ประชาชาติธุรกิจ

ภาพที่ประชาชนไทยต่างคุ้นเคยและอยู่ในความทรงจำมาจนทุกวันนี้ คือเมื่อครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังทรงเจริญพระชนม์ชีพ ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารอยู่เสมอ พร้อมกับทรงนำแพทย์อาสาไปให้การรักษาผู้เจ็บป่วย โดยมีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ตามเสด็จอยู่เคียงข้างเสมอ

และแม้เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังทรงสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระราชชนนี โดยเฉพาะการทรงงานในฐานะองค์ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ซึ่งมีการนำหน่วยแพทย์อาสาไปตรวจรักษาผู้ป่วยตามหมู่บ้านต่างๆ ในถิ่นทุรกันดาร ไม่ว่าจะเป็นภูเขาสูง กลางทะเลลึก ที่อยู่ห่างไกลการคมนาคม

โดยทรงติดตามทอดพระเนตรการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์ พอ.สว.ในพื้นที่ห่างไกล พระราชทานของเล่นแก่เด็ก ยาแก่ผู้สูงอายุ ทรงซักถามถึงการปฏิบัติงาน ของหน่วยแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่อย่างเอาพระทัยใส่ เหมือนครั้งที่สมเด็จพระบรมราชชนนียังดำรงพระชนม์อยู่

กว่า 40 ปีนับตั้งแต่หน่วยแพทย์อาสา พอ.สว.ก่อตั้งขึ้น และทำงานอย่างต่อเนื่อง มีผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือไปแล้วนับหลายล้านคน ปัจจุบันมี อาสาสมัครแพทย์และอาสาสมัครทั่วไปรวมหลักหลายหมื่น จึงเป็นบทเรียนและภาพสะท้อนของ “การให้” ที่นอกจากจะมีความต้องการที่จะช่วยเหลือแล้ว การเอาใจใส่ การทำงานอย่างจริงจังและมีกระบวนการทำงานในเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจน จะนำไปสู่การช่วยเหลืออย่างเป็นรูป

ธรรมเท่านั้น จึงจะช่วยบรรเทาทุกข์ร้อนและแก้ปัญหาสังคมนั้นๆ

ได้อย่างยั่งยืนและลุล่วง

“หมอกระเป๋าเขียว” ต้นแบบงานอาสา

มากกว่านั้นยังน่าจะเป็นต้นแบบของการทำงานในรูปแบบ

“อาสาสมัคร” (volunteer) ที่กำลังได้รับการพูดถึงอย่างมากในปัจจุบัน ที่เก่าแก่ที่สุด

โดยอาสาสมัคร พอ.สว.ซึ่งทำงานโดยไม่ได้รับรายได้ จะออกปฏิบัติการเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ แต่ละหน่วยประกอบด้วยแพทย์ 1 คน เภสัชกรหรือพยาบาลที่มีความรู้เรื่องนี้ 1 คน พยาบาล 1 คน และอาสาสมัครสมทบ 1 คน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ อาสาสมัครสายแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ทันตนามัย เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน เป็นต้น อีกประเภท อาสาสมัครสายสนับสนุน ซึ่งมีทั้งข้าราชการและบุคลากรในภาคเอกชน

ในการออกปฏิบัติงานทุกครั้ง อาสาสมัครทุกคนจะสวมเสื้อสีเทากระเป๋าเสื้อสีเขียว ซึ่งมีเครื่อง หมายของหน่วยอาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งชาวบ้านเรียกขานว่า “หมอกระเป๋าเขียว” ว่ากันว่าในการทำงานที่ผ่านมาไม่มีผู้ใดปฏิเสธ “หน่วยแพทย์อาสา พอ.สว.” ทุกคนให้การยอมรับ ให้การนับถือ ไม่มีผู้ใดคิดประสงค์ร้าย แม้แต่ผู้ที่มีอุดมการณ์แตกต่างกันในบางพื้นที่ก็ยังยกเว้นการทำร้าย “หมอกระเป๋าเขียว”

จากพระปณิธานสู่กระบวนการทำงาน

จากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เล็กๆ ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2512 เนื่องจากทรงทอดพระเนตรเห็นความเดือดร้อนของราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคพยาธิ โรคผิวหนัง ไข้ป่า ซึ่งเป็นโรคพื้นฐานทั่วไป แต่มักเสียชีวิต เพราะไม่มีบริการทางการแพทย์ในถิ่นทุรกันดาร โดยเริ่มต้นที่ จ.เชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกก่อนขยายไปทั่วประเทศในปัจจุบัน โดยเชิญชวนแพทย์ พยาบาลและเภสัชกรให้มาเป็นอาสาสมัครของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพระองค์ โดยจะเคลื่อนที่เข้าไปให้การรักษาราษฎรตามท้องถิ่นต่างๆ เฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นพาหนะหลัก

ในปี 2516 ได้ทรงเริ่มนำระบบสื่อสารทางวิทยุรับ-ส่งมาใช้ให้คำปรึกษาโรคกับประชาชนใน พื้นที่ห่างไกล เรียกว่า แพทย์ทางอากาศ หรือต่อมาเรียกแพทย์ทางวิทยุ ซึ่งดำเนินการตามแนวปฏิบัติของ The Royal Flyin of Doctor Service of Australia ของออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2517 เพื่อเป็นการวางรากฐานให้การดำเนินงานของ พอ.สว.มีรากฐานที่มั่นคง และสมเด็จย่าทรงเป็นห่วงเรื่องงบประมาณอย่างยิ่ง เพราะงานแพทย์อาสานั้นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก

สมเด็จย่าจึงโปรดเกล้าฯพระราชทานทุนเริ่มแรก 1 ล้านบาท ในการจดทะเบียนหน่วยแพทย์อาสา เป็น “มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนคริน ทราบรมราชชนนี” โดยพระองค์ทรงเป็นนายิกากิตติมศักดิ์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นเป็นประธานกรรมการบริหาร ในปี 2538 มีการปรับปรุงการบริหารภายในมูลนิธิ โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษกฤษณะ เป็นเลขาธิการมูลนิธิ รวมทั้งของบประมาณในการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งต่อมามีการจัดสรรงบประมาณโดยกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสนับสนุนทุกปี

โครงสร้างการทำงานของมูลนิธิในปัจจุบันมีการแบ่งเขตการทำงานของอาสาสมัคร ใน 51 จังหวัด โดยแบ่งออกเป็น 12 เขตตามเขตการตรวจราชการของกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดที่มีกิจการแพทย์อาสา เรียกว่าจังหวัดแพทย์อาสา ทรงวางกฎเกณฑ์ไว้ว่า จังหวัดที่ต้องการตั้งหน่วยแพทย์อาสาควรเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับชาย แดน หรือการคมนาคมไม่สะดวก มีที่ทุรกันดาร หรือจำเป็นต้องอาศัยกิจการแพทย์อาสา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมด้วยคณะแพทย์อาสาของจังหวัดนั้นๆ ขอพระราชทานตั้งจังหวัดของตนเป็นจังหวัดแพทย์อาสาเสียก่อน เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่าเหมาะสม จึงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับไว้เป็นจังหวัดแพทย์อาสา โดยมีการกำหนดวางแผนการทำงานโดยคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พอ.สว.โดยตำแหน่ง และการติดต่อประสานงานในการปฏิบัติการทุกครั้ง ควบคุมโดยสำนักงานกลาง พอ.สว.ที่กรุงเทพฯ

ปัจจุบันนอกจากการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อการรักษาประชาชน ตามภารกิจหลักในช่วง ก่อตั้ง ปัจจุบันยังมีงานฝึกอบรมอาสาสมัคร โครงการทดลองแพทย์ทางโทรศัพท์ พอ.สว. ให้การรักษาพยาบาล และช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล โดยใช้โทรศัพท์เป็นเครื่องมือในการติดต่อแพทย์เพื่อสั่งการรักษาแก่ ผู้ป่วยซึ่งมารับบริการที่สถานีอนามัย รวมถึงการรณรงค์รักษาโรคต่างๆ ด้วยการผ่าตัด เช่น โรคต้อกระจก โรคปากแหว่งเพดานโหว่

นอกจากนี้รายได้ของมูลนิธิยังมาจากผู้มีจิตศรัทธา และในระยะหลังยังมีองค์กรธุรกิจจำนวนมากที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิในฐานะ พันธมิตร ในการขับเคลื่อนแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (corporate social responsibility : CSR) อาทิ บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด ฯลฯ

ต้นธารแห่งการให้

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทรงนิพนธ์ถึงหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จย่า ที่เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ จนได้ตั้งเป็นมูลนิธิ มีหน่วยงานทางวิทยุและได้มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ไว้ในคำปรารภ หนังสือสมเด็จย่าของปวงชน ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2533 ว่า มูลนิธิ พอ.สว.นี้เป็นเสมือนเด็กที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่แบเบาะ ทรงวางแผนด้วยพระองค์เองตลอด บางครั้งก็ทรงดีพระทัยเมื่อผลงานออกมาดี บางครั้งก็ทรงเป็นห่วง เมื่ออนาคตยังมองไม่เห็นชัด บัดนี้ พอ.สว.ก็บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่แม่ทุกคนไม่ว่าลูกจะเติบโตเพียงใดก็ตาม จะมีความผูกพันห่วงใยอยู่ตลอดไป เช่นเดียวกับสมเด็จย่าก็ทรงมีความผูกพันห่วงใยมูลนิธิ พอ.สว.อยู่เสมอ”

หลังจากที่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิ พอ.สว.ตั้งแต่ปี 2538 คณะกรรมการมูลนิธิได้ดำเนินการปรับปรุงและขยายกิจการด้านการรักษา บำบัดโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันให้มีการรณรงค์เกี่ยวกับทันตอนามัย รักษาพยาบาลโรคฟันให้เด็กตามโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า มีการรักษาพยาบาลด้านทันตกรรมโดยอาสาสมัครทันตแพทย์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ออกปฏิบัติการทั่วประเทศ พอ.สว.ยังได้ดำเนินการรักษาโรคพิการตั้งแต่กำเนิด ได้แก่โรคหัวใจ ปากแหว่ง เพดานโหว่ โรคตา หู คอ จมูก เป็นต้น โดยมีการส่งต่อคนไข้ไปรับการรักษาจากแพทย์ผู้ชำนาญตามโรงพยาบาลของศูนย์ กระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในกรุงเทพมหานคร

นอกจากมูลนิธิ พอ.สว. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ยังทรงบำเพ็ญ พระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยทรงมีโครงการในพระอุปถัมภ์มากมายหลายร้อยโครงการ เช่น มูลนิธิขาเทียมฯ ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นต้น ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ บางองค์กรทรงก่อตั้งด้วยพระองค์เอง รวม 63 มูลนิธิ อาทิ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุขและชุมชน มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯจึงถือเป็นต้นธารแห่งการให้ที่ยิ่งใหญ่ในสังคมไทย

“ในครอบครัวเรา ความรับผิดชอบ เป็นของที่ไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนกันอันแรกคือ เราจะทำอะไรให้เมืองไทย” คือพระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่ทรงตั้งอยู่ในพระปณิธานที่แน่วแน่ ทรงอุทิศพระองค์ด้วยพระกรณียกิจตลอด 84 ปีที่ผ่านมา

http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01070151&day=2008-01-07§ionid=0221