เขียน: ธิติมา

เมื่อพูดถึงการทำงานช่วยเหลือสังคม หลายคนอาจคิดว่าเป็นหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ หรือคนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนเท่านั้น ขณะที่ภาพของการทำงานเพื่อสังคมส่วนใหญ่ทำให้เรามักนึกถึง การไปเป็นครูอาสาสอนหนังสือเด็กๆ ที่ห่างไกล ออกค่ายสร้างห้องสมุด จนทำให้บางครั้งอดสงสัยไม่ได้ว่า เราต้องละทิ้งความถนัดที่เรามี ความรู้ที่เล่าเรียนมา เพื่อเริ่มต้นใหม่กับสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยเลยสักนิด และบางทีก็ทำมันได้ไม่ดีด้วยแต่ความจริงแล้ว ไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม มีส่วนช่วยเหลือสังคมได้ทั้งนั้น เกื้อกูลเพื่อนร่วมโลกของเราได้ โดยใช้สิ่งที่เรามีอยู่ ทักษะหรือความชำนาญของเรามีประโยชน์ต่อโลกใบนี้เสมอ หากเรารู้จักหยิบมาใช้ในทางที่ดี แม้จะไม่ถึงกับทำให้โลกสะเทือน แต่อย่าลืมว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของโลก ล้วนเกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงของคนเล็กๆด้วยกันทั้งนั้น

เราจะพาคุณไปรู้จักกับผู้คนในนานาอาชีพ ที่ล้วนแต่สร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับโลกใบนี้ ในแบบที่พวกเขาถนัด

คิม -คิม ไทยสุขประเสริฐ- นักข่าวอาสา ประชาไท.คอม
สื่อสารมวลชนบัณฑิต

ประโยชน์ของสิ่งที่ร่ำเรียนมา// ความสามารถที่มี

เป็นสื่อกลางนำเสนอข้อมูลและการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มเล็กๆให้คนอีกกลุ่ม หนึ่งได้รับรู้ ความตั้งใจของตัวเอง คือ อยากเป็นตัวเชื่อมโยงความเข้าใจของคนในสังคม

ทำไมถึงมาทำอยากทำเพื่อสังคมเท่าที่เราทำได้

ก่อนหน้านี้เคยทำงานนิตยสารแล้วก็หยุดไป ได้มีเวลาทบทวนตัวเอง และพบว่าชีวิตว่างๆ อาจจะมีความสุข แต่เป็นความสุขของเราเองคนเดียว ไม่ใช่ความสุขของสังคม

เรียนรู้อะไรบ้าง

มันเป็นการเรียนรู้ ทุกสิ่งเป็นสิ่งที่ดี เห็นชีวิต เห็นความลำบาก ที่เป็นประสบการณ์สำหรับเรา ทำให้เราได้เก็บมาคิด ถ้าเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา สำหรับพวกเค้า เราก็ถือเป็นความหวังหนึ่ง


ซือ ณพปวัล อนาวิล – ล่ามอาสาออนไลน์ // อาสาประจำพิพิธภัณฑ์
รัฐศาสตร์บัณฑิต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ประโยชน์ของสิ่งที่ร่ำเรียนมา// ความสามารถที่มีสิ่งที่เราเรียนมา

มันมีประโยชน์อะไรบางอย่าง คนที่เรียนส่วนมากก็ใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆได้ดี ส่วนตัวเองเป็นล่ามภาษาอังกฤษ

ทำไมถึงมาทำ

ความรู้ที่เรามีบางอย่างก็เป็นประโยชน์กับคนอื่น ไม่รู้สึกว่าลำบากเลย แค่มีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เนต มีเวลา และก็ไม่อยากแปลแบบส่งๆ เพราะเค้าต้องการความช่วยเหลือจริงๆ

เรียนรู้อะไรบ้าง

รู้เรื่องเยอะมาก มีหลายอย่างที่เราไม่รู้จากการช่วยเค้าแปล หรือว่าการเป็นอาสาสมัครของพิพิธภัณฑ์ก็ได้ความรู้ เพราะก่อนที่จะเล่าให้คนอื่นฟัง เราก็ต้องผ่านการอบรม หรืออ่านข้อมูลมาก่อน เคยมีครั้งหนึ่ง มีชาวต่างชาติที่แพ้สารเคมีชนิดหนึ่งธัญพืชกำลังจะมาเมืองไทย เค้าก็อยากให้เราแปลภาษาไทยของศัพท์คำนั้นให้หน่อย เพราะเวลามาเมืองไทยจะได้ยื่นให้ได้เลย กลัวจะแพ้ เราก็ต้องไปหาเรื่องราว หาข้อมูลมาตอบเค้าให้ได้

ปู มนทนา ดวงประภา – อาสาสมัครนักกฏหมายสิทธิมนุษยชนปี 2 โครงการนิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Enlaw)
นิติศาสตร์บัณฑิต

ประโยชน์ของวิชาชีพ

โจทย์คือ ทำอย่างไรให้กฎหมายเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ การมาทำตรงนี้ทำให้เราเป็นว่าวิชาชีพเรามันช่วยคนอื่นได้จริงๆ เห็นลู่ทางการต่อสู้ทางกฎหมาย ถามว่าตอนนี้รู้สึกว่าทำให้กฎหมายเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ไหมก็ยัง

ทำไมมาทำ

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยได้เจอสังคมที่ฟุ่มเฟือย แต่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด ธรรมดา ยากจน มันเครียดและไม่เข้าใจ การทำกิจกรรมนักศึกษาชดเชยความผิดหวังจากกลุ่มเพื่อนและสังคม ช่วยเราตั้งคำถามกับชีวิตในอนาคต แนวคิดทางสังคม จบแล้วทำอะไรดี ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ผ่านค่าย ช่วงนั้นได้รู้จักพี่ทอม (สุรชัย ตรงงาม ผู้รับผิดชอบโครงการนิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม) พอเรียนจบฝึกงานเสร็จ ก็เลยไปช่วยพี่เขาทำงาน ถทำไมไม่เลือกทำงานได้เงินเราเลือกประสบการณ์ เลือกที่จะเรียนรู้งานด้านกฎหมายและทำงานด้านสังคมไปด้วย เรายอมแลกกับค่าตอบแทน ช่วงที่ยังไม่เข้าโครงการของมอส. พี่ๆ ก็ช่วยกันควักเงินค่าขนมให้เรา เพื่อให้เราอยู่ต่อไป พี่บอกว่า “น้ำหยดเดียวที่เหลือ จะทำยังไงให้ยังอยู่ ไม่ระเหยเป็นไอ” ทำให้เรามีเรี่ยวแรงอยู่ได้

เรียนรู้อะไร

ได้เรียนรู้แนวคิดทางสังคม เรียนเรื่องพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมต่างๆ เรื่องสิทธิมนุษยชน และเราได้มุมองมองการตีความกฎหมายมหาชน ทุกวันนี้มีความสุขกับการเห็นงานสำเร็จ ตื่นเต้นเมื่อเจอปัญหาและวิธีการแก้ไข เหมือนได้แก้สมการ พบว่ากฎหมายสามารถใช้ได้หลายวิธี


อ้อ พรพรรรณ สุทธิประภา – อาสาสมัครนักออกแบบ
สถาปัตยกรรมบัณฑิต สาขาออกแบบอุตสาหกรรม

ประโยชน์ของวิชาชีพ

ช่วยให้เราเห็นโอกาสที่จะเกิดของใหม่ๆในวัสดุชีวิตประจำวันมากขึ้น เกิดการจัดการในหัว เช่น เป็นกระดาษจะเปลี่ยนอะไรได้บ้าง ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มองทะลุไปถึงการผลิตว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพราะเรียนการผลิตอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังสามารถเป็นผู้กำหนดกระแสของการบริโภคได้ อย่างไรก็ตาม อาจมองได้ว่าวิชาชีพนี้ เป็นตัวเร่งการผลาญทรัพยากรมากขึ้น เพราะ คิดใหม่ ทำใหม่ กระตุ้นการบริโภคตลอดเวลา

ถ้าจิตอาสา มันจะคิดทั้งกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กรีนดีไซน์ นำเอาทรัพยากร ที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาใช้ประโยชน์ต่อ

ทำไมถึงมาทำ

การออกแบบไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ หรือสังคม ก็มีข้อความที่สื่อสารเหมือนกัน แต่ว่าข้อความที่สื่อสารต่างกัน สำหรับการออกแบบในงานภาคสังคมส่วนหนึ่งเรารู้ว่า เราไม่โกหกเค้า ทำงานเอกชน มันจะบอกไม่หมด เน้นสร้างภาพ แต่ข้างหลังไม่รู้อะไร งานอาสาสมัครก็จริงใจมากกว่า

เรียนรู้อะไรบ้าง
ทำให้ข้อความที่องค์กรเพื่อสังคมเหล่านี้ต้องการสื่อสารเกิดเป็นสิ่งที่เป็น รูปธรรมมากขึ้น เช่น โครงการเปเปอร์เรนเจอร์ เป็นสิ่งที่ทำให้คิดถึงในหลายๆสาขาที่เรียนมา ทั้งการออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสื่อสารออกสู่สังคม

สี่คนที่เป็นตัวแทนของแต่ละวิชาชีพนี้ เป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของคนที่ทำงานช่วยเหลือสังคมทุกย่างก้าวของชีวิต ไม่ต้องรอเวลาที่เหมาะสม ไม่ต้องเปลี่ยนตัวเองไปทำสิ่งที่ไม่ถนัด หากเริ่มทำจากตอนนี้ เชื่อมั่นได้ว่า ประสิทธิภาพที่คุณมี เปลี่ยนโลกได้เสมอ

เริ่มได้จากที่ไหนบ้าง

สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฏหมาย (คลินิกยุติธรรม) ศูนย์เอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท โทร. 02-350-3650 ต่อ 661- สภาทนายความ ถ.ราชดำเนิน ฝ่ายปรึกษาข้อกฏหมาย 02-281-5170 หรือ 02-629-1808-

  • มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง โทร. 02-691-0437ถึง 9 หรือ http://www.thaivolunteer.org/
  • สัตวแพทย์ช่วยคุมกำเนิดสัตว์ มูลนิธิเพื่อการรักษาสุนัขจรจัด ถ.สุขุมวิท โทร. 02-746-5370 หรือ http://www.ffsd.org/
  • วิศวกรอาสา ร่วมงานกับคลินิกช่าง ช่วยให้คำปรึกษาประชาชนด้านวิศวกรรมแก่คนทั่วไป ซ.รามคำแหง 39 โทร 02-319-2410-3