เขียน: กรุงเทพธุรกิจ

14 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 10:00:00

เคยมีสักแวบหนึ่งไหม ที่อยากพาตัวและหัวใจออกไปทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม แต่…ไม่รู้จะเริ่มต้นที่ไหน อย่างไร และควรปรึกษาใครดี คิดวนเวียนอยู่อย่างนี้จนความดีที่อยากทำเจือจางไป สุดท้ายก็ไม่ได้ลงมือทำอะไรสักอย่าง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : แล้วถ้ามีคนกลางคอยช่วยประสานงานให้ จิตสาธารณะที่ฝังลึกอยู่ในหัวใจจะพองโตขึ้นมาอีกครั้งได้ไหม ถ้าคำตอบคือ ‘ได้’ จะมัวรอช้าอยู่ทำไม ไปทำความรู้จักกับ ‘คนกลาง’ ที่ว่ากันดีกว่า

กลุ่มอิสระเพาะรัก เป็นศูนย์ประสานงานอาสาสมัครเพื่อสังคม ที่เกิดจากแนวคิดของ เป๋า-ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กับ เต้-คณิน สารวานิชพิทักษ์ สองเพื่อนซี้นักศึกษาแห่งรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เห็นข้อบกพร่องบางอย่างในการทำกิจกรรม ‘ค่ายสร้าง’ หรือค่ายอาสาพัฒนาชนบท เหมือนกัน แต่จะเป็นเรื่องอะไรนั้น เป๋า ยกมือขออธิบายความก่อนเป็นคนแรก

“ผมไม่ได้ไม่ชอบค่ายสร้างนะ แต่ผมว่ามันมีบางอย่างที่เป็นข้อเสีย หนึ่งเลยคือเรื่องวัตถุนิยม เราไปค่ายสร้าง ส่วนมากก็จะไปในพื้นที่ชนบทห่างไกล ไปสร้างอาคารที่มันเป็นปูน ในขณะที่ชาวบ้านเขาอยู่บ้านไม้ เขาอยากได้จริงๆ หรือเปล่า เราเคยถามเขาไหม ผมไม่แน่ใจว่าเขาอยากได้ไหม อันนี้ผมว่ามันเป็นเรื่องของผลกระทบเชิงลบ อีกอย่างนักศึกษา 50-60 คนเข้าไป เอาวัฒนธรรมความเป็นเมืองเข้าไป มันสมควรหรือเปล่า สุดท้ายคือผมว่ามันไม่คุ้ม”

เต้ เสริมต่ออีกนิดในเรื่องของวัฒนธรรมความเป็นเมือง ที่นักศึกษาอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในสายตาของคนชนบทต่างๆ คือความพิเศษสำหรับเขา

“เรามีโทรศัพท์มือถือ มีกล้องวิดีโอ ชาวบ้านเห็นก็อยากได้ เวลาเราทำอะไร ก็จะให้ลูกอมเป็นรางวัล เด็กก็ชอบลูกอม เริ่มอยากหา อยากมี น้องไม่เคยกินอยากกิน เราก็เลยอยากแก้ตรงนั้น”

ความพยายามของสองหนุ่มเกิดเป็นแนวคิดในการตั้งกลุ่มอิสระ ที่อยู่นอกเหนือการดูแลของมหาวิทยาลัย แต่ไม่นอกคอก

“เราเลยมาตั้งกลุ่มอิสระเพาะรัก ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานระหว่างอาสาสมัครกับหน่วยงานเพื่อสังคม เราจะไม่คิดกิจกรรมเอง จะให้องค์กรหรือหน่วยงานเป็นคนคิด เพราะเราถือว่าเขามีความรู้ในเรื่องนั้นๆ มากกว่า แล้วเราจะเป็นฝ่ายติดต่อกับองค์กรภายนอก เช่น มูลนิธิ สถานสงเคราะห์ ถ้าเขาต้องการอาสาสมัคร เราก็จะส่งสมาชิกไป” เป๋า นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ว่า

พฤศจิกายน 2548 จึงมีชื่อ กลุ่มอิสระเพาะรัก อยู่ในหมวด ‘กลุ่มอิสระ’ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“แรกๆ ก็จะมีปัญหาบ้างเรื่องความไม่น่าเชื่อถือ เพราะกลุ่มอิสระจะไม่ขึ้นกับ อมธ.(องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) แต่ตอนนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดี บางคนก็เมลมาบอกว่าอยากได้อาสาสมัคร” เต้ อธิบายเหตุผล

ส่วนชื่อน่ารักๆ ของกลุ่มมาจากชื่อเพลง ‘เพาะรัก’ ของครอบครัวศิลปินแนวเพื่อชีวิต โฮป แฟมิลี่ ที่ เต้ บอกว่า ชอบเหลือเกิน

“จริงๆ ยังไม่ได้ขออนุญาตเขาเลย(หัวเราะ) แต่เขารับรู้แล้วนะ และเราก็ติดต่อกันอยู่” เต้ แก้ต่างแบบขำๆ

สำหรับกิจกรรมจะมีหลายรูปแบบ ทั้งที่ทำเพื่อเด็ก เพื่อคนพิการ เพื่อเด็กเร่ร่อน ฯลฯ เรียกว่า ใครต้องการอะไร เพาะรักจัดให้ได้ทุกอย่าง เช่น อ่านหนังสือให้คนตาบอด เป็นล่ามภาษาอังกฤษ สอนศิลปะให้เด็กๆ สอนหนังสือให้เด็กๆ ในชุมชนแออัด ออกไอเดียจัดสวน ทาสีมูลนิธิ อาสาพาเด็กเที่ยว ออกแรงช่วยยามเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ ฯลฯ

แต่งานที่ทำกันอยู่เป็นประจำ เรียกว่า ซ.โซ่ อาสา เป็นการสอนหนังสือให้กับเด็กๆ ในชุมชนข้างโรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยจะมีอาสาสมัครไปสอนเด็กๆ ทุกวันอาทิตย์ เวลา 09.00-12.00 น.ใครผ่านไปแถวนั้นจะร่วมทำกิจกรรมด้วยก็ได้

“คือน้องๆ เขาสภาพครอบครัวไม่พร้อม ถ้ามีใครเข้าไปคุย ไปเล่นด้วย ก็จะเหมือนเป็นการเรียนรู้สังคม เวลาเราไปสอนก็จะสอนวิชาทั่วๆ ไป ภาษาไทย คณิตศาสตร์ อังกฤษ แต่จะสอดแทรกเรื่องจริยธรรม จะเน้นเรื่องของการเป็นคนดี สอนวิชาการ แต่หวังผลทางจริยธรรมมากกว่า” เป๋า ซึ่งปัจจุบันดำรงหน้าที่เลขาธิการกลุ่มฯ ว่า

ตอนนี้กลุ่มอิสระเพาะรักมีอาสาสมัครทั้งที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและ บุคคลทั่วไปแล้วกว่า 200 คน เป๋า บอกว่า คนที่จะมาเป็นสมาชิกกลุ่มอิสระ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษา มีตัวกับหัวใจมาแค่นั้นก็พอ

“ผมจะใช้วิธีรับสมัครสมาชิก มาลงทะเบียนไว้ หรือคนนอกก็เข้ามาลงทะเบียนในเวบไซต์ พอมีงานผมก็จะโทรตาม ว่างไหม ว่างก็ไป ก็จะมีให้ระบุด้วยว่า สนใจงานประเภทไหน”

ถามว่า ทำแบบนี้แล้วได้อะไร เป๋า ชิงตอบอย่างว่องไว “ผมได้ทำ คือผมไม่ได้รักเด็ก หรือไม่ได้มีอุดมการณ์แรงกล้าอะไร แต่ผมอยากทำ แล้วตอนที่ผมออกไปทำงาน ผมก็ได้เห็นสภาพสังคมความเป็นจริงในเชิงลึกมากขึ้น มันเหมือนเราได้พยายามทำอะไรให้คนอื่น”

เช่นเดียวกับ เต้ เพื่อนซี้นักศึกษาปี 3 คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาไทย ว่าที่เลขาธิการกลุ่มฯ คนใหม่ ที่บอกว่า

“ผมจะรู้สึกว่าโลกกว้างขึ้นทุกครั้ง และเมื่อเราได้ทำ ผลมันไม่ได้เกิดกับเราอย่างเดียว แต่มันเกิดกับชีวิตที่แย่กว่าเราด้วย”

ครั้งหนึ่งเป๋าเคยถามตัวเองว่า สิ่งที่พวกเขาทำดีจริงๆ หรือเปล่า ถ้าดีจริงขอให้มีอาสาสมัครมาครบ 10 คนตามที่ต้องการ…

ทายสิว่า สิ่งที่พวกเขาทำดีจริงๆ ไหม?