หาก เราได้มาเรียน รู้จากพี่น้องกัมพูชา เราเองก็จะได้ร่วมมือกับกัมพูชาในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจะได้อยู่กันอย่างสงบและมีสันติภาพต่อไปในอนาคต…..

คณะทำงานเพื่อสันติภาพไทย-กัมพูชา เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ คุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ กรรมการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และตัวแทนคณะทำงานจัดเวที “เส้นทางสู่สันติภาพกัมพูชาและไทย: โจล ชะนำ ทะเมย-สงกรานต์” ระหว่างวันที่ 24-25 เมษายน 2553 ณ วัดโพธิ์ เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา โดยคณะทำงานเพื่อสันติภาพ ประเทศกัมพูชา ร่วมกับโครงการประสานความร่วมมือเพื่อคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำ โขง มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

เส้นทางสู่สันติ

เวทีเส้นทางสู่สันติภาพ หรือ “สันติเพียบ” ในภาษากัมพูชา จัดต่อเนื่องจากเวทีครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา บริเวณชายแดนปอยเปต ประเทศกัมพูชา โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ อยากสร้างความเข้าใจ ความไว้วางใจ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน เพื่อสานความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งต่อการสร้างสันติภาพ ไทย-กัมพูชาในอนาคต

เวทีครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจาก หลายภาคส่วน ทั้งภิกษุ ภิกษุณี แม่ชี ชาวบ้าน นักพัฒนาเอกชน และคนหนุ่มสาว จากประเทศไทยและกัมพูชากว่า 60 คน กิจกรรมก็มีการแลกเปลี่ยนหารือถึงต้นตอความขัดแย้ง วิเคราะห์ทางออกและหาความร่วมมือเพื่อสร้างสันติภาพระหว่างกัน มีกิจกรรมโจล ชะนำ ทะเมย หรือเล่นสงกรานต์ มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอีกหลายอย่าง

ในเวทีครั้งที่แล้วเรามีการวิเคราะห์ กันว่า ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาเป็นเรื่องรัฐบาลต่อรัฐบาล บางคนบอกว่าเป็นเรื่องกรุงเทพฯกับพนมเปญ แต่คนที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดน เขามีลักษณะเป็นพี่เป็นน้อง มีความเป็นคนในวัฒนธรรมเดียวกัน มีการไปมาหาสู่ และทำมาค้าขายระหว่างกันมาต่อเนื่องยาวนาน เวทีครั้งนี้จึงมีการทำข้อเสนอต่อรัฐบาลทั้งสองประเทศว่า นอกจากไม่สร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้น ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัมพูชากับไทย และสร้างความเข้าใจต่อกัน ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม การเมือง หรือในทุกๆ เรื่อง ทุกๆ ด้านด้วย

“ปรากฏการณ์ฝีแตก” ความขัดแย้งภายในบ้าน

ส่วนความขัดแย้งที่กำลังคุกรุ่นใน สังคมไทย ในทัศนะส่วนตัว ผมคิดว่ามี 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ ความรุนแรง ซึ่งนำมาสู่การบาดเจ็บสูญเสียเลือดเนื้อ สูญเสียชีวิต ถือเป็นความสูญเสียที่น่าเศร้าเสียใจ ส่วนอีกด้านหากมองในเชิงบวก ก็ถือเป็นพัฒนาการทางการเมืองไทย จริงๆ ปัญหาสังคมไทยมีการหมักหมม สะสม ซับซ้อนมาก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าเป็น”ปรากฏการณ์ฝีแตก”

หากเราวิเคราะห์แต่ละฝ่ายอย่างใคร่ ครวญ ฝั่งสีเหลือง.พูดเรื่องมีการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย แต่ไม่พูดถึงเรื่องสองมาตรฐาน เรื่องอำมาตย์ เรื่องความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น ฝั่งสีแดง.พูดเรื่องเรื่องสองมาตรฐาน เรื่องอำมาตย์ ความเหลื่อมล้ำ เรื่องคนยากคนจน แต่ก็ไม่พูดถึงเรื่องนักการเมืองโกงกิน เป็นต้น จริงๆ ถ้าเราไตร่ตรองทั้งสองด้าน ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างชนชั้น สองมาตรฐาน การรวมศูนย์อำนาจอยู่ส่วนกลาง คนจนเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้ยาก นักการเมืองโกงกิน และรับใช้ผลประโยชน์ส่วนตน ปัญหาเหล่านี้มีอยู่จริง และหากสังคมไทยได้เรียนรู้ถึงปัญหาที่หมักหมมมานานตรงนี้อย่างชัดเจน แล้วมาหาทางออกร่วมกัน ก็น่าจะเป็นข้อดี

ปัจจุบันมันอาจเป็นไปได้ว่าคนฟังข้อมูล ด้านเดียว รับสื่อด้านเดียว แล้วมีข้อมูลคนละมุม มีความเห็นคนละด้าน มันจึงมีโอกาสปะทะ แต่ในอนาคตก็มีโอกาสพัฒนาเป็นคุณภาพใหม่ ประชาชนไทยจะได้เรียนรู้ปัญหาทั้งสองฝั่ง ซึ่งเป็นความจริงทั้งสองด้าน ถ้าเห็นความจริงทั้งสองด้าน หลายคนจะกลับมาร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในอนาคต ผมหวังอย่างนั้น แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเราจะดูแลสถานการณ์อย่างไร ให้พ้นไปจากความรุนแรง ที่จะก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ได้ก่อน ส่วนระยะยาว ผมเชื่อว่าเราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพใหม่ที่ดีกว่าเดิม

“สงครามกลางเมือง” บทเรียนจากกัมพูชา

แต่ถ้าหากเราดูแลกันไม่ดี รัฐบาลปล่อยมีการนองเลือด โดยคนส่วนใหญ่ไม่ออกมาดูแล ก็มีโอกาสเกิดกลียุค หรือหายนะ และหมิ่นเหม่มากที่จะเกิดความรุนแรงสูญเสีย เมื่อไหร่ก็ตามที่ก้าวไปสู่การปราบคนเสียชีวิตจำนวนมาก หรือเกิดรัฐประหารขึ้น ก็มีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวายที่จะขยายขอบเขตไป ทั่วประเทศ

หากฟังทัศนะจากชาวกัมพูชาที่เขา ผ่านประสบการณ์สงคราม 3 ฝ่าย มีสงครามกลางเมืองเกิดขึ้น คนตาย 2 ล้านคน เราจะเห็นพี่น้องฝั่งกัมพูชามีความกระตือรือร้นมาก เขาอยากช่วยกันไม่ให้เกิดสงคราม บางท่านบอกว่า ประเทศไทยยังไม่เจอสงครามเราไม่เข้าใจหรอก มันโหดร้ายทารุณ มันหวาดกลัวขนาดหนัก เขาก็ฝากเรามาว่าให้พวกเราสนใจเรื่องสันติภาพ และป้องกันอย่าให้เกิดสงครามกลางเมือง นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เราต้องมองตรงนี้เป็นบทเรียน เพราะคงไม่มีใครอยากเห็นการเข่นฆ่า อยากให้เมืองไทยเกิดสงครามกลางเมือง แล้วมีคนตายมหาศาลขนาดนั้น

จริงๆ เราจึงมีโอกาสที่ดีที่ได้เรียนรู้ ประสบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน ที่เขาพบเจอ เขาคลี่คลายและผ่านมันมาได้อย่างไร นับเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ เป็นโศกนาฏกรรมใหญ่หลวง แล้วเขาผ่านมาได้ และสันติภาพก็ค่อยเติบโตขึ้นในกัมพูชา หากเราได้มาเรียนรู้มาศึกษาจากพี่น้องกัมพูชา เราเองก็จะได้ร่วมมือกับกัมพูชาในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจะอยู่กันอย่างสงบและมีสันติภาพต่อไปในอนาคต

สันติภาพในใจคนหนุ่มสาว

ถ้าดูขบวนการนักศึกษา ในอดีตเคยเป็นขบวนการแนวหน้าของสังคมไทย แม้ช่วงหลังจะซบเซา แต่เราก็เห็นกลุ่มเยาวชนที่เขาทำกิจกรรมทางสังคม ก็มีความหลากหลาย และทำงานกับทุกกลุ่มสังคม แล้วเริ่มมีการเชื่อมโยงประสานงานกันมากขึ้น แต่ถามว่าได้มาเชื่อมโยงกับประเด็นสันติภาพโดยตรงไหม หากเทียบกับเยาวชนในกัมพูชาก็ถือว่าน้อย แต่เรามีประเด็นเรื่องการขับเคลื่อนงานตามความสนใจของเรา เช่น เรื่องภูมิปัญญา เรื่องชาติพันธุ์ เรื่องสื่อ เรื่องสุขภาพ ฯลฯ แม้จะมีบางส่วนทำงานเรื่องสันติภาพอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่ายังน้อย ก็อยากฝากเอาไว้ว่า เยาวชนต้องมีประเด็นสันติภาพในหัวใจ ที่สำคัญเยาวชนต้องไม่ไปติดกับดักกลายเป็นผู้ทำลายสันติภาพในใจ เราเสียเอง นอกจากเคารพตัวเอง ต้องเข้าใจและเคารพผู้อื่นเสมอ สันติภาพในตัวของเรา ในกลุ่มของเรา ในสังคมของเรา จึงจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

เขียนโดย คณะทำงานเพื่อสันติภาพไทย-กัมพูชา
วันเสาร์ ที่ 12 เดือนมิถุนายน พ.ศ.2553

ที่มา http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…