เขียน: ภิกษุณีนิรามิสา

Give & Take Conversation
บทสัมภาษณ์เรื่อง ’การให้’ กับภิกษุณีนิรามิสา นักบวชชาวไทย ลูกศิษย์ท่านติช นัท ฮันห์ แห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2549 กรุงเทพ

ทำไมต้อง ‘ให้’
ขออนุญาตตั้งคำถามกำปั้นทุบดินประเภท ทำไมต้อง “ให้” การให้เกี่ยวข้องอะไรกับเรา ในเมื่อการ “รับ” ทำให้เราอิ่มแปล้เปรมปรีแสนสุข แต่กลับมีหลายต่อหลายคนบอกว่าการให้คือการรับ? อีกทั้งยังเป็นการรับที่ทำให้ใจของคุณอิ่มและยิ้มหน้าบาน

หลังจากภัยพิบัติสึนามิ สิ่งที่เราเห็นคือมนุษย์อาสาสมัครหลายคนมารวมตัวกันโดยไม่ได้นัดหมายเพื่อ “ให้” เงิน สิ่งของ แรงใจ แรงกาย และแรงสติปัญญา ให้กับคนที่ไม่เคยรู้จัก ให้ทั้งคนตายและคนเป็น คำถามประเภท “ทำไมต้องให้” จึงเกิดขึ้น “การให้” แท้จริงมีความหมายอะไรกับใจเรา เมื่อได้ลองคุยกับหลวงพี่นิรามิสา ภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศสอาจ ทำให้เราทั้งที่ให้และรับ ได้ใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง….

การให้มีพื้นฐานจากความทุกข์และความสุข
เมื่อคนเราสัมผัสความทุกข์ ไม่ว่ามันจะเป็นความทุกข์ในตัวเองหรือว่าเป็นความทุกข์ของคนอื่น เราจะเกิดความรู้สึก สงสาร อยากที่จะช่วย ยกตัวอย่างตอนเกิดสึนามิ มันเป็นความทุกข์ที่ชัดมาก รุนแรง และสัมผัสกับหัวใจของทุกคน เวลาที่ภาพออกไป ข่าวออกไปเขารู้สึกว่าเขาได้ลงไปอยู่ในชีวิตจิตใจ เนื้อหนังมังสาของคนที่กำลังจะตายของคนที่ถูกน้ำพัดของคนที่ทุกข์  ความที่ สัมผัสความทุกข์ได้ จิตใจของเราจะมีความรู้สึกว่าร่วมในความทุกข์นั้น จากรู้สึกถึงความสงสารก็รู้สึกที่ความอยากช่วยเขา อยากให้เขาพ้นทุกข์ อันนี้เรียกว่าความกรุณา

ขณะเดียวกันถ้าเรามีโอกาสที่จะสัมผัสอะไรที่เป็นความสุข หมายถึงความสุขที่แท้จริง เช่น ความคิดดีๆ สัมผัสกับความสุข ความนิ่งภายใน ความคิดที่ดีๆ เราจะรู้สึกถึงสิ่งที่ดี และความรู้สึกที่อยากจะให้คนอื่นเป็นอย่างนั้น มันจะเกิดขึ้นโดยปริยาย เรียกว่า เมตตา
ทั้ง เมตตาและกรุณา เป็นหนึ่งในพรหมวิหาร 4  ซึ่งพรหมวิหาร 4 นี่เองที่หลวงปู่ติช นัท ฮันห์เรียกว่า  ‘ รักแท้ ’ หรือ ‘True love’

ความเมตตา คือ ความตั้งใจและความสามารถที่ อยากจะให้คนอื่นมีความสุข
ความกรุณา คือ ความตั้งใจและความสามารถที่ อยากจะให้คนอื่นพ้นทุกข์

บ้านเราจะเรียกว่าพรหมวิหาร 4 เฉยๆ แต่ที่หมู่บ้านพลัม หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ท่านเรียกว่าเป็น true love หมายถึง ความรักที่แท้จริง อาจจะเป็นเพราะบ้านเรากลัวคำว่า ‘รัก’ กลัวจะหาว่าเป็นรักทางกาย แต่รักในที่นี้หมายถึงรักที่แท้จริงซึ่งมีองค์ประกอบของพรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) ที่มนุษย์ทุกคนมี

พลังกรุณา
ในทางจิตวิญญาณเชิงพุทธ เรากล่าวว่าเมล็ดพันธุ์ที่อยู่ในจิตใต้สำนึก เป็นเมล็ดพันธุ์ที่อยู่ในห้วงลึกของจิตมีมากมาย หลากหลายเมล็ดพันธุ์ และพร้อมที่จะงอกออกมา อาจเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความเมตตาความกรุณา เป็นเมล็ดแห่งความใจดี เมล็ดพันธุ์แห่งการให้อภัย หรือจะเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธก็ได้ ทุกคนมีหมด เพียงแต่ว่าเมล็ดนั้นใหญ่หรือเล็ก ถ้าบางคนเมล็ดพันธุ์แห่งการให้ใหญ่ก็จะเป็นคนใจดี ชอบให้ ชอบทำบุญ อยู่ที่ว่าทำบุญฉลาดหรือไม่ฉลาด

บางคนเห็นคนอื่นทุกข์ปุ๊บก็รู้สึกว่าอยากจะช่วยเขาให้พ้นทุกข์ อย่างนี้ก็มีเมล็ดพันธุ์แห่งความกรุณามาก ถ้าบางคนที่ไม่ได้บ่มเพาะตรงนี้ หรืออาจจะไม่ได้มีการเติบโตเลี้ยงดูมา หรือ ตกทอดมาในเรื่องของเมล็ดพันธุ์เหล่านี้น้อย ก็อาจจะมีน้อยลง เมื่อเห็นคนอื่นทุกข์ก็ไม่รู้สึกอยากช่วย อาจเพราะมีเมล็ดพันธุ์ ในแง่ลบที่แรงกว่าอยู่ข้างใน แต่หลวงพี่คิดว่าการที่จะช่วยกัน รดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งการให้หรือความเมตตาเป็นสิ่งที่สำคัญ มันจะช่วยให้คนมีจิตอาสามากขึ้น

สำหรับอาสาสมัครที่เกิดจากเหตุการณ์อย่างสึนามิ หลวงพี่คิดว่า เกิดขึ้นเพราะส่วนหนึ่งเมืองไทยเป็นเมืองใจบุญ เป็น เมืองที่ถูกบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการทำบุญมานาน อันเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษแห่งแผ่นดินสยาม และ เมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติใหญ่ๆ จึงได้มีการรดน้ำเมล็ดพันธ์แห่งความใจบุญ ความกรุณา คนจึงแห่กันไปช่วย เมื่อได้ดู โทรทัศน์ ได้ฟังข่าวก็เกิดความรู้สึกร่วม มีความทุกข์ร่วม พอมีความทุกข์ร่วมก็เกิดความสงสารอยากจะช่วย นี่คือพลังแห่ง ความกรุณา ขับรถพากันลงไปช่วย แต่ในขณะที่ทำเราต้องรู้วิธีที่จะทำ รู้วิธีที่จะช่วย ถ้าไม่รู้วิธีก็จะ ไม่ได้ช่วยเขา ไม่ได้ช่วยเราด้วย

ความตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ
หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ที่หมู่บ้านพลัมก็จะพูดเสมอว่าตั้งใจ ไม่พอ ต้องมีความสามารถด้วย และความสามารถจะได้มาก็ ด้วยการฝึกฝน

ถ้าหากมีความตั้งใจ แต่ไม่มีความสามารถที่จะให้ เราก็จะ ไปไม่ถูกทาง  คือ ให้ไปแล้ว เรา burn out เราแย่ เราท้อแท้ เราทำไปๆ แล้วทำไมยิ่ง negative มองแง่ลบ อคติมากขึ้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า เราอยากให้เพราะเราเห็นสิ่งที่มันขาด เห็นคนนั้นขาดอะไรไป หรือคนนี้ทุกข์อะไร แต่ถ้าเราไม่รู้วิธีที่จะเข้าใจความขาด ไม่เข้าใจความทุกข์ของเขา เราก็อาจจะเสียศูนย์ของตัวเอง ความไม่เข้าใจ คือ ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเกิดความทุกข์ สุดท้ายอาจจะกลายเป็นว่าเรานั่นแหละที่ถือเอาความทุกข์ของเขาไปด้วย

ก่อนที่เราจะให้คนอื่นได้ เราต้องมีความสามารถที่จะให้ตัวเองก่อนคือตัวเองสามารถที่จะสัมผัสอะไรที่ เป็นความสุขได้ อย่างง่ายๆ เช่น เราเดินออกไปข้างนอกตอนเช้า เราเห็นดอกไม้ เรายิ้มให้ดอกไม้ได้ เราเห็นเด็กเดินผ่าน เรามีความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้นได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่เราสามารถที่จะทำได้ มันคือการรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้รับและเรา ก็อยากให้ เพราะเรามีอยู่ ฉะนั้นถ้าเราอยากจะให้ แต่ว่าเราไม่มีอะไรในตัวเอง เราเหือดแห้ง การให้ของเรามันก็จะเป็นสิ่งที่เหือดแห้ง มันไม่ใช่การให้ที่แท้จริง

เราต้องมีวิธีที่จะบ่มเพาะตัว เราให้มีอะไรที่จะให้ แต่ก็ไม่ใช่หมายถึงว่าตัวเราต้องมีพร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วถึงไปให้ได้ แต่หมายถึงว่าในทุกวัน วิถีชีวิตของเราต้องมีวิธีที่จะดำรงอยู่เพื่อบ่มเพาะความสามารถของตัวเรา และเราทำมันอยู่เสมอ การมีอะไรในตัวเองนี้หมายถึงในแง่ของจิตวิญญาณ ไม่ใช่ในแง่ทางธุรกิจที่จะต้องมีเงินทอง การมีในแง่ของจิตวิญญาณ คือ ในแต่ละวันเราต้องรู้วิธีที่จะให้กับตัวเองให้รอยยิ้มกับตัวเอง

ถ้าเราสังเกตดู คนที่ไม่รู้วิธีที่จะอยู่อย่างเป็นสุข เขาก็ให้คนอื่นยากเพราะว่าตัวเขาเองยังตกอยู่ในความทุกข์ การอยู่ให้เป็นสุขคือมีวิธีอย่างไรที่จะคิดให้เป็นแง่บวก คิดอย่างไรให้สร้างสรรค์ คิดอะไรที่เป็นประโยชน์ ถ้าเกิดว่าเราตื่นขึ้นมาปุ๊บ เห็นอันนั้นก็ไม่ชอบ ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนี้ ฟังข่าว ทำไมอย่างงี้อีกแล้ว ในใจเต็มไปด้วยความรู้สึกเป็นแง่ลบ พลังของเราก็จะลดหายลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นคนทำงานถึงแม้ทำงานดี ทำงานที่เรียกได้ว่าเป็นงานกุศล แต่บางทีเรากลับท้อแท้ ทัศนคติดีๆ เริ่มหายไป ความสดใส การมองโลกสร้างสรรค์หดหาย เพราะว่าเราไม่รู้วิธีที่จะดูแลตัวเอง วิธีที่จะรักษาความคิดแง่บวก ความคิดสร้างสรรค์

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการปฏิบัติทางธรรม การปฏิบัติทางจิตวิญญาณ คือการใช้ชีวิต ซึ่งหลายๆ อย่างขึ้นอยู่ที่ตัวเราเอง กำลังบริโภคอะไร จะอ่านหนังสืออะไร  จะฟังเพลงอะไร จะสนทนาเรื่องอะไร เพื่อให้เกิดสิ่งที่รู้สึกว่า เราได้รดน้ำเมล็ดพันธุ์ดีๆ ในตัวเรา คุยกันเรื่องนี้แล้ว เราเข้าใจกันมากขึ้น เรารักกันมากขึ้น ฟังเพลงนี้แล้วเรารู้สึกเรามีพลัง มีกำลังใจ หรือว่าอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วเรารู้สึกทำให้เราเห็นอะไรชัดขึ้น แล้วก็เข้าใจตัวเองมากขึ้น มันอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน เราดำเนินชีวิตยังไง เราบริโภคอะไร ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางใจ ทางกาย เป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ต้องทำให้อุดมคตินั้นอยู่ในวิถีชีวิตของเรา เพราะนี่คือสิ่งที่จะหล่อเลี้ยงทำให้จิตอาสาของเราอยู่ไปได้นานๆ แล้วก็สร้างสรรค์ไปได้เรื่อยๆ เพราะเรารู้วิธีที่จะให้และรักษาพลังของตัวเองได้

พลังเมตตา
พอเรารู้วิธีที่จะให้กับตัวเองทุกวันเป็นพื้นฐานแล้ว จะง่ายที่เราจะให้กับคนอื่น ยิ่งเรามีความสุข  มีความสุขที่แท้จริง ความรู้สึกที่อยากให้จะมาเอง พลังที่อยากจะให้เป็นพลังเมตตา เมื่อเราได้ เราก็อยากจะให้ และพลังนี้มันก็จะเชื่อมโยงกับความกรุณาและเมื่อเราสัมผัสความทุกข์ของผู้ อื่น ด้วยความที่เรารู้ว่าความสุขเป็นอย่างไร เราก็อยากจะช่วยเขาหลุดออกมา แต่ตัวเราเองต้องรู้วิธีที่จะช่วยตัวเราหลุดออกมาด้วย หรืออย่างง่ายๆ เลย เมื่อเราหงุดหงิดปุ๊บ เรารู้วิธีว่าจะทำยังไงให้เราหายหงุดหงิด ไม่ใช่ว่าพอหงุดหงิดปุ๊บก็หงุดหงิดต่อๆ ไป ตลอดทั้งวัน แล้วมันย่อมทำให้คนอื่นรู้สึกหงุดหงิดรำคาญไปด้วย แต่หากเราหงุดหงิดแล้วรู้วิธีที่จะกลับมาอยู่กับตัวเอง ดูแลตัวเองได้ก็เป็นเรื่องที่ดีที่หมู่บ้านพลัมเราจะสอนอย่างชัดเจนว่าให้ เรากลับมาอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้าก็ผ่อนคลาย หายใจออกก็ผ่อนคลายซึ่งมันเป็นเรื่องที่พื้นฐานมาก ลมหายใจอยู่กับเราเสมอ แต่บางทีเราก็มักจะลืม เมื่อเรากลับมาดูแลตัวเอง ออกไปชมดอกไม้ หรือ ออกไปยืนตรงหน้าต่าง ชมวิวข้างนอก รับอากาศบริสุทธิ์ อยู่กับลมหายใจ ความหงุดหงิดก็จะคลาย
เมื่อเรารู้แล้วว่า เราทุกข์ เราหงุดหงิด เราเป็นอย่างไร เมื่อเวลาที่เราเห็นคนอื่นหงุดหงิด เราจะเข้าใจเขา เราก็จะหาวิธี ให้เขาได้ ชวนเขาออกไปเดินเล่นหรือนั่งดื่มกาแฟด้วยกัน เพราะว่าเราเคยผ่านสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเราเอง แต่ว่าถ้าเราไม่ได้เห็น ด้วยตัวเองก่อน เราจะไม่เข้าใจ บางทีกลายเป็นว่าเรายิ่งไปวิพากษ์วิจารณ์เขา ว่าทำไมเขาเป็นอย่างนี้ แย่จังเลย

พลังแห่งมุทิตาจิต
เมื่อเราเห็นผู้อื่นมีความสุข หรือ อยู่ในสถานการณ์ที่ผู้อื่นเป็นสุข แล้วเราสามารถพลอยชื่นชมยินดีไปกับความสุขนั้นด้วย อันนี้คือพลังแห่งมุทิตาจิตซึ่งจะยิ่งนำความสุขมาให้เรามากขึ้น พร้อมกับเป็นการฝึกให้เราไม่มีนิสัยเป็นตัวตนที่คิดเปรียบเทียบ คือ เป็นปมเด่น ว่าฉันแน่กว่า หรือ เป็นปมด้อย ว่าฉันแย่กว่า หรือ เป็นปมเสมอ ว่าฉันก็พอๆกับเขาไม่แพ้เขา นิสัยความคิดอันเป็นปมทั้งสามนี้นำความทุกข์มาให้ทั้งสิ้น และทำให้เราเกิดความอิจฉาริษยา แก่งแย่งกัน งานอาสาของเราก็จะมีอุปสรรคที่จะเข้าถึงการทำงานแบบร่วมไม้ร่วมมือกัน ด้วยความรักฉันพี่น้องที่แท้จริง

รักอันไม่แบ่งแยก พลังแห่งอุเบกขา
ไม่มี “ฉันเป็นผู้ให้ เธอเป็นผู้รับ”

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ เราต้องลบความรู้สึกที่ต้องมีผู้ให้กับผู้รับ ถ้าเราไม่ลบตรงนี้ออก ยังมีความรู้สึกว่า “ฉันเป็นผู้ให้ เธอเป็นผู้รับ” มันจะไปสู่หนทางที่ทำให้เรามีอีโก้มากขึ้น มีอัตตามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเราทำไปนานๆ เราจะเสียความอ่อนน้อมถ่อมตน จะกลายเป็นคิดว่าตัวเองเป็นผู้มาช่วยปลดความทุกข์ ช่วยชีวิตคน เราเป็นผู้ให้ แล้วก็มีคนที่เป็นผู้รับ

การจะหลุดออกไปจากตรงนี้ เป็นการปลดความคิดที่คิดว่ามีผู้ให้และมีผู้รับ ซึ่งเรียกว่าความคิด 2 ขั้ว ถ้าปลดความคิดนี้ได้ เราจะเห็นว่าในความรู้สึกที่ว่าเราเป็นผู้ให้-ผู้รับ กับ “การให้” ทั้งหมดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ได้แยกออกจากกัน เพราะทุกขณะที่เราทำ เรามีความสุข เรามีความสุขที่จะเห็นคนได้ทานข้าว เรามีโอกาสได้ให้ เราเกิดความสุขใจ ความรู้สึกที่เขากำลังทานข้าวอยู่ นั่นคือเขาก็ให้เราด้วย ให้ความรู้สึกดีๆ กับเรา

วิธีการให้ควรเป็นไปอย่างตระหนักรู้ เป็นอย่างมีสติ รู้ว่าเรา ให้เพื่อให้ ให้เพราะว่ามันมีการขาดอยู่ตรงนั้น แล้วเราก็ให้เพื่อที่จะให้ ให้เขาได้รับ แต่เราไม่ได้ให้เพื่อที่จะหวังอะไรลึกๆ ข้างใน ไม่ได้หวังให้ตัวเองรู้สึกดี การได้ทำอะไรดีๆ บางครั้งมันก็เป็นธรรมดา มนุษย์ต้องรู้สึกอย่างนั้นได้ คืออยากรู้สึกว่าเราเป็นคนดี อยากให้คนอื่นมองเราดี มองเราเป็นคนใจบุญ เราเป็นคนมีอุดมคติ แต่ถ้าเราไม่ระวังก็จะกลายเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงอัตตา หรืออีโก้ข้างในตัวเรา เพราะจริงๆ การทำความดีแล้วมันก็อยู่ตรงนั้นเท่านั้นเอง

รักแท้ในพุทธศาสนา คือ เรื่องของพรหมวิหารสี่ หมู่บ้านพลัมหมายถึงความรักอันไม่แบ่งแยกและเต็มไปด้วยความเข้าใจ เมื่อเรารู้จักที่จะให้จริงๆ รู้จักว่าจะให้อย่างไร เราก็ให้ความรักในตัวเราด้วย เพราะฉะนั้นทุกเวลาที่ทำงาน ต้องทำให้เห็นว่า ผู้ให้กับผู้รับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ได้แยกออกจากกัน มันไม่มีอะไรที่เราดีกว่าเขา เราโชคดีกว่าเขา จริงๆ มันไม่ใช่ มันเกิดขึ้นเพราะว่าเหตุปัจจัยที่เราอยู่ตรงนี้ เรามีเหตุผลพอที่เราจะช่วยเขาได้ เรามีพลังหรือทรัพย์สิน อะไรก็แล้วแต่ที่มันเกิดขึ้น เหตุปัจจัยที่อีกฝ่ายหนึ่งเกิดพายุ มันมีเหตุผล มีเงื่อนไขที่เรามาเจอกัน เราถึงได้มาพบกัน แล้วเราก็มีการกระทำที่ดี ช่วยให้เขาดีขึ้น เรามีความเบิกบาน เราก็ต้องขอบคุณที่มันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

       เธอคือฉัน และฉันคือเธอ
ไม่ชัดเจนดอกหรือว่าเรา “เป็นซึ่งกันและกัน”
เธอเพาะดอกไม้ภายในเธอ
เพื่อฉันจะได้งดงาม
ฉันแปรขยะภายในฉัน
เพื่อเธอจะได้ไม่ต้องทุกข์

ฉันเกื้อเธอ
เธอเกื้อฉัน
ฉันอยู่ในโลกนี้เพื่อเอื้อสันติแด่เธอ
เธออยู่ในโลกนี้เพื่อเป็นความเบิกบานของฉัน

                            *เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง
บทกวีของหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์

รู้จัก ท่าน ติช นัท ฮันห์ และ หมู่บ้านพลัม
“ท่านติช นัท ฮันห์” เป็นพระมหาเถระชาวเวียดนามในพระพุทธศาสนานิกายเซนมหายาน เป็นกวี นักเขียน ทำงานเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ นอกจากนี้ยังเป็นพระท่านหนึ่ง ที่บุกเบิกความคิดที่ว่า พุทธศาสนาจำเป็นต้องรับใช้สังคม เข้าไปอยู่ในทุกวิถีชีวิต และพุทธธรรมเป็นสิ่งที่สามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับยุคสมัยได้ งานเขียนและคำสอนของท่านได้รับความนิยมไปทั่วโลกในทุกกลุ่มชน ในวัฒนธรรมและศาสนาต่างๆ   ตัวอย่างผลงานเขียน เช่น ปาฎิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ  สันติภาพทุกย่างก้าว  คือเมฆสีขาวทางก้าว เก่าแก่ ปัจจุบันเป็นเวลาอันประเสริฐสุด เมตตาภาวนา : คำสอนว่าด้วยรัก ฯลฯ

“ท่านติช นัท ฮันห์” ยังได้จัดตั้ง “หมู่บ้านพลัม (Plum Village)” ขึ้น ณ ประเทศฝรั่งเศส  อันเป็นชุมชนแบบอย่างการปฏิบัติธรรมแห่งพุทธบริษัท 4  ที่เน้นการเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างตระหนักรู้ในแต่ละลมหายใจเข้า ออก  และกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ  ในชุมชนปฏิบัติธรรมแห่งหมู่บ้านพลัมมี ทั้งสิ้น 12 แห่ง อยู่ในประเทศฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมัน และเวียดนาม นอกจากนี้มีกลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางของ”ท่านติช นัท ฮันห์” (สังฆะ)กระจายอยู่หลายประเทศทั่วโลกเกือบหนึ่งพันกลุ่ม

ค้นคว้ารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.plumvillage.org