คอลัมน์ โลกสองวัย

โดย บางกอกเกี้ยน

ตลอด สัปดาห์ที่ผ่านมา มูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ (ประเทศไทย) ในโครงการ “จิมมี-โรสเลน สร้างบ้านลุ่มน้ำโขง 2552” ที่มี จิมมี คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากับภริยา โรสลิน คาร์เตอร์ เป็นตัวตั้งตัวตีคนสำคัญ พร้อมเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิและอาสาสมัครจากหลายประเทศทั่วโลก ไปสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาสที่บ้านหนองก้นครุ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มีอาสาสมัครจากทั่วโลกไปร่วมด้วยนับร้อย บรรดาอาสาสมัครที่ไปร่วมสร้างบ้านครั้งนี้มีทั้งดารา นักกีฬา จากหลายประเทศ รวมถึงจากไทยด้วย

จำนวนบ้านที่มูลนิธิแห่งนี้ร่วมกันสร้างครั้งนี้ เห็นว่ามีจำนวนมากที่สุดถึง 82 หลัง เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 82 พรรษา ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่จะถึงนี้ และเป็นโครงการนำร่องในแถบลุ่มน้ำโขง เมื่อสร้างเสร็จแล้วส่งมอบ ทางมูลนิธิจะขอให้กินเนสส์ บุ๊ก บันทึกไว้ว่าเป็นการสร้างบ้านจากอาสาสมัครของมูลนิธิในครั้งนี้มากที่สุด เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเป็นการสร้างขึ้นในประเทศไทย

กิจกรรม อาสาสมัครมิใช่ว่าจู่ๆ จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย โดยเฉพาะจากบรรดาอาสาสมัครทั้งหลาย มิใช่จะเกิดขึ้นกับคนนั้นคนนี้อย่างไม่มีที่มาที่ไป เช่นกรณีอาสา สมัครทำงานด้านอุบัติเหตุไปถึงเก็บศพ ดังมีผู้เข้าร่วมจำนวนไม่น้อยกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและมูลนิธิร่วมกตัญญู หรือมูลนิธิอีกไม่น้อยในแต่ละจังหวัดที่ทำงานเป็นหน่วยบรรเทาสาธารณ ภัย ทั้งบรรเทาสาธารณภัย ทั้งช่วยงานอุบัติเหตุ ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ถึงที่สุด ช่วยกันเก็บศพผู้เสียชีวิตออกจากสถานที่เกิดเหตุนำส่งโรงพยาบาลและญาติเพื่อ นำไปบำเพ็ญกุศล นับเป็นกุศลสูงส่งที่ไม่สามารถกำหนดวัดได้

งานอาสาสมัครเมื่อก่อนนี้เป็นที่นิยมในหมู่นิสิตนักศึกษา ไม่ทราบว่าเกิดในมหาวิทยาลัยไหนก่อน แต่ แน่นอนว่า ในหมู่บ้าน ในชุมชน ในโรงเรียน เราจะพบเห็นบุคคลที่มีจิตใจอาสาเข้าร่วมทำงานหรืออาสาสมัครเข้าช่วยเหลืองาน ในหมู่บ้าน ในชุมชน ในสังคมนั้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนมัก จะเรียนรู้ถึงกิจกรรมอาสาสมัครผ่านการเรียน ผ่านการฝึกฝนในวิชาลูกเสือ บ้างได้รับการปลูกฝังจากพ่อแม่ผู้ปกครอง บ้างศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง ในที่สุด เมื่อมีโอกาสก้าวขึ้นไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็มีโอกาสเข้าร่วมใน “ค่ายอาสาสมัคร” ของคณะ ของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น

เมื่อปี 2502 นิสิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย (ศาสตราจารย์ ดร.) วิจิตร ศรีสอ้าน อุปนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สจม.) นำนิสิตชายหญิง 48 คน จากทุกคณะไปตั้งค่ายอาสา สมัครที่บ้านนาเหล่าบก ตำบลหนองยาว อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ถึง 10 พฤศจิกายน ทำถนน และปลูกสับปะรด

เวลาล่วงเลยถึงวันนี้ 50 ปี เพื่อรำลึกถึงการจัดตั้งค่ายอาสาสมัคร สจม. ครั้งแรก อดีตอาสาสมัคร นิสิตจากคณะรัฐศาสตร์ นายสมพร ใช้บางยาง ปัจจุบันเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย จึงขอนัดชุมนุมชาวค่าย สจม. (ล่วงหน้า) วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ณ เรือนจุฬานฤมิต สำนักงานอธิการบดีฯ กำหนด การคร่าวๆ ตั้งแต่สายวันนั้น 10.30 น. ทำบุญเลี้ยงพระเพล เที่ยงร่วมกันรับประทานอาหารกลางวันแบบชาวค่าย คือข้าวแกงเป็นหลัก ช่วงบ่ายเป็นรายการความรู้คู่ความคิดเสวนาเรื่องค่ายอาสาสมัคร ตกเย็นจึงเป็นงาน “คืนเหย้าชาวค่าย”

รองปลัดกระทรวงมหาดไทย โต้โผใหญ่แจ้งมาว่า งานนี้ฟรีทุกอย่างตั้งแต่อาหารทุกภาคทั่วประเทศ (มหาดไทยซะอย่าง) ราย การพิเศษ ก่อแคมป์ไฟเรียกมนต์ขลังระลึกถึงคืนวันเก่าก่อน สุดท้ายมีหนังสือค่าย สจม. 50 ปี ไว้ให้ทุกคนถือติดมือกลับไปอ่านที่บ้านแจก แต่วงเล็บไว้ว่าบริจาคตามศรัทธาเพื่อเป็นทุนให้น้องไปจัดตั้งค่ายต่อ

งานนี้ อาจารย์เกษม จันทร์น้อย อดีตชาวค่ายบ้านก้านเหลืองและหนองแปน ศรีสะเกษกับกาฬสินธุ์ปี 2510-2511 แจ้งข่าว และคอยต้อนรับชาวค่าย สจม.ด้วยความเต็มใจยิ่ง

 

ที่มา : http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra04271152&se…