…หัวใจของเธอคนนี้เป็นสีเขียว…
หัวใจของคุณล่ะเป็นสีเขียวหรือเปล่า ?
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูจะสร้างความเขียวขจีให้เกิดในตัวของเธอคนนี้ และเธอคนนี้ก็สร้างความเขียวขจีกลับคืนเป็นของขวัญให้กับผืนป่าบนโลกใบนี้ เช่นกัน พี่จอย-ธิดารัชต์ ตกแต่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายเผยแพร่และศึกษา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้หญิงหัวใจสีเขียวที่หลงรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยจิตใจมาตั้งแต่ เด็กๆ เหตุนี้เองที่ทำให้เธอเลือกทางเดินสายสีเขียวนี้อย่างจริงจัง โดยเข้าเรียนใน คณะวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยา ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันเป็นจุดเริ่มต้นของการคลุกคลีและทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
อะไรที่ทำให้หัวใจสีเขียวดวงนี้พองโตยิ่งขึ้น
อะไรที่หล่อเลี้ยงหัวใจสีเขียวให้ยังคงขจีต่อไป
อะไรที่ทำให้เส้นทางนี้ร่มรื่นจนน่ารื่นรมย์
อะไรที่หล่อเลี้ยงหัวใจสีเขียวนี้ให้เติบโต
เราไปคุยกับเธอกัน…

เริ่นเดินบนเส้นทางสีเขียวได้อย่างไร…
เป็นคนชอบและอยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่เด็กค่ะ ตอนนั้นอยู่ที่กาญจนบุรี มีอยู่ช่วงหนึ่งตอน ม.ปลาย ได้มีโอกาสไปเข้าค่ายเยาวชนของ ม.รามฯ ตอนนั้นเป็นความประทับใจครั้งแรกเลยที่เราได้เห็นนกเงือก เห็นเก้ง ในป่าบ้านเรา แล้วรู้สึกว่าบ้านเรามันสวยขนาดนี้เลยเหรอเนี้ยะ มันประทับใจมากๆ มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเลือกเรียนในสายนี้ แล้วพอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็เรียนด้านชีววิทยา ได้ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แล้วก็ทำกิจกรรมกับชมรมอนุรักษฯ ด้วย ก็ยิ่งค้นพบว่าเราชอบด้านนี้จริงๆ ชอบทำงานในพื้นที่ ชอบงานภาคสนาม ชอบงานวิจัย แล้วก็ชอบเที่ยวด้วย หลังจากทำงานสักพักก็ไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางด้านวิจัยและฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นงานที่สนุกมากๆ ได้ไปเกือบทั่วภาคเหนือเลย ทำงานไป แถมได้เที่ยวไปด้วย มีความสุขมาก พอเรียนจบก็ทำงานกับอาจารย์ที่นั่นต่อเลย และตอนนี้ก็กำลังจะย้ายกลับไปทำงานที่ จ. กาญจนบุรี กลับไปทำที่บ้านตัวเองบ้างค่ะ ก็เป็นงานลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ความรับผิดชอบจะกว้างขึ้น  มากขึ้นค่ะ

ภาระกิจสำคัญของงานฟื้นฟูป่า…
หน้าที่หลักๆ ของเรา อยู่ในฝ่ายการศึกษาและเผยแพร่ เกี่ยวกับเรื่องการฟื้นฟูป่า ทำให้เรื่องนี้ง่ายขึ้นให้คนทั่วไป ให้ชาวบ้าน ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ให้ครู และนักเรียน ได้เข้าใจและนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งวิธีการของหน่วยเราค่อนข้างแตกต่างจากที่อื่น เราเน้นการฟื้นฟูที่การนำความหลากหลายทางชีวภาพให้กลับคืนมาสู่พื้นที่ จะทำยังไงที่จะดึงความหลากหลายกลับมาให้ได้ เพราะความสัมพันธ์ของธรรมชาติ ระหว่างต้นไม้ กับสิ่งมีชีวิตนั้นต่อไปจะดูแลกันเอง เช่นปลูกต้นไม้ ให้ผลดึงดูดสัตว์ป่า สัตว์ป่ากลับเข้ามากินผลไม้ นำต้นไม้ที่เราไม่ต้องปลูกกลับมาสู่พื้นที่ให้เราอีกทีหนึ่ง เป็นการฟื้นฟูป่าแบบถาวร และเป็นงานระยะยาว ที่สำคัญคือ เราพยายามศึกษาวิจัยว่าทำอย่างไรให้เป็นงานที่มีต้นทุนถูกที่สุด แต่ได้ผลดีที่สุด ได้ป่ากลับมามากที่สุดด้วย

พอเห็นป่ากลับมาแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง…
มันก็ดีใจนะ ไม่ใช่แค่เราเท่านั้น ชาวบ้านเขาก็ดีใจด้วยว่าเห็นป่ากลับมาได้จริงๆ ฝนตกต้องตามฤดูกาล เขาสัมผัสได้จริงๆ เห็นการเปลี่ยนแปลงกับตาเขาเอง  แต่สำหรับพี่คิดว่ามันเป็นแค่จุดเริ่มต้น เรายังต้องทำงานกันต่อไป ทำอย่างไรจะให้มันอยู่ในระยะยาวได้ อีกอย่างก็อยากให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ตัวอย่างให้กับที่อื่นๆ และเผยแพร่ความรู้ให้ขยายไปเรื่อยๆ พี่ว่าตอนนี้มันเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วมันต้องได้รับความร่วมมือกันทุกคนที่จะทำให้ป่ามันยั่งยืน

ปัญหาและอุปสรรค์ที่เกิดขึ้นก้าวข้ามผ่านไปได้อย่างไร…
ปัญหาที่เจอมันมีหลายด้าน ทางด้านการพยายามทดลองนำงานนี้ลงสู่ชุมชน ก็เจอปัญหาในการปฎิบัติงานซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เข้าใจได้ แต่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย เช่น เรื่องของเวลา รายละเอียดในการทำงานฟื้นฟูป่า และดูแลเป็นงานที่ค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะ บางครั้งก็เยอะมากถ้าจะให้ได้เนื้องานเหมือนอย่างที่หน่วยวิจัย ฯ ทำมา ต้องเอาใจใส่มันพอสมควรเลย และต้องเสียสละเยอะมาก แต่บางครั้งชาวบ้านก็ติดเงื่อนไขของการทำมาหากินอยู่ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น สำหรับวิถีชีวิตของเขา ทำให้การดูแลอาจจะเลยช่วงเวลาที่จำเป็นไป หรือบางจุดหน่วยฯ เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่ชาวบ้านเห็นไม่ตรงกัน คือคิดว่าไม่จำเป็น ทำให้ไม่เห็นความสำคัญ ก็ทำให้ไม่เข้าใจกัน ทำให้การฟื้นฟูป่าที่ได้อาจจะยังไม่เห็นผล ซึ่งก็อาจจะเป็นที่ทางหน่วยอาจจะใหม่สำหรับการทำงานสื่อสารกับชาวบ้าน เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราก็ต้องสื่อสารชาวบ้านให้เข้าใจ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็คือต้องทำความเข้าใจชาวบ้านด้วย ก่อนที่จะให้ชาวบ้านเข้าใจเรา ซึ่งก็ต้องพึ่งพากันทั้งสองฝ่าย จุดนี้เป็นงานที่ยาก และหนักพอสมควรเลย
ส่วนใหญ่เวลาเจอปัญหากับชาวบ้าน นี่ก็ต้องทำความเข้าใจวิถีชีวิตของเขา ไม่ใช่เข้าใจของเราเพียงฝ่ายเดียว ต้องปรับกันทั้งสองฝ่าย ตรงจุดนี้ทำให้พี่ค้นพบว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานกับพื้นที่หรือการ แก้ปัญหาต่างๆ นั้นก็คือ “ความพร้อม” ถึงโครงการเราจะดีแค่ไหนก็ตาม เราจะเต็มที่แค่ไหนก็ตาม ถ้าเราจะบุกไปทำกิจกรรมกับเขา ถ้าหากชาวบ้านเขาไม่พร้อม ก็ไม่มีประโยชน์ ทำไปก็อาจไม่สำเร็จ สูญเปล่าไปเฉยๆ เพราะฉะนั้นก็คือต้องให้ชาวบ้านเกิดความพร้อม ความเข้าใจให้ดีก่อน รวมไปถึงปูความพร้อมให้กับชาวบ้านด้วย ก็คงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันค่ะ วิธีการสำคัญที่สุดก็คือต้องสื่อสารกัน
ปัญหาอีกอย่างของหน่วยงานก็คือเรื่องของทุนสนับสนุนค่ะ ทั้งเรื่องปลูกป่า แล้วก็เรื่องงานวิจัย มันจะขาดช่วงตลอดเวลา เราก็จะต้องมานั่งหาทุนกันตลอด เขียนโครงการไปเสนอขอทุนตามที่ต่างๆ แล้วก็อยู่ในช่วงภาวะที่รอคอย มันค่อนข้างจะทำให้เราทำงานได้ยาก แล้วก็เสียเวลากับตรงนี้ไปพอสมควรเหมือนกัน

เมื่อถึงเวลาท้อ…
เป็นช่วงๆ นะคะ บางทีปัญหาส่วนตัวก็ทำให้เศร้า ส่วนเรื่องงานเวลาไม่ได้ดั่งใจ ก็เครียดเป็นธรรมดา แต่เราก็จะพยายามหาเหตุผล มองหลายๆ มุม ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เกิดขึ้นได้อย่างไร สักพักมันก็จะจัดการได้ ก็ใช้เวลาไม่เท่ากันนะ ในแต่ละเหตุการณ์ แต่บางครั้งปัญหาส่วนตัวมันเครียดแล้วกระทบต่องาน ก็จะทิ้งมันไปเลย หนีไปเที่ยว เที่ยวสักพักก็จะอารมรณ์ดี พอถึงตอนนั้นเราก็จะเริ่มรู้แล้วล่ะว่าจะต้องทำอะไรต่อไป ซึ่งธรรมชาติก็ช่วยบำบัดเราทางอ้อมได้ดีทีเดียว

เวลาอยู่กับธรรมชาติรู้สึกอย่างไรบ้าง…
มีความสุข (หัวเราะ) สบายใจ เหมือนมันได้ไปเที่ยว เราก็จะสนุกกับรอบๆ ตัวอย่างเต็มที่ ถึงแม้ไม่ได้ไปเข้าป่า แต่ไปเจอชาวบ้าน ไปอยู่กับชาวบ้าน แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ได้เจอคนใหม่ๆ เจอคนที่มีแนวความคิดเดียวกัน บางครั้งมันทำให้เรารู้สึกว่า อือ! เราไม่ได้อยู่คนเดียว ไม่ได้คิดแบบนี้คนเดียวนะ ยังมีคนที่เหมือนเรา เป็นพวกเดียวกันกับเราอีกเยอะ ก็มีกำลังใจมากขึ้นเยอะเลย

ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเราบ้าง…
         พี่ไม่แน่ใจว่ามันเปลี่ยนเราหรือเปล่า เพราะเรารักและอยู่กับมันมาตั้งแต่ต้น วิถีชีวิตเราเป็นแบบนี้อยู่แล้ว มันไม่ได้เปลี่ยนไปเลย แต่พี่ว่ามันเหมือนน้ำที่หล่อเลี้ยงต้นไม้ให้โตขึ้นเรื่อยๆ มากกว่า ยิ่งทำงานก็ยิ่งทำให้เราผูกพันกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ธรรมชาติอาจทำให้เราเครียดน้อยกว่าคนอื่น ทำให้เรารู้สึกเป็นอิสระมากกว่าคนอื่น เราคิดว่าเรามีชีวิตที่เลือกได้ เลือกที่จะเดินทางนี้และมีความสุขกับมัน

คิดว่าธรรมชาติสอนอะไรกับเราบ้าง…
ก็คือธรรมชาติสอนให้เรารู้ว่าธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่าที่เราคิดมากๆ มันมีความมหัศจรรย์ ซับซ้อน มีอะไรอีกมากมายที่เรายังไม่รู้ ธรรมชาติทำให้เรารู้ว่าความจริงแล้วเราไม่ได้ยิ่งใหญ่เลย เราตัวเล็กนิดเดียว เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  เหมือนกับงานวิจัยที่เราทำก็ไม่ได้คิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเอง แต่เป็นการศึกษาเรียนรู้จากธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร ทำงานอย่างไร บางครั้งนวัตกรรมใหม่ที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ได้มาจากธรรมชาตินั่นเอง

ข.ฝากเรื่องเขียวๆ…
         เรื่องนี้คิดมาตลอด แล้วก็พยายามบอกทุกคนตลอดเลยว่า ถ้าเราอยากช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ถึงแม้มีเวลาไม่มากก็ไม่ใช่ว่า จะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้ สิ่งที่ทำได้จริงๆ นั้นง่ายและใกล้ตัวกว่าคือเริ่มที่ตัวคุณก่อนเลย มันเริ่มได้เลย เริ่มได้ตลอดเวลา อย่างการใช้ถุงผ้า ก็หยิบเอามาใช้กันจริงๆ ไม่ใช่ใช้แบบแฟชั่น ปฏิเสธถุงพลาสติกเวลาซื้อของ หรือแม้แต่การถอดปลั๊กทุกครั้งที่ไม่ใช้ การใช้น้ำแต่พอควรไม่เปิดทิ้ง เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งใกล้ตัวที่เริ่มกันง่ายๆ ซึ่งการเริ่มต้นทำอะไรแค่นี้ อย่าคิดว่ามันไม่มีผลอะไร มันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญทีเดียวที่จะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและ ทางอ้อม ถ้าทุกคนทำ มันก็เกิดพลังมหาศาล เพราะฉะนั้นก็เริ่มต้นจากตัวเรานี่แหละ อย่าคิดว่าจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องยกขบวนกันมาปลูกป่าเพียงอย่างเดียว ปีละครั้ง แล้วที่เหลืออีก สามร้อยกว่าวันก็ไม่ทำอะไรเลย  ซึ่งความจริงปลูกแล้วไม่ดูแลมัน หรือมันไม่รอดนี่ก็เปล่าประโยชน์เหมือนกัน เริ่มต้นสิ่งง่ายๆ ใกล้ตัวกันก่อนดีกว่า แค่นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยธรรมชาติได้แล้วค่ะ