หนึ่งเดือนกับภารกิจประทับจิตคุณครู….การเรียนรู้ควรเป็นไปบนวิถีทาง นี้ ! …. ถ่ายทอดบทเรียนโดย พิเชษฐ์ เบญจมาศ ครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก ประจำศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สตูล

๑ เดือนผ่าน (๘ มิ.ย.๒๕๕๓ – ๕ ก.ค.๒๕๕๓) กับพื้นที่เรียนรู้แห่งใหม่ ณ อ. ละงู จ.สตูล เปิดโลกทัศน์บางประการแก่ผม การเดินทางคือวิถีชีวิตที่นี่ ผู้คนหลากวัยเดินทางเข้ามาไม่ขาดสาย ความรู้สึกหลั่งหลากเป็นสายธาร บ้างอิ่มเอม บ้างอดสู อาดูร นับเนื่อง คละเคล้า ประหนึ่งท้องทะเลชรา

การเรียนรู้ที่หลากหลายเชื่อมโยงชีวิตเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่าน ผมพบว่าสิ่งที่ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สตูล ภายใต้สังกัดของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินการอยู่ แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะคือ ๑) การอนุบาลเผ่าพันธุ์มนุษย์  ๒) การยกระดับสังคมมนุษย์โดยรวม มีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างสังคมพึ่งตนเอง โดยใช้กระบวนการวิจัยท้องถิ่นช่วยขับเคลื่อน

การวิจัยที่แตกต่างจากสาระวิชาประดับห้องสมุดราคาแพงของนักวิชาการ ปรับเปลี่ยนทรรศนะคติของผมต่องานวิจัยที่เคยรู้จัก ยิ่งเดินทางลงพื้นที่กับทีมงาน (บังพงษ์, ก๊ะบุหลัน, บังหมาด, ก๊ะเนตร) พบปะพี่น้องต่างวัย ต่างที่ รูปรอยแห่งการเรียนรู้ประทับผ่านนัยน์ตานั้น ยังตราตรึง

คนบางคนอาจจะแบ่งงานออกจากชีวิต แต่พี่..งานกับชีวิต คือเรื่องเดียวกัน…เพราะนี่ไม่ใช่แค่งาน แต่คือภารกิจของคน

บังพงษ์ (สมพงษ์ หลีเคราะห์) หัวหน้าศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สตูล เล่าให้ผมฟังบนรถกระบะ ขณะเดินทางไปประชุมชาวบ้านที่บ่อเจ็ดลูก เรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่กำลังรุกคืบ กลืนกิน ดินแดนแห่งนี้

ภารกิจของคน – สะท้อนภาพการคิด การทำงานของที่นี่ เพราะหากมองจากจำนวนคน ๔ คนต่อประเด็นการศึกษา, ประเด็นความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน และประเด็นทรัพยากร-การท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่มีโครงการย่อยนับสิบโครงการแล้ว ไม่น่าเชื่อว่า การขับเคลื่อนนั้นจะเป็นไปได้ แต่ความตั้งใจ การทำงานจริง การให้ประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายที่ดำเนินโครงการ คือคำตอบที่ไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม

รูปแบบการเรียนรู้ดังกล่าว เกิดจากการติดตั้งระบบความคิดร่วมกัน ระหว่างพี่เลี้ยงโครงการกับกลุ่มเป้าหมาย โดยมีที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำต่อยอดการเรียนรู้ การประชุม ระดมความคิด วางแผนการทำงาน ปฏิบัติการประเมินผล สรุป ต่อยอด ดำเนินไปบนความร่วมมือของทุกฝ่าย ซึ่งกระบวนการนั้น จะนำไปสู่การพัฒนาคนแบบ ประทับจิต

ผมมองว่านี่เป็นการศึกษาทางเลือกแขนงหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะดำเนินการกับคนทุกวัย หลายมิติ หลากบริบท แม้วันนี้จะยังไม่เข้าใจรูปแบบกระบวนการทั้งหมด แต่เชื่อว่า เวลาและการปฏิบัติงานเชิงพื้นที่ จะสามารถเพิ่มเติมความเข้าใจนั้นได้

เมื่อการศึกษาไทยในปัจจุบัน  กำลังเดินทางสู่ความมืดบอด การผลิตคนเพื่อการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจบริโภคนิยมถึงทางตัน คนไร้รากเหง้า จิตวิญญาณสาบสูญเพิ่มขึ้น การร่วมกันหาทางออกจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่าการเรียนรู้ต้องเริ่มที่ตนเอง หรือที่เรียกว่างอกงามจากภายในจึงจะเบ่งบานได้  กระบวนการของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สตูล จึ่งท้าทายยิ่งต่อการจัดการเรียนรู้ของมนุษย์

ที่ผ่านมา ผมไม่สามารถอธิบายเรื่องราวภายในต่อคนอื่นอย่างเป็นรูปธรรมได้  โครงการร้อยหัวใจโครงการหลัง ๖ เดือนตอนเป็นอาสาสมัครครูอาสาที่เกาะปอ จ.กระบี่ ที่คิด ต้องใช้กระบวนการเพิ่มเติมในการบอกกล่าว บางที นี่อาจจะเป็นหนทางสู่การร้อยหัวใจอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต ผมหวังเช่นนั้น…

ขณะนี้หน่ออ่อนการเรียนรู้กระซิบบอกผมว่า การเรียนรู้นั้นควรจะเป็นไปบนวิถีทางนี้

มนุษย์จะสมบูรณ์ได้นั้นต้องเติบโตในมิติของความรู้, มิติของปัญญา และมิติของจิตวิญญาณ โดยมีบริบทของชุมชนเป็นห้องเรียน จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมิได้ และจะหนักอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เช่นเดียวกัน

ดุลยภาพคือความงดงาม ที่จะงอกงามในอนาคต.
๑ เดือนผ่าน  ผมพบเรื่องราวเหล่านี้ครับ…

เขียนโดย พิเชษฐ์ เบญจมาศ
วันจันทร์ ที่ 16 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2553

ที่มา http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…