3 ปีสึนามิ กับ ความเปลี่ยนแปลง
ตอน อาสาสมัครสึนามิ

เมื่อ 3 ปีก่อน หลังวันคริสมาสต์ค่ำคืนแห่งความสุข เช้าวันใหม่เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ข่าวด่วนที่เกิดขึ้น คือ เกิดคลื่นยักษ์ “สึนามิ” ถล่มชายชาดอันดามัน กวาดชีวิต ทรัพย์สิน และความหวังของผู้คนไปสิ้น หลายคนช็อค หลายคนโศกเศร้าสูญเสีย ในขณะที่หลายคนทนมองไม่ได้ ทุ่มใจและกายลงไปช่วยเหลือ ห้วงยามนั้นพื้นที่สึนามิจึงคล้ายละครชีวิตโรงใหญ่ของคนเป็น คนตาย คนนอก คนใน และแรงกระเสือกกระสนที่จะมีชีวิตอยู่ ความช่วยเหลือ แรงกาย แรงใจ แรงเงิน และของบริจาคนับไม่ถ้วนถูกโถมไปยังชายหาดอันดามัน

แต่หากเปิดทีวีในวันนี้อีกครั้ง ภาพในสายตาที่ชาชินคือ ใบหน้านักการเมืองที่จ้องจะตั้งรัฐบาล บวกกับข่าวฉาวของดาราเป็นน้ำจิ้ม ทำให้ยากนักที่เราจะเห็นชีวิตและเลือดเนื้อในกันและกัน

ฉันสงสัย  ผู้คน อาสาสมัคร ชาวบ้าน ผู้ที่สูญเสีย ผู้ที่ได้รับ พวกเขาเป็นอย่างไร เมื่อผ่านพ้นวันคืนอันยาวนาน

พวกเขายังเจ็บเรื้อรังทั้งใจและกาย หรือเติบโตเข้มแข็ง หรือยังหลงวนเวียนหาทิศทางอยู่ทุกคืนวัน? และนี้คือรายทางของผู้คนที่ฉันพบเจอ… เมื่อ 3 ปีหลังจากนั้น

click to comment

-1-

นางสาวอรุณสวัสดิ์ ภูริทัตพงศ์ หรือ พี่จอย เป็นคนแรกที่ฉันนึกถึง ภาพประทับเมื่อครั้งเธอช่วยคุณหมอพรทิพย์ จัดการดูแลศพทั้งหมดในสุสานบางมรวนยังแจ่มชัด เธอมัดผมยาวหางม้า สวมหมวกแก็ปสีดำ รัดผ้าปิดจมูกไว้ใต้คาง อีกมือถือวอกกี้ทอล์กกี้คอยประสานงานเรื่องต่างๆ ทะมัดทะแมงและเป็นกันเอง ฉันยังจำคำของเธอในคราวนั้นได้ดี “ทุกครั้งที่เรายกเขา เราทำให้นุ่มนวลที่สุด เพราะคนที่นอนออยู่ในนี้ส่งเสียภาษีของเขาให้เราเรียนทั้งนั้น” วันนี้เธออยู่ในชุดลำลอง ปล่อยผมตามสบาย พูดคุยอย่างไม่รีบเร่ง

3 ปีก่อนเธออยู่ที่บ้านดูข่าวสึนามิ พอเห็นข่าวสายการบินนกแอร์รับล่ามอาสาสมัครลงพังงา เธอขึ้นเครื่องพร้อมเพื่อนอาสาร้อยกว่าชีวิต จากที่ตั้งใจเป็นล่าม เธอกลายเป็นผู้ดูแลระบบการฝังศพหลายพันร่างที่สุสานบางมรวนเป็นเวลา 1 เดือนครึ่ง ทุกๆ วันที่สุสานเธอและเพื่อนฝังศพเสร็จภารกิจตี 2 และเริ่มวันใหม่ 6 โมงเช้า เป็นอย่างนี้ทุกวัน งานหนัก นอนน้อย ไม่ได้ผลประโยชน์ตอบแทน แต่เธอบอกห้วงยามนั้น เธอไม่เหนื่อย ไม่หนัก และมีความสุขอย่างที่ไม่เคยมี เปรียบเทียบกับชีวิตทำงานในเมือง ตื่นเช้ามาต้องคิดว่าจะแต่งตัวอย่างไรถึงจะดูดี แต่อยู่ที่นี่เธอไม่ต้องคิดถึงตัวเอง ทว่าแน่นหนักชัดเจนว่าแต่ละวันทำอะไร เพื่อใคร และเพื่ออะไร

“พอมีคนมารับญาติเขาก็ดีใจ มันเป็นความสุข เออ! อย่างนี้นี่เองที่ เรียกว่า ความสุข ความสุขที่ทำดีๆ ให้คนอื่น พอคนเราคิดถึงตัวเองน้อยลง คิดถึงคนอื่นมากขึ้นมันก็จะมีความสุข เพราะทุกวันนี้เราคิดถึงตัวเองมากไปหรือเปล่า เราลืมมองคนข้างๆ คนอื่นๆ ที่อยู่รอบเรา คนที่ห่างไกลจากตัวเราไป”

หลังจากส่งมอบงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสานงานต่อ เธอกลับมาสู่ชีวิตปกติ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจที่ศศินทร์ จุฬาฯ และรีบสมัครเรียนต่อปริญญาโทหลักสูตร cultural management บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จนถึงทุกวันนี้เธอลาออกจากศศินทร์ ทำวิทยานิพนธ์เพื่อเรียนโทให้จบ และ เป็นอาสาสมัครอิสระให้มูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก ซึ่งกำลังเรียนรู้การเป็นอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ

ย้อนกลับไปมองสามปีก่อน เธอเป็นเด็กสาวอายุ 24 ปี “ตอนนั้นเราคิดว่ามันที่สุดของชีวิตเรา เกิดมาไม่เคยเจออะไรแบบนี้ หลังจากนั้น 3 ปี ก็พบว่าสึนามิเป็นแค่พื้นฐาน เป็นรากแข็งๆ อันหนึ่ง  มันทำให้เห็นว่า เหตุไม่คาดฝันมันไม่มีที่สิ้นสุดหรอก มันเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ที่สำคัญ คือ เราต้องตั้งสติได้ ทำให้เข้าสู่สภาวะปกติได้ ถ้ามีใจรักอยากจะช่วยคน เราคิดว่าควรทำดีไปเลย” และเธอก็ทำต่อที่มูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก เมื่อมีเหตุน้ำท่วม โคลนถล่ม เธอเรียนรู้ที่จะประสานงานกับพื้นที่ อาสาสมัคร จัดตั้งโรงครัวหลวง ที่พักชั่วคราว และส่งมอบงานต่อไป

เธอเล่าถึงเพื่อนอาสาหลายคนที่ยังติดกับ 3 ปีที่แล้ว บางคนอินกับการได้ช่วยคน จนไม่เป็นอันทำมาหากิน ยึดติดกับการทำความดี จนลืมไปว่าเราไม่ใช่คนพลิกโลก “บางคนจะอินจนเสียงานการเสีย พอทำอะไรให้คนอื่น ก็ภูมิใจฉันเป็นคนดี ฉันไปช่วยคนดีกว่า แล้วลืมทุกอย่าง จอยกลับมาก็พบความเป็นจริงที่ว่าชีวิตเราก็ยังดำเนินต่อไป มีหน้าที่ต้องเรียนให้จบ มีงานที่ต้องทำ มีหน้าที่ แต่บางคนไม่จบ เราคิดว่าต้องดูแลชีวิตเราให้ดี ฐานให้มั่นคงก่อน ถ้าดูแลตัวเองไม่ได้ก็อย่าไปเลย”

-2-
เขาหลักวันนี้ฟ้าเปรี้ยง แดดใส ทะเลสวย ตึกรามบ้านช่องใหม่เอี่ยม แม้แต่ผู้คนที่เข้าออกก็เก่าใหม่ ผันไปไม่เหมือนเดิม

click to comment
กรองแก้ว ปัญจมหาพร หรือ แก้ว ผู้หญิงตัวเล็กคนนี้เป็นสาวชลบุรี แต่เธอมาปักหลักที่ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ (Tsunami Volunteer Center : TVC) ได้ 2 ปี 5 เดือน จากอาสาสมัครตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ทุกวันนี้เธอเติบโตเป็นผู้จัดการศูนย์อาสาสมัครสึนามิ พูดว่าถ้าให้ได้ เธอได้ให้ทั้งชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณไปกับงานอาสาสมัครและพัฒนา

เธอบอกกับเราว่า เมื่อก่อนเธอเป็นเด็กจบใหม่ที่อีโก้จัด มั่นใจในตัวเองสูง แต่พอมาทำงานอาสาสมัคร ไม่ว่าจะเก่งมาจากไหน เคยทำอะไรมา ทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน

งานอาสาสมัครจึงเหมือนเป็นโรงเรียน ทำให้แก้วเรียนรู้ว่าจริงๆ เรานี่แหละโง่  เวลา 2 ปี 5 เดือน ที่ TVC สร้างเธอให้เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต เข้าใจคนอื่น ยอมรับคนอื่นแบบที่เขาเป็น และยอมรับตัวเอง

“พี่รู้สึก พี่ติดหนี้บุญคุณ” เธอยิ้มด้วยตา

สำหรับศูนย์อาสาสมัครสึนามิ (TVC) สถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของเหล่าอาสาสมัครในพื้นที่ประสบภัยพิบัติสึนามิ วันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก ตึกเก่าและรกครึ้มไปด้วยต้นไม้ อาสาสมัครลดน้อยถอยลงไป ในฐานะผู้จัดการศูนย์อาสาสมัครสึนามิ แก้วเล่าให้เราฟังว่าอาสาสมัครที่ลงมาสึนามิในช่วง 1-2 ปีแรก นั้นเต็มที่ ทุ่มแรงกาย ใจลงมาช่วยไม่มีบ่น เหตุผลหนึ่งเดียวคือ “อยากมาช่วยเหลือ” แต่ปัจจุบันนี้มีอาสาสมัครน้อยลง และเหตุผลในการทำก็แตกต่างกันออกไป

“ช่วงปีที่ 3 เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง เริ่มเห็นคนที่อยากสงเคราะห์ อยากทำดีแต่มีเงื่อนไข ขอนอนสบาย ขอกินอาหารดีๆ ขอสำอาง เหตุผลที่มาก็มีหลายอย่าง เช่น ช่วงสึนามิฉันไม่มีโอกาสมา ฉันรู้สึกว่าก่อนที่มันจะผ่านไป ฉันก็อยากมา บางคนก็บอกว่า ฉันไม่เคยรู้จัก  ไม่เคยทำงานอาสาสมัครมาก่อนเลย ฉันอยากลอง หรือ บางคนมาเดินทางท่องเที่ยว แล้วก็สนใจงานอาสา ก็มี แต่เราก็คิดว่าอย่างไรก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย มาช้าก็ดีกว่าไม่มา”

ทุกวันนี้พื้นที่สึนามิฟื้นคืนกลับมามากขึ้น งานฟื้นฟูประเภทสร้างบ้าน ต่อเรือหมดไปแล้ว มีแต่งานพัฒนา เช่น งานพัฒนาเด็กและเยาวชน งานพัฒนาชุมชนให้ฟื้นคืนกำลัง หากสนใจเป็นอาสาสมัคร  แก้วบอกกับว่ายินดีรับอาสาสมัคระยะยาวและนักศึกษาฝึก งาน มาร่วมเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม :  http://www.tsunamivolunteer.net/

แทน หรือ นายอภิชัย  บุตรพิเศษ ชายหนุ่มหัวตั้ง อายุ 25 ปี หน้าเฉย แทนเป็นคนวางระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดให้ที่นี้ ด้วยทักษะที่เรียนจบตรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เรื่องนี้เป็นเรื่องง่าย

เมื่อ 3 ปีก่อน เขานั่งหน้าคอมพิวเตอร์ แชตกับเพื่อนอาสาสมัครมูลนิธิกระจกเงาในโปรแกรม MSN คุยไปคุยมาวันรุ่งขึ้น เขาตัดสินใจลงมาพังงาคนเดียว ตอนแรกตั้งใจลงมาช่วยงานด้านคอมพิวเตอร์ แต่ถึงเวลาจริงมีอะไรทำ ก็ทำทั้งนั้น ตั้งแต่ อัพเดตข้อมูลศพไปจนถึงเก็บศพก็ทำมาแล้ว เขาโดดเรียนไป 13 วันเต็ม ช่วงเวลานั้นช่วงเวลาที่เขามีพลังเหลือเฟือ ตื่นมาตั้งแต่ 6 โมงเช้า โบกรถไปย่านยาว ช่วยเช็คศพ เก็บศพ กลับมาพัก 5 ทุ่ม แทบไม่เวลาอาบน้ำ แต่ก็ไม่เหนื่อย จนถึงทุกวันนี้ เพื่อนๆ อาสาสมัครสึนามิก็ยังติดต่อกันผ่านโปรแกรม MSN บางคนทำงานบริษัท บางคนลาออกเพื่อมาทำอาสาสมัคร จนถึงทุกวันก็ยังตกงานอยู่ก็ยังมี

ส่วนตัวเขาเองหลังเรียนจนจบ พี่ๆ ที่ TVC ก็เรียกมาช่วยทำงาน เขาทำงานที่นี่ 2 ปี 5 เดือน ก็ตัดสินใจออก เพราะการเป็นเจ้าหน้าที่มันเหนื่อย สองเดือนก่อนกลับบ้านอยู่ว่างๆ ได้พักเดียว ที่นี้ก็ขอแรงให้กลับมาเป็นอาสาสมัครอีกเช่นเคย

“ปีหน้าผมว่าจะเข้าไปที่ภูเก็ตหางานทำ ด้านคอมพิวเตอร์ แต่ก็อาจจะพลิกชีวิตไปเลย อาจจะทำโรงแรมหรืออะไร” เขาหัวเราะ อาจด้วยไม่ได้อยากทำอะไรเป็นพิเศษทำให้ยังหัวเราะให้กับอนาคตได้

“อุดมการณ์มาก่อนอนาคต” เขาว่า อุดมการณ์ของเขา คือ การทำสิ่งที่สบายใจ

“เราชินกับการทำงานอาสาสมัครที่ไม่มีกฎระเบียบมาคุม แต่งตัวอย่างไรก็ได้ จะเข้างานออกงานกี่โมงก็ไม่ต้องมาตอกบัตร ถ้าให้ไปทำแบบพนักงานบริษัทก็ไม่รู้ตัวเองจะทนทำได้ไหม”

3 ปีผ่านไปไวราวกับโกหก แทนบอกว่าที่นี้เปลี่ยนไปเยอะมาก เดิมที่อาสาสมัครต่างคนต่างมา ตื่นทุกเช้ามีพลัง ทุกวันนี้ไม่มี อาสาสมัครน้อย คนรู้จักกันน้อย งานน้อย ชาวบ้านก็ลืมๆ กันไป ถ้าลงมาช่วงนี้ก็อาจจะเฟล ไม่มีอะไรให้ทำเยอะแยะอย่างช่วงแรกๆ

click to comment

เอกพล พาภักดี หรือ ท๊อป ชายหนุ่มคนนี้เป็นอาสาสมัครไทยคนเดียว ที่ TVC ผู้ชายคนนี้ยิ้มง่าย คุยง่าย คุยสนุก พอถามว่าทำไมมาอยู่ที่นี่ เขาตอบเหมือนล้อเล่น “มาตามหาชีวิตวัยรุ่น” พอถามอายุ เขาบอกเลขท้ายสองตัว “26”

26 ยังวัยรุ่นอยู่เหรอ? เขาหัวเราะและยืนยันว่ายังวัยรุ่นอยู่จริงๆ นะ

ชายหนุ่มคนนี้ เรียนจบปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมัยเรียนมหา’ลัย เขาเคยมีโอกาสเป็นครูอาสาสมัคที่เชียงราย กับมูลนิธิกระจกเงา เขากับเพื่อนใช้เวลาปิดเทอมครั้งนั้นด้วยการเที่ยวเฮฮาและเป็นอาสาสมัคร

พอเรียนจบ ด้วยสาขาอาชีพ ที่ถ้าไม่ทำงานย่านนิคมอุตสาหกรรม ก็กรุงเทพมหานคร ถามใจว่าอยากอยู่ไหน เขาอยากทำงานอยู่บ้านเกิด แต่คนเราก็ต้องทำมาหากิน บวกหิวกระหายประสบการณ์ในชีวิต เขาเข้ามาทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ในตำแหน่งหัวหน้าด้านการบำบัดน้ำเสีย เขาตั้งใจจะมาอยู่กรุงเทพฯ 3-5 ปี แล้วขยับขยายเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ซักปีเขาคงถึงบ้าน

1 สัปดาห์มี 7 วัน เขาทำงานในโรงงานแทบทั้ง 7 วัน เพราะต้องเคลียร์ระบบโรงงานทุกๆ วันเสาร์อาทิตย์ ทำให้ไม่เคยได้หยุดยาวเพื่อกลับบ้าน ไม่เคยได้หยุด ไม่มีเวลากลับบ้านไปดูแลแม่ ไม่มีเวลาท่องเที่ยว เขาตัดสินใจลาออกหลังทำงานได้ 3 ปี

เขาถือว่าการมาทำอาสา 3 เดือน ครั้งนี้เป็นการทำบุญให้ชีวิต ปี 2550 นี้ เขาเข้าโรงพยาบาล 2 ครั้ง และเฉียดตายทั้งสองครั้ง ครั้งแรก “ผ่าสมอง” เนื่องด้วยอยู่ๆ ก็ปวดหัวหนักเป็นเดือนๆ ตอนนั้นยังไม่รู้เป็นอะไรก็ต้องเข้าห้องผ่าตัดแล้ว หมอบอกว่ามีเลือดหุ้มในเยื่อสมอง จนถึงวันนี้สาเหตุเพราะอะไรเขาก็ไม่รู้เหมือนกัน ครั้งที่สอง เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา เขาตกที่สูงในโรงงานเนื่องจากลื่น หลังลง คอลง แต่โชคดีที่ไม่มีอะไรหัก ไม่เป็นอะไรมาก แต่ก็ปวดหลัง ปวดคอเรื้อรัง หลังจากออกจากงาน เขาไม่ได้หางานใหม่ งานอาสาคือสิ่งที่ยังตกกระกอนอยู่ในใจ

“เกิดมา 26 ปี ผมมาอยู่นี้แค่ 3 เดือน มันแค่นี้ในชีวิต (ยกมือขั้นมาวัด) วันหนึ่งเราก็ต้องไปไป เพราะเรายังก็ต้องกินข้าว ถามว่าทำไมไม่มาทำตอนนี้พร้อม แต่ถ้าพร้อมผมอาจไม่อยากมาก็ได้ มาตอนที่อยากนี้แหละ ส่วนอนาคตค่อยว่ากัน”

ตอนนี้เขาอยู่ที่นี้ได้ 3 อาทิตย์ ทำงานจิปาถะไปเรื่อย และตั้งใจจะช่วยงานด้านการศึกษาต่อ

หลังจากทำอาสาจะทำอะไรต่อ ฉันถาม “ก็ต้องหาข้าวกิน (หัวเราะ) เรียกสัมภาษณ์ได้ แกรมมี่ อาร์เอส ยังว่างๆ (ฮา) ตอนนี้กินบุญเก่าไปก่อน ก็กลับไปหางานทำ แต่เป็นงานที่เราสามารถกลับบ้านไปเยี่ยมบ้านได้ด้วย”

(อาสาสมัครชาวต่างชาติ กำลังทาสีอย่างขยันขันแข็ง)

ติดตาม “3 ปีสึนามิ กับ ความเปลี่ยนแปลง” ตอน ชีวิตที่ยังดำเนินต่อไป เดือนมกราคมค่ะ