ปรับปรุงจากการสัมภาษณ์พระไพศาล วิสาโล
โดยชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ ดำเนินรายการ
สถานีวิทยุ FM92 วิทยุศึกษา
วันจันทร์ที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๙.๐๕ น.

พิธีกร หลวงพี่ไพศาลครับ ถ้ามองในมุมของความพยายามเคลื่อนไหวเรื่องสันติวิธี ที่ผ่านมา ซึ่งก็สั่งสมมาไม่น้อยเลย แต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกลางเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ๑๙ พ.ค.เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก หลวงพี่มองการเคลื่อนไหวและสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้างครับ

พระไพศาล ในสายตาของคนทั่วไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือความพ่ายแพ้ของสันติวิธี แต่พูดเช่นนี้คงไม่ถูก เพราะว่าถ้าทุกฝ่ายใช้สันติวิธีบ้านเมืองจะไม่เสียหายอย่างนี้ ที่ถูกต้องพูดว่านี้คือความพ่ายแพ้ของฉันทามติในเรื่องสันติวิธีของสังคมไทย ก่อนหน้านี้เราเคยคิดว่า สังคมไทยมีฉันทามติที่เข้มแข็งพอสมควรว่า ไม่เอาความรุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ ๖ ตุลา, พฤษภาทมิฬ หรือว่า เมษาเลือด ปีที่แล้ว ฉันทามติที่ว่าสามารถหยุดยั้งไม่ให้มีการใช้กำลังสลายการชุมนุมอย่างที่เกิด ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ เมษาได้ แต่ว่าในที่สุดมันก็พังทลาย เหมือนกับทำนบกั้นน้ำเกิดแตกขึ้นมา น้ำก็เลยไหลบ่า ทำนบที่ว่าคือฉันทามติของสังคมไทยว่าไม่เอาความรุนแรง มันไม่เข้มแข็งพอ เพราะว่าความโกรธ ความเกลียด ความเกลียดชังมีมากเหลือเกิน จนกระทั่งสามารถทลายทำนบที่เป็นฉันทามติเกี่ยวกับสันติวิธีได้ นี้เป็นบทเรียนที่เจ็บปวดมาก

แต่อาตมาก็ยังอยากยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ถ้าเราไม่ใช้สันติวิธีก็จะเกิดความสูญเสียพินาศอย่างนี้ สันติวิธีในความหมายที่กว้าง ไม่ได้หมายถึงการเจรจาหรือการปรองดองเท่านั้น แต่มีความหมายมากกว่านั้น อาตมาจะยังไม่พูดถึงตอนนี้ แต่ถ้าจะพูดว่านี่เป็นความล้มเหลวของสันติวิธี อาตมาคิดว่าไม่ใช่ ที่จริงมันเป็นชัยชนะความโกรธความเกลียดมากกว่า นี่เป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับฉันทามติ ที่ว่านี้ให้ได้ในอนาคต

พิธีกร เรื่องนี้เกิดขึ้นจากหลายฝ่าย ถ้าจะมองไปสู่รัฐ องค์กรของรัฐต่างๆ การบริหารจัดการทางบ้านเมือง มีโอกาสที่จะใช้สันติวิธีในสถานการณ์ที่วิกฤติได้ไหมครับ

พระไพศาล มันก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้หลายครั้ง เช่น ตอนที่มีการเสนอมาตรการปรองดองแห่งชาติ ทุกฝ่ายก็ตอบรับด้วยดี แต่ก็ไปติดที่เงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าเงื่อนไขที่ว่านี้ทำให้ นปช.ไม่ยอมยุติการชุมนุม อันนี้มันเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งภายในของเขาด้วย ระหว่างสายพิราบกับสายเหยี่ยวก็ว่ากันไป เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ว่า ในที่ชุมนุมของ นปช.เอง สายพิราบไม่สามารถต้านทานสายเหยี่ยวได้ นี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายจนนำไปสู่การใช้กำลังทหารกระชับ พื้นที่ และน่าเสียดายที่ว่าในคืนวันที่ ๑๘ มีสว. จำนวนหนึ่งเข้าไปเจรจากับแกนนำนปช. ทางนปช.ก็ยอมรับที่จะเจรจา และมีข้อเสนอบางอย่าง แต่ข้อเสนอนี้ ทางฝ่ายนายก ฯ อภิสิทธิ์ไม่ยอมรับ ก็เลยเกิดเหตุการณ์วันที่ ๑๙ ขึ้นมา

อาตมาคิดว่ามันมีโอกาสที่จะคลี่คลายลงด้วยสันติวิธีหรือด้วยความ รุนแรงที่น้อยกว่านี้ แต่เราก็พลาดโอกาสให้สันติวิธีทำงาน จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ อาจจะเป็นเพราะว่ากระแสเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งฝ่ายพิราบของทั้งสองฝ่ายต้านทานไม่อยู่

พิธีกร หมายถึง ถึงแม้ว่าถึงแม้รัฐจะมีคุกทหารศาลตำรวจ แต่ก็ยังสามารถบริหารประเทศแบบใช้สันติวิธีได้ อันนี้พูดถึงทุกสถานการณ์

พระไพศาล ใช่ เพราะถ้าสังคมไทยเป็นสังคมที่เข้มแข็ง ระบบต่างๆ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งลงเอยด้วยความรุนแรง เช่นระบบศาลถ้าให้ความยุติธรรมเพียงพอที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ ก็อาจจะไม่มีการประท้วงกันบนท้องถนน หรือว่าถ้ารัฐสภาเป็นเวทีที่ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาต่อรองได้อย่างสมน้ำสม เนื้อ คนก็คงไม่มาชุมนุมกันที่ราชประสงค์ หรือว่าถ้าสื่อสารมวลชนฝ่ายรัฐ ฝ่ายเอกชน เปิดพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่ายเพียงพอ มันก็คงไม่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับนปช.รุนแรงจนถึงขั้นปะทะกันได้

อาตมาคิดว่า สังคมที่เป็นอารยะ เขาจะมีกลไกเหล่านี้เพื่อทำหน้าที่แก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ความขัดแย้งนี่ยังไงเราก็หนีไม่พ้น มันจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ทำอย่างไรถึงไม่ให้มันกลายเป็นความแตกหัก ระบบต่างๆ ที่อาตมาพูดถึง รวมทั้งการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นวิธีการแก้ไขความขัดแย้งในสังคม อย่างเช่นทางฝ่าย นปช.ขอให้มีการยุบสภาและเลือกตั้ง แต่อีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะฝ่ายเสื้อเหลืองจำนวนมาก ไม่เชื่อว่า การเลือกตั้งจะแก้ไขปัญหาได้เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งมีการซื้อเสียงกัน อย่างแพร่หลาย ถ้าเลือกตั้งเมื่อไหร่ คุณอภิสิทธิ์ก็จะหลุดจากตำแหน่ง และทำให้พรรคการเมืองของฝ่าย นปช.เข้ามาเป็นรัฐบาลแทน ความคิดแบบนี้ทำให้ไม่เชื่อมั่นการเลือกตั้ง แต่ถ้าระบบการเลือกตั้งของเมืองไทยมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม อาตมาเชื่อว่ามันจะไม่ลงเอยอย่างนี้ การยุบสภาจะกลายเป็นเรื่องง่าย เพราะทุกฝ่ายเชื่อในการเลือกตั้ง แต่เมื่อมีบางฝ่ายไม่เชื่อในการเลือกตั้ง บางฝ่ายเชื่อแต่กลัวว่าเลือกตั้งไปแล้ว ระบบราชการจะมาครอบงำ ทหารจะมาครอบงำ เขาก็ต้องมีเงื่อนไขต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุปัจจัยทางสังคมการเมืองที่ทำให้เกิดการเผชิญหน้า การไม่ยอมกัน และในที่สุดก็เหมือนรถที่แล่นประสานงากันโดยที่ไม่มีใครยอมหลีกกันและกัน

พิธีกร ทีนี้มาถึงสถานการณ์ตอนนี้ก็ยังไม่จบโดยสิ้นเชิง เรื่องต่างๆ ยังต่อเนื่องไปอีก ยังมีความห่วงความกังวลความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นได้อีก รวมทั้งความคิดก็ยังไม่ได้ยอมรับกัน สังเกตจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ หลังเหตุการณ์ใหญ่ ตรงนี้จะทำยังไงครับให้เกิดเหตุเกิดผล เกิดความร่วมมือ เกิดการช่วยเหลือกันได้จริงๆ

พระไพศาล การเยียวยาบาดแผลในจิตใจเป็นเรื่องที่จะต้องทำ เมื่อวานนี้เราก็ช่วยกันปัดกวาดทำความสะอาด กทม.กันไประดับหนึ่งแล้ว แต่เรื่องการปัดกวาดความรู้สึกที่ติดค้างคาใจของผู้คนก็ต้องทำด้วย ทั้งในใจเราเองและในใจของผู้สูญเสีย ซึ่งตอนนี้ผู้สูญเสียคือทุกฝ่าย นปช.ก็สูญเสีย คนที่ไม่ใช่ นปช.ก็สูญเสียไปคนละแบบ บางคนสูญเสียญาติพี่น้อง สูญเสียลูกหลาน บางคนสูญเสียอาชีพ สูญเสียวิถีทำมาหากิน สูญเสียอนาคตจะอยู่อย่างไรในวันข้างหน้า ตรงนี้จะต้องมีการช่วยเยียวยารักษาได้ ซึ่งคงไม่ใช่แค่การหาเงินทองมาช่วย หรือการจ่ายค่าพยาบาลค่าชดเชยเท่านั้น ทำอย่างไรถึงจะทำให้ความคับแค้น ความเจ็บป่วยของผู้คนคลี่คลายไป วิธีหนึ่งที่ใช้กันในทุกสังคมที่มีการทำร้ายกันระหว่างคนในชาติ ก็คือการใช้ความจริงและความยุติธรรรม

ความจริงจะช่วยเยียวยารักษาผู้คนที่เจ็บปวด ถ้าเขารู้ว่าสุดท้ายแล้วเหตุการณ์มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนรับผิดชอบ ใครเป็นคนวางเพลิง จากนั้นก็ให้นำคนเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็จะช่วยเยียวยาจิตใจได้อย่างที่อาตมาเคยพูดว่าในแอฟริกาใต้มีความขัดแย้ง กันอย่างหนักระหว่างคนดำคนขาว เมื่อมีความพยายามเปลี่ยนถ่ายการปกครองจากคนขาวมาสู่คนดำ โดยมีเนลสัน แมนเดลาเป็นประธานาธิบดี สิ่งที่เนลสัน แมนเดลาทำคือตั้งคณะกรรมาธิการสัจจะและการปรองดองขึ้น และมีเงื่อนไขว่า ใครที่ทำผิด เคยฆ่าคน เคยทรมาน ไม่ว่าจะเป็นคนขาวคนดำ ถ้ายอมรับผิดจะได้รับการนิรโทษกรรม ใครไม่ยอมรับผิดก็ต้องขึ้นศาล ตรงนี้ช่วยให้ผู้สูญเสียรู้สึกว่า ความเจ็บปวด ความพิการของเขาไม่ใช่ความสูญเปล่า ลูกหลานเขาไม่ตายฟรี ไม่พิการฟรี มีคนที่ได้รับการลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง เรื่องนี้สำคัญมาก จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ แต่เป็นเรื่องของมาตรการระยะกลาง เพราะกว่ามันจะให้ผล ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี

ตอนนี้มีคนที่เจ็บปวด เคียดแค้น ชิงชังหรือคับแค้นมาก อาตมาคิดว่าสิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือ เปิดโอกาสให้เขาพูดถึงความเจ็บปวดของเขา ที่ผ่านมาหลายคนมีโอกาสพูดถึงความเจ็บปวดของเขาผ่านทางสื่อ ผ่านโทรทัศน์ เช่น เจ้าของร้านค้ารายย่อยที่เซ็นเตอร์วัน สยามสแควร์ การให้เขามีโอกาสได้พูด หรือมีคนรับฟังความทุกข์ยากของเขา อาตมาคิดว่าอันนี้ดี แต่ว่าคนที่เจ็บปวดมีมากกว่านั้น คนที่สูญเสียลูก คนที่สูญเสียพ่อ คนที่สูญเสียคนรัก มีทั้งสองฝ่าย แต่ว่าในเหตุการณ์วันที่ ๑๘-๑๙ หรือว่าวันสองวันก่อนหน้านั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นฝ่ายนปช.ที่สูญเสียมากกว่า คนตาย ๕๐-๖๐ คน ในช่วงสี่ห้าวันนั้น อาตมาคิดว่าที่ผ่านมา เขายังไม่มีพื้นที่ที่จะพูดถึงความทุกข์ความเจ็บปวดของเขา เขาเจ็บปวดเพราะคนที่เขารัก หลายคนถูกยิงตาย ตายทั้งที่ไม่ได้จับอาวุธ บางคนตายขณะที่เข้าไปช่วยเพื่อนที่บาดเจ็บแล้วถูกสไนเปอร์จากที่ไหนไม่รู้ ยิงทะลุกะโหลก บางคนก็เป็นอาสาสมัครกู้ชีพ คนเหล่านี้ไม่ได้จับอาวุธ แต่ต้องตายด้วยฝีมือใครไม่รู้ แต่เขาต้องการพื้นที่ที่จะพูด ว่าได้เกิดอะไรขึ้นกับคนรักของเขา เขาต้องการคนรับฟังความทุกข์ของเขาด้วย อาตมาคิดว่านี่เป็นกระบวนการที่ทำได้

ถ้าเรามีพื้นที่ให้คนที่เจ็บปวด สูญเสียได้พูด ได้ระบาย และมีคนฟังเขา เข้าใจความทุกข์ของเขา โดยสื่ออาจเปิดพื้นที่ให้เขาได้พูด หรือมีคนไปรับฟังความคิดของเขา จะเป็นอาสาสมัคร เป็นนักจิตวิทยาหรืออะไรก็แล้วแต่ อันนี้ช่วยได้ และอาตมาคิดว่าในแง่นี้ การนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะช่วยได้เหมือนกัน อย่างที่แอฟริกาใต้พอมีการนำตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐมาขึ้นศาล เพราะมีหลักฐานว่าเขาทรมานประชาชนเป็นคนดำ ก็มีการเอาเหยื่อที่ถูกทรมานมาให้การต่อศาล มีคนหนึ่งบอกว่าแกถูกทรมานจนตาบอด แต่วันที่แกได้ขึ้นศาลได้พูดถึงความทุกข์ของแก แกรู้สึกโล่งอกมาก แกบอกว่าผมรู้สึกแย่ตลอดเวลาเพราะผมไม่สามารถเล่าเรื่องราวของผมได้เลย แต่ตอนนี้ผมรู้สึกเหมือนมองเห็นได้อีกครั้งหนึ่งแล้ว เพราะผมได้มาที่นี่ และได้มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวของผมออกมา

นี่เป็นวิธีการเยียวยาอย่างหนึ่ง การช่วยให้คนที่เจ็บปวดทุกข์ทรมานได้เล่าว่าเขาถูกกระทำอย่างไร เป็นการให้ความเป็นธรรมแก่เขาอย่างหนึ่ง อาตมาคิดว่าอยากให้มีกระบวนการอย่างนี้กับผู้สูญเสียไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม ทั้ง นปช. ทั้งไม่ใช่ นปช. ทั้งคนทั่วไปด้วย มันจะช่วยเยียวยาจิตใจเขาได้ เพราะว่าตอนนี้คนจำนวนมากคิดว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่มีใครฟัง แถมถูกทับถมซ้ำเติมด้วย ตรงนี้อาตมาคิดว่าต้องช่วยกัน

พิธีกร ผมก็เริ่มได้อ่านแล้วนะครับในมติชนออนไลน์ เรื่องของคนที่อยู่ในวัดปทุมวนาราม คืนวันที่ ๑๙ ความรู้สึกและสิ่งที่เห็นและพบ ผมยังห่วงอยู่เรื่องหนึ่งครับ คือ ในอดีตมาสังคมไทยผ่านเหตุการณ์ใหญ่ แล้วพอคนมีคนหยิบยกมาพูดถึง จะมีประโยคหนึ่งประทับว่า อย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ คล้ายกับว่า ผ่านไปก็ดีแล้ว ถ้ายกกลับมาอีกมันจะมีเรื่อง ไม่แน่ใจว่าสังคมไทยผ่านเรื่องนี้โตกว่าเดิมไปมากมายขนาดไหนแล้วหรือยัง

พระไพศาล อาตมาไม่แน่ใจ คนไทยเรามักพูดว่า เรื่องอะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป อันนี้อาตมาก็เห็นด้วย ถ้าเราปล่อยวางได้จริง ๆ แต่เราอย่าลืมว่า มีคนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถลืมมันได้ ไม่สามารถให้มันผ่านไปได้ เพราะฉะนั้น วิธีเดียวที่จะทำให้เขาปล่อยวางได้ คือ ทำในสิ่งที่อาตมาพูดถึงเมื่อกี้นี้ แต่อันนี้เป็นการเยียวยาระดับบุคคล อาตมาคิดว่าการเยียวยาของกลุ่มคนในสังคมมันไม่มีวิธีอื่น เพราะว่า คนทุกคน เมื่อเสียลูก เสียคนรัก น้อยคนที่จะลืมได้ เขาทำใจได้ยาก เราบอกได้ว่าเขาควรลืม ควรตัดใจ ควรปล่อยวาง เพราะอดีตผ่านไปแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี่คือหลักการที่พูดได้ แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครที่จะลืมได้ ไม่มีใครที่จะปล่อยวางได้ง่ายๆ น้อยคนที่มีธรรมะ ที่ตัดใจปล่อยวางได้เพราะถือว่าเป็นกรรม อย่างกรณีสึนามิ มีบางคนบอกว่ามันเป็นกรรม เขาทำใจได้ แต่จริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่ไม่สามารถจะทำใจได้ขนาดนั้น กระบวนการที่ว่ามันจะช่วยได้

อาตมามองด้วยว่า ประเทศไทยเจอเหตุการณ์อย่างนี้มาหลายครั้ง เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ ๖ตุลา ๑๙ พฤษภา ๓๕ ความรุนแรงเหล่านี้เกิดขึ้นทุก ๑๖-๑๗ ปี เหมือนกับว่ามันเกิดขึ้นทุกเจเนอเรชั่น อาตมาสงสัยว่าที่มันเกิดขึ้นทุกเจเนอเรชั่น ก็เพราะว่าคนหลงลืม คนเจเนอเรชั่นใหม่มักจะลืมเหตุการณ์ในอดีตเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว คนที่ผ่านเหตุการณ์ ๖ ตุลา ก่อนที่จะเกิดพฤษภาทมิฬ เขากลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่าง ๖ ตุลาอีก แต่คนจำนวนไม่น้อยไม่เคยผ่านเหตุการณ์ ๖ ตุลาเพราะยังเด็กอยู่ ก็เลยไม่ระมัดระวัง พร้อมจะใช้วิธีใดก็ได้ที่ทำให้ตัวชนะ มันก็เลยเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้นมา

พอผ่านเหตุการณ์พฤษภา ๓๕ มา ๑๘ ปีก็เกิดเหตุการณ์อย่างอาทิตย์ที่แล้วอีก อาตมามองว่าเป็นเพราะว่า เจเนอเรชั่นใหม่ๆ เขาลืมสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒๐ ปีหรือ ๔๐ ปีที่แล้วหรือไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำเลยว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนเจเนอเรชั่นเดิมที่เคยผ่าน ๖ ตุลา ๑๙ ผ่านพฤษภา ๓๕ มา ในขณะที่เป็นผู้ใหญ่ ก็ลืมเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น พอเราหลงลืมเราก็กลับมาสู่สถานการณ์ที่เหมือนกับตอนที่ซ้ายกับขวาจับอาวุธ เข้าสู้กัน เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ทหารรัฐบาลกับพคท.จับอาวุธสู้กัน ตอนนี้ก็เกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กัน คือฝ่ายที่แพ้ ก็หนีไปซ่องสุมเตรียมทำสงครามใต้ดิน เขาไม่มีป่าให้อยู่แล้วก็เลยจะสู้กันในเมือง

อาตมาคิดว่าเราต้องไม่ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้คนกลัวว่าถ้าเราจำอดีตได้เราจะเจ็บปวด แต่อาตมาคิดว่า การจำโดยไม่เจ็บปวดมันทำได้ ถ้าเรารู้จักถอนพิษความทรงจำ ความทรงจำบางอย่างมันมีพิษ มีหนามแหลม แต่อาตมาพบว่าคนที่ผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวด มีกระบวนการบางอย่างที่สามารถถอนพิษความทรงจำได้ เขาสามารถหวนระลึกถึงความทรงจำนั้นได้โดยไม่เจ็บปวด กระบวนการที่อาตมาพูดมาเมื่อกี้นี้เป็นวิธีหนึ่งในการถอนพิษความทรงจำได้ คือ ถ้าเราตระหนักว่า จำโดยไม่เจ็บเป็นเรื่องที่ทำได้ เรื่องการฟื้นฝอยหาตะเข็บก็จะไม่เกิดขึ้น คือ เราสามารถนึกถึงอดีตแต่เราไม่โกรธ เราไม่โกรธคนที่ทำร้ายเรา เช่น เมื่อเราระลึกถึงเหตุการณ์ ๖ ตุลา เราจำได้ว่ามีกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยิงนักศึกษาประชาชน เราสามารถระลึกนึกเหตุการณ์หรือคนเหล่านี้ได้โดยที่เราไม่เจ็บปวดไม่เคียด แค้น เราทำได้ ถ้าเรารู้จักให้อภัย ให้อภัยคนที่เขาใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาประชาชน

การให้อภัยเป็นวิธีการหนึ่งในการถอนพิษความทรงจำ ทำให้เราจำได้โดยไม่เจ็บ หรือการมีกระบวนการเยียวยา มีกระบวนการยุติธรรมอย่างที่อาตมาพูด ก็จะทำให้คนจำได้โดยไม่เจ็บ และเมื่อเราจำได้ ก็จะระมัดระวังไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก อีกสิบปีข้างหน้าถ้ามีเหตุการณ์เผชิญหน้าอย่างที่ผ่านมา ผู้คนก็จะลุกขึ้นมาตะโกนว่า ต้องสันตินะ อย่าใช้กำลังนะ เพราะผู้คนจำเหตุการณ์วันนี้ได้ จำเหตุการณ์อาทิตย์ที่แล้วได้ ฉันทามติของสังคมไทยจะเข้มแข็งขึ้น นั่นคือ ไม่เห็นด้วยก็ทะเลาะกันได้ เถียงกันได้ แต่อย่าใช้ความรุนแรง รัฐบาลที่จะใช้อาวุธเข้าไปสลายฝูงชนต่อไปจะทำไม่ได้เพราะประชาชนไม่สนับสนุน

แต่ก็อย่างที่เราเห็น ตั้งแต่วันที่ ๑๔ และวันที่ ๑๙ พฤษภาที่ผ่านมา เสียงสนับสนุนโห่ร้องกดดันให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงดังกระหึ่มมาก เพราะว่าฉันทามติเรื่องสันติวิธีพังทลายไปแล้ว คนที่ส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กำลังสลายผู้ชุมนุม อาตมาเชื่อว่าเขาคงไม่มีภาพเหตุการณ์ ๖ ตุลาในหัวเลย เขาไม่รู้หรือลืมไปว่าถ้าใช้กำลังสลายฝูงชน มันจะเกิดความสูญเสียมากกว่า พูดในแง่ของตัวเลขทางเศรษฐกิจ ๖๐กว่าวันที่ชุมนุมกัน เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากมายก็จริง แต่เมื่อมีการปราบปราม มีการใช้กำลังกับผู้ชุมนุม ตัวเลขการสูญเสียทางเศรษฐกิจเพียงแค่วันเดียวพุ่งพรวดขึ้นหลายเท่า เพราะมีตึกถูกเผาเยอะแยะไปหมด นักท่องเที่ยวตื่นตระหนกไม่กล้ามา การท่องเที่ยวเสียหายหนักกว่าเดิม การชุมนุมโดยตัวมันเองก่อให้เกิดความสูญเสียก็จริง แต่มันไม่มากเท่ากับการใช้กำลังเข้าไปปราบปรามการชุมนุม แน่นอนความสูญเสียส่วนมากมาจากผู้ชุมนุม เพราะเขาเคียดแค้น แต่ว่าเขาจะไม่มีทางเผาเมืองได้ ถ้าบ้านเมืองไม่อยู่ในภาวะสงคราม

ในทางตรงข้ามถ้าเรามีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ ๖ ตุลา เราระลึกได้ว่า เมื่อรัฐบาลใช้กำลังปราบนักศึกษาซึ่งเป็นฝ่ายซ้าย บ้านเมืองมันจะเลวร้ายกว่าเดิม กองกำลังคอมมิวนิสต์ก็จะเข้มแข็งกว่าเดิม แล้วสงครามกลางเมืองขึ้นได้ง่าย แต่พอรัฐบาลเปลี่ยนแนวคิด ออกคำสั่ง ๖๖/๒๓ พร้อมอ้าแขนรับผู้เคยจับอาวุธสู้กับรัฐบาล ประกอบกับมีความขัดแย้งระหว่างจีนและรัสเซียทำให้พคท.อ่อนแอลง หลายคนที่เคยจับอาวุธก็เลยกลับเข้าเมืองมาเป็นผู้ร่วมอาสาพัฒนาชาติไทย สงครามกลางเมืองก็ไม่เกิดขึ้น เราต้องเอาเหตุการณ์ ๖ ตุลามาเตือนใจเราอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะสายไปแล้ว ความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว แต่ว่าการที่รัฐบาลจะเอาใช้ความรุนแรงไล่ล่าปราบปรามคนเสื้อแดง อย่างที่ทหารเคยทำหลัง ๖ ตุลา มีการใช้กำลังอาวุธ กำลังทหารมากมาย เข้าไปจัดการ จนทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟในชนบท มันไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกแล้ว เราต้องกลับมาตั้งสติกันใหม่ แล้วใช้วิธีที่แยบคายกว่านี้

พิธีกร เข้าใจว่า ถ้าเราเทียบเคียงเหตุการณ์ต่างๆ มันก็มีพัฒนาการ มีเหตุปัจจัยที่ต่างกัน ถ้าเราจะมองครั้งนี้ อะไรบ้างที่เป็นพัฒนาการด้านที่น่าหยิบยกมาส่งเสริมให้เข้มแข็งมากขึ้น หรือเห็นได้ว่าสังคมเคลื่อนตัวไปในทางเจริญรุ่งเรือง ไม่ใช่ในทางที่เสื่อม

พระไพศาล อาตมาเห็นว่า ข้อเสนอเรื่องความปรองดองแห่งชาติ เป็นความริเริ่ม เป็นพัฒนาการที่น่าสนใจ แต่พอเกิดเหตุการณ์รุนแรงเมื่ออาทิตย์ที่แล้วแล้วก็ไม่ทราบว่า มันจะขับเคลื่อนไปได้ไหม ประชาชนจำนวนหนึ่งจะยอมรับการนำของคุณอภิสิทธิ์หรือเปล่า คุณอภิสิทธิ์มีสถานะหรือภาพลักษณ์ที่ชอบธรรมในสายตาของคนจำนวนมากหรือไม่ ถ้าหากว่าคนจำนวนมากไม่ยอมรับความชอบธรรมของคุณอภิสิทธิ์ การขับเคลื่อนแผนปรองดองแห่งชาติคงจะทำได้ยาก เว้นเสียว่าจะเปลี่ยนผู้นำคนใหม่ อันนี้อาตมาก็ไม่ทราบนะ นั่นคืออุปสรรค แต่ถ้ามองในแง่พัฒนาการอาตมามองว่านี่เป็นพัฒนาการที่ดีอย่างหนึ่งที่เกิด ขึ้น

อันที่สอง อาตมามองว่า ข้อดีอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นจากวันที่ ๑๙ ที่ผ่านมาคือ คนไทยได้เห็นชัดว่า เมื่อเราใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมแล้ว มันก่อความเสียหายมากกว่าที่เกิดจากการชุมนุมเองเสียอีก คนตายมากกว่า ความพินาศย่อยยับในด้านทรัพย์สินเงินทองมีมากกว่า อาตมาเชื่อว่าเมื่อคนได้เห็นบทเรียนแจ่มแจ้งคาตาอย่างนี้ ต่อไปก็อาจจะเป็นไปได้ว่า การต่อต้านวิธีความรุนแรงก็จะมีมากขึ้น สังคมไทยจะมีฉันทามติที่เข้มแข็งมากขึ้นในเรื่องการแก้ไขความขัดแย้งด้วย สันติวิธี นี่เป็นสิ่งที่เราต้องพยายามทำให้เกิดขึ้น เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสให้ได้

พิธีกร จะถึงวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันวิสาขบูชา เราจะใช้มากับสถานการณ์นี้ได้อย่างไรขนาดไหน

พระไพศาล เราคงทราบดีวันวิสาขบูชา เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นวันของพระพุทธเจ้า วันมาฆบูชาเป็นวันพระธรรม วันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระสงฆ์ อันนี้พูดง่ายๆ นะ วันพระพุทธเจ้า ไม่ควรเป็นวันที่เราจะไปเวียนเทียนเพื่อสิริมงคลหรือทำบุญตามประเพณีอย่าง เดียว แต่ควรใคร่ครวญว่าพระพุทธเจ้าหมายถึงอะไร พระพุทธเจ้าไม่ได้หมายถึงอดีตเจ้าชายสิทธัตถะที่เคยบำเพ็ญเพียรจนบรรลุธรรม เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น พระพุทธเจ้าในทางธรรมาธิษฐาน คือ พระปัญญาคุณ และพระกรุณาคุณ นี้คือธรรมสองประการที่ทำให้บุคคลคนหนึ่งกลายเป็นพระพุทธเจ้า หมายความว่า เราควรมองพระพุทธเจ้าชนิดที่มองทะลุตัวบุคลจนเห็นพระธรรมที่ทำให้คนๆ หนึ่งกลายเป็นพระพุทธเจ้า นั่นคือ พระปัญญาคุณ และพระกรุณาคุณ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนๆ หนึ่งพ้นทุกข์ได้ และไม่ใช่แค่คนๆ เดียวที่พ้นจากทุกข์ แต่ยังทำให้มวลมนุษย์พ้นจากทุกข์ได้ สามารถทำให้สังคมพ้นจากวิกฤติและพัฒนาไปสู่สันติสุข

คำว่า พระปัญญาคุณ และพระกรุณาคุณนั้นสำคัญ เราจะต้องนำพระธรรมสองข้อนี้มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต และเป็นหลักกำกับในการขับเคลื่อนสังคม สังคมเราต้องเสริมสร้างเมตตากรุณาให้มากขึ้น ตอนนี้เราก็เห็นแล้วว่าผู้คนโกรธเกลียดกันมาก เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องของเมตตากรุณา ที่ผ่านมาเวลามีใครเรียกร้องว่าอย่าฆ่ากันๆ คนที่เรียกร้องก็จะถูกด่าถูกว่า อาตมาคิดว่า อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เราต้องช่วยกันเสริมสร้างความกรุณาให้เกิดขึ้นในใจของผู้คน โดยไม่เลือกฝักเลือกฝ่าย ไม่ใช่กรุณาแต่พวกเดียวกัน แต่ว่ากรุณากับคนที่คิดต่างกับเรา ถ้าสังคมไทยมีเมตตากรุณาระหว่างเสื้อเหลืองเสื้อแดง ระหว่างคนหลากสีได้ สังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ไกลมาก

ธรรมอีกข้อหนึ่งคือ ปัญญา เราต้องรู้จักใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหา ไม่ใช้แต่กำลังหรือความรุนแรง เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ใดๆ ขึ้นมาเราต้องเอาปัญญาออกมา เมื่อเช้าอาตมาเพิ่งลงเขียนในเฟซบุค เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากคือ เมื่อสมัยปลายรัชกาลที่๑ พระเจ้าปดุงของพม่าเตรียมกรีฑาทัพจะมาบุกกรุงเทพ กรุงเทพฯ เพิ่งฟื้นตัวจากการเสียกรุงครั้งที่สองได้ไม่ถึง ๔๐ ปี พระเจ้าปดุงตอนนั้นมีกำลังมาก พระยากาวิละ ผู้ปกครองเชียงใหม่ ตอนนั้นเชียงใหม่เป็นประเทศราชของกรุงเทพฯ เป็นพอรู้ว่าพระเจ้าปดุงจะยกทัพมาตีกรุงเทพฯ ก็แปรพักตร์ ไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้าปดุง เปลี่ยนฝ่ายทันที พร้อมที่จะยกเชียงใหม่และ ๕๗ หัวเมืองในล้านนาให้พระเจ้าปดุง พระเจ้าปดุงทำยังไง แทนที่จะรับข้อเสนอนี้ กลับเขียนพระราชสาสน์ไปถึงพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกว่า พระยาเชียงใหม่ทรยศหักหลังกรุงเทพฯ แผนนี้ฉลาดมาก

ถ้าเราเป็นรัชกาลที่๑ เราจะทำยังไง ปรากฏว่า รัชกาลที่หนึ่งแทนที่จะโกรธ แทนที่จะกรีฑาทัพไปลงโทษเชียงใหม่ที่ทรยศ กลับส่งพระราชสาสน์ไปบอกพระเจ้าปดุงว่า ขอบคุณนะที่ส่งข่าว แต่เราไม่โกรธเชียงใหม่ อย่าคิดว่าเราจะไม่รู้ทันท่าน เป็นอันว่า ไม่กรีฑาทัพไปตีเชียงใหม่ เท่านั้นไม่พอพระองค์ยังแต่งตั้งพระยากาวิละ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็คือ พระเจ้ากาวิละ พระเจ้าปดุงก็โกรธแค้นมาก เพราะกะว่าถ้ากรุงเทพฯ ไปตีเชียงใหม่ ก็จะบุกกรุงเทพฯ ทันทีเลย แต่ รัชกาลที่หนึ่งนอกจากจะไม่เข้าทางพระเจ้าปดุงแล้ว ยังยกย่องพระยากาวิละเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้เชียงใหม่กับกรุงเทพฯ สมัครสามัคคีกัน เป็นพันธมิตรกันเหนียวแน่น ทำให้พระเจ้าปดุงเข้ามาตีกรุงเทพฯ ไม่ได้ นี่คือวิธีของรัชกาลที่หนึ่ง ผู้นำไทยสมัยก่อนรู้จักชนะโดยไม่เสียรี้พล ใช้ปัญญา ใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา ใช้วิธีการทางการฑูต ทำให้เปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตรได้

อาตมาคิดว่านี่คือปัญญาที่ควรใช้ในการดำเนินวิเทโศบาย และในการปกครองประเทศ ถ้าเรามีผู้นำอย่างนี้ เชื่อว่าเราคงไม่เกิดเหตุการณ์ย่อยยับอย่างเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เพราะว่าเรารู้ว่าจะใช้ปัญญาเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตรได้อย่างไร ซึ่งเป็นการกำจัดศัตรูโดยไม่มีการสูญเสีย มีแต่ผู้ชนะทั้ง ๒ ฝ่าย ปัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่เราจะใช้ในการดำเนินชีวิตและในการขับเคลื่อน สังคม อยากให้เราพิจารณาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าในแง่นี้บ้าง ในโอกาสวันวิสาขบูชา วันวิสาขบูชาไม่ควรเป็นแค่วันสำคัญทางศาสนาที่เราจะไปทำบุญ ใส่บาตร ให้ทานรักษาศีลอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาเพื่อเอาปัญญากรุณามาใช้กับเราเองด้วย

พิธีกร ผมคิดว่าทุกส่วนในสังคมเรา ถ้าหวังการเปลี่ยนแปลงที่ดี หวังความสงบสันติคงต้องสำรวจตัวเองกันไม่น้อยใน สำรวจหลายๆ เรื่อง วิเคราะห์ หลวงพี่ครับ ถ้าในมุมที่เกี่ยวพันในเรื่องศาสนา หมายถึงคนที่นับถือศาสนาต่างๆ หมายถึงผู้ที่ให้คำสอนทางศาสนา ศาสนากับสังคมไทยในวันนี้ ประเด็นหลักๆ มีอะไรบ้างที่เราควรจะไปนั่งคิดพิจารณากัน

พระไพศาล ยุคนี้เป็นยุคบริโภคนิยม ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ ก. ๓ ตัว คือกิน กาม เกียรติ ควบคู่กันไปก็เป็นยุคแห่งความเกลียดชัง ซึ่งแวดล้อม ก.อีก ๓ ตัว คือ กลัว เกลียด โกรธ ตอนนี้ กิน กาม เกียรติ และกลัว เกลียด โกรธ เป็นสิ่งที่ครอบงำสังคมไทยอยู่อย่างหนาแน่น ศาสนาทุกศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนาจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทย เพื่อไม่ตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมแห่งความละโมบ คือ กิน กาม เกียรติ และอยู่ภายใต้วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง คือ กลัว เกลียด โกรธ ถ้าหากว่าศาสนาไม่ทำตรงนี้ ไม่สร้างภูมิคุ้มกันต่อ ๖ ก.ที่ว่ามา ก็น่ากลัวว่าผู้คนจะเต็มไปด้วยความทุกข์เพราะเป็นทาสของกิน กาม เกียรติ และถูกครอบงำด้วย กลัว เกลียด โกรธ ก็จะทำร้ายกัน ครอบครัวจะไม่เป็นครอบครัว ชุมชนจะไม่เป็นชุมชน ประเทศชาติก็จะหาความสงบสุขไม่ได้ เพราะต่างคนต่างทำเพื่อตัวเองและเอารัดเอาเปรียบกัน เบียดเบียนกัน อาตมาคิดว่าพุทธศาสนามีศักยภาพสูงมากในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทย และเคยทำมาแล้ว แต่ระยะหลังพระสงฆ์มีบทบาทในเรื่องนี้น้อยมาก พระจำนวนไม่น้อยส่งเสริมให้ผู้คนหมกมุ่นกับเรื่อง กิน กาม เกียรติ หรือไปกระตุ้นให้คนมีความกลัว เกลียด โกรธ โกรธ

ตรงนี้อาตมาคิดว่า ถ้าพระสงฆ์สามารถช่วยให้คนมีภูมิคุ้มกันต่อ ๖ ก. ที่ว่ามานี่จะเป็นคุณูปการต่อสังคมไทยและต่อพระศาสนามาก แต่ถ้ายังทำไม่ได้ก็ต้องมีการปฏิรูปกัน อาตมาพูดเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ว่าก็ยังขับเคลื่อนได้ยาก เพราะว่า วัฒนธรรมหรือโครงสร้างของบ้านเมืองเราไม่เอื้อให้เกิดการปฏิรูปที่ว่า แต่อันนี้เป็นบทบาทสำคัญที่ทุกศาสนาต้องมี ถ้าไม่ทำตรงนี้ก็น่ากลัวว่า วิกฤติการณ์ต่างๆ ในสังคมไทย เช่น อาชญากรรม สิ่งแวดล้อม ครอบครัวแตกแยก คนเป็นโรคจิต โรคประสาท จะแพร่หลาย รวมทั้งเกิดความรุนแรงทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีก ๗๓ จังหวัดที่เหลือ อย่างที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว และจะเกิดขึ้นไม่หยุด นี้เป็นเป็นประเด็นที่อยากจะฝากเอาไว้

ที่มา: http://www.visalo.org/columnInterview/FM92_530524.htm