ปรับปรุงจากการสัมภาษณ์พระไพศาล วิสาโล
โดย หัทยา วงศ์กระจ่าง รัชชพร เหล่าวานิชย์
สถานีวิทยุ FM101
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๒.๑๕ น.

พิธีกร พระอาจารย์คะ หลายคนตอนนี้พูดกันเรื่องของการเยียวยา ในมุมของพระอาจารย์อย่างแรกที่ควรจะทำคืออะไรคะ

พระไพศาล การเยียวยาต้องทำทั้งสองฝ่าย ได้แก่ บุคคลที่มีความเจ็บปวด และบุคคลที่อยู่รอบข้างเขา อย่างแรกที่ควรทำ คือไม่ซ้ำเติมทับถมกันและกัน เพราะคงทราบดีอยู่แล้วว่าตอนนี้มีความแตกแยกสูงมาก ภาพที่ออกมาในสายตาของคนทั่วไปก็คือมีฝ่ายหนึ่งแพ้ ฝ่ายหนึ่งชนะ ฝ่ายที่แพ้จึงถูกมองว่าเป็นจำเลยสังคม ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย อาตมาคิดว่าถ้าเขารู้สึกว่าถูกทับถมถูกซ้ำเติม การเยียวยาก็คงเกิดขึ้นได้ยาก มีแต่ความโกรธความเจ็บแค้นมากขึ้น

ประการที่สอง ผู้คนรู้สึกเจ็บปวดเพราะเขาสูญเสีย เพราะเขาถูกกระทำ ความสูญเสียนั้นอาจจะไม่ใช่แค่ความสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง แต่มีการเสียชีวิตด้วย ถ้าหากคนรอบข้างรับรู้ความทุกข์ของเขา เข้าใจความเจ็บปวดของเขา ก็จะช่วยเขาได้เยอะเลย ทำนองเดียวกับในยามปกติเวลามีใครสูญเสียคนรัก อาจจะเพราะโรคภัยไข้เจ็บหรืออะไรก็แล้วแต่ เพียงแค่มีใครสักคนมานั่งอยู่ใกล้ๆ แล้วรับฟังความทุกข์ของเขา ฟังเขาระบาย ก็จะช่วยเยียวยาจิตใจของเขาได้เยอะ

อาตมาคิดว่าผู้ที่สูญเสียต้อง การกัลยาณมิตร ที่พร้อมเปิดใจเวลารับฟังความทุกข์ของเขา ให้เขาได้เล่าถึงความเจ็บปวดของเขา ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีอะไรก็แล้วแต่ ทุกคนต้องการสิ่งนี้ แล้วก็ควรมีพื้นที่ให้เขาได้พูดด้วย ให้เขาได้พูดอย่างเต็มที่โดยมีคนรับฟัง มันจะช่วยเยียวยาจิตใจเขาได้อีกทางหนึ่ง

ประการที่สามก็คือ การให้อภัย อันนี้ไม่มีใครทำให้ได้นอกจากเจ้าตัว ถ้าเจ้าตัวให้อภัยไม่ได้ก็ยังมีความเจ็บแค้นอยู่

พิธีกร ในมุมของการให้อภัย ดิฉันว่า มันยากมากเลย เพราะว่าเท่าที่เราฟังอยู่ตามสื่อที่ติดตามอยู่ในระยะหลังๆ หลายคนบอกว่า สภาพการณ์ที่เราเห็นอยู่ในสองสามวันที่ผ่านมา ทั้งเผาทั้งยิง อะไรต่อมิอะไรที่เขาได้รับผลกระทบนี่เขารู้สึกว่ามันจะง่ายขนาดนั้นเลยเหรอ เราจะยอมให้อภัยคนที่ทำสิ่งนี้เหรอ ในแง่ตรงนี้มันน่าเป็นห่วง

พระไพศาล ยาก แต่ว่าควรทำสองข้อแรกที่อาตมาว่าก่อน อาตมาพูดเป็นขั้นๆ ไป ขั้นแรกคือว่าอย่าทับถมซ้ำเติมเขา ขั้นที่สองคือว่าเปิดโอกาสให้เขาได้พูดได้ระบาย ไม่ต้องไปแทรกแซงขัดขวาง ให้เขารู้สึกว่าเขามีคนที่เข้าใจเขา

พิธีกร หมายถึงว่า ระบายทั้งสองฝ่ายใช่ไหมคะ

พระไพศาล ให้เขาระบายโดยมีคนฟังที่เป็นกลางนะ ต้องฟังนิ่ง ๆ และรับรู้ความต้องการเขา อันนี้เป็นวิธีการเยียวยาที่ทำกันทั่วไปเมื่อมีใครสูญเสียคนรัก เวลาใครประสบกับความพลัดพรากสูญเสีย ถ้ามีคนมานั่งฟัง ไม่ต้องสอน ไม่ต้องเทศนา แค่ฟังเฉยๆ รับรู้ความทุกข์ของเขา มันจะช่วยได้มาก ส่วนที่สามเป็นเรื่องยากมาก แต่การให้อภัยมันเป็นผลดีต่อตัวเราเอง เพราะว่าเวลาใจเรามีบาดแผลเนื่องจากมีคนมาทำร้าย มาทำให้เจ็บปวด การให้อภัยจะเป็นเหมือนยาสามัญประจำใจ ที่จะสมานแผลได้ ถ้าเราไม่มียาขนานนี้แผลก็จะเรื้อรัง ยิ่งเจ็บช้ำใจ

แต่อาตมาคิดว่าก่อนจะมาถึง เรื่องการให้อภัย ต้องมีกระบวนการอย่างอื่นอีก เช่น เรื่องของความจริงความยุติธรรม อันนี้ต้องทำให้เกิดขึ้น ทุกประเทศทั่วโลกเวลามีความสูญเสียเกิดขึ้นเนื่องจากความขัดแย้งและมีการทำ ร้ายกัน วิธีหนึ่งที่เขาใช้กันก็คือการทำความจริงให้ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นอาฟริกาใต้ อาร์เจนติน่า ไอร์แลนด์เหนือ เขาจะต้องทำความจริงให้ปรากฏว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง หรือชีวิต มีสาเหตุจากอะไร ใครต้องรับผิดชอบ เสร็จแล้วก็นำผู้ผิดนั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นเจ้าหน้าที่ เป็นนปช. เป็นนักการเมือง หรือเป็นทหารก็ตาม

กระบวนการนี้บางทีใช้เวลานาน ในอาฟริกาใต้เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ๒๐- ๓๐ ปี เขายังรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ในอาร์เจนติน่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๐ เขาก็รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ผ่านไป ๓๐ ปีก็ยังไม่สาย มันช่วยเยียวยาได้แม้ว่าจะต้องใช้เวลา แต่ก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำแล้วมันก็จะเป็นแผลที่ฝังลึก กระบวนการที่ว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้สูญเสียได้ระบายความทุกข์ อย่างเช่นในอาฟริกาใต้มีคนคนหนึ่งถูกทรมานจนตาบอด แกเป็นคนดำ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นคนขาวทรมานตาบอด เมื่อแกได้ขึ้นศาล เพื่อพิสูจน์ว่าใครผิดใครถูก แกก็ได้เล่าความทุกข์ของแกให้คนอื่นได้ฟัง เมื่อเล่าเสร็จแกบอกว่ารู้สึกเหมือนได้มองเห็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ผ่านมาแกรู้สึกแย่มากที่ไม่มีโอกาสเล่าเรื่องของแกให้ใครฟัง แต่เมื่อศาลเปิดโอกาสให้แกได้พูดเต็มที่ จิตใจของแกก็ได้รับการเยียวยา มันช่วยได้เยอะ อันนี้จะนำไปสู่การให้อภัยได้

พิธีกร เท่าที่อ่านงานของหลวงพี่ หลวงพี่พยายามพูดถึงเรื่องของการปฏิบัติตามกฎหมาย กติกามารยาท อันนั้นตรงนี้พอเราเข้าสู่กระบวนการแล้ว หมายถึงว่าทุกคนควรจะได้รับโทษตามกฎหมายด้วยไหม

พระไพศาล อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเห็นพ้องต้องกันของสังคม อย่างที่อาฟริกาใต้คณะกรรมการที่เรียกว่าคณะกรรมการเพื่อความจริงและความ ปรองดอง เขามีกติกาอยู่ข้อหนึ่งว่า ใครที่สารภาพผิดจะได้รับการยกโทษให้ ได้รับนิรโทษกรรม แต่ใครที่ไม่สารภาพผิด จะถูกนำตัวขึ้นศาล เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างที่อาตมาเล่าเมื่อกี้ ถ้าผิดก็จะถูกลงโทษ อาตมาคิดว่าอย่างแรกเลย คนต้องการความจริงและความยุติธรรม เสร็จแล้วจะลงโทษผู้ผิดหรือไม่ก็แล้วแต่ บางประเทศมีการนิรโทษกรรม เราก็คงทราบว่าบ้านเมืองเราเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วเกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง เพราะว่ามีการต่อสู้กันระหว่างรัฐบาลกับคอมมิวนิสต์ รัฐบาลเรียกคอมมิวนิสต์ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย อย่างนี้ผิดกฎหมายแน่นอน ผิดกฎหมายอาญา แต่ว่าในที่สุด รัฐบาลก็อ้าแขนรับคนเหล่านี้เข้ามาสู่เมือง โดยไม่มีการเอาผิด เพราะเห็นว่ามันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการที่จะลดความขัดแย้ง และลดโอกาสที่จะเกิดสงครามกลางเมือง วิธีการนี้ก็ไม่มีที่ไหนทำกันนะ แต่ว่าเมืองไทยก็ทำสำเร็จมาแล้ว โดยคนที่ทางการเรียกว่าผู้ก่อการร้ายสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ อันนี้อาตมาคิดว่าเป็นความชาญฉลาดของสังคมไทย ซึ่งทำให้ความขัดแย้งอย่างรุนแรงคลี่คลายไปได้อย่างสันติ ตรงนี้อาตมาคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าเอามาใช้ได้

พิธีกร ในส่วนของบทความของพระคุณเจ้าท่อนหนึ่งเขียนว่าเยียวยาด้วยความยุติธรรม อยากให้ช่วยขยายความตรงนี้สักนิดหนึ่งค่ะ

พระไพศาล อาตมาได้พูดเมื่อกี้ว่าความจริงและความยุติธรรมจะช่วยเยียวยาจิตใจผู้สูญ เสียได้ ผู้สูญเสียนอกจากจะต้องการบอกให้สังคมรู้ว่าเขาเจ็บปวดอย่างไร เขาต้องการมีคนฟังแล้วก็ยังต้องการรู้ว่าใครทำให้เขาเดือดร้อนอย่างนี้ เขายังต้องการให้คนที่ทำให้เขาเดือดร้อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นี่คือความหมายของคำว่าเยียวยาด้วยความยุติธรรม แต่ว่ามันเป็นกระบวนการระยะกลางเพราะกว่าจะเห็นผลว่าใครผิดใครถูกก็ใช้เวลา นานเป็นหลายเดือน ก็ต้องมีวิธีการเยียวยาเฉพาะหน้าด้วย

พิธีกร ตอนนี้ในแง่มุมพระอาจารย์เรื่องเฉพาะหน้าที่ต้องทำคืออะไรคะ

พระไพศาล อาตมาได้พูดไปเบื้องต้นว่า หนึ่งอย่าทับถมกัน สองเปิดโอกาสให้เขาได้พูด ได้ระบายความทุกข์ของเขาและมีคนฟัง ให้เขารู้สึกว่ามีคนเข้าใจความทุกข์ของเขา เข้าใจความสูญเสียของเขา ถ้าเขาไม่มีโอกาสระบายจะรู้สึกแย่มากเลย อาตมาพูดว่าหลายคนที่เขาสูญเสีย โดยเฉพาะฝ่ายที่เป็นนปช. เขาไม่มีโอกาสได้ระบาย ทั้งๆที่เขามาชุมนุมโดยสงบ อาตมาคิดว่าส่วนใหญ่มาชุมนุมโดยที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง อาจจะผิดกฎหมาย อันนี้ก็ว่ากันไป แต่ว่าคนที่เขาสูญเสีย คนรักของเขาตายจากไปเพราะถูกยิง หลายคนไม่ได้จับอาวุธ บางคนตายเพราะไปช่วยเพื่อนของเขาที่ถูกยิง แต่พอไปช่วยก็ถูกยิงตาย บางคนเป็นผู้ช่วยพยาบาล บางคนเป็นอาสาสมัครพยาบาล เขาต้องการรู้ว่าเขามาเรียกร้องด้วยความสงบแต่ทำไมต้องลงเอยแบบนี้ จริงอยู่บางคนอาจจะเผายาง แต่เขาไม่ได้จับอาวุธ เขาก็ไม่สมควรตาย อย่างมากก็ติดคุก ๕ ปี ๑๐ ปีก็ว่ากันไป อาตมาคิดว่าเรื่องราวอย่างนี้เขาไม่มีโอกาสได้พูด เขาได้กลายเป็นจำเลยของสังคมไปแล้ว แต่ถ้าเขาไม่ได้พูดเขาก็จะเกิดความคับแค้นในจิตใจ ก็จะกลายเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต

พิธีกร สังคมไทยตอนนี้ พระอาจารย์มองว่าด้วยสภาพการณ์แบบนี้ เห็นภาพข่าวหนังสือพิมพ์ และอีกหลายรายการนักข่าวเหมือนกับว่า ที่พูดถึงเสื้อแดงในทางเสียๆ หายๆ ในทางที่เป็นจำเลยของสังคม มันจะมีโอกาสที่ทำให้เราจะสามารถกลับมาสงบสุขหรือว่าเราต้องลดทอนในมุมนี้ลง ให้มันเบาลงกว่านี้ไหมคะ

พระไพศาล ต้องพูดแบบแยกแยะ ใครที่เผาเมือง ใครที่จับอาวุธ อันนี้เราก็ต้องวิจารณ์กันไป จะต้องไม่ละเว้น เพราะว่าเขาทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่อาตมาคิดว่าคนเหล่านี้เป็นคนส่วนน้อย เพราะคนที่ประท้วง ๕,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ คน เขาไม่ได้ทำอย่างนี้ เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพื้นที่รอบนอกมีการปะทะกัน มีการใช้กำลังอาวุธ มีการใช้ระเบิดขวด เท่าที่ฟังจากการสัมภาษณ์ของชาวบ้านที่ชุมนุม หลายคนเขาไม่รู้เรื่องเลยว่าเกิดอะไรขึ้นแถวบ่อนไก่ แถวราชปรารภ คือคนที่อยู่ที่ราชประสงค์เขาไม่มีสื่ออะไรที่จะรับรู้เลย บ่ายวันที่ ๑๙ หลายคนงงมากเลย ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมอยู่ดีๆ ทหารถึงบุกกันมามากมายอย่างนี้ อาตมาคิดว่าเราต้องแยกแยะว่าคนเหล่านี้เขาไม่รู้เรื่อง เขาอาจจะแค่มาชุมนุม มาตามสิทธิที่เขาพึงมีพึงได้ บางคนบอกว่าเขาถูกหลอกมาหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เขาไม่ได้จับอาวุธ ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ก็ไม่ควรจะกล่าวซ้ำเติมว่าเขาเป็นผู้ร้ายที่เผาบ้านเผาเมือง อาตมาคิดว่าต้องกล่าวแบบแยกแยะ

พิธีกร แล้วมาถึงจุดนี้เรายังสามารถกลับมาสมานฉันท์ รักกันได้เหมือนเดิมอีกไหมคะ มันจะต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการเยียวยาแค่ไหนกัน

พระไพศาล อาตมามีความหวังนะ เพราะว่าอาตมาเคยผ่านเหตุการณ์ ๖ ตุลา มา หลังวันที่ ๖ ตุลา หลายคนรู้สึกหดหู่ สิ้นศรัทธาในมนุษย์ ไม่มีความหวังกับบ้านเมือง เพราะสงครามกลางเมืองกำลังจะเกิดขึ้น แต่ว่าเราก็ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้โดยที่ไม่มีสงครามกลางเมืองและผู้คนก็ กลับมารักกัน ที่เคยเป็นซ้ายเป็นขวา เคยจับปืนสู้กันก็กลับมาเป็นเพื่อนกัน อยู่พรรคการเมืองเดียวกัน อยู่ในรัฐบาลเดียวกัน เล่นกอล์ฟก๊วนเดียวกัน ร้องเพลงคาราโอเกะด้วยกัน อาตมาเชื่อว่าวันนี้คนที่เป็นศัตรูกันในนามของเหลืองและแดงหรือ แดงกับไม่แดง ในวันข้างหน้าก็จะกลับเป็นเพื่อนกันได้

ไม่ต้องพูดไกล อเมริกากับเวียดนามเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วก็ทำสงครามกันนานเกือบ ๓๐ ปี คนเวียดนามตาย ๒-๓ ล้านคน คนอเมริกันตายไปครึ่งแสน แต่ทุกวันนี้ก็กลับมาเป็นมิตรกันได้ อาตมามีความหวังว่าเราจะกลับมาคืนดีกันได้ และบ้านเมืองก็จะมีความสว่างไสวเหมือนเดิม คือมองในแง่ประวัติศาสตร์แล้วไม่มีอะไรที่จะทำให้เราหมดหวัง

พิธีกร จะฝากอะไรถึงประชาชนคนไทยไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีไหน ไม่ว่าจะใครก็ตามเพื่อที่จะให้มีกำลังใจในการที่จะเยียวยาจะฟื้นฟูประเทศ ชาติคะ

พระไพศาล ที่ผ่านมาเราก็ใช้พลังและทรัพยากรในการทะเลาะวิวาท ในการสร้างความร้าวฉานกันมามากแล้ว วันนี้อาตมาอยากให้เรามาร่วมมือกันทำสิ่งที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อ บ้านเมือง อย่างที่เราทำกันเมื่อวานที่กรุงเทพ อาตมาเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีมากเลย แต่นอกจากช่วยกันกวาดขยะและเศษซากต่าง ๆ ในกทม. หรือในเมืองแล้ว อยากให้เราช่วยกันกำจัดขยะในใจเราด้วย ได้แก่ความโกรธความเกลียด ความเคียดแค้นพยาบาท และช่วยกันขจัดความเศร้าหมองหดหู่ในใจของเพื่อนเราด้วยไม่ว่าเขาจะสีอะไรก็ ตาม อาตมาคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องปลดป้าย ที่ผ่านมาเราติดป้ายให้แก่กันและกันเยอะมาก ติดป้ายว่าเป็นเหลืองเป็นแดง เราเลยไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปลดป้ายที่ประทับให้กับคนอื่น เพื่อที่เราจะได้เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันแล้วเราจะรักกันได้มากขึ้น เพราะเราเป็นคนไทย และส่วนใหญ่เราก็เป็นชาวพุทธเหมือนกัน เรารักในหลวงเหมือนกัน น่าจะเป็นเหตุผลให้เรารักกันมากกว่าทะเลาะเบาะแว้งกัน อาตมาเชื่อว่าเราจะทำได้

ที่มา: http://www.visalo.org/columnInterview/FM101_530524.htm