เขียน: ตามตะวัน

ว่ากันว่า การทำความดีไม่จำเป็นต้องประกาศให้ใครรู้ เพราะแค่เรารู้ เท่านั้นก็น่าจะสุขใจเกินพอแล้ว

สมาชิกกลุ่ม Dog Tag Outdoor Club เองก็คงจะคิดไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้นตลอด 10 กว่าปีที่ตั้งใจสร้างโรงเรียนให้เด็กๆ ในถิ่นทุรกันดารมา จึงไม่เคยมีใครรู้เลยว่า พวกเขาคือใคร และทำอะไรให้สังคม

“คุณรู้จักพวกเราได้ยังไง” คำถามที่เจือมากับอาการตกใจเล็กน้อยของ พิสุทธิ์ สุทธิสารรณกร ประธานกลุ่ม Dog Tag Outdoor Club ทำให้เราถึงกับงง

“คือเราไม่เคยประชาสัมพันธ์ หรือซื้อแอดโฆษณาที่ไหน ผมจึงแปลกใจว่าทำไมคุณมาเจอพวกเราได้” พิสุทธิ์ หรือพี่เต้ย ยิงคำถามต่อ จน ‘คนถาม’ ที่ตอนนี้กลายเป็น ‘คนถูกถาม’ อธิบายความเป็นมายกใหญ่ ว่าแท้จริงแล้วพบในโลกออนไลน์แห่งหนึ่ง

“อ๋อ สงสัยจะใน www.thaicabincrew.com” พี่แกเริ่มเข้าใจ

ไม่พูดพร่ำทำเพลงหลังจากขอร้องจนได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์แล้ว เราก็กลับมาทำหน้าที่เดิม นั่นก็คือเป็น ‘คนถาม’ อีกครั้ง

“จริงๆ ตัวผมเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 รุ่นแรกก็เป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกันนี่แหละ แต่ผมเข้ามาตอนที่เขาทำไปได้สัก 1-2 ปี คือกลุ่มเราเป็นกลุ่มลูกเรือการบินไทยทั้งหมดที่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน ตอนนั้นก็เฮฮาตามประสาวัยรุ่น ไปกินไปเที่ยวที่ร้านอาหาร แล้วค่อยๆ ขยับไปต่างจังหวัด ช่วงนั้นจี๊ปเชโรกีกำลังเข้ามา เราก็ไปต่างจังหวัดกันบ่อยขึ้น และค่อยๆ เข้าป่าลึกขึ้นๆ จนกระทั่งเราได้ไปกาญจนบุรี”

พี่เต้ย หยุดคิดนิดหนึ่งก่อนจะพ่นความทรงจำเก่าๆ ออกมา เขาว่า ตอนนั้นเข้าไปที่หมู่บ้านผาตั้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร ซื้อหนังสือ สมุด ดินสอ ไปบริจาคเหมือนกับกลุ่มออฟโรดทั่วไป แล้วก็ชักชวนกันไปเที่ยวต่อที่อำเภอสังขละบุรี จนพบว่ามีหมู่บ้านที่ต้องอพยพเพราะการสร้างเขื่อน ปฏิบัติการช่วยเพื่อนในถิ่นทุรกันดารจึงเกิดขึ้น

“เขาย้ายมาตั้งอยู่ระหว่างชายแดนไทย-พม่า เป็นเหมือนหมู่บ้านกันชน แล้วเป็นหมู่บ้านที่จนมาก รัฐให้งบมาพัฒนาหมู่บ้านแค่เดือนละ 700 บาท โอ้…พระเจ้าช่วยกล้วยทอด ทำไมรัฐไม่ดูแลให้ดีกว่านี้ คนไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ก็พากันเข้าเมืองมาหางานทำ ผมคิดว่าทั้งหมดน่าจะเริ่มต้นที่การศึกษา ก็เลยคุยกันว่าสร้างโรงเรียนดีกว่า”

ด้วยความลึกรอบ กอปรกับไม่มีถนนหนทาง ทำให้การเข้าถึงเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่พวกเขาไม่เคยท้อ พยายามเข้าไป และสร้างโรงเรียนให้จนเป็นผลสำเร็จ

“พอเราทำโรงเรียนเสร็จ ก็เริ่มทำถนนลูกรังให้ แรกๆ ก็เห็นมีครูมาสอนดี แต่พอ 2 ปีให้หลังเมื่อกลับมาดูอีกครั้ง อ้าว…เกิดอะไรขึ้น กลายเป็นโรงเรียนร้าง แล้วชื่อโรงเรียนลูกเรือการบินไทยก็ถูกปลด เอาป้ายมูลนิธิ…ขึ้นมาแขวนแทน เกิดอะไรขึ้น” ประธานชมรมเล่าต่อ จนได้ข้อสรุปว่า ผู้บังคับบัญชาทหารในพื้นที่เปลี่ยน ทำให้นโยบายโยกตาม พวกเขาจึงไม่ขอทำงานกับทหาร เหตุเพราะผูกพันกับการเมืองมากเกินไป

“พอดีเพื่อนผมที่จุฬาฯ บอกว่า ทำไมไม่ทำกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ล่ะ พระองค์ท่านมีโครงการที่รับสานต่อจากสมเด็จย่า เราก็เลยได้มีโอกาสทำ”

กลุ่มลูกเรือการบินไทย ฝ่ายพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ในนาม Dog Tag Outdoor Club จึงใช้เวลาว่างร่วมกันทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม โดยเน้นการสร้างโรงเรียนให้กับเด็กๆ บนภูเขาที่ด้อยโอกาส อย่างน้อยปีละ 2 แห่ง ตามโครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง

“กลุ่มเรามีรายได้จากการขายเสื้อและสินค้าที่ลูกเรือทำกันเอง ก็ได้มากบ้าง น้อยบ้าง ปีหนึ่งประมาณ 6-7 แสน ซึ่งทั้งหมดมาจากลูกเรือ แล้วเราก็วางแผนว่าจะสร้างโรงเรียนปีละ 2 แห่ง ตามโครงการฯ ก็ไปทำมาหลายที่แล้ว อย่างอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีหมู่บ้าน….” เขาร่ายชื่อหมู่บ้านแปลกๆ ยาวเหยียด ก่อนจะถ่อมตนว่า Dog Tag เป็นแค่คนส่งพิซซ่าเท่านั้น

“จริงๆ นะ Dog Tag เป็นแค่คนขี่มอเตอร์ไซค์ ดิลิเวอรี่ เป็นแค่คนส่งพิซซ่า เอาพิซซ่าไปส่งเขาแค่นั้น แต่คนทำพิซซ่าตัวจริงคือลูกเรือการบินไทย”

ประธานชมรม บอกว่า คนส่วนมากจะไม่ค่อยได้เห็นโรงเรียนที่กลุ่ม Dog Tag สร้าง เพราะหมู่บ้านเหล่านั้นค่อนข้างห่างไกล จะเรียกว่าเป็น ‘หมู่บ้านเหลือเดน’ ก็ยังได้

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เคยตรัสว่า ‘ลูกเรือการบินไทย ไม่เคยเกี่ยง หมู่บ้านอยู่ลึกแค่ไหน เป็นหมู่บ้านเหลือเดนคนอื่นยังไงก็เข้าไป ลูกเรือทำแล้วไม่เคยโฆษณา เรานี่ปิดทองที่ฐานพระเลย’ พอผมได้ฟังประโยคที่พระองค์ท่านตรัสนั้นแล้ว ผมมีความสุขมากๆ แค่นั้นก็เป็นกำลังใจให้พวกเรามากมายแล้ว” พี่เต้ย กล่าวอย่างตื้นตัน

และการเดินทางไปยังหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล ก็ทำให้พวกเขาได้ค้นพบสัจธรรมชีวิตหลายข้อ

“ผมว่า ป่าเมืองไทยมีอะไรให้เห็นมากกว่าแค่จินตนาการ คนไทยภูเขาเขามีชีวิตจิตใจ เขามีความรักชาติบ้านเมือง เผลอๆ มากกว่าคนกรุงเทพฯ อีก อย่างผมเข้าไปเจอพี่คนหนึ่ง รับจ้างดับไฟป่าแค่วันละ 100 กว่าบาท ผมถามว่าพี่ได้อะไรเนี่ย เงินก็น้อย เขาบอกผมประโยคเดียว ‘ผมไม่รู้หรอกว่าผมได้อะไร แต่ผมรู้ว่าผมได้ทำอะไรให้แผ่นดิน’ เชื่อไหม ผมได้ยินแล้วผมเอากลับมาสอนตัวเอง เอากลับมาสอนทุกคนเลย เนี่ยคนเรามันต้องได้อย่างนี้”

พี่เต้ย บอกว่า แม้สมาชิกเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของ Dog Tag จะเป็นลูกเรือการบินไทย แต่ถ้าใครอยากมีส่วนร่วมก็ไม่ห้าม เพียงมีข้อแม้ว่า…

“อย่าเรียกร้องอะไรกับเรา อย่ามาขอให้เราลงชื่อบริษัทห้างร้านให้ เคยมีเหมือนกัน บริษัทยักษ์ใหญ่เคยเสนอว่าจะให้งบเราปีละล้าน ขอแค่ออกชื่อ แต่เราไม่ชอบวิธีการแบบนั้น ก็ไม่ดีกว่า” ประธานชมรมฯ ย้ำอุดมการณ์

สุดท้ายถามว่า ได้อะไรจากการทำงานเพื่อสังคมแบบนี้ พี่เต้ย รีบบอก

“ผมไม่รู้ว่าผมได้อะไร แต่ผมรู้ว่าผมได้ทำอะไรให้แผ่นดิน”

………….

*** Dog Tag คือ ป้ายห้อยคอของทหารที่บอกชื่อ อายุ กรุ๊ปเลือด และข้อมูลส่วนตัว เป็นโลหะมี 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งจะทิ้งไว้ที่ศพ(หากเสียชีวิต) ส่วนอีกชิ้นจะนำกลับหน่วยเพื่อแจ้งผู้บังคับบัญชา

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 14 ก.ค.2550