เราเลือกหนทางนี้ เราก็ไม่ได้ไขว่คว้าหาความร่ำรวย เพราะเส้นทางนี้ไม่มีความร่ำรวย มันมีแต่ความสุขใจในสิ่งที่เราทำ…..” บทสัมภาษณ์พี่ต๋อยวิจิตรา ชูสกุล อาสาสมัครนักพัฒนารุ่นที่ 3 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา มูลนิธิพัฒนาอีสาน ในวาระครบรอบ 30 ปีมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

พลบค่ำของวันที่ 5 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา เพื่อนๆ พี่ๆ อาสาสมัคร, ผองเพื่อนนักพัฒนา ผู้ผูกพัน คุ้นเคย จนกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในสายธารงานอาสาสมัครของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อ สังคมหรือ มอส. มาตั้งแต่ยุคก่อตั้งจนถึงยุคปัจจุบัน ได้นัดหมายรวมกระปุก, พูดคุยแลกเปลี่ยน และจัดงานพาแลงเลี้ยงข้าววงเล็กๆ เพื่อขนกระปุกไปร่วมแคะระดมทุนในอีกวันรุ่งขึ้นและร่วมงาน 30 ปี มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมที่ตึก มอส.

“ในโอกาสที่ มอส.ครบรอบ 30 ปี ทางสุรินทร์ ซึ่งมีสมาชิก มอส.หลายคน  ขอส่งแรงใจให้อาสาสมัครหรือเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ทำงานเพื่อสังคม มีชีวิตที่มีความสุข และมีแรงศรัทธาที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมสืบไป” พี่ต๋อย – วิจิตรา ชูสกุล อาสาสมัครรุ่นที่ 3 ในนามตัวแทน อพช.เมืองสุรินทร์ กล่าวคำอวยพรในวาระที่งานอาสาสมัครของ มอส. เดินทางมาถึงปีที่ 30

ก่อนถึงวาระของการแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็น ณ ลานข้างสำนักงานมูลนิธิชุมชนอีสาน หรือตึก 53/1 ซอยสระโบราณที่หลายคนคุ้นเคย หัวเรื่องที่พูดคุยถามถึงคืองานอาสาสมัคร ซึ่งผู้ร่วมวงส่วนมากก็เป็นอดีตอาสาสมัครทุกคนเน้นย้ำถึงคุณค่าของงานอาสา สมัคร และคุณูปการจากการได้เป็นอาสาสมัคร ประตูบานแรกสู่วงงานพัฒนา ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้เรียนรู้ตนเอง เรียนรู้สังคม และพยายามเลือกสรรชีวิตที่มีคุณค่า

พอร่วมกินเลี้ยงมื้อค่ำ และรอเวลาล้อหมุน เพื่อส่งตัวแทนนำกระปุกออมสินเดินทางมาร่วมงานที่กรุงเทพฯ เราได้สัมภาษณ์ลงลึกถึงบทเรียนประสบการณ์ และข้อเสนอต่อทิศทางงานอาสาสมัครกับบางพี่ อย่างพี่ต๋อย – วิจิตรา ชูสกุล รองผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา มูลนิธิพัฒนาอีสาน อดีตอาสาสมัครในยุคแรกๆ ผู้ถูกงานพัฒนาเลือก และเลือกเป็นนักพัฒนาสังคม จนกลายเป็นแบบอย่างที่ปรึกษาที่น่าเคารพของน้องๆ ในแถบถิ่นอีสานใต้ ผู้เดินตามรอยห้อยหลังมา

“สมัยก่อนทำงานอยู่ที่สมาคมวางแผนครอบครัวพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ทำงานกับกลุ่มผู้หญิงเป็นอาสาสมัครวาระ 1 ปี ช่วงนั้นก็วุ่นวายในหัวจิตหัวใจพอสมควร เพราะเป็นช่วงแสวงหาชีวิต และเราเองก็ถูกคาดหวังจากครอบครัว อยากให้เป็นโน้นเป็นนี่ แต่การมีชีวิตอาสาสมัคร เป็นชีวิตที่เราเลือกในการเริ่มต้นทำงาน ก็บอกครอบครัวว่าขอ 1 ปีเถอะในการทำงานอาสาสมัคร เพราะเราอยากทำงานเพื่อสังคมด้วย ในขณะเดียวกัน ในช่วงแรกของการทำงาน เราก็ต้องทำความเข้าใจกับเรื่องแนวคิดที่คนอื่นให้กรอบนั่นกรอบนี่มา ในขณะที่เราเองก็ขัดแย้งกับตนเองให้บางเรื่องบางราวอยู่ 2 อย่างนี้ก็คิดเยอะพอสมควร อยากให้ชีวิตตัวเองกับงานเพื่อสังคมมันดีขึ้น มันมีพัฒนาการร่วมกัน

จนในช่วงท้ายๆ ของวาระอาสาสมัครก็สงสัยว่า เส้นทางการทำงานอาสาสมัครจะสิ้นสุดเพียง 1 ปีเท่านั้น แต่พอผ่านไปอีก 2-3 ปี หลังจากไปสงบจิตสงบใจ ไปเรียนต่อเรียนรู้โน้นนี่ แล้วกลับมาทำงานอีกทีหนึ่ง เราก็รู้สึกว่า เออ….การทำงานพัฒนาแบบนี้คือหนทางที่เราเลือกในการที่จะเป็นอยู่”

พี่ต๋อยกล่าวต่อว่า “หากคนอื่นๆ ที่อยู่ในสังคม เขามีโอกาสสักช่วงเวลาหนึ่งในช่วงชีวิตหนึ่ง เลือกที่จะมาเป็นอาสาสมัครก็คิดว่าการเป็นอาสาสมัครจะให้คุณค่าอะไรกับเขาใน ช่วงชีวิตหนึ่งของการมีชีวิตอยู่ จะทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะทีเดียว ถึงแม้ว่าเขาอาจจะไม่ได้อยู่ในเส้นทางนี้ ก็ส่งแรงใจให้ทุกคนมีแรง และมีพลังในการที่จะเดินต่อไปเพื่อสังคมที่ดีงามของเรา”

ถึงงานสานสร้างอาสา 

เมืองสุรินทร์ ถิ่นอีสานใต้ ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่งานพัฒนาในยุคบุกเบิก ในช่วงต้นทศวรรษ 2520 ส่วนงานอาสาสมัคร ก็พอจะนับได้ว่าหนึ่งในเนื้องานที่เคียงคู่กันมา มีอาสาสมัครที่ลงมาทำงานในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์อยู่บางจำนวน และไม่ขาดระยะนับแต่ยุคแรก จากปากคำของพี่ชัชวาล ทองดีเลิศ อาสาสมัครรุ่นที่ 1 บอกเล่าเอาไว้ นักพัฒนาในยุคก่อนนั้น มักจะถูก “ถีบลงหมู่บ้าน” หรือต้องลงไปเรียนรู้กับชุมชนเป็นส่วนมาก

พี่ต๋อยขยายภาพการทำงานในชุมชนว่า “คนหนุ่มสาวปัจจุบันเขาทำงานยากกว่าแต่ก่อน สมัยก่อนชุมชนยังใหม่ ยังไม่มีใคร ยังไม่มีอะไรเข้าไปมาก พอนักพัฒนาลงไปในชุมชน การทำงานร่วมมันจึงเหมือนสิ่งใหม่ เราเรียนรู้จากเขา เขาเรียนรู้จากเรา แต่ทุกวันนี้ชุมชนมันมีอะไรเยอะมาก คนที่ลงไปทำงานกับชุมชนต้องเรียนรู้เยอะ มีมิติในเชิงการประสานความร่วมมือค่อนข้างมาก คือชุมชนโตไปแล้ว แต่อาสาสมัครเป็นคนใหม่ เป็นรุ่นลูกรุ่นหลาน การเรียนรู้อะไรหลายอย่าง หากตนเองไม่น้อมรับที่จะเรียนรู้ผู้อื่น เขาจะปรับตัวได้ค่อนข้างยาก

สิ่งสำคัญก็คือว่า การทำงานระหว่างเรากับชุมชนอยู่ในสถานะเคียงคู่ไปด้วยกัน อันนี้ สมัยก่อนคนข้างนอกนำความเปลี่ยนแปลง สมัยนี้คนในชุมชนมีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ ทำอย่างไรให้กระบวนการลงทำงานกับชุมชนเป็นเชิงความร่วมมือ เราเองก็ต้องเรียนรู้จากเขา เขาได้เรียนรู้จากเราด้วย”

พี่ต๋อยจึงมีข้อเสนอต่อการทำงาน ของคนรุ่นใหม่ว่า “ต้องขวนขวายมากขึ้น เรียนรู้มากขึ้น ปรับตัวมากขึ้นด้วย เพราะชาวบ้านก้าวไปข้างหน้าเยอะ เราจะทำอย่างไรไม่ให้ล้าหลังกระบวนการพัฒนาชุมชนไป หัวคิด หัวจิต หัวใจต้องมี และจะทำอย่างไรให้สามส่วนของเรากับชุมชน ได้หลอมเรียนรู้ซึ่งกันและกัน”

เมื่อเราถามถึงงานอาสาสมัครใน สถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ พี่ต๋อยเน้นย้ำว่า “งานอาสาสมัครยังมีความจำเป็นอยู่ อย่างองค์กรของเราหากเลือกจะรับคน ก็อยากรับอาสาสมัครมอส. เพราะอย่างน้อยกระบวนการอาสาสมัคร ก็ทำหน้าที่บ่มเพาะคนในช่วงเวลาหนึ่ง เหมือนทำหน้าที่เทรนคนให้กับเราก่อนที่จะมาทำงานกับชุมชน

หากมองการรับคนของมูลนิธิพัฒนาอีสาน ส่วนใหญ่ก็มาจาก มอส. ที่เราเลือกก่อนเป็นอันดับแรก นอกจากตอนหลังที่มอส.ไม่มีอาสาสมัครนักพัฒนาชุมชนแล้ว มีอาสาสมัครเฉพาะด้านมากขึ้นเท่านั้น จริงๆ การมีทางเลือกหลายทางก็ดี ในความรู้สึก แต่ปัญหาชุมชนทั่วไปก็ยังดำรงอยู่ เราจึงอยากให้มอส.มีคนที่ทำงานในด้านชุมชนด้วย”

หล่อหลอมอุดมการณ์อีสานใต้

ส่วนการหล่อหลอมหรือกระบวนการฝึกหัดคนหนุ่มสาวในเขตอีสานใต้ พี่ต๋อยเล่าว่า “เราไม่ได้ปล่อยให้น้องเรียนรู้แบบตุปัดตุเป๋ไปตามทาง แต่เน้นให้เรียนรู้ท่ามกลางการทำงานเป็นทีม น้องๆ ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติงานร่วมกับพี่ๆ มีลงปฏิบัติการในชุมชน ส่วนมากก็ไม่ค่อยเป็นนักคิดอย่างเดียว คือคุณต้องทำด้วย ช่วงทำก็ทำ ช่วงแลกเปลี่ยนก็แลก มีการสรุปบทเรียนเป็นระยะ น้องเติบโต ก็ปล่อยให้น้องได้แสดงบทบาท และส่วนมากเขาก็ไม่ได้เรียกร้องให้พี่ต้องมาดูแลอะไรมากมาย มันก็เป็นพัฒนาการกันไป

เมื่อตั้งข้อสังเกตว่า นักพัฒนาสมัยก่อน ส่วนมากมักไม่ค่อยลาออกหรือย้ายงานจากองค์กรเดิม ซึ่งอาจแตกต่างจากนักพัฒนารุ่นใหม่อยู่บ้าง พี่ต๋อยมองเรื่องนี้ว่า “นักพัฒนาสมัยก่อน เราร่วมสร้างร่วมสานงานองค์กรกันมา จึงมีความรู้สึกร่วมกับความเป็นองค์กร เรารู้สึกเราเป็นคนขององค์กร แต่ละคนจึงมีภารกิจของการสร้างต่อ และหวังให้คนรุ่นหลังมารับไม้แทน

ส่วนคนรุ่นหลังเข้ามาทำงาน เน้นการร่วมทำมากกว่า ความผูกพันกับองค์กรก็อาจจะน้อย ทำงานมาระยะหนึ่งบางคนก็อาจจะไม่อยากผูกพันกับองค์กรมาก อยากเป็นอิสระ บางคนก็อยากออกไปพัฒนาตนเอง ไปเรียนต่อ แต่เราก็หวังว่าประสบการณ์จากการทำงานกับเรา ทุกคนจะมีภูมิคุ้มกัน มีห่วงโซ่ในใจ ถึงแม้ไม่ได้กลับมาทำงานองค์กรอีก แต่เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ก็จะไปเติบโตในที่ต่างๆ ที่เขาจะเป็นหรือจะอยู่ได้ เพราะทุกคนก็ต้องเติบโตในการแสวงหาชีวิต แสวงหาตัวตนของตนเอง เลือกหนทางที่เหมาะสมกับตนเอง แม้ว่าอาจเลือกอยู่ในบทบาทอื่น ที่ทำงานเพื่อสังคมได้ แต่มันก็คงจะมีคนที่คิดจะอยู่ทำงานในองค์กรต่อ เนื่องเหมือนกัน” พี่ต๋อยพูดด้วยแววตามีความหวัง

และกล่าวถึงชีวิตบนเส้นทางที่ตน เลือกแล้วว่า “หากเราออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน เราก็อยากอยู่ในที่เล็กๆ ของเรา อยู่สวน อยู่กับที่กับทาง มันเป็นชีวิตที่ไม่ได้ไขว่คว้าอะไร คือเราเลือกหนทางนี้ เราก็ไม่ได้ไขว่คว้าหาความร่ำรวย เพราะเส้นทางนี้ไม่มีความร่ำรวย มันมีแต่ความสุขใจในสิ่งที่เราทำ ความเป็นอิสระทางความคิดเป็นสิ่งสำคัญ อยู่ไหนก็ตามหากไม่มีอิสระที่จะคิด มันก็เหมือนกับเราตายแล้ว และเป็นเพียงแค่มนุษย์เงินเดือนที่ทำงานไปวันๆ นั่นเป็นชีวิตที่พี่ไม่ขอเลือก”

พี่ต๋อยทิ้งท้ายเป็นข้อคิดสำหรับคน รุ่นใหม่ด้วยว่า  “หากเราขาดอิสระ เราก็ต้องเปลี่ยนที่อยู่ เปลี่ยนมุมมอง เพราะคนเราต้องมีอิสระทางความคิด หากเราอยู่กับองค์กรแล้วถูกครอบงำ ด้วยกฎเกณฑ์กติกาที่บล็อกชุดความคิดของเรา ก็อย่าอยู่เลยองค์กรนั้น อยู่ไหนก็ได้ แต่เราต้องมีอิสระที่จะคิดได้ นี่คือสิ่งสำคัญ”

เขียนโดย วิจิตรา ชูสกุล
วันเสาร์ ที่ 7 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2553

ที่มา http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…