20150116

เครือข่ายจิตอาสา ชวนอ่าน ” 20 ปีรำลึก กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่โกเบ ” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของงานอาสาสมัครยุคใหม่ของสังคมญี่ปุ่น
ข้อเขียนโดย คุณณัฐธเดชน์ ชุ่มปลั่ง นักศึกษาปริญญาเอก ด้านการจัดการการบริการด้านแพทย์และสาธารณสุข ชั้นปีที่1, International University of Health and Welfare ประเทศญีปุ่น

——————

วันที่17 มกราคมของทุกปีเป็นครบรอบของการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองโกเบ ภัยพิบัติครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อปี1995 (พ.ศ.2538) ซึ่งนับเป็นแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดในที่เกิดขึ้นทางตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น เหตุการณ์ครั้งนั้นมีความรุนแรงถึง7.2 ริคเตอร์ ทำลายเมืองท่าโกเบจนราบคาบ และคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์กว่า 6,000 ชีวิต ภาพเหตุการณ์ต่างที่เกิดขึ้นในวันนั้นได้ถูกนำมาเผยแพร่ภาพตามสื่อต่างๆอีกครั้ง เพื่อย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์แผ่นดินอันน่าสะพึงกลัว และเหนือสิ่งอื่นใด คือการให้ชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงความสำคัญของ ” การมีชีวิตอยู่ 「生きること」” และการได้ใช้ชิวิตอยู่「生かされること」 ผู้เขียนขอร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ และร่วมไว้อาลัยต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น พร้อมกับนำเรื่องราวเกี่ยวกับแผ่นดินในครั้งนั้นมาเล่าสู่กันฟัง

ผู้เขียนได้เคยศึกษาอยู่ที่ Kobe University และได้ใช้ชีวิตนักศึกอยู่ที่นั่นเป็นเวลา2 ปี ได้มีโอกาสเดินทางไปชมบริเวณที่เกิดเหตุ และได้ฟังเรื่องเล่าจากผู้ประสบภัยฯอยู่บ่อยครั้ง ท่านหนึ่งที่รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี คือ เจ้าของอพาเม้นท์ที่ผู้เขียนเช่าอยู่ ท่านเล่าให้ฟังถึงความสั่นสะเทือน และความรุนแรงในเหตุการณ์ครั้งนั้น ตลอดจนเหตุการณ์เพลิงไหม้ซึ่งเป็นผลจากการสั่นสะเทือนจนทำให้ท่อส่งก๊าสใต้ดินระเบิด ซึ่งเล่าได้เหมือนอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ทำเอาผู้เขียนขวัญผวาไปด้วย

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในครั้งมีขนาด 6.8 ตามมาตราโมเมนต์ ลึกลงไปใต้ผิวโลก 16 กิโลเมตร จุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่บริเวณเกาะอะวาจิ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองโกเบไป 20 กิโลเมตร ความสั่นสะเทือนในครั้งนั้นเป็นแบบกระตุกขึ้นบน-ล่างอย่างต่อเนื่องระยะเวลาการสั่นสะเทือนนานประมาณ 20 วินาที จนเป็นผลทำให้บ้านเรือนพังพลายกว่า 200,000 หลัง, โครงสร้างยกระดับของทางด่วนสายฮันชินพังทลายเป็นระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตร, ปั้นจั่นของท่าเรือโกเบเสียหายกว่าหนึ่งร้อยตัว มูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น นับเป็นมูลค่ากว่า102.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 2.5% ของจีดีพีของญี่ปุ่นในปีนั้น หลังจากความเสียหายที่เกิดขึ้นในปี 1995 เมืองโกเบก็ค่อยกลับคืนฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวหลงไหล จนแทบหลงลืม ไปเลยว่า เมืองโกเบเคยเป็นเมืองที่มีประสบการณ์จากแผ่นดินไหวอันแสนเจ็บปวด เหมือนอย่างเช่น ภูมิภาคโทโฮคุ ซึ่งกำลังเผชิญชะตาเดียวกันอยู่ทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุมได้ เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ทำให้ญี่ปุ่นต้องหันมาทบทวน แนวทางและมาตรการป้องกันภัยจากแผ่นดินไหว โดยการตรากฎหมายเพื่อตรวจสภาพตึก อาคารที่เสี่ยงต่อการพังทลายจากแผ่นดินไหว การจัดทำแผนที่ความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวตามระดับดับความเสี่ยง การกำหนดมาตรฐานการออกแบบก่อสร้างอาคารในแต่ละพื้นที่ ให้มีระดับความต้านทานแผ่นดินไหวที่เหมาะสม เช่น การเสริมเหล็กให้โครงสร้างให้สามารถดูดซับ หรือกระจายพลังงานต้านทานการไหวหรือสั่นสะเทือน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในเชิงกายภาพทั้งสิ้น

ในอีกด้านหนึ่ง หลังจากเกิดแผ่นไหวได้ไม่นาน ผู้คนจากทั้วทุกสารทิศ โดยเฉพาะนักศึกษามหาลัย ได้เดินทางเข้าไปยังโกเบและพื้นที่ที่ประสบภัย ร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น การเยียวยาผู้บาดเจ็บ การหุงหาอาหารแจกจ่าย การช่วยตามหาผู้สูญหาย งานเก็บกวาดซากปรักหักพัง การเก็บกวาดข้าวของ ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ที่ชาวญี่ปุ่นตื่นตัวในเรื่องงานอาสาสมัคร จึงถือได้ว่าปี 1995เป็นปี First year of the volunteer หรือ ボランティア元年ในภาษาญี่ปุ่นนั่นเอง และนี่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของงานอาสาสมัครยุคใหม่ของสังคมญี่ปุ่น

ทุกๆวันที่ 17 มกราคมของทุกปีที่เวียนมาถึง ผู้เขียนจะนึกชีวิตที่โกเบตลอด2 ปี นึกถึงเรื่องเล่า และเรื่องเศร้าที่ได้ยินได้ฟังจากผู้ประสบภัย ทำให้หันมาคิดว่าสักวันหนึ่ง หากเราเจอเหตุการณ์เช่นนั้น เราจะป้องตนและคนที่เรารักได้อย่างไร หรือเราจะช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้อย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้ข้อคิดจากภัยต่างๆที่เกิดขึ้นตลอดช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ นั่นก็คือ ภัยธรรมชาติกำลังบอกให้เราเรียนรู้จักการการป้องกัน และเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือ ไม่ทิ้งกันในยามตกทุกข์อยาก หรือจะกล่าวอีกในหนึ่ง นั่นก็คือ “การมีจิตอาสา” ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง