหากุญแจกันให้วุ่น ในตอนนั้นพี่แว่นพยายามหายืมไฟฉายจากเพื่อนบ้านอยู่นาน แต่พอยืมมาได้หลอดก็ดันขาดเสียนี่ ทำให้พวกเขาต้องคลำหาในความมืด กว่าจะได้เข้าห้องก็แทบแย่ พี่แว่นจึงเริ่มมีความคิดว่าหากมีไฟฉายไว้กับตัวคงดีไม่น้อย หลังจากนั้นก็เริ่มพกไฟฉายอันเล็กๆ ไว้กับตัว

พร้อมทั้งพี่แว่นเป็นคนเดินป่า ทำให้รู้ว่ามนุษย์เราต้องการตัวช่วยแค่ไหนอะไรบ้าง ตั้งแต่แสงสว่างที่สร้างเองไม่ได้ จึงต้องมี ไฟแช็ค ไฟฉาย และถ่านสำรองเอาไว้ติดตัว, ความแหลมคมที่มีไม่มากเพียงพอ จึงต้องมีมีด แหนบ ไว้ใช้งาน และ นกหวีดที่เอาไว้ใช้เมื่อที่ต้องการส่งสัญญาณไปที่ไกลๆ

“จริงๆ มันไม่ใช่ถุงยังชีพหรอก แต่เป็นของในเป้ประจำตัวที่ไปไหนมาไหนด้วยตลอด วันไหนไม่สะพายแล้วมันไม่มั่นใจ ถ้าเกิดอะไรขึ้น หรืออยู่ในสถานการณ์คับขันจะทำอย่างไร ทำให้เรามีของพวกนี้ตลอด และส่วนหนึ่งเพราะมีคนมาหายืมของกับเราบ่อย แว่นมีไอ้นั่นไหม มีไอ้นี่ไหม เราเลยพกตลอดเลย บางทีพกเผื่อคนอื่นด้วยซ้ำ”

แต่ก็ใช่ว่าจะพกเปล่า มีด ไฟฉาย และเสื้อกันฝน เป็นของที่ได้ใช้อยู่เสมอ

มีครั้งหนึ่งพี่แว่นอยู่ในอาคารสูงแล้วเกิดไฟดับ ในตึกมืดมาก แต่เนื่องจากหลายคนทราบว่าพี่แว่นมีไฟฉาย ทุกคนจึงมาหาเพื่อพี่แว่นให้ช่วยนำทางลงจากตึก คราวนั้นทุกคนจึงออกมานอกอาคารอย่างไม่ลำบากนัก

แม้ว่าการพกของเหล่านี้จะถูกมองว่าเป็นคนแปลก แต่พี่แว่นให้ความเห็นว่าของบางอย่างก็ควรมีไว้ติดตัวบ้าง เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่คาดฝัน ของจำเป็นก็ได้แก่ นกหวีด ไฟฉาย มีดพก และเบอร์โทรฉุกเฉิน เช่น ศูนย์นเรนธร, สน.พื้นที่ที่เราไปบ่อยๆ เป็นต้น

 

เตรียมความรู้ = เตรียมตัว
พี่หนูหริ่ง สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้คลุกวงในกับงานภัยพิบัติ หรือ ที่บางคนเรียกเอาฮาว่า “อาบัติ” บอกกับเราว่า การเตรียมตัวของพี่หนูหริ่ง คือ การติดตามข้อมูลข่าวสาร

“เวลาเราพูดถึงภัยพิบัติเรามักคิดถึงภัยใหญ่ๆ แต่จริงๆ ภัยเล็กๆ มีบ่อย เกิดถี่และมีความเป็นไปได้สูงที่จะพบ หากติดตามข่าวสารเรื่อยๆ จะรู้ ว่าควรวางตัวไว้ตรงไหนทำอะไร หรือไม่ควรอยู่ไหน ทำอะไร เช่น ฤดูฝน เราไม่ควรไปเที่ยวในที่ใกล้น้ำ เช่น น้ำตก แม่น้ำ”

หรืออาจกลับมามองตัวเองง่ายๆ ว่าอยู่ในพื้นที่ไหน เสี่ยงภัยในเรื่องอะไร หากอยู่ใกล้ทะเล อยู่ใกล้น้ำ ก็ต้องระวังน้ำท่วม น้ำหลาก หรือสึนามิ หากอยู่กรุงเทพก็ต้องระวังแผ่นดินไหว  เพราะชั้นดินกรุงเทพเป็นดินเหลวกลางทะเล จึงเสี่ยงไม่น้อยหากเกิดแผ่นดินไหวใต้พื้นพิภพ

“ความจริงก็คือ ภัยพิบัติขนาดใหญ่ยังไงก็รับมือไม่ได้ มันเกินจินตนาการ อุปสรรคสารพัด การเตรียมของไว้ก็เป็นเรื่องดี ตามคู่มือต้องมีน้ำดื่ม เลื่อย ค้อน ถุงมือหนัง วิทยุ ไฟฉาย ซึ่งในแต่ละภัยของที่จำเป็นใช้ก็ต่างกัน”

เตรียมใจเมื่อภัยมา
อ.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
เป็นอีกคนที่เห็นเรื่องภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องไกลตัว

“สถานการณ์รอบตัวบ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ ถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ ในหลายประเทศที่เกิดภัยพิบัติบ่อยๆ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติ แต่ในบ้านเราไม่ค่อยเตรียมกัน พี่คิดว่าเตรียมไปก็ไม่เสียหายอะไร ไม่เตรียมเลยอาจจะฉุกเฉินเกินไป เพราะตอนนี้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และข่าวลือต่างๆ มากขึ้น”

เมื่อถามว่าอ.มิเตรียมอะไรบ้าง อ.มิบอกว่าเตรียม 3 อย่าง ได้แก่

เตรียมสิ่งของ เช่น ถุงยังชีพ ซึ่งประกอบด้วย อาหารแห้งที่อยู่ได้ 2-3 วัน ยารักษาโรค อุปกรณ์สำหรับเดินป่า วอลค์กี้ทอลค์กี้

เตรียมบ้านพักฉุกเฉินที่เขาใหญ่ ซึ่งเป็นบ้านพักตากอากาศ ตั้งใจเตรียมไว้สำหรับอยู่ฉุกเฉินเป็นเดือน โดยพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด เช่น ติดพลังงานแสงอาทิตย์ การรักษาโรคเบื้องต้น การสื่อสารกับภายนอก อาหารยังชีพ และเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น

และสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือ เตรียมใจ

การเตรียมใจในที่นี่ไม่ใช่แค่การเตรียมตัวตาย แต่เป็นการเตรียมใจเพื่ออยู่ในสถานการณ์อย่างที่มันเกิดขึ้นจริง

จากประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครที่สีนามิ อ.มิเล่าให้ฟังถึงคราวที่ข่าวมีแผ่นดินไหว และคาดว่าจะเกิดสึนามิรอบสอง ผู้คนในพื้นที่ตระหนกตกใจมาก ถึงกับมีรายหนึ่งหุนหันขับรถหนี จนชนคนเสียชีวิต

“ตอนนั้นเราต้องรวมพลปลอบประโลมเพื่อนนานาชาติกว่าสองร้อยคน เหตุการณ์ที่รุนแรงทำให้คนเครียดและก่อเหตุได้ง่าย การเตรียมใจไม่ใช่แค่เพื่อตัวเรา แต่เผื่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วย”

การฝึกสติในชีวิตประจำวันจนเป็นนิสัยประจำตัว จึงเป็นสิ่งที่ช่วยได้มากเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง “อารมณ์อะไรจะเกิดก็รู้เห็นตามจริงทันการณ์ ไม่บานปลายเกิน เข้าใจสภาวะความเป็นจริงในกายใจของตนเองและผู้อื่น การจัดการอะไรๆ ตรงหน้าก็ง่ายขึ้น”

มาถึงตรงนี้ มันอาจจะไม่แค่เรื่องของกระเป๋า แต่เป็นทุนรอนในตัวของทุกผู้คน ตั้งแต่ทุนทรัพยากร ทุนความรู้ ทุนสติ ทุนปัญญา การเตรียมตัวไว้ไม่ใช่เรื่องเสียหลาย เพราะชีวิตคือความแน่นอนที่ไม่แน่นอนมิใช่หรือ?