เขียน: ไพโรจน์  ภาพ: V4N

หนึ่งเปรี้ยงปืนลั่น สะท้านป่า
หนึ่งวูบไหวผวา ทั้งป่าลั่น
หนึ่งคืนนานยาว ราวกัปกัลป์
หนึ่งฝันฟุบแล้ว ลับแนวไพร

หนึ่งคนควรค่า คารวะ
สืบสร้างสัจจะ ยิ่งใหญ่
หมื่นคำร่ำหา อาลัย
รวมใจสืบทอด เจตนา

บทกวีนี้เขียนขึ้นโดยคุณจิรนันท์ พิตรปรีชา เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533 กล่าวถึงการเสียชีวิตของคนๆหนึ่งชื่อ สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เมื่อคืนวันที่ 31 สิงหาคมต่อเช้าวันที่ 1 กันยายน 2533 จากการปลิดชีวิตตนเอง ด้วยข้อความที่หัวหน้าสืบ ( ตามการเรียกขานของเจ้าหน้าที่ป่าห้วยขาแข้ง ) เขียนเอาไว้นั้นทำให้สังคมรับรู้ถึงวิกฤตการณ์ป่าไม้ การแสวงหาผลประโยชน์และปัญหามากมายที่เกิดกับป่าห้วยขาแข้ง  อันอาจหมายรวม ถึงพื้นที่อนุรักษ์แห่งอื่นๆด้วย ประโยคที่ว่า

“ ผมคิดว่าผมทำดีที่สุดแล้ว  และผมพอใจ ผมภูมิใจในสิ่งที่ผมทำ ”

ย้ำเตือนให้คนไทยทั้งประเทศ เริ่มหันมองปัญหาที่หลายคนยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ความสำคัญของป่าไม้ สัตว์ป่า สิ่งแวดล้อม เมื่อ 17 ปีที่แล้วเป็นเช่นนั้นจริงๆ  อะไรคือแรงกดดันที่ทำให้คนๆนึงต้องกระทำถึง ขนาดนั้น เกิดอะไรขึ้นกับระบบการจัดการป่าไม้ของประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนทั่วไปต่างตื่นตัวจนเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน หลายคนเกิดจิตสำนึกจากเหตุการณ์นี้ และหัวหน้าสืบ ก็กลายเป็นบุคคลต้นแบบ ของสังคมด้านป่าไม้และสัตว์ป่าทันที

9  ธันวาคม 2534  ภายหลังการเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร ที่ประชุมพิจารณาคัดเลือกแหล่งมรดกโลก ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  ( UNESCO )  ก็ได้ประกาศให้ พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ นเรศวร  รวมเนื้อที่ 3.7 ล้านไร่  เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก และในภายหลัง กรมป่าไม้ได้รวมระบบการจัดการป่า 17 ผืนทางตะวันตกของประเทศ  ที่มีเนื้อที่ติดกันรวม 11 ล้านไร่  เป็นป่าผืนเดียวใช้ชื่อ  “ ป่าตะวันตก ”  ซึ่งจัดเป็นป่าผืนใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศและติดอันดับในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้  ความสำเร็จเหล่านี้มิอาจปฏิเสธได้ว่า เป็นผลงานและความทุ่มเทของ สืบ นาคะเสถียร ที่น่าเสียดายคือ หัวหน้าสืบ ไม่มีโอกาสได้เห็นความสำเร็จของตนเองเลย

17 ปีผ่านไป เราเดินทางไปร่วมรำลึกถึง สืบ นาคะเสถียร ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยครั้งนี้ ได้จัดเป็นโครงการ  ใช้ชื่อ “ สืบสานงานสืบ ” ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – วันที่ 2 กันยายน 2550   เป็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายอาสารักษ์ธรรมชาติ   ( V4N ) , กลุ่มนวัตกรรมเยาวชนเพื่อสังคม ( YIY ) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยจัดเป็นโครงการเชิงอาสาสมัคร มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นนิสิตนักศึกษาที่เดินทางมาจาก ทั่วประเทศกว่า 80 คน ได้เรียนรู้ รับฟัง ปัญหาวิกฤตการณ์ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือได้รับรู้เรื่องราวของพนักงานป่าไม้ ที่สละแม้ชีวิตของตนเองเพื่อปกป้องสมบัติทางธรรมชาติไว้ให้เราทุกคน

กิจกรรมที่ 1  ทักทายป่าห้วยขาแข้งกับการจุดเทียนรำลึก

เมื่อเดินทางถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ภาพแรกที่เราเห็นคือผู้คนมากมายที่มาห้วยขาแข้งในวันนี้ด้วยเหตุผลเดียว กัน  แต่สิ่งแรกที่เราทำคือ การเคารพรูปปั้นหรืออนุสาวรีย์ ของหัวหน้าสืบ นาคะเสถียร ในบริเวณที่เรียกว่า อนุสรณ์สถาน ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2536  อนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างให้ประชาชนทั่วไปที่เดินทางมายังป่าห้วยขา แข้ง ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของหัวหน้าสืบ คนที่เดินเข้าทางทิศเหนือ จะก้มศีรษะหลบแกนเหล็กที่ฝังไว้ระหว่างพื้นที่ยกตัวสูงขึ้น สื่อความหมายให้คนได้ควรเคารพต่อสถานที่ ทางเดินที่ทำเป็นริ้ว มีรอยแยกตลอดทาง สื่อความหมายให้คนได้ควรระวังในทุกก้าวการเดินในป่าห้วยขาแข้ง อนุสาวรีย์หัวหน้าสืบ ยืนตระหง่านหันหน้าไปทางทิศใต้ สื่อความหมายให้เรารับรู้ว่า หากดวงวิญญาณของหัวหน้าสืบมีอยู่ จะช่วยปกป้องป่าห้วยขาแข้งเอาไว้จากคนพาลทั้งมวล

ในค่ำคืน เรารับรู้เรื่องราวของป่าห้วยขาแข้งจาก คุณชัชวาล พิศดำขำ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งคนปัจุบันแต่เป็นสมัยที่ 2 ภายหลังจากเคยดำรงตำแหน่ง ต่อจากหัวหน้าสืบ นาคะเสถียร เมื่อปี 2533 รวมถึงฟังดนตรีเพราะๆจากคนเฝ้าป่าชื่อ สายัณห์  น้ำทิพย์ เพลงสิ้นเสียงปืน ( จากบทกวีของหัวหน้าสืบ ) ทำให้เราทุกคนในอนุสรณ์สถานถึงกับเงียบสนิทและปรบมือกันดังสนั่น จากนั้นจึงร่วมกันจุดเทียนปักไว้ใต้ฐานรูปปั้นหัวหน้าสืบ ในเวลาที่ใกล้เคียงกับการเสียชีวิตเมื่อ 17 ปีก่อน เหมือนจะบอกกับรูปปั้นหัวหน้าสืบว่า การตายของหัวหน้าสืบจะไม่มีวันสูญเปล่าอย่างเด็ดขาด อย่างน้อยก็มีพวกเราอยู่  เรายังสืบสานงานสืบต่อไป

กิจกรรมที่ 2   เช้าวันที่ 1 กันยา  ในราวป่าเสียงปืน(เคย)กึกก้อง

1 กันยายน ของทุกปีจะมีพิธีสงฆ์ ทำบุญตักบาตร อุทิศส่วนกุศลให้กับสืบ นาคะเสถียร และเจ้าหน้าที่ผู้เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องทรัพยากร ป่าไม้ สัตว์ป่า ผู้แทนหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ร่วมวางหรีดรำลึก และทำพิธีเปิดค่ายเยาวชนเรียนรู้อุดมการณ์และจิตสำนึกการอนุรักษ์ โดยนายเฉลิมศักดิ์  วานิชสมบัติ ( ภาพกลาง ) อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ต่อด้วยเวทีเสวนา “จากสืบ สู่ เพื่อนสืบ : วิสัยทัศน์การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ” โดย นายเฉลิมศักดิ์  วานิชสมบัติ (เพื่อนร่วมรุ่น วนศาสตร์ 35)   อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , นายปรีชา  จันทร์ศิริตานนท์ (เพื่อนร่วมรุ่น วนศาสตร์ 35)  รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , นายสมพร  ไชยจรัส (เพื่อนร่วมรุ่น วนศาสตร์ 35) ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าไม้ที่ 14 ราชบุรี (กรมป่าไม้) , นายนพรัตน์ นาคสถิตย์ (เพื่อนร่วมรุ่นวนศาสตร์ 35) ดำเนินรายการ โดย ดร.ธีรภัทร  ประยูรสิทธิ หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วันนี้ ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นสัญลักษณ์ของผืนป่าอุดมสมบูรณ์ที่ทุกคนรู้จัก ความพยายามของหัวหน้าสืบเมื่อ 17 ปีก่อนไม่สูญเปล่าแล้ว วิญญาณของหัวหน้าสืบและบรรดาคนเฝ้าป่าที่ต้องสังเวยชีวิตให้ความโลภของ มนุษย์คงได้พักผ่อนเสียที เรารู้ว่าหัวหน้าสืบก็เป็นคนธรรมดา มีทุกข์สุข หัวเราะเสียใจได้เหมือนพวกเรา แต่ต่างกันที่พวกเราอาจไม่เคยถามตัวเองว่า ทรัพยากรที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นของเราหรือเป็นของลูกหลานเรากัน แน่  กระสุนนัดเดียวเมื่อ 17 ปีก่อนสื่อความหมายอะไรกับเรา  วันนี้ 1 กันยา 50 วันที่ป่าห้วยขาแข้งมีผู้มาเยือนมากกว่า 500 คน หัวใจของคนทั้งหมดในงานนี้ถูกหลอมรวมเอาไว้ บอกกับใครบางคนที่รู้จักหรือไม่รู้จักคนชื่อสืบ นาคะเสถียร หรือ หัวหน้าสืบ ของคนเฝ้าป่าทุกคน

*** พวงหรีดทั้งหมดในงานนี้ ทำจากผ้าขาวม้าที่ภายหลังจะอยู่กับบรรดาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างคนเฝ้าป่าทุกคน ***

กิจกรรมที่ 3   เดินป่าเสาะหาจิตวิญญาณ

เส้นทางสู่เขาภักดี ระยะทาง 3 กิโลเมตร กับการเดิน 5 ชั่วโมง หยาดเหงื่อ ลำห้วย หนามแหลม และสายฝน เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่บอกเราว่า จิตวิญญาณการอนุรักษ์นั้นยากลำบากเพียงใด และจิตวิญญาณของคนเฝ้าป่านั้นน่าเคารพเพียงใด

บนการเดิน (ตัวเปล่า) ที่เราลิ้นห้อยและแทบไม่ไหวนั้น เป็นชีวิตประจำวันของเจ้าหน้าที่ ที่ต้องเดิน (แบกเป้) ลาดตระเวน
ทำหน้าที่คนเฝ้าป่าอย่างสมบูรณ์

กิจกรรมที่ 4   อยากรู้ คุณคิดอย่างไร

ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดคือนักศึกษาต่างสถาบันที่รู้จักกันในงานนี้ มุมมอง ความคาดหวัง ทัศนคติ ความแตกต่างที่ปรับ  เข้าหากันเพื่อสร้างสิ่งใหม่อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยรวม

กิจกรรมที่ 5  ก่อนจากกัน

พิธีปิดโครงการและมอบวุฒิบัตร กับการถ่ายภาพหมู่ก่อนจากกัน ไม่มีคำสัญญาใดๆสำคัญกว่าการลงมือทำ ให้ดีที่สุด

ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่และลูกจ้างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งทุกคนกับ ความทรงจำดีๆ และขอขอบคุณในงบประมาณจากศูนย์ส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้

สุดท้ายถึงเพื่อนทุกคน 17 ปีผ่านมาแล้วกับการจากไปของหัวหน้าสืบ 17 ปีกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อมการตายของสืบ นาคะเสถียร จะมีความหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของเราว่าเป็นอย่างไร ขณะที่หลายคนกำลังถกเถียงถึงปัญหาโลกร้อนอยู่นั้น หลายคนนั้นก็ยังนั่งอยู่ในห้องปรับอากาศที่ผลาญพลังงานไม่จบสิ้น อันเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อน นี่คือความจริงบางประการที่รอความเข้าใจของเราทุกคนมิใช่หรือ

ด้วยจิตคารวะ