เขียนโดย แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

“…มาออกกำลังกายด้วยกันเถอะ นั่งก็ได้ไม่ต้องยืนหรอก…ทำเท่าที่ทำได้นะ…อย่าฝืน” น้ำเสียงชักชวนห่วงใยของหญิงสูงวัยที่พูดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มานั่ง รออยู่หน้าห้องตรวจภายในศูนย์สุขภาพเมือง พิษณุโลก รพ.พุทธชินราช

ชักชวนให้ยกแขน ขยับขา ด้วยท่วงท่าลีลาตามจังหวะและเสียงเพลงที่ไม่ต้องใช้ดนตรีประกอบ

เพราะออกจากปากของเหล่าบรรดาอาสาสมัครจิตอาสาเพื่อดูแลผู้สูงอายุในโรง พยาบาลพุทธชินราช พร้อมกับเสียงเพลง “สวัสดี สวัสดี วันนี้เรามาพบกัน เธอกับฉัน พบกัน สวัสดี……” เริ่มต้นขึ้น ผู้นำการออกกำลังกายยืดเหยียดวัยเลยเกษียณอายุ 4-5 คน ก็ออกท่าทาง ให้ทำตาม สร้างสีสัน บรรยากาศที่ช่วยทำให้ใบหน้าอมทุกข์ของผู้ป่วยและญาติที่มารอรับการรักษานั้น คลายลง

เมื่อความสนใจมาจับอยู่ที่กิจกรรมของคนวัยเดียวกัน อารมณ์ร่วมจึงเกิดขึ้น หลายคนขยับเข้ามาร่วมวง การออกกำลังกายยืดเหยียด คือหนึ่งในหลายกิจกรรมที่อาสาสมัครชมรมจิตอาสา ศูนย์สุขภาพเมือง พิษณุโลก คิด ริเริ่มกันเองว่าควรจัดกิจกรรมอะไร วันไหนบ้าง มีทั้งไทเก๊ก ลีลาศ โยคะ รำวง และอื่น ๆ ใช้เวลาปฏิบัติการประมาณ 1 ชั่วโมงเศษในช่วงสายของทุกวัน จันทร์-ศุกร์ โดยมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทำหน้าที่พี่เลี้ยงคอยอำนวยความสะดวกด้านสถานที่ และกลุ่มผู้มาใช้บริการเท่านั้น

“กิจกรรมเริ่มตอนสาย ๆ ประมาณ 9.30 น. เมื่อผู้มาใช้บริการผ่านขั้นตอนการตรวจอาการเบื้องต้น ระหว่างรอพบแพทย์หรือรอรับยา กลุ่มไม่ใหญ่เพราะคนไข้บางคนขัดเขินไม่กล้าเข้าร่วม แต่คนไข้บางรายที่มาโรงพยาบาลบ่อยจะรู้ว่าแต่ละวันมีกิจกรรมอะไร บางคนจะมานั่งรอ เพื่อออกกำลังกาย บางคนหมอไม่ได้นัดแต่มาเพื่อออกกำลังกายโดยเฉพาะ ส่วนเจ้าหน้าที่เป็นเพียงพี่เลี้ยง คอยอำนวยความสะดวกและดูแลว่าคนไข้ที่เข้าไปต้องไม่เป็นอันตราย” สิริพรรณ ธีระกาญจน์ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว รพ.พุทธชินราช กล่าว

สิริพรรณ เล่าต่อว่า ผู้สูงอายุที่มาทำอย่างนี้ล้วนเป็นคนมีความรู้ ประสบการณ์ และอยากมาช่วยด้วยใจจริง มีความตั้งใจจะช่วยเหลือสังคม โดยไม่หวังผลตอบแทน คุณลุง คุณป้า คุณตา คุณยาย อาสาสมัครเหล่านี้ยังคงสนุกและมีความสุขกับการได้ร่วมกันคิด ร่วมกันสรรสร้างกิจกรรมเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ การเป็นอาสาสมัครเป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับ เพราะนอกจากจะได้ทำงานช่วยเหลือสังคมแล้วยังได้เพื่อน ได้ความรู้ใหม่ ๆ เป็นการฝึกทั้งกายและใจให้มีความเสียสละ รู้จักให้และแบ่งปัน เป็นน้ำใจที่ไม่หวังอะไรตอบแทน และ…น้ำใจนี่เองคือผลตอบแทนที่มีค่ายิ่งที่ทำให้พวกเขาหัวใจฟูทุกครั้งที่ ผู้เข้ามาร่วมกิจกรรมเอ่ยชม “ท่าง่ายดี ไม่ยาก ไม่ต้องออกแรงมาก หายเมื่อยเลย หลังไม่ตึงแล้ว…..” เหล่านี้เป็นต้น

“การออกกำลังกายใครทำใครได้ ยายลุกนั่งได้ลองขยับแข้งขายืดเหยียดตามไปก็ได้ ลองทำดู ทำด้วยกัน ไม่ต้องฝืนนะ ทำเท่าที่ทำได้ พร้อมกับเสียงนับ 123456789….เอ้าเปลี่ยนท่า” ป้าแสงเดือน เพชรกระจ่าง แม่บ้านคนเก่งวัย 63 ปี อาสาสมัครจิตอาสาฯ ผู้นำการออกกำลังกายยืดเหยียดในวันนี้ บอกกับคุณยายวัยกว่า 70 ปีที่ตอนแรกไม่กล้า ยังขัดเขินเพราะสถานที่คือ “หน้าห้องตรวจ”ในโรงพยาบาล แต่สุดท้ายก็ออกมาร่วมวง เสร็จแล้วก็ทักทายสนิทสนมคุยกันได้สารพัดเรื่อง

ป้าแสงเดือนบอกว่าความภูมิใจของผู้ฝึกสอนหรือคนนำออกกำลังกายคือเวลาที่ ทำแล้วผู้ป่วยบางคนบอกว่าชอบเพลง ชอบท่า ทำแล้วหายเมื่อยหายปวด แต่การจะดึงผู้ป่วยหน้าใหม่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมก็ต้องอาศัยเทคนิคหลายอย่าง ซึ่งวิทยากรหรือผู้นำกิจกรรมแต่ละคนก็จะมีวิธีการแตกต่างกันไป วันนี้ป้าแสงเดือนไม่ได้มาคนเดียวแต่มาพร้อมกับเพื่อนจิตอาสาอีกหลายคนทำกัน เป็นกลุ่มมาด้วยกันไปด้วยกัน ช่วยกันพูด ช่วยกันร้องจนหน้าห้องตรวจคึกคัก คนไข้บางคนเมื่อหมอตรวจแล้วเสร็จแล้วก็ยังแวะมาร่วมวงก่อนรับยากลับบ้าน เมื่อใกล้เที่ยง

“ป้าจี๊ด” อดีตพยาบาลวัย 70 ปีที่ร่วมทำกิจกรรมกับโรงพยาบาลต่อเนื่องมายาวนานก่อนจะมีคำว่า “จิตอาสาในโรงพยาบาล” เสียอีก ป้าจี๊ดบอกว่าการมาทำอย่างนี้ทำให้ตัวเองได้ออกกำลังกายและมีความสุขที่ยัง สามารถช่วยคนอื่นได้ บ่อยครั้งติดตามโรงพยาบาลไปออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และเห็นสภาพผู้สูงอายุ ที่แย่กว่าเรามากทั้งร่างกายและจิตใจก็ได้ช่วยแนะนำตรงนี้

เช่นเดียวกับ ป้าสมบัติ ก้อนดี อายุ 51 ปี เจ้าของร้านขายของชำที่อยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาล ซึ่งบอกว่าพอรู้จากชมรมผู้สูงอายุว่ามีการรับสมัครหาจิตอาสาจึงไม่รีรอที่จะ สมัคร เพราะอยากทำประโยชน์ให้คนอื่นบ้าง ตัวเองพอมีเวลาว่างและยังแข็งแรงพอที่จะนำคนอื่นได้ ตอนสาย ๆ ป้าก็มาที่โรงพยาบาล มาทำให้ผู้สูงอายุหรือคนไข้ที่มาโรงพยาบาลได้ยิ้ม ได้หัวเราะ ทำให้เขาสบายใจขึ้น เหมือนเวลาที่ตัวเองมาหาหมอก็มานั่งรอเมื่อไหร่หมอจะเรียก เสร็จแล้วตอนเที่ยงก็กลับบ้าน รู้สึกภูมิใจดี

ยายเชิง เกตุนิล อายุ 70 ปี บอกว่าเป็นภูมิแพ้ต้องมาพบหมอบ่อย ๆ ด้วยอาการจุก ๆ เสียด ๆ ในท้อง เวลานั่งรอพบหมอก็เป็นไปด้วยความไม่สบายใจ คิดมาก พอมีกิจกรรมอย่างนี้ทำให้หายเบื่อ รู้สึกว่าเวลาของเรามีค่า สบายใจมากขึ้น สนุกดี และสังเกตว่าอาการดีขึ้นด้วย ทั้งหมอและพยาบาลที่นี่ก็พูดจาดีและไม่ต้องรอนาน

สำหรับที่นี่…กิจกรรมจิตอาสาไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้สูงอายุ แต่ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่สามารถมาทำได้ทั้งนั้น “ถนัดอะไร ทำอย่างนั้น” ในช่วงปิดเทอมจึงเห็นกลุ่มเยาวชน นักเรียนมัธยมมาทำกิจกรรมผ่อนคลายให้กับผู้ป่วยเช่น การเล่นดนตรีให้ฟัง มาช่วยวัดน้ำหนัก ความดัน ส่วนสูง หรือบางคนก็ไปช่วยแยกขนาดสำลี ผ้าก๊อส เป็นต้น

นพ.นิพัธ กิตติมานนท์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว รพ.พุทธชินราช กล่าวว่า กิจกรรมที่เห็นในโรงพยาบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “จิตอาสาในชุมชน” ซึ่งเป็นอาสาสมัครในชุมชนที่ทำหน้าที่คอยดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะโรคเรื้อรังใน ชุมชนของตน โดย รพ.พุทธชินราชได้จัดการอบรมให้ โดยมีจุดเริ่มมาจากตอนไปตรวจที่อนามัยแล้วพบว่ามีคนไข้เบาหวาน เป็นอัมพฤต อัมพาตเยอะ เมื่อถามความต้องการก็พบว่ามีความต้องการที่จะให้ญาติของเขามาอบรมเพื่อจะ ได้กลับไปดูแลที่บ้านได้ รพ.พุทธชินราช จึงจัดอบรมการดูแลผู้ป่วยให้กับญาติโดยรุ่นแรกเปิดรับสมัคร 4 ตำบล ตำบลละ 10 คน มาพูดคุยเรื่องอัมพาต เรื่องโรค เรื่องปัญหาทางจิตของผู้ป่วย ญาติ/คนดูแล มาเรียนรู้โรคและความรู้สึกทางใจด้วยกัน ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ พาไปดูของจริงที่วอร์ดว่าพยาบาลเขาดูแลคนไข้อย่างไร เพื่อให้เขาทำได้จริง ปรากฏว่าได้ผลดีมากทุกด้านทั้งตัวคนผู้ป่วย และญาติ โดยเมื่อญาติ / คนดูแลเข้าใจโรค รู้วีธีดูแลที่ถูกต้อง ผู้ป่วยก็ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันตัวคนดูแลก็ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจากการได้พบได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับญาติของผู้ป่วยคนอื่น ๆ ก็มีความสุขขึ้นไม่ต้องรู้สึก “จำใจ” ในการดูแลผู้ป่วย

ต่อมาจึงมีเสียงเรียกร้องให้โรงพยาบาลจัดอบรมให้อีก เลยเกิดการขยายผลไปในตำบลอื่น ซึ่งคนที่สมัครเข้ามานั้น เกินครึ่งที่ญาติไม่ได้ป่วย ทำให้ได้เห็นว่าเรื่องของ “น้ำใจ” และ “จิตอาสา” นั้นมีอยู่ในสังคมไทย และรอโอกาสที่จะได้แสดงศักยภาพออกมา โรงพยาบาลจึงเปลี่ยนวิธีการ โดยให้เขารวมตัวกันเป็นชมรมจิตอาสาของตำบล มีประธาน มีกรรมการ มีสมาชิก แล้วเชิญสมาชิกของแต่ละตำบลมาอบรม เป็นการให้ชุมชนดูแลจัดการชุมชนเอง โดยตกลงกันว่าจิตอาสาในชุมชนในตำบลทำภารกิจ 3 อย่าง คือ 1) การดูแลผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแล และผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤต อัมพาตในชุมชน 2) การค้นหา รักษาและสืบทอด องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นคลังปัญญาท้องถิ่น 3) เรื่องกายอุปกรณ์ โดยหวังให้กรรมการช่วยกันผลักดันท้องถิ่นให้สามารถสร้างศูนย์ฟื้นฟูขึ้นใน ชุมชน เพื่อให้คนไข้ที่ต้องทำกายภาพบำบัดไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและ เวลาเพื่อเข้าไปรับบริการจากโรงพยาบาล แต่สามารถทำกายภาพบำบัดได้ที่บ้านที่ชุมชนของตัวเองเช่นที่อนามัย อีกทั้งกายอุปกรณ์เหล่านี้ก็สามารถทำขึ้นเองได้ในท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง

นพ.นิพัธ กล่าวว่า การมีจิตอาสาไม่ได้แปลว่าเจ้าหน้าที่เหนื่อยน้อยลงแต่บรรยากาศมันดีขึ้น เพราะว่าคนส่วนใหญ่อยู่ในบรรยากาศที่ดีมีความสุข ที่นี่ ….อาสา….ไม่เคยหายไปเลย มีกิจกรรมทำกันอย่างต่อเนื่อง มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย มีผลตอบรับที่ดีมาก เมื่อมาทำกิจกรรมในโรงพยาบาลพวกเขาคือทีมเดียวกับบุคลากรทั้งโรงพยาบาล “น้ำใจ” ที่กลับคืนมาเป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่ให้ต่อยอดได้เรื่อย ๆ สิ่งสำคัญคือการชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ทำเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือคนในชุมชน เอง ซึ่งไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะเป็นตัวเขาหรือเปล่า แต่หากชุมชนคนในชุมชนถูกสร้างให้มีน้ำใจและการให้ เมื่อใดก็ตามเป็นตัวเขาเขาก็จะได้รับการช่วยเหลือจากคนในสังคม สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ต้องขอบคุณผู้บริหารโรงพยาบาลทั้งอดีตและปัจจุบันที่มองการณ์ ไกลและสนับสนุนให้ เกิดขึ้นและขับเคลื่อนต่อไปจากการดูงานจิตอาสาศูนย์สุขภาพเมืองพิษณุโลก รพ.พุทธชินราช ทีมงานสื่อสารสาธารณะ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ได้เห็นความพยายามในการสร้างระบบให้คนที่เข้ามารับการรักษาได้รับการดูแลที่ ดีขึ้น ได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจมากขึ้น ทำให้เห็น “ประตู” โอกาสที่เปิดให้ทุกคนแสดงน้ำใจเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและสร้างเสริม สุขภาพให้กับผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นการทำในโรงพยาบาลหรือแม้แต่ในชุมชนของคุณ เองก็ตาม โดยมีเชื้อเพลิง “น้ำใจ” เป็นตัวกระตุ้น

ผลตอบแทนสูงสุดของ “อาสาสมัครจิตอาสาในโรงพยาบาล” คือ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และคำชื่นชม ที่ผู้ใช้บริการมีให้แก่จิตอาสา มีความหมายและมีค่ายิ่งสำหรับจิตอาสาทุกคน และนี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างดี ๆ ของงานจิตอาสาเพื่อผู้ป่วย.

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศศิธร อบกลิ่น งานสื่อสารสาธารณะ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์โทร.0-22701350 ต่อ 113 แฟกซ์ 0-22701350 ต่อ 108