สัมภาษณ์พระไพศาล วิสาโล
โดยสถานีวิทยุ Fm 97
วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลา ๒๑.๔๐ น.

– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

พิธีกร พระคุณเจ้าตอนนี้สังคมต้องการสติมากเลย เราจะทำอย่างไรให้สังคมได้สติกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

พระไพศาล สิ่งที่ทำให้เราขาดสติคืออารมณ์ความโกรธความเกลียดความเครียด พอเราเผลอใจให้อารมณ์เหล่านี้ครอบงำแล้ว เราก็จะลืมตัวได้ง่าย เราก็จะไปตามพายุอารมณ์ ตอนนี้ยังมีเรื่องความเจ็บปวด เนื่องจากความสูญเสียเข้ามาด้วย อาตมาคิดว่าตอนนี้การสร้างสติเป็นสิ่งสำคัญ แต่ว่าในยามที่เรารู้สึกว่าจิตใจไม่ค่อยปกติ อาตมาแนะว่าเวลาเราเสพข่าวสารอยากให้ระมัดระวัง เพราะว่าจิตใจของเรายังเครียดยังกังวลยังวิตกยังกลัว ยังโกรธอยู่ พอเราเสพข่าวสารที่ไม่ดี ก็จะยิ่งมีอาการหนักมากขึ้น ในเบื้องต้นอาตมาคิดว่าเราต้องรู้จักประมาณในการเสพข่าวสาร ข่าวสารในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะข่าวสารในโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ แต่รวมไปถึงในเว็บไซต์ ในเฟสบุ๊คด้วย ตอนนี้เฟสบุ๊คหลายแห่งสามารถกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ได้มากมายรวมทั้งความกลัวความวิตกด้วย ต้องเสพข่าวสารเหล่านี้ให้พอดีแล้วก็รู้จักวางบ้าง

พิธีกร อย่างการที่เราจะอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ ผมเข้าใจว่าบางคนฝืนใจอ่านไม่ได้เลย หรือแม้กระทั่งจะเห็นหน้าใครบางคนที่เขาไม่ชอบยังไม่ได้เลย เขาควรจะเริ่มต้นอย่างไรครับ

พระไพศาล ถ้าเรารู้สึกว่าเราทนใครบางคนไม่ค่อยได้ ก็ควรวางระยะห่างสักหน่อยเพราะว่า ผัสสะคือ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ถ้าเราไม่มีสติเพียงพอก็อาจจะเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ง่าย ดังนั้นถ้ารู้สึกว่าคุยเรื่องนี้ไม่ได้ หรือว่าเจอคนบางคนก็ไม่ได้ก็ควรจะวางระยะห่างจากเขา อันนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่ทำได้ แล้วก็ต้องตระหนักด้วยว่าเวลาเราไม่ชอบอะไร โกรธเกลียดใคร ใจเราก็มักจะหวนคิดนึกถึงคนนั้น เราต้องรู้เท่าทันความคิดของเราด้วยว่า เรายิ่งรังเกียจสิ่งใด ไม่ชอบสิ่งใด ยิ่งปักใจติดตรึงอยู่กับสิ่งนั้น อันนี้เป็นธรรมชาติของใจ แม้ไม่ชอบ แต่กลับคิดถึงสิ่งนั้นบ่อยๆ จนนอนไม่หลับ

เพราะฉะนั้นนอกจากวางระยะบาง สิ่งบางอย่างที่เราไม่ชอบแล้ว เราต้องรู้จักเท่าทันอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ ที่อยากเพิ่มเติมคือ ไม่ควรอยู่ว่าง ๆ หรือปล่อยใจฟุ้งซ่าน ควรใส่ใจกับสิ่งที่เราทำ ถ้าเราอยู่ว่างๆ ใจก็จะเผลอคิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่ทำให้เราวิตกกังวลหรือกลัวและโกรธ กิจวัตรประจำวันก็ต้องทำ ใส่ใจอยู่กับปัจจุบัน ควรมีเวลาทำงานอดิเรกบ้าง เพื่อให้จิตใจสบาย จิตใจผ่อนคลาย ถ้าเราปล่อยใจว่างๆ มันจะหวนคิดถึงสิ่งที่ทำให้วิตกกังวล อยากให้หางานให้จิตทำบ้าง หางานที่ทำแล้วรู้สึกสบาย โปร่งโล่ง

พิธีกร เหมือนกับว่าถ้าเรามองอะไรอีกด้านหนึ่ง ในด้านที่ดีมันจะทำให้เราสบายใจขึ้นด้วยใช่ไหม

พระไพศาล ใช่ คนเราทุกข์เพราะความคิด เราคิดเรื่องอะไรที่ไม่ดีเราก็จะทุกข์กับเรื่องนั้น แต่พอเรานึกถึงเรื่องที่ดี เรื่องที่สบายๆ เราจะรู้สึกสบาย ตื่นเช้าขึ้นมา เราทำใจให้ผ่องใส ใส่บาตรบ้างหรือว่านั่งสมาธิบ้าง หรือว่าทำงานด้วยความใส่ใจ อันนี้เรียกว่ามีสติ ทำให้ใจไม่หวนไปคิดแต่เรื่องลบ ใจจะสบาย แต่ว่าถ้าหากว่าใครมีความทุกข์ ก็ควรหาโอกาสไปคุยไประบายให้คนอื่นฟังบ้าง เขาจะได้เข้าใจเรา บางทีเราก็ต้องการคนฟังเหมือนกันนะ ในเวลาที่เรามีความทุกข์ ถ้ามีใครฟังเรา เราจะรู้สึกสบาย อาตมาคิดว่าเดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยมีใครมานั่งฟังเราเท่าไร แม้แต่ในบ้านก็ไม่ค่อยมีใครมานั่งปรับทุกข์กัน อาตมาคิดว่าถ้ามีคนมานั่งฟังคนที่กำลังทุกข์ โดยเฉพาะผู้ที่ประสบความสูญเสีย สูญเสียทรัพย์สมบัติ สูญเสียคนรัก เขาต้องการคนที่ฟังเขา คนที่จะเข้าใจความรู้สึกทุกข์ของเขา อันนี้เป็นหน้าที่ของกัลยาณมิตรที่จะช่วยให้ใจสบายขึ้น

พิธีกร นั่นซิครับ เพราะบางทีเรารู้สึกว่ากัลยาณมิตรเป็นคนที่โหมใส่อะไรเข้าไปในหัวของเขา เยอะๆ จะได้เชื่ออะไรเรามากๆขึ้น อันนี้คือผิดหมดเลยใช่ไหม

พระไพศาล บางทีเราไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าคนที่ รับฟัง ไม่ต้องการคำแนะนำอะไร แค่คนฟังและเข้าใจเรา ยอมรับเรา เราจะฟูมฟายไปบ้างเพื่อนก็นั่งฟังเรา แค่นี้เพื่อนก็ช่วยได้มากแล้ว

พิธีกร แค่นี้ก็น่าจะพอแล้ว แต่ว่าเหนือสิ่งอื่นใด บางคนที่ยังมีอคติอยู่ในหัวใจ และไม่ยอมรับความจริง มันคือทุกข์อย่างใหญ่หลวงเลยไหมครับ

พระไพศาล อาตมาอยากให้เรามองผู้คน โดยไม่ติดอยู่กับยี่ห้อหรือป้าย ตอนนี้เราตีตราติดป้ายให้กับคนอื่น ๆเยอะมาก แม้กระทั่งคนใกล้ชิดเรา สามี ภรรยา หรือลูก เราก็ติดป้ายตามสีเสื้อที่เขาใส่จนกระทั่งมันกลายเป็นตัวปิดกั้นไม่ให้เรา เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา เราไม่สามารถมองทะลุสีเสื้อจนมองเห็นความเป็นมนุษย์ของเพื่อนเรา ของสามีภรรยาของเราด้วยซ้ำ อาตมาคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องปลดป้ายที่ประทับให้กับคนต่างๆ มากมาย ถ้าเราเห็นความเป็นมนุษย์ของเขา เราจะมีอคติน้อยลง เราจะรักกันมากขึ้น

อีกอย่างอยากให้ตระหนักว่าคนที่ เราไม่ชอบ เขาไม่ได้เป็นผู้ที่กระทำให้เราเจ็บปวดอย่างเดียวนะ เขาเองก็มีความทุกข์ความเจ็บปวดด้วย อาตมาคิดว่าตอนนี้คนไทยทุกคนเป็นผู้ถูกกระทำทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าเราทุกข์คนเดียวแล้วคนอื่นไม่ทุกข์ ถ้าเราเปิดใจรับความทุกข์ของเขา เราจะเห็นว่าคนเหล่านี้เป็นเพื่อนร่วมทุกข์กับเรา ถ้าเราเห็นซึ่งกันและกันเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เราจะเข้าใจกันมากขึ้น เราก็จะมีความรู้สึกใกล้ชิดกับเขา ความโกรธเกลียดก็จะลดลง

ทุกวันนี้เรามีอคติต่อกัน เพราะเราชอบมองที่ความต่าง คนเรามีความเหมือนกันเยอะแยะมากเลย เราเหมือนกัน ๙๕ อย่าง แต่เราต่างกันแค่ ๕ อย่าง แล้วเราก็ไปติดยึดกับความแตกต่าง พอเขาคิดแตกต่างกับเรา เราก็เครียด เราก็ทุกข์ แต่เราไม่ได้มองกันที่ความเหมือน ว่าเรามีอะไรเหมือนกันบ้าง

พิธีกร ตั้งแต่นี้ไปสังคมไทยต้องก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน พระคุณเจ้ามีพระธรรมอะไรที่จะเทศนาบ้างไหมครับ มีบทไหนที่อยากจะสั่งสอนให้กับพวกเราชาวพุทธมีโอกาสได้รับทราบ ว่าวิธีควรจะเป็นอย่างไรต่อไป

พระไพศาล ธรรมชาติของโลก ธรรมชาติของมนุษย์ มันมีการขึ้นลง แปรเปลี่ยนเสมอ ตอนนี้เราอยู่ในช่วงขาลง อาตมาอยากให้เรามีความหวังว่า มันไม่มีอะไรเที่ยง มันไม่มีอะไรที่แย่สุด สักวันหนึ่งก็จะดีขึ้น บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ถ้าเรามีความหวัง มีกำลังใจ ช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีงามร่วมกัน มันก็จะทำให้เราสามารถก้าวข้ามวิกฤตไปได้ ที่ผ่านมาเราก็ใช้พลังงานในการทะเลาะเบาะแว้งสร้างความแตกแยกกันมาก ตอนนี้ถึงเวลาที่เราจะร่วมกันทำสิ่งดีงาม อย่างที่เราทำไปเมื่อวันอาทิตย์ อาตมาคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี ช่วยให้เราก้าวสู่ชีวิตใหม่ทั้งของบ้านเมืองและของชีวิตเรา

พิธีกร แต่ทีนี้เรื่องสำคัญเรื่องการบริโภคข่าวสารอย่างที่พระคุณเจ้าบอกว่า มันต้องเข้าใจและบริโภคให้รอบด้านมากขึ้น ถ้าเราเริ่มต้นด้วยการไปต่อว่าคนอื่น ว่าไม่เป็นกลาง อันนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดีไหมครับ

พระไพศาล เราควรเพ่งโทษ กล่าวหากันให้น้อยลง เพราะว่าตอนนี้เป็นเวลาที่ต้องมาร่วมมือกัน สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม เราต้องมาดูใจเราเองว่าใจเรามีอคติหรือเปล่าก่อนที่เราจะเพ่งโทษคนอื่น เวลาเรากล่าวหาคนอื่นว่าเขาไม่เป็นกลาง เราแน่ใจแล้วหรือว่าเราเป็นกลาง ถ้าเราเพ่งโทษคนอื่นให้น้อยลง กลับมาดูใจตัวเองให้มากขึ้นก็จะดี

ที่มา: http://www.visalo.org/columnInterview/FM97_530525.htm